Skip to main content
sharethis

สมาคมนักข่าวนักหนังสือสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดเสวนาเวที 'Fake News' เสนอจับมือทุกขั้วการเมืองทำ 'MOU ต้านข่าวปลอม' ค้านรัฐเป็นเจ้าภาพ แนะดึงทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

17 พ.ย. 2562 เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รายงานว่าที่ห้องอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ 'จุดกึ่งกลางการจัดการปัญหา Fake News' โดยมี น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นวิทยากรผู้บรรยาย

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สังคมปัจจุบันเป็นสังคมเสมือน โดยสมัยก่อนจะมีแหล่งข่าว แต่ตอนนี้แหล่งข่าวมาจากทุกที่ไม่มีการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะสังคมโซเชียลมีเดียไม่มีใครตรวจสอบได้ ทำให้ไม่รู้ว่าส่งข้อมูลใดเป็นข่าวจริงหรือปลอม แต่หน่วยราชการจมองข่าวปลอมเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชน จะถือว่าข่าวนั้นทำให้เกิดผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ที่ต้องชี้แจงในการสื่อสารกับสาธารณะ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน โดยมีหน่วยงานกลางมาตรวจสอบ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่มาจากหน่วยงานอิสระ หน่วยงานองค์กรสื่อ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเข้ามาตรวจสอบว่าข่าวใดเป็นข่าวปลอม อาทิ มีการเผยแพร่ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมอุบลราชธานี ซึ่งเป็นภาพในอดีต แต่ถือว่าเป็นข่าวปลอม ทำให้ต้องชี้แจงออกไป

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่าวันนี้การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถดูและประชาชนในโซเชียลมีเดียได้ แต่จะคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับลกระทบ โดยจะเน้นการบังคับใช้กฎหมายปกติ ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะขณะนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติในโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนส่วนใหญ่มาจากผู้มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ที่กระจายข้อมูลข่าวสารไปเรื่อยๆ จะเกิดผลกระทบทันทีในทางกฎหมาย ดังนั้นจะทำอย่างไรจะทำความเข้าใจไม่ให้เกิดผลกระทบ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นคอยชี้แจงให้ประชาชนทันทีภายใน 2 ชั่วโมง รวมถึงประสานให้เจ้าของแพลตฟอร์มนำข่าวปลอมนั้นๆ ออกจากระบบ

"ยืนยันศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมไม่ใช่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพราะต้องทำความรู้ความเข้าใจกับประชาชน แต่ต้องไปตรวจสอบว่ามีกระบวนการจัดทำขึ้นหรือไม่ เพื่อนำหลักฐานให้กับหน่วนงานรัฐดำเนินการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทั้งหมดทำงาน 24 ชม. ไม่มีทหาร ตำรวจ แต่เป็นบุคคลเชี่ยวชาญด้านนี้มาทำหน้าที่ ส่วนเรื่องบุคคลการเมือง ดารา หรือเรื่องส่วนบุคคลจะไม่แตะต้อง แต่จะทำเรื่องที่ผลกระทบกับสังคมในวงกว้างทั้งเท่านั้น และสามารถตรวจสอบการทำงานได้ทุกขั้นตอน ซึ่งข่าวที่มีผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยาเสพติด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ" น.อ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้านนายไพบูลย์ กล่าวว่าไม่ว่าข่าวปลอมจริงหรือเท็จอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน เหมือนพูดว่าอะไรคือสีขาวหรือไม่ขาว ซึ่งมีการมองแตกต่างกัน แต่เมื่อรัฐเข้ามามองข่าวจริงหรือปลอม แต่หากรัฐมองว่าเป็นข่าวเท็จแล้วบอกประชาชน ทั้งที่ในเรื่องข้อมูลข่าวสารจะมีความเห็นเข้ามาร่วมด้วย โดยเวลาพูดถึงข่าวปลอมในความหมายที่ประชาชนเข้าใจ ซึ่งไม่มีมาตรฐานที่พอใจเพราะเป็นหลักเกณฑ์ที่ยากมาก รัฐทั่วโลกกำลังหลงทางการที่จะออกกฎหมายควบคุมข่าวปลอม ทำให้ทุกรัฐต้องเลี่ยงการออกกฎหมายที่เข้มงวดที่มีบลงโทษค่อนข้างสูง เพราะในโลกปัจจุบันบังคับไม่ได้แล้ว ยิ่งปิดคนยิ่งอยากรู้ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ทำให้การบล็อคไม่ใช่คำตอบ

