Skip to main content
sharethis

คุยกับกลุ่มผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุอิสระเล่าเรื่องราวของสามัญชนและคนชายขอบกับจุดเริ่มต้น ปัญหาที่ต้องเผชิญ และเป้าหมายสู่ความเท่าเทียมในสังคม

วันที่ 17 พ.ค. 2567 The Fort ได้จัดเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุอิสระ: การบันทึกประวัติศาสตร์ ในฐานะความพยายามยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุอิสระ ที่รวบรวมสิ่งของจัดแสดงเรื่องราวของสามัญชน ประชาชนที่ชายแดนใต้ และกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ The Fort สุขุมวิท 51 โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 คน ได้แก่ ภัทรพร ภู่ทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง The Deep South Museum & Archives และ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้าวิจัยโครงการจัดเก็บเอกสารของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย (Thai Rainbow Archive Project) ดำเนินรายการโดย ศิปปชัย กุลนุวงศ์ Communications Specialist ของ Fortify Rights

ทำไมประชาชนต้องลุกขึ้นมาจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วยตัวเอง?

 

ภัทรพร ภู่ทอง

ภัทรพรตอบว่า เดิมตนเองไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องพิพิธภัณฑ์มากนัก แต่ส่วนตัวแล้วมีความสนใจเรื่อง Peace education หรือ สันติศึกษา และได้มีโอกาสไปดู Hiroshima Peace Memorial Museum ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสียหายจากระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านภาพถ่าย เสื้อผ้าที่สวมใส่ของผู้เสียชีวิต ภาพวาดจากผู้รอดชีวิต พร้อมคำอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ ทำให้เขานึกถึงพิพิธภัณฑ์หรืออนุสรณ์สถานในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่เน้นนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากกว่าชีวิตของผู้คน จากนั้น ภัทรพรก็ได้ไปทำวิจัยเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และมีความหวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะมีพิพิธภัณฑ์สันติภาพบ้าง

หลังจากนั้น ภัทรพรก็ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และได้ร่วมงานกับอาจารย์หลายท่าน ซึ่งทำให้เขาเห็นถึงความเป็นไปได้ถึงสิ่งที่เคยหวัง คือ แม้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่การเก็บข้อมูลและทำเป็นหอจดหมายเหตุก็ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงประเด็น 6 ตุลา 2519 ในสังคมไทยมากขึ้น

จากกรณีตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์สันติภาพไม่ว่าจะเป็นในประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลี ต่างก็เป็นการตั้งพิพิธภัณฑ์หลังความรุนแรงสงบลง ภัทรพรจึงตั้งคำถามว่า ‘เป็นไปได้หรือไม่ ที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เหตุการณ์เหล่านี้ยังไม่จบลง’ จากนั้นก็ได้เกิดโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ หรือ The Deep South Museum & Archives

แม้อยากรวบรวมทุกอย่างที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเงิน ทรัพยากรบุคคล และสถานที่ ทำให้การจัดเก็บสิ่งของเหล่านี้ยังไม่เป็นไปตามภาพที่ภัทรพรวาดไว้ จึงมีสิ่งของบางอย่างเก็บไว้ที่โครงการถาวร เช่น ประตูแดง และสิ่งของที่หยิบยืมจากผู้สูญเสียมาขึ้นทะเบียนวัตถุสำหรับการจัดนิทรรศการชั่วคราว ส่วนใหญ่เป็นสิ่งของที่เกี่ยวกับความทรงจำของบุคคลผู้เป็นที่รัก เช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ ภาพถ่าย 

 

‘หนังสติ๊ก’ และ ‘หมวกแพนด้า’ แทนความทรงจำของเด็กที่ชายแดนใต้

ภัทรพรเล่าเรื่องสิ่งของที่มีความเชื่อมโยงกับความทรงจำวัยเด็กของคนในชายแดนใต้ว่า ย้อนไป 10 ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์โรงเรียนแห่งหนึ่งถูกเผาที่ชายแดนใต้ มีเด็กคนหนึ่งวิ่งไปหยิบเก้าอี้จากห้องเรียนกลับมาที่บ้าน ปัจจุบันยังมีหมายเลขครุภัณฑ์อยู่ อีกสิ่งหนึ่งคือ ‘หมวกแพนด้า’ ได้มาจากครั้งที่กองทัพพาเด็กในโรงเรียนที่โดนเผาขึ้นเครื่องบินไปดูหมีแพนด้าที่เชียงใหม่เพื่อปลอบขวัญ

