Skip to main content
sharethis

ออสเตรียเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ใช้ระบบบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนการบังคับเกณฑ์ทหาร เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ รัสเซีย และไต้หวัน ระบบนี้อาจถูกมองว่าเป็นก้าวหนึ่งสู่การพัฒนาไปเป็นระบบสมัครใจก็ได้ เพราะหลายประเทศที่ปัจจุบันเป็นระบบเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจก็เคยใช้ระบบนี้มาก่อน ตัวอย่างเช่น เยอรมนี อิตาลี นอร์เวย์ และสเปน ในภาษาอังกฤษระบบเช่นนี้ว่า alternative civil service*  

ยกเลิกเกณฑ์ทหาร(1): ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในโลก?
ยกเลิกเกณฑ์ทหาร(2): ระบบสมัครใจแบบสหรัฐอเมริกา 

สำหรับออสเตรีย ระบบบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนของเขาเรียกว่า Zivildienst แนวคิดที่ว่านี้ถูกเสนอในปี 1975 โดยคณะรัฐมนตรีของ Bruno Kreisky จากพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งออสเตรีย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 และต่อมาดำรงตำแหน่งอยู่ทั้งหมดถึง 4 สมัยติดต่อกัน

นอกจากการตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองแล้ว การผลักดันจากกลุ่มผู้ต่อต้านสงคราม (pacifist) ก็นับเป็นปัจจัยสำคัญ สาเหตุที่กองทัพรับหลักการของกฎหมายนี้เพราะไม่ต้องการให้ผู้ต่อต้านสงครามเข้าไปขัดขวางการทำงานของกองทัพระหว่างที่ถูกบังคับให้เกณฑ์ทหาร 

หลังกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ ผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป ในกรณีที่เลือกเกณฑ์ทหารจะต้องเป็นทหารประจำการอยู่ 6 เดือน และอาจถูกเรียกกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้จนถึงอายุ 51 หรือ 65 ปีสำหรับหน่วยพิเศษบางหน่วย หากไม่มาในวันเรียกตัวแต่ไม่เกิน 30 วัน ต้องระวางโทษจำคุก 3 เดือนหรือจ่ายค่าปรับ ถ้าเกิน 30 วันต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และหากทำผิดซ้ำหลายครั้งอาจโดนโทษจำคุก 2 ปี  อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายฉบับนี้ ผู้ที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารจะสามารถบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะแทนก็ได้ ส่วนกรณีของผู้หญิงเนื่องจากไม่ต้องเกณฑ์ทหารอยู่แล้วจึงไม่ต้องบำเพ็ญประโยชน์ 

เดิมทีผู้ที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารจะต้องยื่นคำร้องและถูกสัมภาษณ์โดยคณะกรรมาธิการเพื่อพิสูจน์เหตุผลของการไม่เกณฑ์ทหาร แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องเข้าสัมภาษณ์แล้ว ขอเพียงยื่นคำร้องยกเว้นเกณฑ์ทหารก็สามารถบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนการเกณฑ์ทหารได้เลย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารแล้วจะบำเพ็ญประโยชน์ทดแทน มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เคยโดนตัดสินโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง โดยมีปืนหรือระเบิดเป็นอาวุธ และต้องเป็นผู้ที่ไม่มีใบอนุญาติถือครองอาวุธ สาเหตุที่ต้องกำหนดคุณสมบัติเหล่านี้เป็นเพราะกฎหมายให้สิทธิเฉพาะผู้ยึดมั่นในมโนธรรมโดยเชื่อว่าการใช้อาวุธเข่นฆ่ากันในสงครามเป็นสิ่งผิดเท่านั้น   

ในออสเตรีย ผู้ชายที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารจะต้องทำงานบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะในหน่วยงานที่รัฐบาลอนุญาติเป็นเวลา 9 เดือน หน่วยงานหลักที่รับผู้ขอยกเว้นการเกณฑ์ทหารเข้าทำงาน ได้แก่ องค์การสภากาชาดออสเตรีย รวมไปถึงโรงพยาบาล โรงเรียนอนุบาล สถานีดับเพลิง หน่วยกู้ภัย อาสาสมัครจราจร หน่วยงานดูแลผู้พิการและผู้ลี้ภัย และบางแห่งที่ทำงานเกษตรกรรมด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา ผู้ที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารยังสามารถไปทำงานในต่างประเทศตามโครงการต่างๆ เป็นเวลา 10 เดือนถึง 1 ปีเพื่อยกเว้นการเกณฑ์ทหารได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น งานดูแลช่วยเหลือเหยื่อของระบอบนาซี งานสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้ง เช่น จีน อิสราเอล ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากการไปทำงานในต่างประเทศเป็นที่นิยมอย่างมากจึงมียอดผู้สมัครสูงและต้องรอเป็นเวลานานกว่าจะถึงคราวของตน