"จุดกึ่งกลางกับข่าวปลอมรัฐกับเอกชนมองต่างกัน เราแก้ถูกทางหรือไม่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเป็นอย่างไร ทุกวันนี้คนไทยใช้เฟซบุ๊ค 54 ล้านคน มีการใช้ไลน์ ยูทูป ถ้าเอาทุกอย่างมาที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะเป็นเรื่องที่ยากมากจะกรองข่าวปลอมทั้งหมด ผมไปดูศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมทั้งอเมริกาและยุโรปมีความไฮเทคมาก ถ้าเราทำได้จะมีความน่าเชื่อถือ"นายไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่าจริงๆ แล้วข่าวต้องเป็นพื้นฐานของข้อเท็จจจริง แต่กลายเป็นวาทกรรมติดตามปากจากประธานาธิบดรสหรัฐฯ บอกว่าสื่อที่วิจารณ์ตัวเองว่าเป็น Fake News ซึ่งคนจะเป็นคนนิยามว่าจริงหรือไม่จริง เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะขึ้นอยู่กับความคิดเห็นแต่ละบุคคล จึงต้องแยกระดับว่าถ้าเป็นการเมือง สังคม วัฒนธรรมจะตัดสินยาก เพราะเป็นเรื่องความเชื่อ จากที่เป็นภาคประชาชน และเป็นอดีต กสทช. ก็ไม่เห็นด้วยให้รัฐเป็นเจ้าภาพหลัก ถ้าจงใจปล่อยข้อมูลเท็จต้องมีกฎหมายเฉพาะเข้าทำงานจริงจัง อาทิ เรื่องสุขภาพที่อาจล่อลวงให้มาซื้ออาหารเสริมได้ เป็นเรื่องของรัฐต้องไปแก้ปัญหาจริงจังกับผู้ปล่อยข้อมูลเท็จอย่างเต็มที่

"ถ้าเป็นการหลอกลวงจริงๆ ต้องให้รัฐใช้กฎหมายกำกับดูแล แต่ถ้าเป็นเร่งทัศนคติ หรือเป็นความเห็นทางการเมือง ต้องให้สื่อหลักตรวจสอบ แต่สื่อหลักบางส่วนก็มีการกระโจนไปแพร่ข่าวลวงด้วย จึงต้องให้อค์กรวิชาชีพตักเตือนกันเองเพื่อสร้างมาตรฐานจริยธรรม อย่าให้คนใดคนใดคนหนังตัดสินว่าสิ่งใดข่าวจริงหรือปลอม ถ้าจะตรวจสอบข่าวปลอม จะมีหน้าเป็นกองบรรณาธิการแบบต่างประเทศ เพื่อให้กลุ่มคนต่างๆ เอ็นจิโอ หรือปัญญาชนมาช่วยกันสืบสวน และค้นหาความจริงเพื่อต่อสู่กับความลวง"น.ส.สุภิญญา ระบุ

น.ส.สุภิญญา กล่าวด้วยว่า การจัดการข่าวลือในออนไลน์ เราไม่สามารถใช้วิธีการแบบเดิมจัดการได้ ต้องใช้กลไกทางสังคมมีส่วนร่วมเพื่อตัดสินว่าอะไรควรหรือไม่ควร แต่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อยากให้ดึงภาคส่วนอื่นๆ มาเกี่ยวกัน ถ้าจะทำเรื่องการเมืองต้องทำให้ครบทุกทางไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายใดๆ ไม่ใช่แค่ตรวจสอบข่าวปลอมจากคำพูดของ ผบ.ทบ. แต่ต้องตรวจสอบเกี่ยวกับบุคลทางการเมืองเลย ทำให้ต้องมีจุดยืนตรงนี้ที่ชัดเจน เพื่อให้การยอมรับจากทุกภาคส่วน ต้องใช้สังคมการมีส่วนร่วมให้แต่ละภาคส่วนทำหน้าที่ของตัวเอง

"ขอให้พรรคการเมือง และผู้นำความคิดไม่ว่าจะคิดต่างอย่างไรต้องบอกกองเชียร์ว่าถ้าไมจริงก็อย่าแชร์ ต้องสร้างความวัฒนธรรมความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ถ้าใครผิดพลาดที่จะเผยแพร่ข่าวลวงก็พร้อมออกมาขอโทษ เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง และอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ อยากเห็น รมว.ดีอี ทำเอ็มโอยูกับพรรอนาคตใหม่ และทุกพรรคการเมือง เพื่อให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ไขเพื่อเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหา จากที่ต่างคนต่างพูดกันอยู่ แต่ถ้าอยู่ในเวทีเดียวกันได้ ถึงแม้จะเห็นแตกต่างในทางการเมือง แต่มาร่วมแสวงหาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายทุกพรรค โดยรัฐบาลสนับสนุน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีวัฒนธรรมยอมรับการไม่เผยแพร่ข่าวลวง" น.ส.สุภิญญา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net