อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ม.116, 83 นักวิชาการ-ฝ่ายค้าน เวทีเสวนาที่ปัตตานีเมื่อปี 2562

อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ม.116, 83 ต่อนักวิชาการและแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในเวทีเสวนาสัญจรการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่ปัตตานี เมื่อปี 2562 

10 ธ.ค. 2565 ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟสบุ๊ค Chalita Bundhuwong แจ้งข่าวว่าอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องมาตรา 116, 83 ต่อนักวิชาการและแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในเวทีเสวนาสัญจรการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่ปัตตานี เมื่อปี 2562 โดยระบุว่าหลังจากที่รอมาสามปีว่าเมื่อไหร่ตำรวจจะมีหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาหรือออกหมายจับเสียที เมื่อวานได้รับหนังสือจากตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีแจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4  ภาค 9 ต่อเราและคนอื่นๆ รวม 12 คน ในฐานความผิด “ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อเกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชน ถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร  หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน”  ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 83  จากกรณีการเสวนา “พลวัตรแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม 7 พรรคฝ่ายค้านสัญจรภาคใต้  เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2562 ณ ลานวัฒนธรรมหน้าศาลากลาง จังหวัดปัตตานี (เพิ่งรู้เหมือนกันว่าตำรวจสามารถดำเนินคดีกับประชาชนโดยไม่ต้องเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาก็ได้ด้วย แม้ต่อมาตำรวจจะมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องก่อนเสนอสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาก็ตาม)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คดีนี้มีผู้แจ้งความในฐานะผู้เสียหาย นำโดยคือ พลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ในฐานะผู้อำนวนการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (แม่ทัพภาค 4) โดยมี พลตรีบุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้รับมอบอำนาจมาแจ้งความในวันที่  3 ตุลาคม 2562  โดยในเวทีนี้ตอนหนึ่งตัวเองได้เสนอความเห็นว่า ในบริบทของชายแดนใต้ควรใช้เวทีในการแก้รัฐธรรมนูญมาอภิปรายถกเถียงถึงใจกลางของปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ โดยในทุกหมวดทุกมาตราของรัฐธรรมนูญต้องสามารถนำมาถกเถียงอภิปรายแลกเปลี่ยนได้  ซึ่งอาจจะรวมถึง #มาตรา1 ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ ข้อความเนื้อหาธรรมดาๆ นี้ก็ถูกขยายผลอย่างหน้าแปลกใจในสื่อบางสำนักจนนำมาสู่การแจ้งความของกองทัพต่อผู้ร่วมเวทีทุกคน

สำหรับเหตุผลของอัยการที่สั่งไม่ฟ้องระบุว่า “พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 12 คน เป็นนักการเมือง และนักวิชาการ ได้จัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  ได้แสดงความเห็นโดยสุจริตในเชิงวิชาการโดยไม่ขัดต่อหน้าที่หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งเป็นการสื่อไปถึงประชาชนในพื้นที่โดยตรง เป็นการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นตามสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ประชาชนรับฟังการเสวนาย่อมไม่อาจเกิดความกระด้างกระเดื่องแล้วกระทำการใดๆ เช่น ละเมิดกฎหมายหรือลุกขึ้นจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะที่มีความรุนแรงแต่อย่างใด  การจัดเสวนาได้มีการจัดให้ประชาชนเข้าร่วมฟังการเสวนา แต่ผู้ร่วมการเสวนาต่างเดินทางมากันเอง การเสนาเป็นไปโดยสงบเปิดเผย ไม่เกิดความรุนแรง ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังเข้าบังคับ แต่เป็นการแสดงออกด้วยคำพูดอย่างสันติวิธี แม้ผู้ต้องหาได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงกฎหมายพิเศษ และระเบียบที่ออกโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ประชาชนยึดถือปฏิบัติโดยมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมอาชญากรรมและจำกัดเสรีภาพของผู้ก่อความไม่สงบ การที่ผู้ต้องหาบางรายวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายพิเศษนี้ จึงสามารถกระทำได้เนื่องจากมีแนวคิดมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนในแง่มุมเชิงวิชาการที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน  เป็นคำพูดตนกับสถานการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่รับรู้และอาจแปลความได้เองในแต่ละบุคคล นอกจากนี้การสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ไม่พบความเคลื่อนไหวของบุคคลหรือองค์กรใดว่าจะมีการต่อต้านกฎหมาย หรือปลุกระดมสร้างความปั่นป่วนขึ้นในบ้านเมืองหรือประชาชน เชื่อว่าการกระทำของผู้ต้องหาที่ 1 ถึง 12  บีเจตนากระทำเพื่อก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องต่อประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดินตามที่กล่าวหาจากข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนคดี จึงมีหลักฐานไม่ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง….”

ชลิตา ยังระบุว่า "ตอนเกิดเรื่องใหม่ๆ ชีวิตเหมือนโดนระเบิดลง ถึงกับต้องปลดป้ายชื่อหน้าห้องทำงานออก เพราะกลัวคนขึ้นตึกบุกมาหา แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยการไม่ตามอ่านหรือตามฟังคนที่มาด่าเลย และที่สำคัญคือกำลังใจและการลงแรงของหลายๆ คนที่มาช่วยกัน รวมทั้งทีมทนายที่ช่วยดำเนินเรื่องการฟ้องยื่นฟ้องหมิ่นประมาทที่เป็นผลสืบเนื่องจากเรื่องนี้จนชนะคดีด้วย ทั้งนี้ก็แอบภูมิใจตัวเองนิดๆ ที่ผ่านความชุลมุนมาได้ด้วยการยึดหลักการ ต้องขอโทษที่ทำให้อีก 11 คนต้องลำบากไปด้วย  และรู้สึกชื่นชมหลายคนที่โดนร่างแหไปด้วยที่กล้าหาญมากๆ และยึดหลักการได้ดีมากๆ เช่นกันในสถานการณ์นั้น" 

"หลังจากนี้ก็คงขอคำปรึกษาจากทนายต่อไปว่าเมื่ออัยการมีคำสั่งเช่นนี้ เราจะสามารถทำอะไรต่อได้บ้างเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้กฎหมายหรือการฟ้องคดีมาสร้างภาระและความหวาดกลัวเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (SLAPP) ของประชาชน" ชลิตา ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท

พื้นที่ประชาสัมพันธ์