Skip to main content
sharethis

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 วันที่ 2 คึกคัก! องค์ปาฐก ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ เชื่อมั่นเทคโนโลยีจะทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น โจทย์ใหญ่คือกระจายความมั่งคั่ง ด้านอายุ จือปา ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟ อาข่า อ่ามา เล่าถึงการปรับตัวของชุมชน เรียนรู้พัฒนาไม่ทิ้งราก เสนออารยธรรมการแบ่งปัน ในส่วนเวทีเสวนากัญชา แพทย์หลากสถาบันร่วมแลกเปลี่ยน เสนอ สธ.ชี้แจงประชาชนทั้งประโยชน์-โทษ จัดระบบเก็บข้อมูลผลกระทบ เร่งสร้างหน่วยบริการที่มีความรู้เรื่องนี้ และต้องจัดการกัญชาใต้ดิน

24 ธ.ค.2562 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันที่สองของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา ถ.แจ้งวัฒนะ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ ประธานร่วมสมาคมสหกิจศึกษาโลก และกรรมการบริหารสถาบันคลังสมองของชาติ องค์ปาฐกกล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้โลกร่ำรวยขึ้นแต่ก็เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงมีโจทย์สำคัญว่า จะแบ่งปันความมั่งคั่งนั้นอย่างไร ระบบภาษีจะเป็นอย่างไร จะใช้เทคโนโลยียกระดับชีวิตประชาชนอย่างไร ยกตัวอย่าง ทีดีอาร์ไอสรุปว่าเกษตรกรไทยทำเกษตรหลายสิบไร่แต่ขาดทุนปีละ 23,000 บาทต่อครัวเรือน ขณะที่สมาร์ทฟาร์ม (smart farm) ใช้พื้นที่ 2 งานและมีโมเดลมากมายที่พิสูจน์ความสำเร็จรวมทั้งสร้างสุขภาวะให้เกษตรกรได้ ซึ่งการจะรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ คนไทยจำเป็นต้องเป็น ‘active citizen’ เปิดรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นการคิดวิเคราะห์ คิดเชิงบวก เห็นแตกต่างได้แต่ต้องอยู่ด้วยกัน

ขณะที่ นายอายุ จือปา ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟ “อาข่า อ่ามา” องค์ปาฐกคนที่สองกล่าวว่า ปรัชญาองค์กรของเขาคือ 3E – Economy, Environment, Education หัวใจของการทำงานไม่ใช่แค่การหากำไรให้มากที่สุด แต่กาแฟอาข่า-อ่ามา เกิดจากความตั้งใจของตนและชุมชนร่วมกันตั้งเป็นกิจการเพื่อสังคมตั้งแต่แรก เกษตรกรต่างร่วมลงขันด้วยวัตถุดิบของตน และคนที่ทำงานกับบริษัทเกินร้อยละ 50 เป็นบุตรหลานของเกษตรกรในชุมชน อย่างไรก็ตาม แม้บ้านเกิดของเขาจะเป็นชุมชนเล็กๆ แต่ก็ตระหนักดีว่าต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งการใช้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงการพัฒนาสู่ความยั่งยืนโดยต้องไม่ลืมรากของตน และร่วมกันสร้างอารยธรรมของการแบ่งปันเพื่อสร้างสุขภาวะของคนในชุมชน

อีกเวทีที่น่าสนใจในวันที่ 2 ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 คือ เวทีเสวนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม หัวข้อ ‘การเฝ้าระวังและกลไกการจัดการผลกระทบจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์’ โดย ผศ.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า กัญชามีประโยชน์ในหลายด้าน แต่มักถูกใส่ร้ายป้ายสีให้คนกลัวเพื่อผูกขาดธุรกิจยา จากประวัติศาสตร์ของกัญชาในสหรัฐอเมริกา ได้มีการออกกฎหมายให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 ในกลุ่มเดียวกับเฮโรอีน แม้มีเสียงต้านจากสมาคมแพทย์ในขณะนั้น แต่ไม่เป็นผล แต่ปัจจุบันมีทิศทางที่ดีขึ้น กัญชาทางการแพทย์ถูกนำไปใช้ใน 67 รัฐของสหรัฐอเมริกา และบางประเทศใช้เพื่อสันทนาการได้ ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีผลงานวิจัยทางการแพทย์มากมาย สำหรับประเทศไทยมีความจำเป็นต้องรื้อฟื้นและสร้างองค์ความรู้เรื่องนี้กันใหม่ และเร่งทำให้หน่วยบริการสาธารณสุข ให้บริการอย่างมีความรู้แก่ประชาชน

ขณะที่ ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ จากศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ มหวิทยาลัยมหิดล เน้นว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องมีการประเมินผู้ป่วยรอบด้าน ต้องทำความเข้าใจทั้งกับผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนติดตามผลอย่างใกล้ชิดและรายงานเข้าระบบเพื่อติดตามผลที่เกิดขึ้นทางทางบวกและทางลบ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องเร่งสร้างความรู้เพื่อสนับสนุนให้การใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นไปอย่างถูกต้อง ปลอดภัย  และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนเพื่อให้เข้าใจประโยชน์และโทษของกัญชา โดยควรมีข้อมูลที่ชัดเจนและบอกประชาชนทั้งสองด้าน ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาฯ พบว่า ปัจจุบันมีรายงานผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่กลุ่มใจเต้นเร็ว ใจสั่น ซึม หมดสติ และมีบางส่วนแค่อยากลองใช้ ทั้งที่ไม่มีโรค กรณีแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น 

ด้าน นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาพไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงปะทะสูงมากระหว่างวิชาชีพกับประชาชนที่ต้องการลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพตัวเองในกลุ่มโรคบางกลุ่มที่กัญชามีศักยภาพรักษาได้ ปัจจุบันชุมชนมีเทคโนโลยีผลิตได้เองและมีมาตรฐานระดับหนึ่ง แต่ อย. ก็ต้องควบคุมคุณภาพและเร่งจับกุมผู้ผลิตน้ำมันกัญชาใต้ดินด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาคประชาชนกำลังยกร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชา กระท่อม โดยเสนอให้แยกกัญชาออกมาจาก พ.ร.บ. ยาเสพติด เพื่อให้เป็นพืชสมุนไพร

ทั้งนี้ ในวันแรกของการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มีเวทีเสวนานโยบายสาธารณะหัวข้อ ‘ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงสู่การสร้างสุขภาวะระดับจังหวัด’ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จังหวัดถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะดำเนินนโยบายสุขภาพ ที่ผ่านมามีหลายจังหวัดใช้ธรรมนูญสุขภาพหรือกระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือในการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันคิด เกิดผลเป็นรูปธรรม กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนในมิติจังหวัดอย่างเต็มที่

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวสรุปว่า นโยบายการกระจายอำนาจเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะระดับท้องถิ่น ผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม อาทิ กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งในการบูรณาการการเสริมสร้างสุขภาวะสู่ประชาชนโดยมีกรอบการทำงานเดียวกัน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าใจถึงปัญหาได้มากกว่าและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ส่วนภาคนโยบายส่วนกลางก็เห็นด้วยอย่างเต็มที่ในนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาวะ และพร้อมจะส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net