ไอดา อรุณวงศ์ : ความประสงค์ของราษฎรผ่าน ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ กองทุนที่ไม่ควรต้องมีตั้งแต่ต้น

‘ประชาไท’ ยกให้ 'ปรากฏการณ์กองทุนราษฎรประสงค์’ เป็น ‘บุคคลแห่งปี 2565’ ในฐานะผู้ทำงานอย่างหนักให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีทางการเมืองได้รับการประกันตัว มันไม่ใช่เงิน อันที่จริงมันเป็นภาพตัวแทนเจตจำนงหรือความประสงค์ของ ‘ราษฎร’ ที่ไม่เห็นด้วยและต้องการต่อสู้กับระบบ-ระบอบ กองทุนที่สะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมและระบอบที่ค้ำจุนมัน ในโอกาสนี้จึงขอชวนสนทนากับ 'ไอดา อรุณวงศ์' ผู้ทำหน้าที่ดูแลกองทุนที่เธอว่าไม่ควรมีตั้งแต่ต้น

  • ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ คือพื้นที่ต่อสู้และแสดงเจตจำนงทางการเมืองของราษฎรต่อกระบวนการยุติธรรม
  • การทำงานของ ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ ต้องเผชิญกับระบบราชการที่ดึกดำบรรพ์ที่สุดของศาล ทำให้ขั้นตอน กระบวนการต่างๆ เต็มไปด้วยความยุ่งยากและล่าช้า
  • ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการให้หรือไม่ให้ประกัน วางเงื่อนไขประกันตัว และอื่นๆ ก่อให้เกิดคำถามต่อการใช้ดุลพินิจว่ามีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนหรือเป็นเพียงอัตวิสัยของศาลแต่ละคน

ปี 2565 กำลังจะผ่านพ้น เป็นปีที่มีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองเข้มข้นอีกปีหนึ่ง ทว่า ในรัฐที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนคิดต่าง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกใช้กดปราบและปิดปาก ท่ามกลาง ‘นิติสงคราม’ การคิดและการแสดงออกถูกตั้งข้อหา ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,886 คน ในจำนวน 1,159 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี โดยเมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 22 คน คดีเพิ่มขึ้น 14 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน)  และหากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,753 ครั้ง

การประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานกลายเป็นข้อยกเว้นในคดีการเมือง ผู้ต้องหาและจำเลยต้องติดคุกโดยที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าผิด มันเป็นปีที่ ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ ต้องทำงานหนักเพื่อประกันตัวคนเหล่านั้นออกจากคุกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมที่สุด ซึ่งหลายกรณีต่อให้มีเงินก็ประกันตัวไม่ได้เพราะ ‘ศาล’ ไม่ให้ประกัน

‘กองทุนราษฎรประสงค์’ จัดตั้งเป็น 'มูลนิธิสิทธิอิสรา' เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

‘กองทุนราษฎรประสงค์’ ไม่ใช่เงิน แต่คือผู้คน มันเป็นเวทีให้ประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับระบบใช้เป็นพื้นที่ต่อสู้และแสดงเจตจำนงทางการเมือง มันเคยระดมเงินได้กว่า 10 ล้านจาก ‘ประชาชน’ ได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ‘ตบหน้า’ กระบวนการยุติธรรมและประกาศชัยชนะของราษฎรไปพร้อมๆ กัน

ถึงกระนั้น ด้วยบรรทัดฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมที่ควรจะเป็นตามหลักสากล ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ ไม่ควรมี มันไม่ควรมีมาตั้งแต่ต้น การดำรงอยู่ของมันจึงไม่ผิดอะไรกับภาพสะท้อนความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมไทยและระบอบที่ค้ำจุนมัน

มันเป็นเหตุผลเพียงพอที่ ‘ประชาไท’ คัดเลือกให้ ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ เป็น ‘บุคคลแห่งปี 2565’ กองทุนอันแสดงออกถึงความประสงค์ของราษฎร

เมื่อแรกเริ่ม

‘กองทุนราษฎรประสงค์’ เดิมทีเป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้ชื่อชลิตา บัณฑุวงศ์และไอดา อรุณวงศ์ ที่เริ่มต้นด้วยความจำเป็นเฉพาะหน้าหลังการรัฐประหาร 2557 ที่มีการจับพลเรือนขึ้นศาลทหาร ทำให้จำเป็นต้องระดมเงินเพื่อประกันตัว