หลังจากที่บำเพ็ญประโยชน์เรียบร้อยแล้ว ผู้มีสิทธิยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์ทหารอาจถูกเรียกกลับมาช่วยเหลือกิจการของกองทัพที่ไม่เกี่ยวกับการสู้รบในกรณีฉุกเฉินได้จนถึงอายุ 50 ปี อย่างไรก็ตาม การไม่ต้องเกณฑ์ทหารเองก็มีราคาที่ต้องจ่าย เนื่องจากระบบบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนเช่นนี้ให้สิทธิการยกเว้นเกณฑ์ทหารบนฐานว่าประชาชนมีสิทธิเชื่อว่าการจับอาวุธสู้รบเป็นสิ่งผิด รัฐบาลจึงกำหนดไว้ในกฎหมายว่าถ้าเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ทดแทนการเกณฑ์ทหาร บุคคลดังกล่าวจะมีอาวุธไว้ครอบครองไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพหลายอย่าง นอกจากนี้หากไม่แจ้งว่าเลิกศรัทธาในความเชื่อเดิมก่อนก็จะไม่สามารถสมัครเป็นตำรวจได้อีกด้วย       

รัฐกำหนดให้ต้องบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 9 ถึง 12 เดือน ขณะที่กำหนดให้ต้องเกณฑ์ทหารเพียง 6 เดือนเท่านั้น นับว่าต้องบำเพ็ญประโยชน์นานกว่าการเกณฑ์ทหารถึง 1.5-2 เท่า รัฐบาลออสเตรียให้เหตุผลโดยแจ้งต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าเป็นเพราะสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนมีมากกว่า เช่น ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายกลาโหม ไม่ต้องอาศัยอยู่ในค่ายทหาร ระดับความทรหดที่ต้องเผชิญน้อยกว่า ส่งผลให้ต้องมีการชดเชยด้วยการเพิ่มระยะเวลาของการบำเพ็ญประโยชน์ทดแทน 

ทั้งที่เป็นเช่นนี้ จำนวนผู้สมัครขอบำเพ็ญประโยชน์กลับสูงอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วง 4 ปีให้หลังมานี้จะมีผู้สมัครบำเพ็ญประโยชน์น้อยลงบ้าง พร้อมกับที่จำนวนผู้ต้องเกณฑ์ทหารมีน้อยลง แต่ยอดผู้สมัครก็ยังสูงเกินร้อยละ 40 ทุกปี 

ปี

ผู้ขอบำเพ็ญประโยชน์ทดแทน 

จากผู้ต้องเกณฑ์ทหารทั้งหมด

2015

15,888 คน (48.65%) 

32,659 คน

2016

14,987 คน (46.16%)

32,468 คน

2017

13,932 คน (45.79%)

30,815 คน

2018

13,466 คน (43.82%)

30,728 คน

ข้อมูลจาก: orf.at 

เมื่อใช้ระบบเช่นนี้ สังคมออสเตรียก็มีการถกเถียงกันที่น่าสนใจหลายอย่างเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องค่าจ้างของการทำงานบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนว่าใครจะเป็นผู้จ่ายและควรจ่ายเท่าไร นอกจากนี้ในปี 2013 ออสเตรียเคยจัดประชามติโดยถามว่า ควรเปลี่ยนจากระบบเช่นนี้ไปเป็นระบบสมัครใจอย่างสมบูรณ์ โดยยกเลิกระบบบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนด้วย เพื่อปรับกองทัพให้มีความเป็นมืออาชีพสำหรับเตรียมรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ หรือไม่

ประชาชนออสเตรียเกือบ 60% เห็นว่ายังควรให้มีระบบบังคับเกณฑ์ทหารอยู่ โดยคนส่วนหนึ่งเห็นว่าถ้าไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหาร หน่วยงานที่อาศัยกำลังคนจากระบบบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนจะได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้การจัดประชามติดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่รัฐบาลและรัฐสภาก็เคารพเสียงประชามติและไม่ดำเนินการอะไรต่อ ที่น่าสนใจคือในการประชามติครั้งนี้​ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะลงคะแนนให้คงระบบเดิมไว้มากกว่าคนรุ่นใหม่ 

ระบบของออสเตรียเหมือนหรือต่างจากของไทยอย่างไรบ้าง แม้โดยผิวเผินแล้วจะเห็นได้ว่าในประเทศออสเตรีย (รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบลักษณะเดียวกัน) ยังมีการบังคับเกณฑ์ทหารในบางรูปแบบ และกำหนดเงื่อนไขในการยกเว้นเกณฑ์ทหารไว้คล้ายกับประเทศไทย แต่เพื่อไม่ให้ใครสามารถพูดตีกินได้ว่าเราใช้ “ระบบผสม” เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจึงควรไตร่ตรองแยกแยะให้ชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างระบบของไทยกับระบบของออสเตรีย 

