Skip to main content
sharethis

จิมมี ไหล เจ้าของสื่อแอปเปิลเดลีที่ปิดตัวไป ได้พยายามอุทธรณ์ขอใช้ทนายความชาวอังกฤษเพื่อว่าความให้เขา แต่ศาลก็ปฏิเสธโดยอ้างคำสั่งจากคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง จนเกิดเป็นคำถามว่าคณะกรรมการนี้มีอำนาจเหนือศาล แบบไม่ต้องผ่านการตรวจสอบกลั่นกรองจากฝ่ายตุลาการในฮ่องกงเลยหรือ

ศาลฮ่องกงปฏิเสธคำขอของ จิมมี ไหล เจ้าของสื่อแอปเปิลเดลีที่ถูกปราบปรามโดยทางการฮ่องกง ที่ยื่นคำร้องขอแต่งตั้งทนายความชาวอังกฤษ โดยที่ก่อนหน้านี้ศาลสูงสุดของฮ่องกงออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการใช้ทนายที่เป็นชาวต่างชาติในการว่าความ โดยจิมมี ไหลได้เรียกร้องขอให้ศาลฮ่องกงยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่ศาลฮ่องกงก็ปฏิเสธคำร้องในเรื่องนี้ ทำให้จิมมี ไหลไม่สามารถใช้ทนายความอังกฤษว่าความในคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติได้

โดยศาลอุทธรณ์ของฮ่องกงมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ให้ปฏิเสธคำร้องของจิมมี ไหลที่ขออุทธรณ์คำตัดสินเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งศาลตัดสินไปในทางเดียวกับการตัดสินใจของคณะกรรมการเพื่อการรักษาความมั่นคงของชาติ

อาคารสำนักงานแอปเปิลเดลี หนังสือพิมพ์ซึ่งมียอดพิมพ์จำหน่ายมากกว่า 1 ล้านฉบับ ซึ่งปิดตัวลงหลังวันที่ 23 มิถุนายน 2564 (ที่มา: แฟ้มภาพ)

แฟ้มภาพ จิมมี ไหล เดินทางไปศาลเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยปัจจุบันเขาถูกขังเดี่ยวอยู่ที่เรือนจำสแตนลีย์ บนเกาะฮ่องกง (ที่มา: Wikipedia/Studio Incendo - _A4U0345)

คณะกรรมการความมั่นคงของฮ่องกงมีประธานคือ ผู้ว่าการฮ่องกง จอห์น ลี เขาได้กล่าวไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่าการเสนอชื่อ ทิโมธี โอเวน ทนายความอาวุโสของอังกฤษให้เป็นทนายที่ได้รับให้ว่าความแทนจิมมี ไหลนั้น ถือเป็นสิ่งที่ "ขัดกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ" พวกเขายังได้สั่งให้อธิบดีสำนักงานคนเข้าเมืองต้องปฏิเสธไม่ให้อนุญาตวีซ่าแก่โอเวน โดยอ้างเรื่องความเกี่ยวข้องกับคดีสมคบคิดกับต่างชาติที่จิมมี ไหลกำลังถูกดำเนินคดี

จิมมี ไหลกำลังถูกดำเนินคดีข้อหา "ร่วมกันสมคบคิดกับต่างชาติ" ภายใต้กฎหมายความมั่นคง จากการกระทำผิด 2 กระทง อีกทั้งยังเผชิญกับข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อหาที่ "ปลุกระดม" สื่อแอปเปิลเดลี่ที่ไหลเป็นเจ้าของถูกสั่งปิดเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 หลังจากที่คณะทำงานอาวุโสของสื่อถูกจับกุมและเผชิญกับข้อกล่าวหาแบบเดียวกัน

 

ไม่ใช่สิ่งที่ 'โต้แย้งได้อย่างมีเหตุผล'

ในสำเนาคำพิพากษาที่ออกมาเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ระบุว่า ซูซาน กวาน และ คาร์ลี ชู รองประธานศาลอุทธรณ์และผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ โทมัส ออ ได้ตัดสินให้คำถามที่ทนายความของไหลเป็นผู้ตั้งขึ้น 3 คำถามเพื่อต้องการอุทธรณ์คำตัดสินนั้นถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ "โต้แย้งได้อย่างมีเหตุผล"

ซาแมนธา เลา ทนายความของไหลได้ถามเรื่องนี้ผ่านการยื่นคำร้องในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าการตัดสินใจที่มาจากคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงนั้น เป็นสิ่งที่ได้รับการละเว้นไม่ต้องมีการพิจารณาจากตุลาการหรือไม่

ในฮ่องกง ศาลชั้นต้นเป็นผู้พิจารณาตามกระบวนการตุลาการ และเป็นผู้ตรวจสอบกระบวนการตัดสินใจของฝ่ายบริหารในรัฐบาลฮ่องกง ประเด็นที่อยู่ภายใต้การพิจารณาจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีผลกระทบต่อสาธารณะในวงกว้าง