ในรัฐอำนาจนิยม เสียงและความคิดของประชาชนเป็นสิ่งน่ากลัวเสมอสำหรับผู้ถืออำนาจ การตั้งข้อหาและจับกุมประชาชนในคดีการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งกองทุนให้เป็นกิจจะลักษณะ มีแบรนด์ มีหน้าร้านของตนเพื่อระดมเงินบริจาคและเปิดเผยที่มาที่ไปของเงินจึงมีความจำเป็น

“มันทำให้ระดมเข้ามาได้ง่ายขึ้นเพราะว่าคนที่บริจาคจะเห็นชัดๆ ทุกยอดว่าเงินใช้ไปทำอะไร เหลือเท่าไหร่ คิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญในการซื้อใจคนที่จะรู้สึกว่าบริจาคแล้วเขาวางใจได้ว่าเงินไปไหน และมันสัมฤทธิ์ผลถ้าพูดในทางการเมือง เพราะคนที่บริจาคเขาอยากช่วยคนที่เคลื่อนไหว เวลาบริจาคแล้วยอดถึงเป้า ประกันได้ มันก็เป็นชัยชนะเล็กๆ ทำให้คนมีกำลังใจที่จะบริจาคต่อ” ไอดากล่าว

ไอดา อรุณวงศ์ (แฟ้มภาพ : ประชาไท)

ราษฎรประสงค์ ความประสงค์ของราษฎร

ยากจะระบุอย่างเจาะจงได้ว่า ‘ใคร’ คือผู้บริจาค ไอดาบอกเช่นนั้น มีบ้างที่เธอคุ้นชื่อ อาจจะเป็นคนในแวดวงนักเขียน ปัญญาชนชนชั้นกลาง แต่มากและมากกว่านั้นคือคนธรรมดาทั่วไปในสังคม เป็น nobody และไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่โอนเงินเข้าบัญชี ยอดเงินส่วนใหญ่อยู่ที่หลักสิบ หลักร้อย มีหลักพันบาท เกินสี่หลักขึ้นไปมีน้อยกว่าน้อยครั้ง แต่ไอดาก็รับรู้ได้ถึงความภูมิใจผ่านสลิปที่ถูกส่งต่อมาในอินบ็อกซ์ของเพจกองทุนราษฎรประสงค์กับประโยคสั้นๆ ว่าฝากไปช่วยเด็กๆ นะ โอนแล้วนะ

“เรารู้สึกขนลุกเวลาที่ไปอัพสมุดแล้วมันยาวมาก นี่มันไม่ใช่แค่เงิน มันคือพลัง ตอนหลังจึงเกิดคำที่เราใช้ต่อมาว่า เจตจำนง เราไม่ได้คิดคำสวยๆ นั้นขึ้นมาก่อน แต่มันเกิดขึ้นจริงๆ เวลาที่เราไปอัพบุ๊คแล้วเห็นยอดที่มันไหล ที่สำคัญมันเป็นยอดเล็กๆ จำนวนมาก เราเรียกตรงนั้นว่าพลังทางการเมือง การแสดงเจตจำนงทางการเมือง ไม่ใช่เงินภาษีที่ประชาชนถูกบังคับให้จ่าย แต่เขาเลือกที่จะจ่าย

“บางทีเรารู้สึกไปไกลกว่านั้นว่ามันมีความศักดิ์สิทธิ์โดยตัวมันเองที่ไม่ใช่เป็นแค่กองหนุนประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองด้วยซ้ำ มันเป็นมากกว่านั้น มันคือการแสดงเสียงของประชาชน”

ในห้วงยามที่สถานการณ์การต่อสู้ทางการเมือง การชุมนุมเรียกร้อง การแสดงออกทางการเมืองเข้มข้นแหลมคม กองทุนเคยสามารถระดมทุนได้ถึง 10 ล้านภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ จึงมีความหมายตรงตัว

ไอดากล่าวว่าผู้บริจาคคงมองว่าผู้ที่ฟ้องร้องดำเนินคดีคือตัวแทนของพวกเขาที่ออกมาสู้และเป็นการแสดงออกถึงความคับแค้นต่อระบบที่เป็นอยู่

