Skip to main content
sharethis

หลังจีนแผ่นดินใหญ่เลิกทำอุตสาหกรรมจัดการขยะไอที ธุรกิจที่ว่าก็เข้ามาบูมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนิวยอร์กไทม์ระบุว่าไทยกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจจัดการขยะไอทีดังกล่าว ขณะเดียวกันการรีไซเคิลขยะไอทีก็มีความเสี่ยง เพราะก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวไทย ทั้งคนทำงานและผู้อยู่รอบโรงงาน แม้กระทั่งพระยังประกาศขายวัดหนีมลพิษเหล่านี้

ภาพที่เห็นในเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์เป็นแรงงานหญิงที่นั่งคัดเลือกชิ้นส่วนไอทีที่ถูกทิ้งไม่ว่าจะเป็นแบตเตอร์รี แผงวงจรคอมพิวเตอร์ และสายไฟเป็นมัดๆ แรงานเหล่านี้ทำหน้าที่ถอดแยกชิ้นส่วนต่างๆ ของขยะไอที บางครั้งก็ด้วยค้อน บางครั้งก็ด้วยมือเปล่า ขณะเดียวกันแรงงานชายที่บางคนก็ใช้ผ้าขี้ริ้วโพกหน้าไว้เพื่อป้องกันฝุ่นควันทำหน้าที่ตักส่วนที่ไม่ใช้แล้วส่งเข้าเครื่องจักรเสียงดังแคร็งๆ ที่ทำการกู้โลหะที่ยังใช้ได้

ในขณะเดียวกันโรงงานแห่งนี้ก็ส่งควันลอยไปสู่ส่วนต่างๆ ของหมู่บ้านและไร่นา โดยที่ผู้อยู่อาศัยไม่รู้เลยว่าฝุ่นควันเหล่านี้มาจากขยะพลาสติก, โลหะ และอะไรอื่นๆ อีกหลายอย่าง พวกเขารู้อย่างเดียวว่าควันเหล่านี้มันเหม็นและทำให้พวกเขารู็สึกป่วย

โรงงานจัดการขยะที่ถูกพูดถึงนี้ชื่อ "นิวสกายเมทัล" เป็นแค่ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมจัดการขยะไอทีที่กำลังเฟื่องฟูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรงงานจำพวกนี้ผุดขึ้นเป็นผลมาจากการที่จีนเลิกรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ก่อมลพิษต่อผืนดินและผู้คน

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าประเทศไทยกลายเป็นประเทศศูนย์กลางรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้โดยเฉพาะ แม้ว่าจะมีนักกิจกรรมต่อต้านและรัฐบาลก็พยายามงัดข้อเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความปลอดภัยสาธารณะกับผลกำไรที่จะได้จากการค้าขยะนี้

พระอธิการชยพัทธ์ เจ้าอาวาส ติดป้ายประกาศขายวัดบุญญาราม ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โดยเจ้าอาวาสระบุว่าต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานทั้งในระดับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงมาดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านและวัด ในเรื่องของมลพิษทางอากาศที่มาในรูปแบบของกลิ่นเหม็น ภาพข่าวเมื่อ 13 มกราคม 2561 (ที่มา: NewTV)

แฟ้มภาพพื้นที่จัดเก็บขยะแห่งหนึ่งที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ภาพถ่ายปี 2556
ที่มา: Myat T. Aung/
Wikipedia

ผู้จับตามองด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมเปิดเผยว่าถึงแม้ว่าไทยจะเคยสั่งแบนการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ยังคงมีโรงงานจำพวกนี้เปิดอยู่ทั่วประเทศและมีการจัดการกับขยะไอทีจำนวนมาก

จิม พัคเกตต์ ผู้อำนวยการบริหารของบาเซลแอ็กชันเน็ตเวิร์กซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านการนำขยะมาถมทิ้งในประเทศยากจนกล่าวว่า "จีนแค่ย้ายฐานปฏิบัติการ (เกี่ยวกับขยะไอที) ทั้งหมดมาอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น" พักเกตต์กล่าวอีกว่ากลุ่มคนเหล่านี้ทำเงินด้วยการ "จัดการขยะทีละมากๆ โดยอาศัยแรงงานผิดกฎหมายราคาถูก และสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง"

การกดขี่แรงงานและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่หละหลวม

สหประชาชาติระบุว่ามีปริมาณการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ราว 50 ล้านตันทั่วโลกในทุกๆ ปี จากการที่ผู้บริโภคคุ้นชินกับการทิ้งขว้างอุปกรณ์ไอทีรุ่นเก่าจากปีที่แล้วเพื่อหาซื้อรุ่นใหม่ และภาระเหล่านี้ก็ตกมาอยู่กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้จีนเคยเป็นผู้จัดการขยะรายใหญ่แต่พวกเขาก็สั่งยกเลิกนำเข้าขยะในพื้นที่ประเทศตัวเองเมื่อปี 2561 ด้วยสภาพกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่หละหลวม และการกดขี่แรงงาน ทำให้มีการส่งขยะเหล่านี้เข้ามาจัดการในไทยแทน ซึ่งงานจัดการจำพวกโลหะอย่าง ทอง เงิน และทองแดง จากชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ นั้นถือเป็นงานที่ต้องอยู่กับสารปนเปื้อนและอันตราย