“อีกเหตุการณ์คือ หมู่บ้านแห่งหนึ่งเคยเกิดการกราดยิง จากนั้นก็มีการล้อมหมู่บ้านเรื่อยมาในช่วง 2 ปีนั้น มีเด็กคนหนึ่งเก็บหนังสติ๊กไว้ ปัจจุบัน เด็กคนนั้นอายุ 30 ปีแล้ว เขาเล่าว่าเมื่อก่อนชอบไปยิงนกตกปลาแต่พอมีความรุนแรงเกิดขึ้น เด็ก ๆ ก็โดนห้ามไม่ให้ออกจากบ้าน ตอนกลางคืนต้องปิดบ้านเข้านอน มีแค่คนแก่ที่จะออกไปละหมาดตอนกลางคืนได้” ภัทรพร

 

อานนท์ ชวาลาวัณย์

ย้อนไปช่วงปี 2556 อานนท์ทำงานอยู่ที่ไอลอว์ โดยมีหน้าที่เก็บข้อมูลการพิจารณาคดีทางการเมืองและคำปราศรัยเมื่อมีการชุมนุมของประชาชน แต่รู้สึกว่าการเผยแพร่เนื้อหาเป็นตัวหนังสืออย่างเดียวไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของประชาชนได้ทั้งหมด ทำให้นึกย้อนถึงชาวต่างชาติคนหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ที่สะสมสิ่งของเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมทั่วโลก ประกอบกับตนเองมีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว จึงก่อตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์สามัญชน’ ในประเทศไทย เมื่อปี 2561 โดยหวังว่าสิ่งของเหล่านี้จะเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของประชาชน

“เราไม่ได้ต้องการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่รัฐนำเสนอ แต่เป็นการต่อยอดหลักฐานอีกชุดหนึ่ง เราเรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์ในตู้เสื้อผ้า’ ตั้งแต่พันธมิตร เสื้อแดง กปปส. ม็อบ’63  มันเป็นประวัติศาสตร์ในตู้เสื้อผ้าที่มีคอลเลคชั่นเสื้อม็อบที่ต่างกัน เมื่ออยู่ตามบ้านก็จะเป็นเรื่องของคนหนึ่งคน แต่พอทุกคนใส่เสื้อแบบเดียวกันมารวมตัวกัน ก็จะเป็นเรื่องเล่ามวลรวมว่า เสื้อที่มีหลากหลายข้อความเหล่านี้นำไปสู่เป้าหมายบางอย่างหรือชุดอุดมการณ์ต่าง ๆ ของผู้ชุมนุม” อานนท์กล่าว

อานนท์มองว่าสิ่งของที่ถูกนำมาใช้ในการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นป้ายประท้วง ป้ายผ้า เสื้อยืด หรือสิ่งของอื่น ๆ ล้วนมีคุณค่าในตัวมันเอง ความน่าเสียดายคือสิ่งของเหล่านี้มักถูกทิ้งหลังจบงานและหากไม่มีคนเก็บไว้ก็อาจหายไปตลอดกาล อานนท์จึงตั้งใจว่าตนเองจะเข้าไปขอสิ่งของในการชุมนุมจากผู้เข้าร่วมและผู้จัดงานเท่าที่ทำได้

ระยะแรกของพิพิธภัณฑ์สามัญชนเป็นการเก็บรวบรวมสิ่งของ แต่เมื่อเก็บสิ่งของจำนวนหนึ่ง อานนท์ก็เริ่มขยายขอบเขตงานของตนเองเป็นการเติมเต็มการทำงานของภาคประชาสังคม เช่น การจัดนิทรรศการ การให้ภาคประชาสังคมยืมสิ่งของเหล่านี้ไปใช้ประกอบงานของพวกเขา เป็นต้น

 