“มันมีช่วงที่เป็นชายขอบที่สุด โนเนมที่สุดก็คือกรณีดินแดง ไม่ใช่แค่เพราะว่าจน แต่เป็นเพราะวิธีการต่อสู้ของเขาด้วย ถ้าแกนนำเป็นสัญลักษณ์ที่ประชาชนรู้สึกอินเพราะสิ่งที่เขาทำคือการพูด แต่ดินแดงไม่พูด ออกไปโป้งป้างๆ มันพูดด้วยภาษาอีกแบบซึ่งเป็นภาษาที่ไม่อยู่ในครรลองที่จะยอมรับได้โดยทั่วไป หมายถึงว่ามันสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ก็เลยถือว่าเป็นชายขอบ แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะคนก็ยังมีใจ มีความรู้สึกสงสาร บางทีก็มีคนพูดว่าออกไปตายแทนเรา ออกไปสู้แทนเรา มันเป็นความหมายตามตัวอักษรจริงๆ เพราะเขาออกไปต่อสู้ทางกายภาพจริงๆ”

แฟ้มคดี

ความยากลำบากเมื่อต้อง “ทำงานกับองค์กรที่เป็นราชการขั้นดึกดำบรรพ์ที่สุดอย่างศาล”

ณ เวลาที่เราพูดคุยกับไอดา เงินในกองทุนเหลือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เงินจากราษฎรไม่ได้หายไปไหน แต่เกือบทั้งหมดจมอยู่ที่ศาล การใช้เงินกองทุนเพื่อประกันตัวผู้ต้องหาคดีทางความคิดก็คือการทำสัญญากับศาลว่าผู้ต้องหาจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยวางเงินเป็นหลักประกัน เมื่อคดีสิ้นสุดจึงได้เงินคืน ถ้าคดีไม่จบก็ยังไม่ได้

หน้าที่สำคัญของไอดาคือบริหารเงินให้หมุนออกจากศาลเพื่อกลับมาวางหลักประกันในคดีใหม่ให้ทัน ซึ่งทำได้แค่ระดับหนึ่งเพราะการกำหนดเงื่อนไขอยู่ที่ศาล

“ถ้าเราดูสภาพแล้วหมุนไม่ทัน เราก็จะประกาศกับสังคมว่าไม่พอแล้ว กองทุนนี้จำเป็นต้องมียืนพื้นไม่ควรต่ำกว่า 1 ล้านเพราะเวลาเงินไปมันไปเร็วมาก อย่างตอนนี้ต้องวางเงินประกันอุทธรณ์คดี 112 4 แสนบาท แล้วตอนนี้มีอยู่ 8 แสนบาท แบบนี้อันตรายแล้ว เราควรต้องมีเงินอย่างต่ำล้านนิดๆ เพื่อจะให้หมุนทำ อันนี้พูดในแง่ตัวเงิน แต่โดยปกติจะพยายามบริหารให้ทัน ดึงกลับคืนมาให้ทัน ถ้าไม่ทันค่อยรับบริจาค

“คดีจบแปลว่าเราต้องไปเอาเงินประกันคืน ใครคือนายประกัน ถ้านายประกันไม่ว่างต้องมอบอำนาจ ต้องจัดการ แล้วพอไปยื่นแล้ว ศาลก็จะแบบว่าภายในไม่เกิน 1 เดือนจะได้เงินคืน เราไม่รู้หรอกว่าเขาจะคืนเมื่อไหร่ เราก็ต้องโน้ตลงปฏิทินไว้ไม่ลืมตามเงินก้อนนี้ ถ้ากรณีที่เราเป็นนายประกันเองเงินจะเข้าบัญชีเราซึ่งจะมีอยู่บัญชีเดียวไว้รับเงินประกันคืน แต่ถ้าเป็นนายประกันคนอื่นเราจะต้องไม่ลืมตามเตือนเขาว่าเงินเข้าบัญชีหรือยัง ช่วยโอนกลับมานะคะ ขอหลักฐานการโอนนะคะ แต่ในหนึ่งวันจะมีหลายเรื่องเต็มไปหมด ขณะเดียวกันก็จะมีอินบ็อกซ์มาว่าขอเบิกค่าเดินทางไปศาล การทำยังไงไม่ให้หลุดเรื่องนั้นเรื่องนี้ในหนึ่งวัน”

คนภายนอกนึกภาพการทำงานไม่ออก นำเงินไปวางหลักประกันถือว่าจบ ไม่ใช่ มันมีงานประเภทหลังบ้านมากมาย การบริหารเงินให้ทันก็ส่วนหนึ่ง การติดตามเงินจากศาล จากนายประกัน การจัดการเอกสารจำนวนมหาศาล ปัจจุบันกองทุนยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าเดินทางไปต่อสู้คดีของจำเลย ค่าใช้จ่ายรายเดือนให้แก่จำเลยในเรือนจำที่ไม่ได้ประกัน มันยิ่งทำให้ภาระงานเพิ่มพูนและหนักหนาสำหรับไอดาที่ต้องรับหน้าที่ส่วนนี้

การต้อง “ทำงานกับองค์กรที่เป็นราชการขั้นดึกดำบรรพ์ที่สุดอย่างศาล” ที่ “ไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย” เต็มไปด้วยขั้นตอนหยุมหยิม เอกสาร เอกสาร และเอกสาร กระทั่งเอกสารเรื่องเดียวกันในศาลแต่ละแห่งก็ยังแตกต่างกัน ทำให้งานที่ควรเร็วกลับเฉื่อยช้า สิ้นเปลืองพลังงาน และเธอกลายเป็นระบบราชการไปด้วย

“เวลาดีลกับเขาเราเลยต้องดีลกับระบบที่โบราณที่สุด พลอยทำให้เราต้องมีระบบในการจะดีลกับความโบราณนั้น เราต้องถอยสปีดลงมา กรอกเลขที่ใบเสร็จให้ตรงกับอันนี้ ผลัดดฟ้องผลัดนี้ ถ้าจะเอาเงินคืนต้องใช้แบบฟอร์มนี้ แต่ละศาลไม่เหมือนกันอีก ใบมอบอำนาจใช้ไม่เหมือนกันเลย เราเจอกับอะไรแบบนี้ที่กินเวลามากเลย มันเป็นงานที่ทำให้เรานึกออกว่าทำไมระบบราชการถึงต้องซอยย่อยให้มีคนนี้คีย์ไอ้นี่อย่างเดียว คนนี้ทำส่วนนี้อย่างเดียว มันมีความยุบยิบ หยุมหยิมที่ต้องการการโฟกัสเป็นแต่ละช่วงที่มาร้อยต่อกัน เป็นงานที่กินพลังโดยที่สมองไม่ต้องใช้ ไม่มีความหมายในตัวมันเอง แต่ด้วยความยุบยินมันเรียกร้องความจดจ่อกับมันมาก

“ประเด็นสำคัญคือเรามีความยุ่งยากในการติดตามเรื่องพวกนี้ หนึ่ง-เรารู้ตัวว่าเราพร้อมจะถูกเล่นงานทางการเมืองผ่านกลไกอย่างสรรพากรได้ตลอดเวลาเพราะเราดีลกับคดีการเมือง เพราะฉะนั้นเราพลาดไม่ได้ เราต้องรัดกุมมาก และทำให้เราต้องกลายเป็นราชการ มีความหยุมหยิมพอๆ กับราชการเพื่อจะไม่โดนกลั่นแกล้ง และอีกเหตุผลหนึ่งคือมันเป็นเงินบริจาคของประชาชน ความสำนึกนี้จะบีบหัวเราตลอดเวลาว่าเราต้องรับผิดชอบกับเงินประชาชน”

เรื่องที่เข้าใจไม่ได้ในกระบวนการยุติธรรมไทย

ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมท่องจำได้เหมือนกันหมดว่าการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานตราบใดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิด เพื่อให้สามารถต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมได้เต็มที่ เรารู้อีกเช่นกันว่าการประกันตัวเป็นปัญหาหมักหมม หลักประกันคือเงิน คนรวยมักไม่ต้องติดคุก คุกจึงมีไว้ขังคนจน

อย่างไรก็ตาม มีเงินก็ใช่ว่าจะได้ประกัน ในฐานะผู้ดูแลกองทุน ไอดาเผชิญกับความเข้าใจไม่ได้หลายต่อหลายครั้ง แม้ศาลจะมียี่ต๊อกหรือเกณฑ์กำหนดหลักทรัพย์สำหรับวางประกัน แต่มันยังมี ‘ดุลพินิจ’ ที่หลายต่อหลายคราเข้าไปลุกล้ำกล้ำเกินสิทธิในการประกันตัว