เมื่อดูในรายละเอียด ระบบของออสเตรียต่างจากของไทยใน 2 ประเด็นใหญ่ด้วยกัน ประเด็นแรกคือ ออสเตรียเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนสามารถบำเพ็ญประโยชน์เพื่อทดแทนการเกณฑ์ทหารได้ จริงอยู่ที่ประเทศไทยเองก็มีการยกเว้นเกณฑ์ทหารให้กับประชาชนทั่วไปในบางรูปแบบ เช่น กรณีของข้าราชการครู หรือข้าราชการที่ต้องปฏิบัติงานฉุกเฉินตามคำสั่งของเจ้ากระทรวง เป็นต้น แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สิทธิประชาชนทุกคนในการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะเพื่อทดแทนการเกณฑ์ทหารเหมือนอย่างในกรณีของออสเตรีย ที่ใครก็ได้ที่มีคุณสมบัติต้องเกณฑ์ทหารสามารถยื่นคำร้องขอยกเว้นได้โดยอัตโนมัติ  

ประเด็นต่อมาคือ ออสเตรียอนุญาตให้ประชาชนทุกคนสามารถปฏิบัติงานในทางพลเรือนเพื่อทดแทนการเกณฑ์ทหารได้หลากหลายรูปแบบมาก ต่างจากกรณีของไทยที่ส่วนใหญ่แล้วต้องสมัครเรียน รด. เพื่อยกเว้นการเกณฑ์ทหาร และนั่นก็ยังเป็นกิจกรรมทางทหารอยู่ดี หากไม่เช่นนั้นก็ต้องเป็นพระหรือนักบวชผู้ประกอบกิจกรรมทางศาสนาที่รัฐบาลให้การรับรองเท่านั้น ส่วนที่ต่างจากออสเตรียอย่างเห็นได้ชัดคือการที่รัฐบาลไทยยังไม่อนุญาตให้บรรจุรูปแบบกิจกรรมทางพลเรือนต่างๆ และหน่วยงานต่างๆ ไว้ให้ประชาชนสามารถบำเพ็ญประโยชน์เพื่อทดแทนการเกณฑ์ทหาร

ในตอนหน้าเราจะมาติดตามดูโมเดลของคอสตาริก้าซึ่งไม่มีกองทัพ !

หมายเหตุคำแปล: ในภาษาอังกฤษระบบที่ออสเตรียใช้อยู่เรียกว่า civil alternative service หลายคนแปลคำนี้ว่าระบบรับราชการพลเรือนเพื่อทดแทนการเกณฑ์ทหาร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาความหมายของการ “รับราชการพลเรือนเพื่อทดแทน” แล้ว จะพบว่าบริบทของประเทศไทยรัฐบาลก็ได้ให้สิทธิรองรับแก่ข้าราชการพลเรือนบางประเภทอยู่แล้ว แต่ “ข้าราชการพลเรือน” แบบไทยยังเป็นคำแทนคนบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้น การใช้คำว่า “รับราชการพลเรือนเพื่อทดแทน” จึงไม่น่าจะสะท้อนความหมายของคำว่า civil alternative service ที่หมายถึงสิทธิของประชาชนทุกคนได้ทั้งหมดอย่างกรณีของออสเตรีย   

นอกจากนี้ คำว่า civil alternative service ยังหมายถึงการปฏิบัติงานตามองค์กรที่ไม่ใช่ส่วนงานของราชการด้วย เช่น องค์การสภากาชาด อาสาสมัครจราจร หน่วยกู้ภัย ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ในรายงานชิ้นนี้จึงขอใช้คำว่า “การบำเพ็ญประโยชน์ทดแทน” เพราะน่าจะเหมาะสมกว่า แม้ว่าการใช้คำนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา เพราะในสังคมไทยการบำเพ็ญประโยชน์เป็นส่วนหนึ่งของบทลงโทษสถานเบาสำหรับผู้ไม่เคารพกฏหมาย หรือไม่เช่นนั้นคนก็อาจมองกันว่าเป็นการทำความดีที่ไม่ควรหวังผลตอบแทน ไม่ใช่การปฏิบัติงานที่ควรได้ค่าจ้างเหมือนกับการปฏิบัติงานราชการหรือควรนำมาแลกเปลี่ยนกับการไม่เกณฑ์ทหาร อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่าการบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนน่าจะช่วยให้เห็นนัยยะความเป็นไปได้ของการนำกิจกรรมพลเรือนต่างๆ มาใช้ทดแทนการเกณฑ์ทหารได้มากกว่า และไม่ขยายความไปถึงขั้นว่าทำงานอะไรก็ได้เพื่อนำมาใช้ทดแทนการเกณฑ์ทหาร 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net