Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากการนำข้อความบางส่วนของ ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ในการเสวนา “พลวัตรแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” จากกิจกรรม 7 พรรคฝ่ายค้านสัญจรภาคใต้  เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ลานหน้าศาลากลาง จังหวัดปัตตานี มานำเสนอเป็นข่าวโดยเว็บไทยโพสต์, เว็บ Tpolitic โดยมีการแชร์เนื้อหาข่าวในเฟสบุ๊คแฟนเพจ ทีนิวส์ จนเป็นเหตุให้ผู้พูดถูกข่มขู่ คุกคามจะทำร้ายทั้งในเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวอร์ค รวมถึงการข่มขู่ทางโทรศัพท์ไปยังสถาบันการศึกษาที่เธอทำงานอยู่ เพื่อความเป็นธรรม ประชาไทขอนำเสนอถ้อยคำที่เธอกล่าวอภิปราย มา ณ ที่นี้

ขอบคุณผู้จัดที่เชิญมาในงานงานนี้ รู้สึกได้รับเกียรติอย่างมากที่ได้มาพบพี่น้องประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2559 ได้ทราบผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญรู้สึกชื่นชมและภาคภูมิใจต่อพี่น้องประชาชนชายแดนใต้เป็นอย่างมากที่ส่วนใหญ่ลงคะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทราบว่าหลายคนทำงานกันหนักมากในการนำเสนอข้อมูลของรัฐธรรมนูญที่มันส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 3 จังหวัด โดยเฉพาะประเด็นด้านการศึกษาและศาสนา ตอนนั้นมีการพูดคุยเรื่องนี้กันหลังละหมาดวันศุกร์ ช่วงละศีลอด ก่อนลงประชามติ มีการแปลเอกสารรัฐธรรมนูญเป็นภาษามลายูอักษรยาวี ทำงานกันคึกคักมาก และประสบความสำเร็จในที่สุด 

วันนี้ก็เช่นกัน เราจะมาร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดิฉันในฐานะนักวิชาการ เราจะช่วยพี่น้องในกระบวนการนี้ หากหลายคนดูข่าวจะทราบว่าเรามีการตั้งคณะ ครช. หรือคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะประกอบด้วยนักวิชาการ ภาคประชาชน นักศึกษา นักกิจกรรม ที่มีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย จะร่วมมือกันในการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน เฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้เรามีองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมกับ ครช.อยู่หลายกลุ่ม ตั้งแต่เครือข่ายนักวิชาการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนส.จชต.), องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี, เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี, เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนภาคใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เราจะร่วมกันจัดเวทีในพื้นที่ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นว่าคิดอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญและอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน

ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนบอกว่าสมควรเป็นวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายควรจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและบทบาทในการแก้ไขปัญหา ดิฉันอยากเน้นย้ำว่าความเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผล ต้องไม่แยกออกจากประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เอื้อต่อการสร้างการมีส่วนร่วม การคุ้มครองเสรีภาพ การเปิดกว้าง และการแสดงจำนงทางการเมือง เพราะฉะนั้น ภายใต้ระบอบ คสช.5 ปีที่ผ่านมา และระบอบประยุทธในตอนนี้ ปัญหาชายแดนใต้ไม่มีทางที่จะดีขึ้น และภายใต้รัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจระบอบเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ 

ปัญหาชายแดนใต้คืออะไร? มีผู้อธิบายว่ามันมาจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักที่มีน้ำหนักมาก คือผลพวงถึงความรู้สึกว่าไม่ชอบธรรม ความคับข้องหมองใจ ที่รู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองชนชั้นสอง กีดกันออกจากการพัฒนาต่างๆ และในช่วง 10-15 ปีมานี้ เป็นผลจากความคับข้องหมองใจจากการถูกกระทำของรัฐ ในการกวาดล้าง ควบคุมตัว ด้วยกฎหมายพิเศษ ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งมาจากแนวคิดอุดมการณ์เรื่องการแบ่งแยกดินแดนหรือการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ซึ่งไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอยู่จริงและดำรงอยู่ 
และความยาวนานของเหตุการณ์ ตั้งแต่ปี 2547-2562 ที่เกิดเหตุการณ์กว่า 20,000 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 7,000 คน บาดเจ็บ 13,000 กว่าคน เป็นเหตุการณ์ที่มีความยืดเยื้อเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่สามารถระบุได้ว่าเกี่ยวข้องกับอะไร ก็เลยทำให้คนในพื้นที่รู้สึกหวาดกลัว ระแวง และไม่รู้สึกว่าเหตุการณ์มันดีขึ้น

สถานการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้มีความเกี่ยวพันกับปัญหาอื่นๆ อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการพัฒนา สังคม ยาเสพติด ความยากจน เกลียดชัง และความแบ่งแยกระหว่างผู้คน (สถานการณ์ความไม่สงบ) ทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหาที่มันซ้อนทับกันอยู่ตลอดเวลา 

หากพูดถึงสถานการณ์ความไม่สงบในมุมของรัฐ จะเห็นว่ามีแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาอยู่ 3 แนวทางคือ