“อยากให้ใครอนุญาตให้เรามีดุลพินิจมากเลย คือคุณจะกำหนดยังไงก็ได้ แล้วอันนั้นเรียกว่ากฎหมาย เป็นคำสั่ง ต้องทำตาม ดุลพินิจของเขาอาจจะบอกว่าคนนี้ 90,000 แต่อีกคนหนึ่ง 20,000 ดุลพินิจของเขาอาจจะบอกว่าคนหนึ่งให้ประกันอีกคนไม่ให้ประกันแม้ว่าจะอยู่ในคดีเดียวกัน แล้วเราจะไปก้าวล่วงไม่ได้”

แล้วศาลให้เหตุผลหรือเปล่า

“ไม่เคยได้เหตุผลที่เป็นกิจจะลักษณะ เช่นเขาจะบอกว่าผู้ต้องหามีการกระทำผิดในคดีอื่นมาก่อนแล้ว แต่เรารู้สึกว่าอีกคนก็เคยมีนะ แต่ได้ประกัน หรือคดีมีอัตราโทษสูงเกรงจะหลบหนี เราก็งงว่ามันก็มีการกำหนดอัตราเงินประกันตามอัตราโทษไม่ใช่เหรอ มันไม่ใช่ว่ามีอัตราโทษสูงแล้วเป็นเหตุผลโดยเบ็ดเสร็จว่าจะหลบหนี ไม่อย่างนั้นจะมีการประกันไปทำไม เวลาเขาให้เหตุผลอย่างนี้มาเราจะรู้สึกว่านี่เรียกว่าเหตุผลมั้ย แต่เขาเขียนมาอย่างนั้น มันคงเป็นเหตุผล แต่เราก็ไม่ค่อยเข้าใจ และขอไม่เข้าใจตลอดไป”

ไอดาเรียกร้องหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานมากกว่าดุลพินิจที่เป็นอัตวิสัยหรือ subjective มันทำให้เหตุผลมักถูกพ่วงมาด้วยกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมซึ่งสำหรับเธอมีค่าเท่ากับรสนิยม

“ถ้าคุณเป็นคนหัวโบราณรู้สึกว่าพูดจาแบบนี้หยาบคาย หยาบคายแบบนี้เท่ากับจาบจ้วง จาบจ้วงเท่ากับอาฆาตมาดร้าย รสนิยมเป็นของคุณ บางคนอาจจะบอกว่าเป็นคำไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม แต่ไม่ใช่อาฆาตมาดร้าย แล้วเวลาคุณใช้แค่ตรงนี้ในการประเมินว่าจะให้หรือไม่ให้ประกัน เวลาที่คุณมองว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหานั้นมันร้ายแรงหรือเปล่า ร้ายแรงวัดจากอะไร เรารู้สึกว่าการประกันไม่ใช่เรื่องหลักการ คือจะไม่ให้ต่อเมื่อเป็นเหตุยกเว้น ต้องให้ไว้ก่อน เพราะคดียังไม่จบ ยังไม่เริ่มพิจารณาคดีเลย มีสิทธิ์อะไรไปขังเขาไว้ก่อน”

ความรับผิดชอบ (accountability) ของศาลอยู่ที่ไหน?

มีเรื่องที่เข้าใจไม่ได้อยู่อีก ประสบการณ์ของไอดาพบกรณีจำเลยถูกขังจนยกฟ้องหรือติดคุกเกินโทษ เธอตั้งคำถามกลับว่ากรณีเหล่านี้ไม่ทำให้ศาลฉุกคิดบ้างหรือว่าโดยตั้งต้นต้องให้ประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่นคดีทางการเมืองและความคิด การอ้างเหตุผลว่าจำเลยจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ฟังไม่ขึ้นและเป็นไปไม่ได้ ในคดีการเมือง พยานหรือโจทก์คือเจ้าหน้าที่รัฐ

“ใครจะมีปัญญาขู่เจ้าหน้าที่รัฐ ขู่ตำรวจ ใครจะบุกเข้าไปใน สน. แล้วยึดพยานหลักฐานออกมา ยิ่งเป็นคดีการเมืองยิ่งฟังไม่ขึ้นที่จะสันนิษฐานไว้ก่อนที่จะไม่ให้ประกัน ตรงนี้เข้าใจยากมาก”

ไม่มีกฎหมายเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้พิพากษา ส่วนการชดเชยเยียวยา ไอดาเล่าว่า

