Skip to main content
sharethis

เปิดประชุม กปท. ปี 2563 เผยมีการใช้งานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นมากขึ้น ลดปัญหาเงินค้างท่อ ตั้งเป้ารับมือ 4 ประเด็นสุขภาพอนาคต “เด็ก-ผู้สูงวัย-NCDs-พื้นที่” สปสช.เตรียมการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่นสู่สากล มุ่งกระจายอำนาจด้านสุขภาพ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.

28 พ.ย.2562 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจพี่เลี้ยงกองทุน (Coaching) ในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ปีงบประมาณ 2563 โดยมี นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. บรรยายถึง อนาคต กปท.

นพ.ศักดิ์ชัย ระบุว่า กปท.จะเป็นคำตอบในหลายเรื่องของด้านสุขภาพในอนาคต เพราะผู้ที่จะกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้ดีที่สุดคือคนในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ภายใต้บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และปัญหาที่จะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไม่อาจใช้การแก้ปัญหาจากส่วนกลางได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ภาพของปัญหาสุขภาพในอนาคตจะเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากสังคม พฤติกรรมของแต่ละบุคคล แต่ละชุมชน ที่ประสบกับภาวะแตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างระบบสุขภาพชุมชนต้องเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน และการแก้ไขปัญหาโดยชุมชน ที่จะมาช่วยระดมความคิดกันในขณะนี้

“4 เรื่องสำคัญของการเตรียมการในอนาคต คือการเผชิญเรื่องของเด็กที่เกิดลดลง คุณภาพต่ำลง เรื่องของสังคมสูงวัย เรื่องของแบบแผนการเจ็บป่วยที่เป็นโรคจากพฤติกรรมมากขึ้น หรือโรค NCDs และเรื่องของปัญหาสุขภาพที่มีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ สิ่งเหล่านี้แต่ละท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อน โดยเลือกใช้องค์ความรู้และวิธีการที่มีความเหมาะสมกับบริบท” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในส่วนปัญหาต่าง ๆ ของกองทุนฯ วันนี้ได้มีการก้าวข้ามไปแล้วในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินค้างท่อ ซึ่งในภาพรวมปัจจุบันทั้ง 12 เขตสุขภาพ มีจำนวนเม็ดเงินไหลออกมากกว่าไหลเข้าแล้วในเชิงระบบ เป็นภาพปรากฏการณ์ที่เกิดจากการร่วมกันทำงานของแต่ละท้องถิ่น

ขณะเดียวกันภาพของการทำงานยังได้มีการเปลี่ยนแปลง จากที่เคยมีลักษณะเป็นโครงการรายปีแล้วจบไป หรือลักษณะกิจกรรมที่เรียกว่าเบี้ยหัวแตก ขณะนี้หลายแห่งได้มีลักษณะแผนงานที่เป็นระยะกลาง ระยะยาวมากยิ่งขึ้น เกิดการออกแบบที่เป็นความยั่งยืนของแต่ละชุมชน

นพ.ศักดิ์ชัย ยังกล่าวอีกว่า ในเรื่องของคนได้มีการก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น โดย สปสช.ได้เตรียมการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมแลกเปลี่ยน การจัดเวทีให้ท้องถิ่นได้สัมผัสกับการเรียนรู้ระดับสากล โดยกำลังมีความร่วมมือสถาบันสาธารณสุขอาเซียน ที่จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามาอบรมพัฒนาศักยภาพ

สำหรับทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนต่อไป คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการทำให้คณะกรรมการท้องถิ่นที่มีภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจร่วมกันในการทำงาน 2. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยมีกองทุนฯ เป็นเครื่องมือสำคัญ ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพ 3. มีกองทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ หรือ Health Literacy เพื่อชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพ

“ภาพฝันในอนาคตคือการเปลี่ยนมุมมองต่อท้องถิ่น ว่าเป็นระบบการส่งเสริมสุขภาพที่เข้มแข็ง เวลาแก้ไขปัญหาชุมชนต้องคิดถึงท้องถิ่น เป็นการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ โดยท้องถิ่นเป็นศูนย์รวมการประสานความร่วมมือในพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อทำให้ระบบสุขภาพของประเทศมีความยั่งยืน” นพ.ศักดิ์ชัย ระบุ

เลขาธิการ สปสช. ระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 7,736 แห่ง กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด 49 แห่ง และกองทุนดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (LTC) 6,003 แห่ง

ขณะที่ นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ส่งเสริมประชาชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยมีกลไกของ กปท.เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มีอิสระในการทำงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะมีเงินในการทำงานแต่ก็พบหลายรูปแบบ ทั้งที่ไม่กล้าใช้ ใช้ไปไม่เป็น หรือที่ใช้เป็นจนเกิดประโยชน์ได้ ซึ่งเป้าหมายคือการทำให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ โดยแต่ละพื้นที่อาจใช้หลักคิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่วิธีคิดและมุมมองที่แตกต่าง อาศัยการคิดนอกกรอบ

“เรามีกองทุนมากว่า 10 ปี แต่บอกได้แล้วหรือไม่ว่ามีผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมอะไรบ้าง สถานการณ์ผู้ป่วย การรักษา หรือกลุ่มเสี่ยงเป็นอย่างไร มีแผนที่ระบุตำแหน่งหรือไม่ ดังนั้นอีกประเด็นสำคัญคือเรื่องระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งท้องถิ่นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้” นพ.จักรกริช ระบุ

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช.กำลังมองถึงงานส่งเสริมป้องกันโรคขั้นต่อไป ที่อาจเป็นในรูปแบบแอปพลิเคชัน เพื่อเข้าถึงประชาชนรายบุคคล แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลารับวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น ขณะที่หน่วยงานมีข้อมูลกลับเข้าสู่ระบบ ซึ่งงานต่อไปในอนาคตคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net