Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2562 ที่ห้องประชุมบุษราคัม โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า จ.ฉะเชิงเทรา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้กล่าวปาฐกถาในเวที "จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ ประเทศไทยแบบไหนที่เราอยากอยู่ร่วมกัน"

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ อำนาจ รัฐ และรัฐธรรมนูญ

ปิยบุตรกล่าวว่า มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยลำพัง ทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อน ครอบครัว ที่ก่อเกิดเป็นสังคมขึ้นมา เมื่อใดก็ตามที่เรามีความสัมพันธ์กับมนุษย์ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ของการใช้อำนาจต่อกันและกัน การกระทำใดก็ตามที่มีการบอกให้อีกคนหนึ่งต้องทำตาม หรือไม่ต้องทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง และคนๆ นั้นเชื่อฟังปฏิบัติตาม สิ่งนี้เรียกว่าการใช้อำนาจ และการใช้อำนาจนี้มีอยู่ในทุกยุคสมัย ทุกสังคม เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์รวมตัวหลายคน เกิดเป็นสังคม หรือชุมชน มีความสัมพันธ์ระหว่างกันเกิดขึ้น ก็จะมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจเกิดขึ้นเสมอ ทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน สังคม และประเทศ

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ระบุว่า ปรากฏการณ์ของการใช้อำนาจมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่น่าสนใจคือ อำนาจในทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากอำนาจที่ใช้ในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน เพราะเป็นการใช้อำนาจเพื่อจัดการ ตัดสินใจ และสั่งการในเรื่องสาธารณะต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณะชน

เขาชี้ว่า อำนาจทางการเมืองปรากฏขึ้นตั้งแต่สังคมยุคบรรพกาล เมื่อคนมารวมตัวกันมากขึ้นเกิดเป็นสังคมที่มีขนาดใหญ่ จึงมีความจำเป็นต้องตกลงกันว่าภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด จะมีการแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างไร รวมทั้งจะอยู่ภายใต้กติกาแบบใด เมื่อนั้นก็จะมีคนๆ หนึ่งตั้งตนขึ้นมาและบอกกับผู้คนทั้งหลายให้เชื่อฟัง เพราะเขาคือ ผู้ปกครอง เป็นผู้มีอำนาจ เนื่องจากเขาหาทรัพยากรมาได้ จึงจะขึ้นมาเป็นผู้ออกแบบการจัดสรรทรัพยากร และกติกาในการอยู่ร่วมกัน

“ในอดีตคนที่กลายเป็นหัวหน้า หรือผู้ปกครอง อาจจะมาจากฝีมือในการรบ หรืออาจจะมาจากความสามารถในการหาอาหารมาจุนเจือเลี้ยงพี่น้องประชาชนได้มากที่สุด แต่ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นหัวหน้า เขาก็เป็นคนธรรมดา และเป็นมนุษย์ทั่วไป จึงตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติที่มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครก็ตามที่เป็นผู้ปกครอง ถึงวันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไปก็จะเกิดความสับสนอลหม่านขึ้นในสังคมนั้นทันทีว่า ตกลงใครจะเป็นหัวหน้าคนต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแบบนี้ มนุษย์จึงคิดค้นนวัตกรรมอันหนึ่งขึ้นมา คือการนำอำนาจทางการเมืองทำให้กลายเป็นสถาบัน หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า institutionalization of power คือเอาอำนาจทางการเมืองที่เห็นกันอยู่ทำให้เป็นสถาบันแยกออกมาจากตัวบุคคล และให้ชื่อมันว่า รัฐ”

เขาอธิบายต่อไปว่า นับตั้งแต่มีรัฐเกิดขึ้น มนุษย์ก็สามารถตกลงกันได้ง่ายขึ้น เมื่อใดก็ตามที่มีรัฐซึ่งไร้ชีวิต จึงจำเป็นต้องนำคนไปใช้อำนาจรัฐ เมื่อคนเข้าไปใช้อำนาจรัฐก็เข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ เมื่อคนๆ นั้นตายไป หรือลาออก แต่รัฐจะยังอยู่ ซึ่งนี่คือนวัตกรรมทางการเมืองที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อทำให้อำนาจทางการเมืองต่อเนื่องไป และไม่สะดุดหยุดลง เมื่อมีรัฐเกิดขึ้นก็จะมีตำแหน่งต่างๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็น สภา รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม และศาล เป็นต้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือ รัฐจะมีอำนาจมากน้อยเพียงใด มีองค์กรกี่องค์กรที่จะใช้อำนาจรัฐ จะมีสถาบันการเมืองอะไรบ้าง รัฐจะให้การประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐอย่างไร และรัฐนี้จะปกครองในระบอบอะไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะถูกเขียนลงในเอกสารฉบับหนึ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญ เป็นเอกสารที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดเรื่องการก่อตั้งสถาบันทางการเมืองต่างๆ กำหนดว่าจะมีที่มาอย่างไร มีอำนาจหน้าที่แค่ไหน เพียงใด มีความสัมพันธ์กับองค์กร สถาบันทางการเมืองอื่นอย่างไร และจะประกันเสรีภาพของประชาชนอย่างไร.... นี่คือความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันระหว่างมนุษย์ อำนาจทางการเมือง รัฐ และรัฐธรรมนูญ”