“จ่ายชดเชยหรือไม่จ่ายก็ได้ซึ่งมีคดีที่เกิดขึ้น ศาลมามุขว่ายกฟ้องเนื่องจากยกประโยชน์ให้จำเลยเพราะโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำ กรณีแบบนี้ไม่ชดเชยเพราะศาลไม่ถือว่าเท่ากับการยกฟ้องว่าคุณเป็นผู้บริสุทธิ์ เราก็จะงงกับตรรกะนี้เพราะเรารู้สึกว่ามันควรจะมีแค่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เท่านั้นไม่ใช่หรือในทางกฎหมาย มันควรมีแค่ผิดหรือถูก คุณจะบอกว่ามีอะไรตรงกลาง พอดีเขาพิสูจน์ไม่ได้ว่าผิด แต่ก็ยังไม่นับว่าบริสุทธิ์ แล้วคุณเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร คุณเรียกจำเลยเหล่านี้ว่าอะไรที่ติดคุกมาเกือบสิบปีแล้วบอกว่าโอเค คดียกฟ้องจบๆ ไปนะ แต่อย่ามาเรียกค่าชดเชยเพราะฉันยกฟ้องเพราะยกประโยชน์ให้เธอเฉยๆ แล้วตกลงเขาบริสุทธิ์มั้ย เขามีสิทธิ์เอาค่าชดเชยมั้ย”

เงื่อนไข เงื่อนไข และเงื่อนไข

นอกจากการเรียกหลักประกันเป็นตัวเงินแล้ว ระยะหลังศาลยังเพิ่มเงื่อนไขการประกันตัวอื่นๆ เช่น ห้ามกระทำซ้ำตามที่ถูกกล่าวหามิเช่นนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน ไอดาตั้งคำถามว่าแบบฟอร์มสัญญาประกันที่เธอเคยเซ็น เป็นการทำสัญญาบนฐานว่าจำเลยจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่หลบหนี โดยไม่มีการเติมเงื่อนไขเหล่านี้ลงไป ศาลสามารถตั้งเงื่อนไขได้เองหรือ?

มากไปกว่านั้น หากศาลเห็นว่าผิดเงื่อนไขประกันอย่างมากที่สุดที่ศาลจะทำคือการถอนประกัน แต่ในช่วงหลังศาลริบเงินประกันด้วย

“เหมือนกับว่าถ้าผิดเงื่อนไขประกันคือทำสิ่งที่ศาลเพิ่มขึ้นมาในเงื่อนไขโดยศาลใช้ดุลพินิจเป็นภาคผนวกเพิ่มขึ้นมาในสัญญาว่าห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วถ้าเขาผิดเงื่อนไขศาลจะริบเงินด้วย เราไม่รู้หรอก เขาคงมีอำนาจทำได้ถึงกล้าทำ ถึงรู้สึกว่าเป็นการใช้ดุลพินิจ แต่สำหรับเรา เราเถรตรง เรายังรู้สึกว่าสัญญาประกันและความหมายของเงินประกันคือการเข้าสู่กระบวนการ ไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขอื่นใดที่ศาลกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าเงื่อนไขอื่นใดที่ศาลกำหนดมันไม่ได้เกี่ยวกับการต่อสู้ทางคดี มันเป็นเงื่อนไขประเภทว่าห้ามกระทำซ้ำตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งสิ่งที่เขาทำตามที่ถูกกล่าวหายังไม่ถูกพิพากษาว่าผิด”

ไอดาตั้งข้อสังเกตว่าทำไมต้องตั้งเงื่อนไขว่าห้ามกระทำซ้ำตามที่ถูกกล่าวหา ในเมื่อยังไม่มีการพิสูจน์ว่าจำเลยทำจริงหรือไม่ และต่อให้ทำจริงก็ยังไม่ได้ถูกพิสูจน์เป็นที่ยุติว่าสิ่งที่ทำนั้นผิดกฎหมายหรือไม่