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ด้านนฤพนธ์เล่าถึง Thai Rainbow Archive Project ว่า เป็นโครงการที่เกิดจากความสนใจของ ปีเตอร์ แจ็คสัน นักวิชาการจากประเทศออสเตรเลียที่มาประเทศไทยช่วงปี 2523 และพบกับนิตยสารเกย์ที่วางขายตามสนามหลวง ปีเตอร์ได้ซื้อสะสมเป็นของส่วนตัวก่อนจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ในทางวิชาการ ซึ่งโครงการนี้ได้รับทุนจาก British Library และเป็นการร่วมระหว่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

สาเหตุที่ปีเตอร์และนฤพนธ์สนใจเรื่องนิตยสารเกย์ เพราะสังคมไทยมีการรับรู้เกี่ยวกับสิ่งของเหล่านี้ว่าเป็นสื่อลามกอนาจาร เป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่ให้ความสำคัญเพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ศิวิไลซ์ ไม่อยู่ในขนบของความรักชาติหรือสถาบันสังคมของชาติ ซึ่งการรวบรวมนิตยสารเหล่านี้ทำให้เห็นมิติอื่นของผู้มีความหลากหลายทางเพสที่นอกจากประเด็นเซ็กซ์หรือภาพโป๊ เช่น เรื่องราวชีวิต การไม่ถูกยอมรับจากครอบครัว การถูกตีตราจากสังคม เป็นต้น

 

นิตยสารจาก Thai Rainbow Archive Project

“งานพวกนี้ไม่ได้มีแต่ภาพโป๊ แต่มีประสบการณ์และเรื่องเล่าของคนที่ต้องเผชิญกับทัศนคติของคนในครอบครัว การไม่ถูกยอมรับ ความอยากตาย หรือแม้แต่ช่วงที่โรคเอดส์ระบาดก็ถูกตีตราว่าเป็นโรคของเกย์ ประสบการณ์ที่ถ่ายทอดในเอกสารพวกนี้ ทำให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งของคนที่เกิดความสงสัยว่าบนโลกนี้จะมีใครเหมือนเรามั้ย มันเป็นประวัติศาสตร์เรื่องเพศ…”

ทุน-บุคคล-สถานที่: 3 ปัญหาที่ผู้ทำพิพิธภัณฑ์ต้องเผชิญ

 

ปัญหาที่ทั้ง 3 คนเผชิญในการรวบรวมสิ่งของ คือ การขาดเงินทุนและสถานที่ในการดูแลรักษาสิ่งของให้คงสภาพเดิม หรืออย่างก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ เช่น มีมในอินเตอร์เน็ต ภาพกราฟิกตี้บนกำแพงหรือถนน แต่อานนท์ก็พยายามรวบรวมให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ และมีข้อเสนอต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมว่า องค์กรเหล่านี้ควรเก็บสิ่งของที่ใช้ในการประท้วงแต่ละครั้งไว้ เพราะทุกอย่างล้วนมีเรื่องเล่าในตัวของมันเองและยังสามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนในอนาคตได้อีกด้วย

นฤพนธ์มองว่าสาเหตุที่ขบวนการเคลื่อนไหวไม่ค่อยเก็บสิ่งของเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุนและระบบการจัดการไม่ต่างกัน ด้านองค์กรรัฐก็ไม่เก็บเพราะเห็นว่าเป็นภาพโป๊ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเรื่องเล่าของคนชายขอบ

แม้จะมีงานไพร์ดหรือการพูดถึงความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่สิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงกลับเป็นเพียงเรื่องของซีรีส์วายหรือผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าสิทธิความเท่าเทียมทางเพศจริง ๆ

การเรียนรู้ความแตกต่างเป็นก้าวแรกสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้ง

 

การเก็บสิ่งของหรือเอกสารเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้ แต่นฤพนธ์มองว่าการรวบรวมสิ่งของจำนวนมากในข้อจำกัีดด้านทุนทรัพย์นั้นจำเป็นต้องอาศัยแรงจูงใจและความมุ่งมั่นมหาศาล เพราะเป็นการรวบรวมประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรถูกลืม

“ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดจากอุดมการณ์ทางการเมืองหรือความขัดแย้งศาสนา ประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกเขียนจากฝ่ายรัฐอย่างเดียว… ประวัติศาสตร์ไม่ควรมีลำดับขั้น สถานศึกษาหรือหน่วยงานควรตั้งคำถามกับความทรงจำเหล่านี้บ้าง ไม่ใช่แค่เน้นสร้างคนให้มีความสุขส่วนตัว เราควรทำให้คนมีสำนึกส่วนรวมมากขึ้น” นฤพนธ์กล่าว

นฤพนธ์เสริมว่า มนุษย์ควรเรียนรู้และยอมรับความแตกต่างที่เกิดขึ้นในสังคม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นก้าวแรกของการสร้างความเท่าเทียม โดยเสนอให้เริ่มจากการศึกษาในห้องเรียนผ่านประวัติศาสตร์นอกกระแส เช่น ประเด็นแรงงานข้ามชาติ ชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางเพศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาในปัจจุบัน คือ การผลิตแรงงานเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากกว่าการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม

อานนท์เห็นด้วยว่าการรวบรวมสิ่งของเหล่านี้จำเป็นต้องใช้แรงจูงใจส่วนบุคคล เพราะมีหลายกรณีที่บุคคลสะสมสิ่งของที่ตนเองชอบจนสามารถนำมาแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์หรืองานจัดแสดงได้ เช่น พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม หรือศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในครัวเรือน จ.พะเยา

“ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องของแพสชัน ถ้าวันหนึ่งคนที่มีแพสชันตายแล้วไม่มีคนรันต่อ เราจะสนับสนุนมันอย่างไร อีกเรื่องคือพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถทำกำไรได้และทุกพิพิธภัณฑ์ทักมีอุดมการณ์แฝงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพอจะทำได้คือ การทำงานต่อจากความคิดของเขา เพราะเป้าประสงค์ของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องกำไรที่เป็นเงิน แต่เป็นกำไรของอุดมการณ์” อานนท์กล่าว

หนังสือพิมพ์ที่พาดหัวเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงเวลาต่างๆ

ทั้งนี้ อานนท์ยืนยันว่าตนเองยินดีร่วมงานกับภาครัฐหากต้องการนำสิ่งของในพิพิธภัณฑ์สามัญชนไปจัดแสดงโดยเฉพาะกับรัฐสภา เนื่องจากงานที่ทำเป็นเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐสภาโดยตรงและเชื่อว่าหากเรื่องราวของสามัญชนได้ถูกนำไปจัดแสดงในรัฐสภาจะทำให้เกิดการถกเถียงและหาทางออกร่วมกันมากขึ้น

ภัทรพรกล่าวว่าตนเองทำงานกับประวัติศาสตร์ความรุนแรงจึงต้องคิดถึงวิธีการสื่อสารเรื่องราวกับบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะกับคนที่มีอุดมการณ์ตรงกันข้ามหรือคนที่มีความสนใจในประเด็นนี้และได้เห็นเรื่องราวด้านอื่นมากกว่าที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ เช่น ความทรงจำ เรื่องราว หน้าตาและชีวิตของผู้สูญเสีย สอดคล้องกับที่อานนท์เล่าว่าตนเองมีอำนาจในการเลือกหยิบสิ่งของที่มีอยู่ไปนำเสนอ จึงต้องทบทวนอยู่เสมอว่าควรหยิบอะไรไปใช้ในการจัดแสดงแต่ละครั้ง โดยประเมินจากรูปแบบงานและสถานการณ์สังคม

นอกจากนั้น การจัดนิทรรศการแต่ละครั้งล้วนมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากและเป็นงานที่ไม่สร้างกำไรอย่างที่อานนท์กล่าว ภัทรพรจึงตั้งคำถามกับตนเองอยู่เรื่อย ๆ ว่า ตนเองจะทำงานลักษณะนี้ไปถึงเมื่อไหร่ แต่เมื่อได้พูดคุยกับเหยื่อความรุนแรงหรือได้รับความไว้ใจจากครอบครัวผู้สูญเสียที่อนุญาตให้นำสิ่งของมาจัดนิทรรศการ ก็ยังเป็นหนึ่งในกำลังใจให้ภัทรพรทำต่อและหวังว่างานที่ตนเองทำนั้นจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงหรืออย่างน้อยที่สุดคือ ผู้มาชมนิทรรศการเกิดการตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net