Skip to main content
sharethis

หลังจากที่ศาลฮ่องกงมีคำสั่งให้แพลตฟอร์มเพลง ถอดเพลงประท้วง "Glory to Hong Kong" ออก 'แอปเปิลมิวสิค-สปอติฟาย' ก็ยอมทำตาม เป็นกรณีที่ชวนให้จับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่อผู้ให้บริการไอทีในฮ่องกงอย่างไร อีกทั้งยังสะท้อนความน่าเป็นห่วงประเด็นเสรีภาพในฮ่องกงด้วย

29 พ.ค. 2567 เพลง "Glory to Hong Kong" (ฮ่องกงจงเจริญ) เคยเป็นประเด็นมาก่อนหลังจากที่ทางการฟ้องร้องให้มีการถอดเพลงนี้ออกจากแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเพลงนี้เคยถูกใช้ในการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองเมื่อปี 2562 และหลังจากที่มีคำสั่งศาลออกมาให้แบนเพลงนี้ แพล็ตฟอร์มเผยแพร่ดนตรีอย่าง แอปเปิลมิวสิค และ สปอติฟาย ก็ได้ถอดเพลงนี้ออกจากแอพฯ ของพวกเขาแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา

เพลง "Glory to Hong Kong" เป็นเสมือนเพลงประจำของการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2562 โดยที่ในเดือน พ.ค. 2567 ศาลฮ่องกงได้ตัดสินสั่งแบนเพลงนี้โดยอ้างว่ามันเป็นเพลงที่กลายเป็น "อาวุธ" ในการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ

คดีนี้ได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดว่ามันจะส่งผลต่อบริษัทไอทีและผู้ประกอบการพื้นที่แพลตฟอร์มทางอินเทอร์เน็ตอย่างไร โดยมีความกังวลในเรื่องเสรีภาพในการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออกในฮ่องกง

"อีทูแบนด์" เป็นผู้ให้บริการด้านดนตรีดิจิทัลระบุว่าพวกเขาได้นำเพลง Glory to Hong Kong ออกจากพื้นที่แพลตฟอร์มทั่วโลกอย่าง แอปเปิลมิวสิค, สปอติฟาย, เฟสบุค และอินสตาแกรม

แอลลี เกรย์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทอีทูแบนด์ที่มีฐานในสก็อตแแลนด์บอกว่า "มันเป็นการตัดสินใจของพวกเราในการนำเพลงออก แล้วก็จริงที่ว่าเรื่องนี้มีสาเหตุมาจากคำสั่งศาล"

เกรย์บอกอีกว่า "พวกเราเข้าใจว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนและอ่อนไหวมาก ... พวกเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องและไม่อยากที่จะดูถูกสติปัญญาใครโดยการเสแสร้งว่าพวกเรารู้เรื่องนี้"

ผู้แต่งเพลง Glory to Hong Kong รู้จักในชื่อเล่นว่า DGX Music ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นนี้เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ว่าเขาต่อต้านการนำเพลงนี้ออก และบอกว่าเขา "หวังให้มีการนำเพลงนี้กลับคืนมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

DGX Music ระบุในแถลงการณ์ว่า "คำสั่งแบนของศาลไม่ได้มีขอบเขตอำนาจขยายไปถึงพื้นที่นอกอาณาเขต ที่สำคัญไปกว่านั้นคือตัวเพลงนี้เองไม่ได้ถูกแบน"

ในเดือน พ.ค. นี้ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงแบนการกระทำหลายอย่าง เช่น การร้องเล่นเพลงและการเผยแพร่เพลง "Glory to Hong Kong" ด้วยเจตนากระทำผิด

ยูทูบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบรรษัทยักษ์ใหญ่ อัลฟาเบต ที่มีกูเกิลเป็นหนึ่งในบริษัทลูก ยืนยันว่าพวกเขาได้ปิดกั้นการเข้าถึงวิดีโอของเพลงนี้บางส่วนจากผู้ใช้งานชาวฮ่องกง

อย่างไรก็ตามมีวิดีโอของยูทูบบางส่วนที่ผู้พิพากษากล่าวหาว่ามีปัญหา ยังคงสามารถเข้าถึงได้จากภายนอกฮ่องกง

จอห์น ลี ผู้ว่าการฮ่องกงกล่าวในสัปดาห์เดียวกับที่มีคำสั่งแบนว่า ทางเจ้าหน้าที่ฮ่องกงจะทำการสอดส่องพื้นที่แพลตฟอร์มทางอินเทอร์เน็ตต่อไปว่ามีการฝ่าฝืนไม่ทำตามคำสั่งใดๆ บ้างหรือไม่

รัฐบาลของลีพยายามร้องเรียนขอหมายศาลเมื่อปี 2566 หลังจากที่มีการเปิด "Glory to Hong Kong" ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นเพลงชาติฮ่องกงในงานกีฬาระดับนานาชาติ แทนที่จะเป็นเพลงชาติจีน "March of the Volunteers"

สหรัฐฯ ประณามการสั่งแบนนี้ว่าเป็นการทำลายชื่อเสียงในเวทีโลกของฮ่องกง ส่วนทางการจีนปกป้องการแบนนี้ว่าเป็น "มาตรการที่จำเป็น" ในการปกป้องความมั่นคงของชาติ


เรียบเรียงจาก
Glory to Hong Kong: Distributor removes Hong Kong protest song from Spotify, Apple Music after court order, Hong Kong Free Press, 25-05-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net