รัฐประหาร-ฉีกรัฐธรรมนูญ-รัฐธรรมนูญอายุสั้น: อาการของโรคที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ใคร

ปิยบุตร กล่าวต่อไปถึง การกำเนิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ เขาชี้ว่า อำนาจที่ก่อตั้งรัฐธรรมนูญนั้นคือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งคืออำนาจที่จะเข้าไปกำหนดระบบการเมืองการปกครอง ช่วงที่ผ่านมา ในอดีตในช่วงที่ศาสนจักรยังครอบงำรัฐอยู่ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นถูกมองว่าเป็นอำนาจของพระเจ้า ส่วนในยุคของรัฐสมัยใหม่ซึ่งเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของพระมหากษัตริย์ ในยุคที่เผด็จการครองเมือง อำนาจสถาปนาก็เป็นของเผด็จการ แต่ในยุคที่เป็นประชาธิปไตย ต้องยืนยันว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน

“รัฐธรรมนูญในภาษาอังกฤษคือ constitution ซึ่งมีรากศัพท์จากคำสองคำคือ co และ institute คำว่า co หมายถึง ร่วมกัน ส่วนคำว่า institute แปลว่า ก่อตั้ง เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายว่าก่อตั้งร่วมกัน ซึ่งก็คือการที่ประชาชนทั้งมวลเขามาก่อตั้งรัฐธรรมนูญร่วมกัน ประชาชนทั้งมวลเข้ามาก่อตั้งระเบียบ แบบแผนการเมืองการปกครองร่วมกันว่า สุดท้ายแล้วรัฐแห่งนี้จะปกครองกันแบบไหน จะมีสถาบันการเมืองอะไรบ้าง จะประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนแค่ไหนเพียงใด”

เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย ปิยบุตร เห็นว่า ไทยมีการอภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในวันที่ 24 มิ.ย. 2475 หรือจากนั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามในวันที่ 27 มิ.ย. 2475 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการมูลฐานอย่างสิ้นเชิง โดยยืนยันว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ถือเป็นการเริ่มต้นปักหมุดนำประชาธิปไตยเข้ามา หลังจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ตรากันอย่างเร่งรีบเกินไปจึงทรงดำริให้เติมคำว่าชั่วคราวลงไป และทำให้มีการทำรัฐธรรมนูญถาวรใหม่ เกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 และมีการบังคับใช้ยาวมา 14 ปี จนมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอีกครั้งในปี 2489 แต่ก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่ไม่คาดฝัน เพราะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2490 และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ โดยทหารเริ่มเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง และมีรัฐธรรมนูญ 2490 ต่อมาจากนั้นก็ทำรัฐธรรมนูญถาวรคือ รัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ดึงให้ประชาธิปไตยถอยหลังกลับไป จากนั้นก็มีการรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกหลายครั้ง จนมาถึงปัจจุบัน

“รัฐธรรมนูญของไทย 20 ฉบับ มีการเปลี่ยนแปลงจากฉบับหนึ่งไปสู่อีกฉบับหนึ่งด้วยวิธีการแบบอนารยชนแทบทั้งสิ้น แบบอารยชนนี่ก็คือ การนำกองกำลังทหาร อาวุธ รถถังออกมา ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งตนเป็นรัฎฐาธิปัตย์ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เราเปลี่ยนรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารบ่อยครั้ง มีเพียง 3 ครั้งเท่านั้นที่เปลี่ยนโดยวิธีปกติ”

เขาขยายความต่อว่า ประเทศใดก็ตามที่มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ และมีการรัฐประหารหลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่ฝังลึก และไม่ได้ถูกแก้ไข ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นคือปัญหาที่ว่า ตกลงแล้วอำนาจสูงสุดเป็นของใคร เป็นของประชาชน หรือเป็นของใครกันแน่  ซึ่งปัญหานี้ตกค้างมาตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน และยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ชัดเจน สิ่งเหล่านี้จึงแสดงอาการของโรคด้วยการ รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ และการมีรัฐธรรมนูญอายุสั้น เพราะยังตกลงกันไม่ได้ว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ไหน และจะปกครองกันแบบใด

รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลังคือ การปล้นอำนาจสถาปนาไปจากประชาชน วันนี้ถึงเวลาต้องทวงคืน

ปิยบุตรกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญที่มีอายุยาวส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการตกลงกันได้ว่าจะอยู่กันแบบใด เช่น รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 ซึ่งมีอายุยาว 14 ปี โดยฉบับนี้เป็นการตกลงกันระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร ประนีประนอมกันจนออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475 ผ่านร้อนผ่านหนาว หลากหลายเหตุการณ์รวมทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย ส่วนรัฐธรรมนูญอีกฉบับที่มีอายุยืนยาวคือรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งเป็นการตกลงกันของหมู่ชนชั้นนำว่า จะเอาช่วงเผด็จการทหารครองเมืองต่อเนื่อง 10 กว่าปีเพื่อจัดการปัญหาคอมมิวนิสต์คงจะเป็นไปไม่ได้ จึงเห็นว่าควรกลับมาสู่การเลือกตั้งที่ทำให้ชนชั้นนำ กองทัพ และข้าราชการยังมีอำนาจอยู่จะออกแบบมาให้เป็นรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ต่อมาคือรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะเป็นการตกลงร่วมกันของคนในประเทศว่า ไม่เอาอีกแล้วสำหรับการให้ทหารมีอำนาจทางการเมือง ไม่ต้องการวงจรอุบาทว์ และไม่ต้องการรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพทางการเมือง จึงเกิดฉันทามติขึ้นมา และสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้ยาวต่อมาถึง 9 ปี

“แต่ก็มีการกล่าวหาว่า รัฐบาลในสมัยนั้นบิดผันรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจเสียงข้างมากไปเอื้อให้กับพวกตนเอง และกลายเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549 การรัฐประหารครั้งนั้นเป็นหมุดหมายการเมืองการปกครองที่สำคัญร่วมสมัยของไทย มันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลัง 49 50 57 และ 60 มันเป็นรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่ออกแบบมาเพื่อเครื่องมือของการกำจัดศัตรูทางการเมืองของตนเอง ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกมาจากฉันทามติของประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญแห่งการแก้ไข และเอาคืน”

เขากล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลังจึงไม่มีศักยภาพที่จะสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ไม่มีทางหาฉันทามติร่วมของคนในชาติได้ เพราะเกิดจากการความต้องการในจัดการกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม นี่คือปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญอยู่

หากกล่าวเฉพาะรัฐธรรมนูญ 2560 ปิยบุตรเห็นว่า มีปัญหาความชอบธรรมในทุกมิติ ตั้งแต่ที่มาซึ่งปฏิเสธไม่ได้เชื่อมโยงกับการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ต่อให้หัวหน้า คสช. จะพูดว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญนี้อย่างไรก็ไม่อาจปฎิเสธความเกี่ยวข้องนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาความชอบธรรมในเรื่องกระบวนการด้วย โดยการร่างเป็นไปในรูปแบบชงเอง กินเอง และแม้จะมีการอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ แต่การออกเสียงประชามติที่ผ่านมานั้นก็ไม่ได้มาตรฐานสากล ฝ่ายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจรณรงค์ได้อย่างเต็มที หลายคนถูกจับดำเนินคดี และยังมีคดีค้างคาอยู่ในศาล และในช่วงที่มีการลงประชามตินั้นถูกปกครองด้วยมาตรา 44 ทำให้การณรงค์เป็นไปได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งคำถามพ่วงเรื่องให้ ส.ว. เข้ามาเลือกนายกฯ ที่เขียนเอาไว้อย่างไม่เข้าใจ

นอกจากที่มาและกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีปัญหาในเชิงเนื้อหาด้วย โดยปิยบุตร ชี้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการทำให้ระบอบรัฐประหารถูกต้องตามรัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน คือการเอารัฐประหารฝังไว้ในรัฐธรรมนูญ และยังเป็นการดึงบ้านเมืองถอยหลังลงคลองเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2521 ซึ่งทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย เพราะต่อให้เลือกอย่างไรก็จะได้นายทหารคนเดิมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และมี ส.ว. จากการแต่งตั้งเข้ามาถ่วงอำนาจของ ส.ส. ทุกครั้ง และจะยังคงเห็นอำนาจของกองทัพฝั่งตัวอยู่ในการเมือง และยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ขังประชาชนอยู่ในห้องมืด เพราะออกแบบให้การแก้ไขแทบจะเป็นไปไม่ได้

“เราจะออกจากห้องปิดตายที่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ได้อย่างไร ผมคิดว่าต้องกลับไปที่หลักปรัชญาที่พูดไว้ตอนแรกคือ ต้องยืนยันว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นของประชาชน และประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้เสมอ เพราะเมื่อเราเป็นเจ้าของอำนาจนี้เราย่อมใช้มันเพื่อก่อตั้ง แก้ไข แปลงเปลี่ยน หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญได้เสมอ และรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รับฟังความคิดเห็น และต้องผ่านการออกประชามติ ถ้าทำได้แบบนี้ก็จะเป็นการยืนยันว่าอำนาจเป็นสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน”

เขากล่าวต่อว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องดึงเอาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญกลับมาไว้ที่ประชาชน โดยเริ่มต้นทำได้ผ่านการณรงค์ให้ประชาชนเห็นว่า ไม่สามารถอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ และให้ประชาชนปรากฎตัวให้เห็นว่า ตนเองคือผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงที่จะก่อตั้งรัฐธรรมนูญ และแสดงออกอย่างสันติให้บรรดาองค์กรทางการเมืองต่างๆ เห็นว่า ตนเองเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงที่มีอำนาจเขียนรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net