กลุ่มสิ่งแวดล้อมระบุว่าในประเทศไทยมีแรงงานที่ไม่มีเอกสารประกอบจำนวนมากจากประเทศที่ยากจนกว่าอย่างพม่าและกัมพูชา พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกกดขี่และยิ่งมีการเพิ่มโรงงานจัดการขยะเหลานี้ก็ยิ่งทำให้ความต้องการแรงงานเหล่านี้มีมากขึ้น

นิวยอร์กไทม์รายงานว่านับตั้งแต่ที่จีนยกเลิกนำเข้าขยะก็มีการสร้างโรงงานจัดการขยะในไทยถึง 28 แห่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานจัดการขยะไอทีใในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราใกล้กับกรุงเทพฯ อีกแหล่งหนึ่งที่มักจะมีโรงงานขยะไปตั้งคือแหลมฉบังซึ่งเป็นท่าเรือพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย แต่ก็น่ากังวลว่าอาจจะมีจังหวัดอื่นๆ นอกจากนี้ที่จะอนุญาตตั้งโรงงานเพิ่มขึ้น

ในปีนี้มีการให้ใบอนุญาตประกอบการโรงงานจัดการขยะไอที 14 แห่งในจังหวัดฉะเฺชิงเทรา มีอยู่ 6 แห่งตั้งบนเกาะขนุน และมีอยู่ 5 แห่งที่มีความเกี่ยวข้องกับนิวสกายเมทัลหรือภรรยาของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานนี้ ในขณะที่ชาวไร่ชาวนาตัดพ้อว่าพวกเขาเลือกอากาศหายใจไม่ได้ การมีโรงงานเหล่านี้มาตั้งทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการตายผ่อนส่งเพราะมลพิษ ขณะที่แรงงานที่ได้ค่าแรงราว 300-350 บาทต่อวันจากการคัดแยกขยะบอกว่าเธอไม่รู้เลยว่างานนี้มีอันตรายด้วย

ผลกระทบต่อชีวิตผู้คนใกล้โรงงาน และความรุนแรงจากผู้มีอิทธิพล

ไม่เพียงแค่ชาวบ้านเกษตรกรเท่านั้น แม้แต่พระจากวัดก็อยู่ไม่ได้เพราะฝุ่นควันของโรงงานขยะ ถึงขั้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการแปะป้าย "ขายวัดราคาถูก" ที่วัดในตำบลเขาหินซ้อน เพราะพระในวัดทนต่อการเผาขยะจากโรงงานไม่ไหว หนึ่งในโรงงานที่มาตั้งไกล้วัดดังกล่าวเรียกตัวเองว่า "ศูนย์จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ คิง ไอโบ" มีพนักงานในสำนักงานที่มักจะมาเยือนเป็นชาวจีนทั้ง 3 คน และในขณะเดียวกันก็มีการจ้างแรงงานพม่า 100 คนในการจัดการกับขยะจำนวนมหาศาลจากรถคอนเทนเนอร์

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ทางการไทยจะพยายามจัดการกับปัญหานี้แต่การดำเนินการก็ยังไม่เข้มงวดพอ นอกจากนี้ในรายงานของนิวยอร์กไทม์ยังเผยให้เห็นว่ามีนักกิจกรรมที่พยายามรณรงค์เรื่องนี้ถูกพยายามฆ่าจากผู้มีอิทธิพลจากวงการขยะ เหตุดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมที่ต่อต้านการนำขยะมาสร้างมลพิษในบ้านเกิดของเขาถูกคนขี่รถจักรยานยนต์มายิงที่ใกล้ๆ บ้านเขา รวมถึงมีการขว้างระเบิดปิงปองใส่บ้านเพื่อนเขา อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่บ้านเมื่อปี 2556 เขาถูกยิง 4 นัดหลังจากที่พูดเกี่ยวกับการข้ามถมทิ้งขยะมีมลพิษ ผู้จ้างวานก่อเหตุซึ่งเป็นข้าราชการภาคส่วนงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่นก็ถูกตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหา

อีกส่วนหนึ่งที่เผยให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการจัดการปัญหาขยะ คือเรื่องกฎหมาย ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายผ่อนปรนการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมทำให้โรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ผลประโยชน์จากการไม่ต้องถูกตรวจสอบไปด้วย และในขณะเดียวกันร่างกฎหมายที่เสนอให้มีการกำกับควบคุมขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมากขึ้นก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากในสภา ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่ทางการว่ามีขยะไอทีบางส่วนที่ถูกนำลักลอบเข้ามาในไทยโดยแปะป้ายให้เป็นขยะอื่นๆ ด้วย

เรื่องนี้ส่งผลเลวร้ายทำให้เกิดมลภาวะ เพราะขยะอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนถ้าหากไม่ได้รับการเผาด้วยอุณหภูมิที่มากพอก็จะทำให้เกิดสารไดอ็อกซิน ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดมะเร็งและปัญหาด้านพัฒนาการได้และอาจจะปนเปื้อนเข้าไปในแหล่งอาหารของผู้คนด้วย ถ้าหากไม่มีความระมัดระวังอย่างเพียงพอมลพิษจากโลหะหนักก็อาจจะซึมเข้าสู่ชั้นดินและแหล่งน้ำใต้ดินได้

เรียบเรียงจาก

The Price of Recycling Old Laptops: Toxic Fumes in Thailand’s Lungs, New York Times, 08-12-2019

Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, สิ่งแวดล้อม, คุณภาพชีวิต, แรงงาน,

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net