ศาลอุทธรณ์ได้ทำการปฏิเสธคำร้องของจิมมี ไหล โดยที่ผู้พิพากษากล่าวว่า คณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ (NPCSC) ไม่ได้จงใจจะให้อำนาจศาลแก่ศาลฮ่องกงในการพิจารณาคำตัดสิน, การตัดสินใจ หรือการกระทำใดๆ ก็ตามของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ

คณะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุว่า พวกเขาปฏิเสธการให้เหตุผลของการอุทธรณ์ในครั้งนี้โดยอ้างว่าเพราะเจตจำนงของกฎหมายและวิธีการตีความที่ระบุในภาษาของกฎหมายนั้น "ชัดเจนมากที่สุดแล้ว"

ซาแมนธา เลา ยังได้ถามคำถามในเรื่องที่ว่า การตีความครั้งแรกของกฎหมายความมั่นคงที่มาจากจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2565 นั้นได้ขยายอำนาจหน้าที่ในทางกฎหมายของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงด้วยหรือไม่ คำถามสุดท้ายที่ไหลเจตนาจะอุทธรณ์คือการเน้นเรื่องที่ว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาตินั้นเป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจที่ได้รับภายใต้ มาตรา 14 ของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่

ทั้งสองคำถามต่างก็ถูกปักตกโดยศาลอุทธรณ์ ศาลระบุว่าคำโต้แย้งของซาแมนธา เลาที่ว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติควรจะถูกจำกัดให้อยู่ภายในกรอบกฎหมายมาตรา 14 นั้น "ไม่ใช่การอ่านแบบที่ถูกต้อง" ตามการตีความของ NPCSC

ศาลยังได้ปฏิเสธที่จะพิจารณาคำถามสุดท้าย โดยอ้างข้อสรุปของตัวเองว่าการตัดสินใจโดยคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขได้โดยการพิจารณาจากตุลาการ

ผู้พิพากษาระบุว่า "ด้วยเหตุผลข้างต้นเหล่านี้ พวกเราปฏิเสธที่จะให้การอุทธรณ์ต่อคำตัดสินของศาลสูงสุดเนื่องจากไม่มีคำถามใดๆ เลยซึ่งเกี่ยวกับเจตนาอุทธรณ์ที่นำมาใช้โต้แย้งได้อย่างมีเหตุผล"

ตามกฎหมายว่าด้วยศาลสูงสุดของฮ่องกง ไหลยังสามารถอุทธรณ์ได้อีก โดยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดโดยตรง 28 วันหลังคำตัดสินจากศาลอุทธรณ์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ความพยายามใช้ทนายอังกฤษ

จิมมี ไหลพยายามจ้างวานโอเวนมาเป็นทนายตั้งแต่ปี 2565 แล้ว โดยต้องการให้มาว่าความแทนในคดีด้านความมั่นคงแห่งชาติครั้งประวัติศาสตร์ รัฐบาลฮ่องกงพยายามปิดกั้นการใช้ทนายจากต่างชาติของไหลหลายครั้ง แต่ศาลสูงสุดก็เคยตัดสินให้ไหลสามารถใช้ทนายชาวอังกฤษได้ในที่สุดช่วงราวปลายปี 2565

อย่างไรก็ตามรัฐบาลฮ่องกงได้ร้องขอให้จีนเสนอการตีความของกฎหมาย ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกนำมาใช้มากขึ้นภายใต้ธรรมนูญหรือกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง การตีความดังกล่าวของจีนได้ให้อำนาจคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติในการยับยั้งทนายความจากต่างชาติในการเข้ามามีส่วนกับคดีด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งหมายความว่าโอเวนไม่สามารถเป็นทนายความให้ไหลได้

ทางการจีนได้สอดแทรกกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงที่พวกเขาเป็นคนร่างเข้าไปในธรรมนูญของฮ่องกงโดยตรงเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 หลังจากที่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและมีความไม่สงบเกิดขึ้น กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ระบุถึงความผิดข้อต่างๆ เอาไว้คือ การบ่อนทำลายอำนาจรัฐ, การปลุกระดม, การสมคบคิดกับต่างชาติ และการกระทำในเชิงก่อการร้าย ซึ่งเป็นคำที่ถูกนำมาตีความได้แบบกว้างๆ รวมไปถึงการปิดกั้นการจราจรและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ด้วย

กฎหมายใหม่นี้ให้อำนาจตำรวจอย่างมากแล้วก็นำมาซึ่งการจับกุมผู้คนหลายร้อยราย รวมถึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางกฎหมายในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในฮ่องกงในขณะเดียวกับที่ภาคประชาสังคมหดตัวลง ทางการฮ่องกงอ้างว่ากฎหมายใหม่นี้เป็นการคืนเสถียรภาพและสันติภาพให้กับฮ่องกง ปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศคู่ค้า จากสหประชาชาติ และจากเอ็นจีโอ

เรียบเรียงจาก

Hong Kong court rejects media tycoon Jimmy Lai’s bid to challenge foreign lawyer ban at top court, HKFP, 05-07-2024

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net