Skip to main content
sharethis

คุยกับอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน ความพยายามจัดเก็บวัตถุที่ประชาชนใช้ในการรณรงค์ในกิจกรรมประเด็นต่างๆ ทั้งการเมือง สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงหมุดหมายความทารุณที่เกิดขึ้นกับพวกเขา อะไรคือความฝันและอุปสรรคของการจัดเก็บหลักฐานเหล่านั้น

เสื้อสกรีนลาย #RDN 50 ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งใส่รณรงค์ หนึ่งในวัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์สามัญชน

เราจำบทบาท ปฏิกิริยาของประชาชนะไรได้บ้างต่อเรื่องการเลือกตั้งในรัฐบาล คสช. ฝุ่น PM 2.5 ประชามติรัฐธรรมนูญ 2559 การชุมนุม กปปส. หรือ นปช. ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ หรือแม้แต่การชุมนุมใหญ่ในฮ่องกง ข้อมูลข่าวสารล้นหลามในปัจจุบันยิ่งทำหน้าที่ทับถม กลบฝังเรื่องราวร่วมสมัยในช่วงชีวิตของเราลึกลงไปเรื่อยๆ

อานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มีความตั้งใจที่จะทำให้เรื่องราวการเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นที่จดจำในรูปแบบของการทำพิพิธภัณฑ์ภายใต้ชื่อ “พิพิธภัณฑ์สามัญชน” จนถึงวันที่เรียบเรียงงาน อานนท์ได้ตามเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์สารพัดมาเป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้ว

อานนท์คุยกับประชาไท เล่าเส้นทาง ความฝันและอุปสรรคของเขาในการทำพิพิธภัณฑ์สามัญชน พลางเดินดูนิทรรศการสิ่งของที่นำออกมาจัดแสดงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เก็บประวัติศาสตร์ที่รัฐไม่จำ

อานนท์ ชวาลาวัณย์

“เคยไปทำงานกับฝรั่งคนหนึ่งจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มีสถาบันที่ชื่อว่า International​ Institute of Social History ที่เก็บของที่ใช้ในการเคลื่อนไหว มันเริ่มต้นจากที่สมัยนาซีมีการทำลายหนังสือหนังหาอะไรพวกนี้ เขาก็เลยคิดว่าควรมีการเก็บรักษาโดยเฉพาะของที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพราะว่ารัฐจะมีการบันทึกจดหมายเหตุของรัฐอยู่แล้ว แต่ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมันไม่มีการเก็บอย่างเป็นเรื่องเป้นราว พอมาอยู่ในประวัติศาสตร์ภาพใหญ่ของรัฐก็ถูกลืมเลือนไป”

อานนท์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำพิพิธภัณฑ์สามัญชน เขามีแนวคิดว่าถ้ารัฐมีหอจดหมายเหตุของรัฐเพื่อเล่าเรื่องราวที่พวกเขาเลือกจำ สามัญชนก็ต้องมีที่เก็บประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าที่นำเสนอมุมมองการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในเวลาที่มีปัญหาและประเด็นต่างๆ โดยยกตัวอย่างจากวัตถุจัดแสดงที่เป็นสัญลักษณ์หรือข้อความทางการเมืองต่างๆ อาทิ เสื้อ สื่อประชาสัมพันธ์ โปสเตอร์ดนตรีพังก์แนวการเมือง

คอลเลคชั่นเสื้อรณรงค์

เรื่องเล่าของสิ่งของ

ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนเล่าว่า เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เพียงการจัดเก็บ แต่ยังเป็นการจัดแสดงเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ถูกลืมหรือสูญหายไป นอกจากนั้นยังอยากให้สิ่งของที่มีอยู่เป็นหลักฐานชั้นต้นสำหรับนักวิจัยในอนาคตที่อยากจะผลิตงานวิชาการ

การเก็บของจากหลายๆ กิจกรรมการรณรงค์มาจัดวางไว้ด้วยกัน จัดหมวดหมู่ประเด็น ทำให้เห็นภาพของการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น และยังสะท้อนความสร้างสรรค์ของการรณรงค์ที่อาจเป็นบทเรียนให้กับการทำกิจกรรมรณรงค์ในอนาคต

