Skip to main content
sharethis

'เซลินา เฉิน' ถูกไล่ออกจากหนังสือพิมพ์ 'Wall street journal' คาดเพราะรับตำแหน่งประธานสหภาพสื่อมวลชนของฮ่องกง 'HKJA' ด้านองค์กรสื่อไร้พรมแดน เผยเสรีภาพสื่อฮ่องกงตกต่ำลงอย่างมากหลังบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ มีการจับกุมนักข่าว บุกค้นสำนักงาน และปิดสำนักข่าวแล้วประมาณ 10 แห่ง

 

18 ก.ค. 2567 เว็บไซต์ ‘Hong Kong Free Press’ รายงานวันนี้ (18 ก.ค.) เซลินา เฉิน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่รออยู่ด้านนอกของอาคารเซ็นทรัลพลาซา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานของ "The Wall street journal" สาขาฮ่องกง โดยกล่าวว่า เธอ ‘ตกใจ’ เช่นกันที่ต้องบอกว่า การแถลงข่าวครั้งแรกในฐานะประธานองค์กรสื่อ Hong Kong Journalist Association (HKJA) คือการถูกไล่ออกจาก The Wall street journal ฮ่องกง หลังเธอเข้าไปมีตำแหน่งในสหภาพสื่อมวลชนฮ่องกงดังกล่าว

“เมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากบรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์พบว่าฉันกำลังลงชิงตำแหน่งประธาน HKJA, หัวหน้างานของฉันในสหราชอาณาจักรส่งข้อความถึงฉันโดยตรงว่าให้ถอนตัวออกจากการเลือกตั้ง” เฉิน กล่าว และระบุว่า “ขอให้เธอลาออกจากคณะผู้บริหารสหภาพฯ, ซึ่งทำงานมาตั้งแต่ปี 2021 (พ.ศ. 2564) แม้ว่าในทีแรก The Wall street journal ให้การอนุมัติให้ทำต่อได้ตอนที่รับเข้าทำงาน”

เฉิน กล่าวต่อว่า ฉัน "ปฏิเสธ" คำร้องขอจากหัวหน้างาน หลังจากที่เธอถูกบอกว่า บทบาทของเฉินใน HKJA จะ “ไปด้วยกันไม่ได้” กับบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้สื่อข่าวประเด็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีนและภาคพลังงานของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal โดย บ.ก.อาวุโส คนดังกล่าวระบุด้วยว่า ข่าวอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจีนเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญกับหนังสือพิมพ์ The Wall street journal ในเอเชียอย่างมากอีกด้วย

เฉิน กล่าวด้วยว่า ออฟฟิศบอกกับเธอว่า พนักงานคนอื่นๆ ของ The Wall street journal ไม่ควรสนับสนุนเสรีภาพสื่อ “ในสถานที่อย่างฮ่องกง” แม้ว่าพวกเขาสามารถทำให้ในประเทศโลกตะวันตกแล้วก็ตาม

“นี่มันชัดเจนสำหรับฉันว่าความหวาดกลัวและความกังวลต่อเสรีภาพสื่อฮ่องกงที่กำลังเผชิญมาหลายปีนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของ “Journal” (The Wall street journal) ด้วย แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ไกลออกไปอีกทวีปหนึ่งเลยก็ตาม” เฉิน กล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมด้วยว่า เธอถูก บ.ก.อาวุโสกดดันเนื่องจากบทบาทของเธอใน HKJA

การไล่ออกเฉิน มีผลเมื่อวันพุธที่ 17 ก.ค. 2567 หลังจากกอร์ดอน แฟร์คลาวจ์ บรรณาธิการสำนักงาน The Wall street journal ที่สหราชอาณาจักร เดินทางโดยเครื่องบินเพื่อมาแจ้งข่าวร้ายต่อเฉิน ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกัน เฉิน ถูกบอกเลิกจ้างโดยบริษัทอ้างว่ามี "การปรับโครงสร้างองค์กร"

The Wall street journal ประกาศเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาว่า พวกเขาวางแผนจะย้ายสำนักงานใหญ่ในเอเชียไปที่ประเทศสิงคโปร์ และจะมีการเลิกจ้างพนักงานบางส่วน

โฆษกบริษัท ดาวโจนส์ (Dow Jones) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ The Wall street journal ได้ตอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับ HKJA ว่า “ขณะที่เราได้ยืนยันว่าวันนี้เราได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับบุคลากรบางคน แต่เราไม่ได้ให้ความเห็นเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร”

โฆษกบริษัทดาวโจนส์ ระบุเพิ่มเติมว่า "The Wall street journal เป็นอยู่และจะสานต่อการเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนเสรีภาพสื่อมวลชนทั้งในฮ่องกง และทั่วโลก"

'น่าผิดหวัง และน่าโมโห'

ในวันเดียวกับที่เฉิน ถูกไล่ออกจากหนังสือพิมพ์ The Wall street journal ทางสหภาพ HKJA ได้ออกแถลงการณ์ในช่วงบ่ายว่า พวกเขาทั้ง “ผิดหวัง และโมโห” ต่อการตัดสินใจเลิกจ้างเฉิน ของหนังสือพิมพ์จากสหราชอาณาจักร 

“HKJA และเฉิน กำลังปรึกษากับทนายความเกี่ยวกับที่หนังสือพิมพ์ (The Wall street journal) มีความเป็นไปได้ที่จะละเมิดกฎหมายแรงงานของฮ่องกง ต่อกรณีการเลิกจ้างเฉิน” แถลงการณ์ของ HKJA ระบุ

อนึ่ง ตามกฎหมายการจ้างงานของฮ่องกง ระบุว่า พนักงานไม่สามารถถูกเลิกจ้างเพราะว่าเป็นสมาชิกหรือร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน

HKJA ระบุว่า หนังสือพิมพ์ The Wall street journal 'ไม่ได้เป็นหน่วยงานเดียว' ที่มีท่าทีลักษณะนี้ และระบุเพิ่มว่า คณะกรรมการบอร์ดบริหารคนอื่นๆ ของ HKJA ถูกนายจ้างกดดันให้ลาออก ขณะเดียวกัน ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งบริหารใน HKJA และ 'ชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ' ถูกเตือนว่าพวกเขาเสี่ยงถูกเลิกจ้าง หากพวกเขายังลงสมัครรับเลือกตั้ง

"HKJA เรียกร้องให้องค์กรสื่อทั้งหมดอนุญาตให้พนักงานของพวกเขามีอิสระในการสนับสนุนเสรีภาพสื่อมวลชน และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเพื่อนนักข่าวคนอื่นในฮ่องกง และจีน" แถลงการณ์ทิ้งท้าย

HKJA ได้ประสานไปยังชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแล้ว

ประธาน HKJA

‘เซลินา เฉิน’ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธาน HKJA ในการประชุมประจำปีของสหภาพแรงงานสื่อมวลชน 'HKJA' เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2567 ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 100 คะแนน และคัดค้านจำนวน 2 คะแนน ขณะที่คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้รับการเลือกในการประชุมประจำปีครั้งนั้นเช่นกัน

ภาพคณะกรรมการบริหารสหภาพฯ HKJA ชุดใหม่ (ที่มา : เพจเฟซบุ๊ก HKJA)

องค์กรสื่อที่มีอายุยาวนานมา 56 ปี ถูกโจมตีจากทางการฮ่องกง และสื่อที่หนุนโดยรัฐมาโดยตลอด นับตั้งแต่การประท้วงของชาวฮ่องกงเป็นระยะเวลาหลายเดือน เมื่อปี 2562 HKJA ถูกกล่าวหาว่าใส่ร้ายกองกำลังตำรวจ ที่อนุญาตให้มีนักข่าวปลอม เข้าร่วมและปกป้องการประท้วง

เมื่อ 21 มิ.ย.  คริส ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงฮ่องกง อ้างว่า HKJA ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่ใหญ่ที่สุดในเกาะฮ่องกงนั้น แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนอุตสาหกรรมสื่อในมุมมองของเขา เนื่องจากไม่มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานจากสื่อกระแสหลักท้องถิ่นฮ่องกง

"เมื่อดูรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง สำหรับผมดูเหมือนว่าจะมีแต่นักข่าวจากองค์กรต่างประเทศ นักข่าวส่วนใหญ่มาจากสื่อต่างชาติ บางคนเป็นนักข่าวอิสระ บางคนไม่เป็นแม้กระทั่งนักข่าวด้วยซ้ำ และองค์กรของพวกเขายังมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองอีกด้วย" คริส ถัง กล่าว

สำหรับคณะกรรมการบริหารของ HKJA อนุญาตให้สมาชิกคณะกรรมการบริหาร 1 คนมาจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ 2 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หวัง จิง และ เพรสตัน ชุง (Preston Cheung) ลงสมัครชิงตำแหน่งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้ว (มิ.ย. 2567)

ชุง กล่าวว่า เขาตัดสินใจลงชิงตำแหน่งในนามส่วนตัว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ทำงาน Justice Centre Hong Kong ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้ถูกบังคับอพยพในฮ่องกง เขาได้ลาออกจากองค์กรหลังจากได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการบริหาร 

เสรีภาพสื่อที่ตกต่ำลงของฮ่องกง

ทั้งนี้ องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน เปิดเผยข้อมูลว่า นับตั้งแต่มีการบังคับกฎหมายความมั่นคงใหม่ของฮ่องกง ดัชนีเสรีภาพสื่อฮ่องกงในระดับนานาชาติก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ตรวจตราเสรีภาพสื่ออ้างว่ามีการจับกุมนักข่าว บุกค้นสำนักงานข่าว และปิดสำนักข่าวไปแล้วประมาณ 10 แห่ง รวมถึง แอปเปิลเดลี, สแตนด์นิวส์, และซิติเซนนิวส์ นักข่าวมากกว่า 1,000 คนต้องสูญเสียงาน และอีกหลายคนต้องย้ายออกจากฮ่องกง ในเวลาเดียวกัน สื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล RTHK ได้นำแนวทางการเขียนและตีพิมพ์ข่าวฉบับใหม่มาปรับใช้ โดยการลบข่าวเก่า และลบข่าวและการแสดงที่มีเนื้อหาเสียดสีการเมือง

ย้อนไปเมื่อปี 2565 จอห์น ลี ผู้ว่าฮ่องกง กล่าวว่า เสรีภาพสื่ออยู่ในมือของชาวฮ่องกง แต่ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้ว่าเขาจะกล่าวกับสื่อให้นำเสนอแง่มุมดีๆ ของเกาะฮ่องกงบ้าง แต่หน่วยงานของรัฐบาลดูเหมือนลำบากใจต่อการนำเสนอเรื่องราวดังกล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net