“มันเลยเป็นปัญหาต่อมา เดี๋ยวนี้การประกันตัวมันไม่จบในคำร้องประกันตัวที่บรรดาทนายเขียนมา ไม่จบในทางเหตุผลว่าทำไมคนนี้จึงจะมีหรือไม่มีสิทธิประกัน มันต้องจบด้วยอะไรอย่างอื่นที่เหมือนเป็น...ถ้าภาษาการเมืองคือล็อบบี้ข้างนอก คือเป็นการเพิ่มเงื่อนไข นอกจากต้องมีนายประกันแล้วยังต้องมีผู้กำกับดูแลว่าคนคนนี้จะไม่ทำผิดเงื่อนไขศาล แล้วศาลก็บอกว่าถ้าจำเลยที่มีผู้กำกับดูแลเกิดทำผิดเงื่อนไขศาล ศาลจะริบหลักประกันและให้หลักประกันนั้นต้องเป็นเงินของผู้กำกับดูแลด้วยจะได้เป็นมาตรการให้ผู้กำกับดูแลต้องเข้มงวดในการกำกับดูแล เมื่อเกิดเงื่อนไขแบบนี้ก็เลยทำให้ทะลุฟ้า 3 คนล่าสุดที่ได้ประกันไม่สามารถใช้เงินกองทุนราษฎรประสงค์เพราะไม่ใช่เงินของผู้กำกับดูแล มันเป็นความซับซ้อนที่เรารู้สึกว่าเราพยายามเข้าใจว่าศาลทำเพื่ออะไร

“มันไม่ควรเกิดการเลือกปฏิบัติ ทำไมคุณจึงคิดว่ากรณีผู้ต้องหานี้จะทำ แล้วผู้ต้องหาอีกเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นในประเทศนี้ที่ใช้สัญญาเดียวกัน ใช้แบบฟอร์มสัญญาประกันของราชการแบบเดียวกัน ทำไมเขาทำได้ มันไม่ใช่คดีสะเทือนขวัญ นี่มันคดีที่เกิดจากสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จะเรียกว่าได้สัดส่วนหรือพอสมควรแก่เหตุก็แล้วแต่ศาลจะเรียกเถอะ แต่คุณจะบิดขั้นตอนปกติที่ควรตรงไปตรงมาให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้นไปอีกกับคดีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราว่ามันเกินไป”

เมื่อจำเลยหนีประกัน

ไอดายอมรับว่ามีการหนีประกันและสร้างความลำบากใจ เธอไม่ตัดสินใครกับทางเลือกว่าจะสู้ในระบบหรือหนีออกไปสู้ภายนอกประเทศ

“ปัญหาของเรามีแค่ว่าเราเป็นกองทุนที่ดีลกับการประกันตัวในระบบ แปลว่าเรายอมเดินเข้าไปในระบบเอง ถ้ามีการหนีที่ไม่ใช่การลี้ภัย แต่เป็นการหนีประกันอันนี้มันกระทบเราแน่นอน เราทำสิ่งที่เรียกว่าสัญญาประกันกับศาล มันง่ายๆ แค่นั้นตรงไปตรงมา เราเอาเงินไปวางว่าเขาจะเข้าสู่กระบวนการจนจบ จะไม่หนี ถ้าเขาหนีคุณริบได้ เมื่อจำเลยหนี ศาลก็ริบ แล้วเราก็พูดอะไรไม่ได้เลย เราเป็นฝ่ายผิดเต็มประตูในแง่ที่เราไปวางประกัน”

เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์มาจากประชาชน ต้องตอบเจ้าของเงินให้ได้ว่าเงินเหล่านั้นไปไหน เกิดอะไรขึ้น แต่ละคนอาจเลือกจากเงื่อนไขชีวิตตรงหน้าซึ่งเธอไม่ก้าวก่าย ไม่ตัดสิน แต่ในฐานะกองทุนประกันย่อมมีปัญหา

“อย่างไรก็ตาม เราทำสัญญากันว่าถ้าเขาหนีคุณริบ คุณก็ริบไป แต่เวลาคุณริบไม่จำเป็นต้องเท่ากับเป็นการบั่นทอนเครดิตของกองทุน บางทีจะมีคำพูดว่าเพราะไม่ใช่เงินตัวเองไงก็เลยหนี การหนีประกันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อใช้เงินกองทุน การหนีประกันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาต่อให้เป็นเงินตัวเอง ต่อให้เป็นเงินกองทุนยุติธรรม มันเกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นกองทุนราษฎรประสงค์จึงทำให้เกิดการผิดสัญญาประกัน”

ภาพ กลุ่มมวลชนอิสระ จัดกิจกรรม "ยืน เหยียบ ย่ำ" ความอยุติธรรม  เพื่อเรียกร้องถึงสิทธิการประกันตัวและสิทธิเสรีภาพ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2565 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพโดย แมวส้ม ประชาไท

