Skip to main content
sharethis

7 หน่วยบริการนวัตกรรมใน จ.ขอนแก่น เตรียมพร้อม ต.ค. 2567 นี้ เริ่ม “30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4” ร่วมดูแลสิทธิบัตรทองในพื้นที่ เพิ่มเข้าถึงบริการ ด้าน เลขาธิการ สปสช. เปิดข้อมูล ภาพรวมทั้งประเทศ มีประชาชน  ร้อยละ 11 เลือกไปหน่วยบริการนวัตกรรมก่อน พร้อมตั้งเป้าขยับเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยใน รพ. ใหญ่



25 ต.ค. 2567 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น และคณะ ลงพื้นที่ไปยัง ต.บ้านทุ่ม อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อเยี่ยมชมความพร้อมของคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในการดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในระยะที่ 4 จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย คลินิกแพทย์พิทยาธร ซึ่งเป็นคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว, คลินิกทันตกรรมไดมอนด์ เดนทัล และร้านยาฟาร์มมาซิป เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา

นพ.จเด็จ  กล่าวว่า คลินิกเอกชนต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่เตรียมเข้าร่วมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ต่างมีความพร้อม โดยเฉพาะคลินิกทันตกรรม คลินิกเวชกรรม และคลินิกการแพทย์แผนไทย ที่สนใจและสมัครเป็นหน่วยบริการในระบบมากขึ้น ซึ่งคาดว่า จ.ขอนแก่น จะเริ่มดำเนินการตามนโยบายพร้อมกันกับอีกจังหวัดที่เหลือในแผนการขับเคลื่อนระยะที่ 4 ภายในเดือน ต.ค. 2567 นี้
         
“อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาพรวมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศ ล่าสุดพบว่าประชาชนสิทธิบัตรทองเมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้น จะเลือกไปรับบริการดูแลรักษาพยาบาลที่คลินิกเอกชนซึ่งเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมก่อนเป็นอันดับแรกประมาณร้อยละ 11 แต่ทั้งนี้ สปสช. ต้องการที่จะผลักดันให้มีประชาชนไปใช้บริการมากกว่านี้ อย่างน้อยต้องได้ร้อยละ 20 ขึ้นไป ซึ่งจะเป็นสัดส่วนที่สะท้อนการลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ดร.ภก.ณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช. เขต 7 ได้ชักชวนคลินิกต่างๆ ภาคเอกชนใน จ.ขอนแก่น ให้มาร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. เพื่อเตรียมความพร้อมร่วมให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในระยะ 4 นอกจากคลินิกกายภาพบำบัด ร้านยา และคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่สมัครเข้าร่วมกันมากแล้ว ยังมีคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม และคลินิกแพทย์แผนไทยใน จ.ขอนแก่น ก็เริ่มสมัครเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง สปสช. เขต 7 มีการซักซ้อมทำความเข้าใจกับคลินิกที่เข้าร่วม โดยเฉพาะเรื่องการบันทึกข้อมูล การเบิกจ่าย และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการ เพื่อไม่ให้มีปัญหาติดขัดในการให้บริการ

“สปสช. เขต 7 ได้ประชาสัมพันธ์กับคลินิก พร้อมทั้งแนะนำ อบรม ชี้แจงการให้บริการตามสิทธิประโยชน์ รวมถึงการเบิกจ่ายค่าชดเชยต่าง ๆ โดยจะมีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับหน่วยบริการนวัตกรรมทุกเดือน ช่วยกันแก้ไขข้อติดขัดต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการ” ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น กล่าว
        
นพ.พิทยา เวียงทอง คลินิกแพทย์พิทยาธร ว่า เหตุผลของการเข้าร่วมเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นกับ สปสช. เพื่อให้บริการภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เพราะต้องการให้คลินิกขยายการให้บริการดูแลรักษาพยาบาลให้กับคนในชุมชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่จะได้เข้าถึงบริการจากคลินิกเวชกรรมนอกเวลาราชการ ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้นในการเข้าถึงบริการตามสิทธิประโยชน์ 
         
ทั้งนี้ เดิมก่อนเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมกับทาง สปสช. ทางคลินิกฯ จะรับผู้ป่วยทั้งแบบจ่ายเงินเองและสิทธิประกันสังคม โดยเปิดให้บริการนอกเวลาราชการทุกวัน และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยเฉลี่ยจะมีผู้ป่วยมาใช้บริการประมาณ 30 - 40 คนต่อวัน ซึ่งบางส่วนก็เป็นสิทธิบัตรทองด้วย แต่ที่ผ่านมาต้องชำระค่าใช้จ่ายเองเพราะคลินิกไม่ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการ แต่จากนี้ที่เข้าร่วมแล้วก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เคยมาใช้บริการ รับบริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งคลินิกจะไปเบิกจ่ายกับ สปสช. แทน

ทพญ.รสสุคนธ์ รำมะนา คลินิกทันตกรรมไดมอนด์ เดนทัล กล่าวว่า ทางคลินิกทันตกรรมฯ ได้สมัครร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม หรือคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่นกับ สปสช. เมื่อเดือน ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้บริการกับประชาชนสิทธิบัตรทองในพื้นที่ให้เข้าถึงบริการทันตกรรมเบื้องต้น ทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบฟลูออไรด์ และเคลือบหลุมร่องฟัน โดยสาเหตุที่เข้าร่วมเป็นเพราะวางแผนไว้ว่า เมื่อ จ.ขอนแก่นประกาศให้มีการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในระยะ 4 เมื่อใด ก็จะได้ให้บริการกับประชาชนสิทธิบัตรทองนอกพื้นที่เพื่อมาใช้บริการได้ในทันที
         
“อัตราการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการกับ สปสช. ถือว่าเพียงพอต่อคลินิกที่จะอยู่ได้ แต่ที่สำคัญคือได้ช่วยทำให้ผู้ป่วยบัตรทอง ได้เข้าถึงบริการทำฟันจากเอกชน ทำให้คลินิกเป็นที่รู้จักของประชาชน ที่สำคัญคือ ได้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล เพราะงานทำฟันที่เป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่ให้คลินิกทำฟันดูแล เป็นงานปฐมภูมิที่ทำได้ไม่ยาก ซึ่งจะแบ่งเบาภาระงานทันตกรรมของโรงพยาบาล ทำให้ได้รักษาเคสยาก ๆ ให้ผู้ป่วยที่จำเป็น” ทพญ.รสสุคนธ์ กล่าว

ขณะที่ ภกญ.พภัสส​รณ์ แสงกุล ร้านยาฟาร์มมาซิป กล่าวว่า ทางร้านยาฯ ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการและเพิ่งผ่านการรับรองเป็นร้านยาคุณภาพเมื่อเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อด้านเภสัชกรรม ที่ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่รับการรักษาในโรงพยาบาลสามารถเลือกมารับยาที่ร้านยาได้ และยังให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยการจ่ายยาตามอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง รวมถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ที่ร้านยังมีผู้มารับบริการไม่มากนัก เนื่องจากเพิ่งเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการไม่นานนัก แต่คาดว่าเมื่อมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ใน จ.ขอนแก่น เริ่มขึ้น ก็จะทำให้ร้านยาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และน่าจะมีผู้ป่วยมาใช้บริการมากขึ้นเช่นกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net