1.ใช้กำลังทหาร ตำรวจ ในการควบคุมพื้นที่ รักษาความปลอดภัยดำเนินการปราบปราม จับกุม ดำเนินคดี

2.ใช้การพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิต

3.การส่งเสริมทางสังคมวัฒนธรรม เช่น ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม (ส่งเสริม) การทำงานของภาคประชาชน

เป็นที่น่าสนใจว่าหลังจากปี 2557 หลังการรัฐประหารของ คสช. การแก้ปัญหาเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจที่เบ็ดเสร็จของกองทัพ แม้ว่างานด้านการพัฒนา สังคมพหุวัฒนธรรม การส่งเสริมภาคประชาสังคม ไม่ควรจะเป็นงานของความมั่นคง แต่ควรจะเป็นงานของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ แต่ทหารกลับมีอำนาจและมีบทบาทในทุกด้าน ด้วยกลไกของ กอ.รมน. ทำให้กองทัพมีอำนาจสูงสุดในการบังคับบัญชา และดูแลทุกหน่วยงาน ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) มีหน้าที่ในการอำนวยการ บูรณาการหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน่าจะรวมถึงการบูรณาการกองทัพด้วย

แต่ปัจจุบันยุค คสช. ศอ.บต.กลับไปอยู่ภายใต้ กอ.รมน. ซึ่งพบว่าการแก้ปัญหาของรัฐประสบปัญหาหลายด้าน ในส่วนของการใช้กำลังปราบปรามหรือการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ พบว่ามีการใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน พรบ.ความมั่นคง ผลที่เกิดขึ้นคือ อับดุลเลาะ (อีซอมูซอ) และหลายคน ที่พิการและเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ หลายรายถูกจับแต่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ไม่มีศักยภาพในการต่อสู้คดีได้ เข้าไม่ถึงสิทธิในการประกันตัว เช่นคดีระเบิดน้ำบูดู  

รวมถึงแนวทางการพัฒนาของรัฐพบว่า เนื่องจากชนชั้นนำของไทยมองว่า ถ้าแก้ปัญหาความยากจนได้ก็จะแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้ จึงพยายามพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ นำชาวบ้านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบตลาดอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม ซึ่งคนได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่เป็นชนชั้นนำ ผู้มีอิทธิพล ในขณะที่การส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมของรัฐมีข้อจำกัดที่เป็นการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของรัฐเท่านั้น มากกว่าที่จะพูดถึงความหลากหลาย สิทธิ และความเท่าเทียม ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาทั้ง 3 ของรัฐมีปัญหามาก ภาคประชาชนพยายามที่จะเสนอ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ดีกว่า มีข้อเรียกร้องหลายอย่าง เช่น เรี่องการยกเลิกกฎหมายพิเศษ การปกครองรูปแบบพิเศษ เป็นต้น นี่คือสถานการณ์โดยรวม

ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ มาตราที่พี่น้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา และศาสนา ที่พี่น้องจังหวัดชายแดนใต้กังวล มันก็ยังคงอยู่ มีปัญหาสำคัญ คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นหัวประชาชน เพราะมีการให้อำนาจแก่องค์กรอิสระต่างๆ มากมาย เหนือองค์กรที่มาจากอำนาจของการเลือกตั้ง พี่น้องลองคิดดู หลังการเลือกตั้ง เราได้ ส.ส.เมื่อมีปัญหาความเดือดร้อนทุกวันนี้ ส.ส.มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหา ไปหาถึงบ้าน นำปัญหาไปพูดในสภา เราจะเห็นว่ากลไกรัฐสภาสำคัญอย่างไร แต่รัฐธรรมนูญนี้กลับลดอำนาจองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง 

โดยสรุปสุดท้าย ดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ในบริบทของจังหวัดชายแดนใต้คิดว่าเราสามารถใช้เวทีรัฐธรรมนูญมาถกเถียงถึงใจกลางของปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบ ที่ผ่านมามีงานวิชาการหลายชิ้นที่บอกว่าปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในแบบปัจจุบันที่ไม่สามารถเผชิญกับความแตกต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ได้ ฉะนั้นเราต้องการรัฐที่มีความแยกย่อย ยืดหยุ่น มีการใช้อำนาจอธิปไตยที่จะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้ สามารถจินตนาการถึงการเมืองประเภทต่างๆ ได้ เช่น ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัฐเดี่ยวหรือแบบรวมศูนย์ ดิฉันหวังว่าในกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ เราจะมีพื้นที่จะสามารถอภิปรายเรื่องนี้ได้ เราจะต้องทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราจะถกเถียงกันในมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญที่เราจะแก้ไข (ปัญหาชายแดนใต้) ได้โดยตรง ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตราที่ 1 ด้วยก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ขอบคุณค่ะ


เสวนา “พลวัตรแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่”
กิจกรรม 7 พรรคฝ่ายค้านสัญจรภาคใต้ 


ภาพประกอบจาก ไทยโพสต์ https://www.thaipost.net/main/detail/47012



ภาพประกอบจาก Tpolitic https://www.tpolitic.com/contents/5862


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net