Skip to main content
sharethis

รมว.สธ. นำทีม กทม. สปสช. ลงพื้นที่ “ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี๊ด-ทองคำ บำเพ็ญ” เตรียมขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ กรุงเทพมหานคร” ติดตามการให้บริการของหน่วยบริการทางเลือกใหม่ ทั้งบริการเจาะเลือดที่บ้านและร้านยาคุณภาพ พร้อมประเดิมติดโลโก้ใหม่ “30 บาทรักษาทุกที่” ณ จุดให้บริการร้านยาคุณภาพ ย้ำวันนี้ประชาชนเข้ารับบริการตามนโยบายได้ เน้นหลักการเริ่มรับบริการที่ปฐมภูมิ



ทีมสื่อ สปสช. แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารสุข รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงพื้นที่เตรียมความพร้อมระบบบริการในการขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร” ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี๊ด-ทองคำ บำเพ็ญ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พร้อมติดตามการให้บริการเชิงรุกเจาะเลือดที่บ้านในชุมชน บริการที่ร้านยาคุณภาพ ที่ร่วมให้บริการตามนโยบายฯ และได้ติด “ตราสัญลักษณ์ใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่” เพื่อแสดงจุดบริการตามนโยบายฯ  

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน กรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องรอคิว วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่กรุงเทพมหานคร  กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของหน่วยบริการ ทั้งระบบการให้บริการคลินิกชุมชนอบอุ่นและการให้บริการเชิงรุก เช่น บริการเจาะเลือดที่บ้าน การบริการดูแล กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยเภสัชกร ณ หน่วยบริการทางเลือกใหม่ อย่างร้านยาคุณภาพ เป็นต้น

โดยภายหลังการแถลงข่าวตนและคณะ จะลงพื้นที่หน่วยบริการใกล้เคียง เพื่อเริ่มติดตราสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงจุดให้บริการ ของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ สัญลักษณ์นี้เป็นหนึ่งใน กลยุทธ์การสื่อสาร ให้ประชาชนได้รับรู้ และสามารถเข้ารับบริการได้ โดยปราศจากความกังวล

“ขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยรับผิดชอบหลักในพื้นที่ ที่สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายฯ รวมถึงหน่วยงานสภาวิชาชีพทางการแพทย์ และสาธารณสุขด้านต่างๆ ที่ร่วมผลักดันโดยเพิ่ม “หน่วยบริการปฐมภูมิทางเลือกใหม่” อันเป็นทางเลือกที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการที่มีอยู่เดิมในระบบ และเป็นความสำเร็จในการยกระดับระบบสุขภาพให้กับประชาชน ชาวกรุงเทพมหานคร” รมว.สาธารณสุข กล่าว

รศ.ทวิดา กล่าวว่า วันนี้อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบปฐมภูมิของ กทม. ซึ่งนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. เป็นเจ้าภาพร่วมกัน เพื่อขยายบริการดูแลสุขภาพในพื้นที่ โดยในส่วนบริการปฐมภูมิของ กทม. ไม่เพียงแต่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งเท่านั้น แต่เรายังมีสาขาของศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 77 แห่ง ที่เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ มีพยาบาล และเจ้าหน้าสาธารณสุขประจำอยู่ เปรียบเหมือนหมอน้อยๆ ใกล้บ้านคนดูแลให้พี่น้องประชาชนได้ รวมถึงผู้ที่มาจากภูมิเลานำอื่นและเข้ามทำงานใน กทม. ก็สามารถใช้บริการได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีประชาชจากปริมณฑลที่เข้ามาทำงานในแต่ละวัน ทำให้อาจมีประชาชน 10 ล้านคนที่เข้ามารับบริการสุขภาพใน กทม. นี้ นอกจากนี้ยังมี 7 หน่วยบริการนวัตกรรมที่เชื่อมโยงบริการ หรือที่เรียกว่า 7 นางฟ้า ก็สามารถเข้ารับบริการได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ สปสช. คงไม่ปล่อยให้ไม่ได้มาตรฐานบริการ เหล่านี้จะเป็นที่พึ่งบริการส่วนหนึ่ง ทำให้ไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาล    

สำหรับในส่วนของโรงพยาบาลขณะนี้ กทม. มีอีกโครงการที่กำลังทดลองอยู่ในโซลที่ 3 ในการทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนของหน่วยบริการในพื้นที่ ทั้ง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์สังกัด กทม. โรงพยาบาลเลิดสินสังกัดกรมการแพทย์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ รวมถึงระดับปฐมภูมิ ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น และร้านยาคุณภาพที่เป็นสมาชิก ซึ่งวันนี้ทั้งหมดได้เชื่อมโยงระบบข้อมูลครบหมดแล้ว ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้หน่วยนวัตกรรม 7 นางฟ้า ให้เข้ามาร่วมในระบบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะได้มีข้อมูลในการให้บริการที่ครบถ้วน

“ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยข้อมูล PDPA. เพราะเรื่องนี้ทาง กทม. ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว สำคัญพอๆ กับข้อมูลสุขภาพของท่านที่อยู่ในระบบของเรา ที่จะช่วยให้หมอพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าถึงข้อมูลรักษาท่านได้เร็ว เข้าใจเงื่อนไขการรักษาก่อนหน้า และการใช้ยา ขออยากให้เชื่อมั่น เราเริ่มในปฐมภูมิเป็นหลัก และ รพ.ต่างๆ ในเครือข่าย ความร่วมมือในวันนี้เป็นภาพที่ดีมาก หน่วยงานจากหลายๆ สังกัดมาร่วมกัน หวังว่าด้วยความร่วมมือจะทำให้คนทุกคนใน กทม. รู้สึกได้ว่า กทม. เป็นเมือนน่าอยู่” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ สปสช. อยู่บนหลักการ “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน” สนับสนุน “ระบบบริการสุขภาพเริ่มต้นที่ปฐมภูมิ” ที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง นอกจากไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำของท่านแล้ว ยังไปรักษาที่หน่วยบริการทางเลือกใหม่ที่เพิ่มความสะดวกได้    ทั้งที่ร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนเข้าร่วม ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่ไหนก็รับบริการได้ โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว หากเกินศักยภาพการดูแลก็เข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำของท่าน โดยกรณีที่ต้องรักษาต่อที่โรงพยาบาลก็จะได้รับใบส่งตัวเพื่อไปรับบริการ 

สำหรับหน่วยบริการทางเลือกใหม่ นอกจากคลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น    ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น คลินิกแพทย์แผนไทย และคลินิกเทคนิคการแพทย์แล้ว ยังมีบริการเพิ่มเติมในพื้นที่ กทม. ดังนี้

บริการการแพทย์ทางไกลกับ 4 แอปสุขภาพ พร้อมจัดส่งยาถึงบ้าน บริการเจาะเลือดที่บ้านผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รถทันตกรรมเคลื่อนที่ ดูแลสุขภาพช่องปากกลุ่มเปราะบาง รถคลินิกเวชกรรมเคลื่อนที่ในชุมชน   เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคเบื้องต้น บริการการแพทย์ทางไกล ผ่านแอปสุขภาพ ณ ห้องพยาบาลโรงเรียนมัธยม บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก ที่ห้างสรรพสินค้า และสถานประกอบการต่างๆ ฯลฯ สถานีสุภาพ หรือ “Health station” รับบริการผ่าน “ตู้เทเลเมดิซีน” ติดตั้งที่ชุมชนและห้างสรรพสินค้า บริการสุขภาพที่สถานีบริการน้ำมันและสถานีรถไฟฟ้า โดยคลินิกพยาบาล พร้อมบริการการแพทย์ทางไกล และขยายคลินิกฟอกไต จำนวน 154 แห่ง พร้อมให้บริการเครื่องล้างไตอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net