กองทุนที่ไม่ควรมีตั้งแต่ต้น

ไอดาเปิดเผยว่าเงินที่ทางกองทุนระดมได้มีมูลค่าราวๆ 50 ล้านบาท มันไม่ได้หายไปไหน แต่กระจายเป็นหลักประกันตามศาลต่างๆ ประมาณ 40 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายชนิดจ่ายแล้วหมดไปไม่ได้คืนประมาณร้อยละ 15 เช่น ค่าปรับ ค่าเดินทาง หรือเงินช่วยเหลือผู้ต้องหาในเรือนจำ เงินจำนวนนี้เธอคิดว่าเพียงพอ แค่ต้องบริหารสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพ

ความยั่งยืนในแง่ตัวเงินไม่ใช่ประเด็น ความท้าทายอยู่ที่การหาคนมาทำงานสานต่อ จำเป็นที่กองทุนต้องแปรสภาพเป็นองค์กรที่มีคนทำงานประจำขับเคลื่อนกองทุนต่อเพื่อรักษาเงินก้อนนี้ เป็นเหตุผลที่ทำให้เกิด ‘มูลนิธิสิทธิอิสรา’

เหนืออื่นใด ไอดาสารภาพว่าเธอต้องการให้กองทุนนี้ยุบ เป็นความต้องการที่มีมาเนิ่นนานแล้ว มันเป็นกองทุนที่ไม่ควรต้องมีมาตั้งแต่ต้น

“ถามกลับเข้าไปจริงๆ โดยพื้นฐาน คดีที่เราประกันทั้งหมดเป็นคดีทางความคิด คดีทางการเมือง มันควรต้องใช้เงินประกันกันขนาดนี้เลยเหรอ มันผิดตั้งแต่ต้น

“ประเทศนี้ควรพัฒนาถึงขั้นที่เป็นที่เข้าใจร่วมกันได้เสียทีว่าคดีทางความคิดหรือสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง ไม่ควรต้องวางเงินประกันสูงขนาดนี้ ไม่ควรต้องใช้เงินประกันด้วยซ้ำ ยิ่งคนที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยเฉพาะพวกที่เป็นเด็ก ถ้าไปดูตามศาลเยาวชน คนจนระดับล่างถึงล่างมากทั้งนั้นเลย นี่มันซ้ำซ้อนลงไปอีกทั้งเศรษฐกิจและการเมือง เขาไม่มีสิทธิคิด ไม่มีสิทธิแสดงออกแล้ว เขายังต้องหาเงินมาประกันตัวเอง เงินประกันศาลเยาวชนไม่ได้สูงหรอก 5,000 แต่ก็เป็นเรื่องยากมากสำหรับเขา เรารู้สึกว่ามันควรถึงจุดที่คดีพวกนี้ไม่ควรต้องใช้เงินแล้ว”

หรือไม่กองทุนที่เป็นสวัสดิการของรัฐอย่างกองทุนยุติธรรมก็ควรเข้ามาทำหน้าที่แทนโดยไม่เลือกปฏิบัติ

“คุณไม่ได้ช่วยอาชญากร คุณช่วยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปได้อย่างโปร่งใส ครบถ้วน ครบองค์ประกอบ สู้คดีให้ถึงที่สุด หมดจดไปเลย คุณจะมาบอกว่าอันนี้ 112 อันนี้ 116 ก็เลยไม่ช่วย แต่ทั้งหมดนั้นคือการกล่าวหา ยังเป็นเรื่องที่ต้องสู้คดี การที่คุณอนุญาตให้มีกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้แปลว่ามีไว้เพื่อเอาผิดอย่างเดียว คุณเรียกมันว่ากฎหมาย คุณต้องให้เขาสู้ภายใต้กติกาของกฎหมายอย่างสมศักดิ์ศรีอย่างที่กฎหมายอนุญาตให้ การประกันตัวก็เป็นการสู้กันอย่างแฟร์ๆ เราจึงรู้สึกว่ากระทั่งกองทุนของรัฐเองก็สามารถช่วยได้ คุณไม่ได้สนับสนุนการกระทำผิด

“ตราบใดที่กลไกในระบบไม่ยอมรับอะไรแบบนี้ ประชาชนก็ใช้เราเป็นช่องในการแสดงออกทางการเมือง ถ้าหาได้เยอะ มันก็ยิ่งเป็นการตบหน้ากัน เราไม่ได้อยากจะทำอะไรแบบนั้น เราอยากให้ฟังก์ชั่นปกติดำเนินไปได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท