ย้อนรอยคดี ‘ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก’ เมื่อมาตรการอนุรักษ์ มีไว้รังแกประชาชน

“เขาบอกว่าถ้าเราไม่ตัด เขาจะเอาคดีมาให้ ตอนนั้นยางเราก็ใกล้จะกรีดแล้ว ลูกเราก็เรียนอยู่ ก็ต้องตัดไปทั้งน้ำตา เพราะไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปส่งลูกเรียน”

“วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อม” หรือชื่อเดิม “แสงเดือน ตินยอด” หญิงชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวอย่างสิ้นหวังเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ในปี 2556 ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) บังคับให้ตัดฟันยางพาราของตัวเอง ปัจจุบันเธอถูกดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ และมีอาวุธไว้ในครอบครอง ซ้ำร้ายยังต้องถูกบังคับให้ตัดฟันยางพาราบนผืนดินทำกินของตนเอง แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเธอไม่ได้บุกรุก และอาวุธนั้นไม่ใช่ของเธอ 

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 พนักงานอัยการได้แจ้งว่า ส่งฟ้องวันหนึ่งไปแล้ว ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ศาลจังหวัดลำปาง และต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 1.5 แสนถึง 2 แสนบาท ซ้ำยังถูกคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หรือ คดีโลกร้อน ทั้งหมดกว่า 1 ล้านบาท

ปัจจุบันวันหนึ่งได้เข้าร่วมการแก้ไขปัญหาในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นคดีความนี้มีความไม่เป็นธรรม โดยวันหนึ่งไม่ได้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นตั้งแต่ปี 2559 และไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านแม่กวักแล้ว เนื่องจากหย่าร้างกับสามี และย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่จังหวัดเชียงราย พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น “วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อม” เป็นผลพวงจากการดำเนินคดีโดยภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดความเกรงกลัวและไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข 

นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ทำกินผืนนี้ไม่เคยมีการบุกรุกเพิ่มเติมตามที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) กล่าวอ้างแต่อย่างใด ถึงแม้คณะทำงานจากกรมอุทยานฯ ตำรวจ ป่าสงวนฯ ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนได้ลงพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบกรณีดังกล่าว และมีความเห็นร่วมกันแล้วว่าไม่ได้มีการบุกรุก แต่กรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) กลับอ้างว่าได้ส่งเรื่องไปให้อัยการแล้วและยากจะแก้ไขหรือถอนฟ้อง  

วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ชื่อเดิมแสงเดือน ตินยอด ชาวบ้านแม่กวัก อ.งาว จ.ลำปาง

ลำดับเหตุการณ์ทวงคืนผืนป่าบ้านแม่กวัก สู่คดีนางแสงเดือน

พื้นที่บ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่งตั้งแต่ปี 2514 จากประวัติชุมชนและคำบอกเล่าจากชาวบ้านชี้ชัดว่า ชาวบ้านแม่กวักอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนฯ ดังกล่าว โดยหลังจากนั้นในปี 2528 เจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ได้ทำโครงการอนุญาตให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ในรูปแบบใบแสดงว่ามีสิทธิ์ทำกิน (ส.ท.ก.1) ให้ชาวบ้านแม่กวักได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่ง เรื่อยมาจนถึงการอนุญาตให้ชาวบ้านต่ออายุใบขออนุญาตทำกินในรูปแบบ ส.ท.ก.2 เมื่อปี 2538 เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงเจตจำนงในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อ
 
หลังจากนั้นในปี 2535 ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาติดป้ายประกาศเป็นเขตเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท โดยไม่ลงมาชี้แจงทำความเข้าใจ ทำให้ชาวบ้านเริ่มเดือดร้อน ผลพวงหลังจากนั้นคือ ในปี 2540 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เข้ามาชี้แจงชาวบ้าน กำชับไม่ให้เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่อีก จนเกิดการจับกุมดำเนินคดี เสาร์แก้ว โพรโส ผู้ครอบครองเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ ทั้งที่เจ้าตัวให้การว่าทำกินมาก่อนหน้านั้น 
     
คดีที่สองเกิดขึ้นในปี 2555 ธงชัย ใจเย็น ถูกตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ แม้จะมีหลักฐานใบ สทก. เพื่อแสดงว่าตนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ก่อนและทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตามมาด้วยคดีของ แสงเดือน ตินยอด หรือภายหลังชื่อ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ที่มีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2556 
     
การดำเนินการกับวันหนึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากคดีอื่น เพราะเป็นการบังคับขู่เข็ญจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้เธอตัดฟันยางพาราของตัวเอง อ้างว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกดำเนินคดี ทำให้วันหนึ่งต้องจำใจตัดฟันยางพาราที่อีกไม่นานจะถึงเวลาได้กรีดของตัวเองทั้งน้ำตา