“บางอันเป็นหลักฐานร่วมสมัยอย่างแซนด์วิชเนี่ยหยิบได้ที่เซเว่นฯ หรือ 1984 ก็อยู่ในชั้น (หนังสือ) เนื่องจากของที่เก็บหลายอันเป็นของร่วมสมัย บางทีเราเลยไม่รู้สึกว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ เพราะมันอยู่ในชีวิตของเรา แต่นั่นก็สะท้อนได้ว่าไอ้การรณรงค์ การส่งข้อความทางการเมืองไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าคุณมีไอเดียที่สร้างสรรค์ ของที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็กลายเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ที่มีพลังได้”

แซนด์วิช พัดคนอยากเลือกตั้ง และหนังสือเรื่อง 1984 ที่ถูกนำมาใช้เป็นอุปกรณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงรัฐบาล คสช.

หนังสือมติชนรายสัปดาห์ หน้าปกกิจกรรมดนตรีพังก์ 'จะ4ปีแล้วนะ' ที่เปลี่ยนชื่องานจากเดิม 'จะ4ปีแล้วนะไอ้สัตว์' จัดเมื่อ 12 พ.ค. 2561

วัตถุในพิพิธภัณฑ์ไม่ได้จำกัดแค่การรณรงค์ในประเทศไทย สื่อประชาสัมพันธ์และของที่ใช้ในการชุมนุมใหญ่ ประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกงที่ระอุมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 จนถึงตอนนี้ (30 ต.ค. 2562) ไปจนถึงการเดินขบวนความหลากหลายทางเพศ (ไพรด์) ในไต้หวัน ก็มีผู้นำส่งมาให้กับอานนท์เพื่อเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้วย

Commoner's talk EP.1 ตะลุยแก๊สน้ำตาที่ฮ่องกง | พิพิธภัณฑ์สามัญชน X ประชาไท

“คำว่าสามัญชนมีมิติมากกว่าการเมือง และคำว่าการเมืองก็ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องในสภา ใครคือผู้นำประเทศ แต่รวมถึงการจัดการทรัพยากรทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างก็คือการเมือง เราแค่อยากทำให้การเมืองของสามัญชนได้รับการบันทึกไว้ในทุกๆ มิติ” อานนท์ระบุถึงความมุ่งหมาย ทั้งนี้ เขากำลังพยายามเก็บวัตถุเรื่องราวอื่นๆ มากไปกว่าการเมืองกระแสหลัก เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น

ของจัดแสดงบางชิ้นมีนัยสำคัญมากกว่าเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ เพราะถูกใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีประชาชนด้วย อย่างเช่นเนื้อหาเอกสารการรณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 บางอย่างเป็นหมุดหมายความทารุณต่อนักกิจกรรม ประชาชน ที่เผชิญชะตากรรมเลวร้ายหลายระดับตั้งแต่ถูกทำร้ายร่างกาย สูญหายและเสียชีวิต

โปสเตอร์และแคมเปญการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560

“คอลเลคชั่นโปสการ์ดที่ทำให้กับผู้ลี้ภัย ดูเผินๆ เหมือนสถานที่ท่องเที่ยว แต่ด้านหลังจะมีข้อความบางอย่าง (ภาพจาก) ลาว สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส จุดเชื่อมโยงคือเป็นที่ๆ ที่คนถูกเรียกรายงานตัว หรือกังวลเรื่องความปลอดภัย เลือกที่จะออกไปด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย คนกลุ่มหนึ่งต้องจากบ้าน คนอีกกลุ่มถูกทำร้ายร่างกาย บางคนสูญหาย เสียชีวิต”

หมวกดาวแดง พร้อมลายเซ็นสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นักจัดรายการวิทยุที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ ก่อนมีข่าวว่าหายตัวไปพร้อมเพื่อนนักกิจกรรมที่ลี้ภัยอีก 2 คน เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม แต่เพื่อนอีก 2 คนถูกพบเป็นศพในแม่น้ำโขง (ที่มา: Facebook/พิพิธภัณฑ์สามัญชน)

คอลเลคชั่นโปสเตอร์จากประเทศที่มีผู้ลี้ภัย (ที่มา:Facebook/พิพิธภัณฑ์สามัญชน)

อานนท์กับโปสเตอร์แคมเปญตามหาสยาม ธีรวุฒิ นักกิจกรรมที่ลี้ภัยจากไทย ก่อนมีข่าวในเดือนพ.ค. ปี 2562 ว่าถูกนำตัวกลับมาไทย และไม่ทราบข่าวคราวของเขาอีกเล

เสื้อเชิ้ตเปื้อนเลือด (จำลอง) จากเหตุการณ์ที่สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิวถูกดักทำร้ายเมื่อ มิ.ย. 2562 (ที่มา: Facebook/พิพิธภัณฑ์สามัญชน)

ความกังวลของภัณฑารักษ์

แม้ว่าจะคอยเก็บหลักฐานที่ไม่ได้มีอายุมากมาย แถมบางชิ้นยังสามารถซื้อได้ที่ร้านสะดวกซื้อ แต่การที่อานนท์ทำพิพิธภัณฑ์นี้คนเดียว ทำให้ทุนทรัพย์และกำลังคนที่น้อยเป็นอุปสรรคต่อการทำงานแข่งกับเวลา

“ที่เจ็บใจที่สุดคือวีวอล์ค ตอนจบกิจกรรมมีการเอาผ้าขาวมาปูอนุสาวรีย์ แล้วให้คนที่ร่วมเดินเอาเท้าจุ่มสีแล้วมาพิมพ์ เราไม่ได้ขอไว้ มาถึงวันนี้ก็หายแล้ว ก็เป็นไอเดียว่าเราต้องทำตรงนี้ให้เข้มแข็งเพราะว่าของที่คนใช้ในการเคลื่อนไหวในม็อบ ณ วินาทีนั้นเขาคิดว่าเป็นแค่อุปกรณ์ประกอบม็อบ แต่เขาไม่ได้คิดว่าในเวลาอีก 10 ปี 20 ปี มันอาจกลายเป็นหลักฐานชั้นต้นที่สามารถไปศึกษาเรื่องราว ความเป็นมาของการเมืองในยุคสมัยหนึ่งได้”

ผู้ร่วมเดินมิตรภาพ We Walk พิมพ์รอยเท้าร่วมกันที่บริเวณอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ขอนแก่น 16 กุมภาพันธ์ 2561

การทำงานในแวดวงภาคประชาชนมานานก็ยังพอเป็นต้นทุนให้อานนท์สามารถจัดหาสิ่งของจากเครือข่ายที่รู้จักได้บ้าง แต่หลายชิ้นก็เป็นการใช้เงินตัวเองซื้อมา ในตอนนี้การจัดเก็บวัตถุต่างๆ ยังไม่เป็นกิจลักษณะ เนื่องจากทำด้วยตัวเองและยังไม่มีทุนรอน ทำให้กังวลว่าเมื่อเวลาผ่านไป วัตถุบางอย่างอาจเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา อานนท์ประเมินว่า ถ้ายังเป็นเช่นนี้ อย่างน้อยป้ายไวนิลต่างๆ ก็จะผุพังไป

ไวนิลราชประสงค์ที่ถูกใช้ในกิจกรรมรำลึก 5 ปีรัฐประหาร และรำลึกสุรชัย แซ่ด่าน (ที่มา:Facebook/พิพิธภัณฑ์สามัญชน)

สำหรับผู้ที่อยากบริจาคสิ่งของเข้าพิพิธภัณฑ์สามัญชน ทั้งที่มีอยู่หรือว่าจะเป็นเจ้าภาพซื้อให้ ไปจนถึงการติดต่อขอให้นำวัตถุไปจัดแสดงและให้ความรู้ต่างๆ สามารถติดต่อได้หลังไมค์ที่เพจเฟสบุ๊ค พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of the Commonners หรือที่อีเมล์ของอานนท์ chawalawan@gmail.com ทางเพจจะทยอยนำสิ่งของและเรื่องราวขึ้นเพจและจัดนิทรรศการตามโอกาสที่มี

คิวจัดแสดงล่าสุดของพิพิธภัณฑ์สามัญชนคือวันที่ 1-9 พ.ย. 2562 ในงาน “Never Again : หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน in BKK” จัดโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ WTF Café & Gallery ซ.สุขุมวิท 51 เขตวัฒนา คลองตันเหนือ กรุงเทพฯ (สามารถเดินได้จากสถานีรถไฟฟ้าทองหล่อ) โดยงานจัดวันที่ 1-10 พ.ย. อานนท์จะขึ้นพูดในหัวข้อ “หลักฐานมีชีวิต” ในวันที่ 9 พ.ย. เวลา 17.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net