ยางพาราของชาวบ้านในชุมชนถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมและรักษาป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง สนธิกำลังกันเข้าตัดฟันยางพาราและยึดพื้นที่ทำกิน

เมื่อความเดือดร้อนเริ่มหนักขึ้น ในปี 2558 ชาวบ้านแม่กวักได้ร่วมมือกันจัดทำแผนที่ชุมชนประกอบการแก้ไขปัญหาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน แต่ถูกนายอำเภอข่มขู่ไม่ให้ชาวบ้านดำเนินการในรูปแบบของโฉนดชุมชน อ้างว่าผิดกฎหมาย และจะยึดคืนข้อมูลทั้งหมดพร้อมทั้งดำเนินคดีชาวบ้าน ซึ่งความเดือดร้อนก็เกิดขึ้นจริงในวันที่ 2 กรกฎคมปีเดียวกัน นางวันหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ขู่ให้ตัดยางพาราอีกครั้งในพื้นที่ทำกิน 10 ไร่ จำนวน 760 ต้น โดยขู่ว่าหากไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดี เจ้าหน้าที่อ้างว่า หากดำเนินการตัดเองแล้วจะสามารถทำกินได้เช่นเดิม นางวันหนึ่งจำเป็นต้องดำเนินการ แม้จะยืนยันว่าใช้ประโยชน์ต่อจากบรรพบุรุษมาตั้งแต่ปี 2508 และมีเอกสาร ส.ท.ก. ตั้งแต่ปี 2537 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่า ส.ท.ก. ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานยืนยันการใช้ประโยชน์ในที่ดินได้
     
วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ 2560 เจ้าหน้าที่นำเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจและจอดลงในพื้นที่ทำกินบ้านแม่กวักโดยไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบ ซึ่งชุดปฏิบัติงานนั้นมีทั้งกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ตำรวจ และทหาร โดยได้ชี้แจงว่า ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่สวนป่าเดิม ซึ่งชาวบ้านก็ได้ชี้แจงว่าแนวเขตสวนป่าอยู่ข้างบน ไม่ได้ครอบคลุมที่ทำกินชาวบ้าน แต่ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเนื้อที่สวนป่าครอบคลุมทั้งหมด
     
คดีความของวันหนึ่งเริ่มขึ้นวันที่ 18 กันยายน 2561 โดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานพิทักษ์ป่าที่ 13 (แม่โป่ง) ได้สนธิกำลังเข้าตรวจยึดแปลงยางพาราของนางวันหนึ่ง และแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง ทำไม้ เก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต" 

หมายเรียกวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อม ในฐานะผู้ต้องหาคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ

หลังจากนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2561 นางวันหนึ่งได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งตนยืนยันว่า ต้องการเงินค่าชดเชยจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ในการบังคับให้ตัดฟันยางพารา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมให้เงินชดเชย อ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการตัดฟัน เพราะวันหนึ่งตัดฟันด้วยตนเอง นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังอ้างว่าพื้นที่ของนางวันหนึ่งได้ถูกกันออกจากพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ แล้ว จึงเป็นพื้นที่ดำเนินการของป่าสงวนแห่งชาติแม่โป่ง ไม่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติอีกต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าสงวนฯ ที่เข้าไปดำเนินการยืนยันว่านางวันหนึ่งบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจริง

ชีวะภาพ ชีวะธรรม ธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ขึ้นเป็นพยานฝ่ายจำเลย หลังลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันตามมติที่ประชุมแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่าแสงเดือนได้ทำกินอยู่แต่เดิม และไม่ได้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันคดีความอยู่ในศาลชั้นต้นแล้ว และยังไม่มีการยกฟ้องหรือเยียวยาผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินการของรัฐ

ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุดของกรณีวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง เมื่อวัน 26-28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย โดย ชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ พยานปากสุดท้ายของฝ่ายจำเลยได้รายงานต่อศาลหลังจากได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า มีความคลาดเคลื่อนในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งจริง โดยจากภาพถ่ายทางอากาศชี้ชัดว่าแปลงที่ดินดังกล่าวมีการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2497 แล้ว และมีการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องเรื่อยมาทั้งในปี 2510, 2545, 2557 และ 2562 นอกจากนั้นยังได้รับการคุ้มครองตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ในระหว่างที่มีการจับกุม โดยปรากฏพบว่ามีที่ทำกินไม่เกิน 25 ไร่ ไม่มีที่ดินแปลงอื่น มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือว่าไม่เข้าข่ายนายทุน 

หลังจากนี้ วันหนึ่งจะต้องขึ้นศาลชั้นต้นเพื่อรับฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ และหากคำพิพากษาของศาลไม่เป็นไปตามหลักฐานข้อเท็จจริงอันปรากฏชัดจากการลงพื้นที่ของ ชีวะภาพ ชีวะธรรม จะมีการนำเรื่องเข้าเจรจากับรัฐบาลในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ต่อไปในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล
          

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท