Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนระบุการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของรัฐบาล ทำไม่ได้จริงเพราะงบน้อย ขาดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน และหน่วยงานราชการขาดการบูรณาการเชื่อมโยงกัน แนะตั้งมาตรการต้องเข้าใจวิถีชีวิตชุมชน-บูรณาการหลายศาสตร์

 

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ​PM2.5 เป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่สัปดาห์นี้ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานหลายจุดทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือ อย่างไรก็ตามปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้รัฐบาลได้ยกให้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อเดือน ก.พ. 2562 และได้ออกแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. ปีเดียวกัน แต่กลับไม่สามารถแก้ไขได้

 

กรมควบคุมมลพิษ รายงานข้อมูลฝุ่น PM2.5 ประจำวันที่ 10 ม.ค. 2563 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 50 สถานี โดยตรวจวัดค่าได้ 52 – 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ) โดยปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่เมื่อเทียบกับช่วงเที่ยงของวันนี้ โดยพบพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 36 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม) และมีผลกระทบต่อสุขภาพ 14 พื้นที่ (พื้นที่สีแดง)

เว็บไซต์ air4thai รายงานว่า ภาคเหนือ ฝุ่น PM2.5 ประจำวันที่ 10 ม.ค. 2563 ตรวจพบค่าระหว่าง 27 - 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐานที่บริเวณ เกินมาตรฐานที่บริเวณต.แม่ปะ อ.แม่สอด ตาก, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง พะเยา, ต.พระบาท อ.เมือง ลำปาง, ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.บ้านกลาง อ.เมือง ลำพูน, ต.นาจักร อ.เมือง แพร่

ส่วน ค่าดัชนีคุณภาพอากาศของ กทม. วันที่ 8 ม.ค. อยู่ที่อันดับ 4 ของโลก ตามดัชนีคุณภาพอากาศ US AQI วัดได้ 180 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

ค่าดัชนีคุณภาพอากาศของเชียงใหม่ วันที่ 9 ม.ค. อยู่ที่อันดับ 7 ของโลก ตามดัชนีคุณภาพอากาศ US AQI วัดได้ 162 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

 

มาตรการดูดี แต่ทำไม่ได้จริงเพราะงบน้อย-ขาดการมีส่วนร่วม-หน่วยงานไม่เชื่อมกัน

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา หนึ่งในสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้วิจารณ์มาตรการดังกล่าวว่า อ่านแล้วดูดีแต่ในการปฏิบัติกลับไม่เป็นไปตามนั้น เพราะหน่วยงานราชการซึ่งได้อำนาจในการดำเนินการขาดการบูรณาการเชื่อมโยงกัน และงบประมาณในการดำเนินการนั้นไม่เพียงพอ ไม่ได้ลงมายังท้องถิ่นโดยตรง นอกจากนี้ยังขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน จึงทำให้มีปัญหาในการบริหารจัดการ และทำให้มาตรการที่ใช้ไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" คือการควบคุมและลดแหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง แบ่งเป็น 3 มาตรการ ได้แก่

1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ 

2.มาตรการการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) ทั้งจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง (การเผา วัสดุการเกษตร การเกิดไฟป่า การเผาขยะกิ่งไม้ใบไม้) โรงงานอุตสาหกรรม  การก่อสร้าง 

3.มาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 – 2567) ให้ควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ โดยบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 ภายใน ปี 2565   บังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปรับปรุงแก้ไขการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ใช้งาน รวมทั้งห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วทุกประเภท ควบคุมการระบายฝุ่นจากการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือและจากเรือสู่เรือ ควบคุมการระบายมลพิษทางอากาศจาก Non-road Engine ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง โดยให้มีการใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการเผา ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด ป้องกันการเกิดไฟป่าและจัดการไฟป่า ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหรือไม้ยืนต้นอื่นทดแทนพืชเชิงเดี่ยวหรือพืชที่มีการเผา

ต่อประเด็นเรื่องงบประมาณ เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสระบุว่า งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมถูกจัดสรรไว้น้อยมาก เพราะมีเพียง 12,867.7 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.4% ของงบประมาณทั้งหมด (3.2 ล้านล้านบาท) หากเทียบกับเงิน 1,000 บาท ก็เป็นเงินที่ถูกนำไปใช้จัดการสิ่งแวดล้อมเพียง 4 บาท ซึ่งหากเทียบกับสหภาพยุโรป พบว่า สัดส่วนงบประมาณที่ถูกจัดสรรด้านสิ่งแวดล้อม 1.6% ขณะที่ประเทศจีนจัดสรรงบด้านนี้ไว้มากถึง 2.52%

“ถ้าดูตัวเลขสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 12,867 ล้านบาท จะพบว่าใกล้เคียงกับเงินที่เอาไปใช้นโยบาย ชิม ช้อป ใช้ งบประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ก็ใช้หมดภายใน 2 สัปดาห์ แต่อันนี้คืองบที่เอามาจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งปี” เดชรัตน์กล่าว 

เดชรัตน์ชี้ว่า ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวอย่างปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบวงกว้าง เมื่อประเมินมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 8 แสนล้านบาท แต่ในงบประมาณปี 2563 กลับได้รับจัดสรรงบเพื่อป้องกันปัญหานี้เพียง 241 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของมูลค่าความเสียหายเท่านั้น นี่จึงกำลังสะท้อนถึงกระบวนการจัดทำงบประมาณ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

เดชรัต ยังตั้งข้อสังเกตว่า งบที่ถูกจัดสรรไว้ยังเน้นไปที่การแก้ปัญหาปลายเหตุ โดยจัดสรรไปให้กับกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่กระทรวงที่กำกับดูแลต้นทางปัญหา อย่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ กระทรวงพลังงาน กลับไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อวางมาตรการรับมือกับปัญหานี้

 

ตั้งมาตรการต้องเข้าใจวิถีชีวิตชุมชน-บูรณาการหลายศาสตร์

สุรีรัตน์กล่าวว่า บางครั้งการมีมาตรการโดยไม่เข้าใจเงื่อนไขของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด เช่น มาตรการลดไปจนถึงห้ามการเผา กระทบกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่า ที่อาศัยอยู่กับป่ามานานก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน หรืออุทยานแห่งชาติ วิถีชีวิตของชาวบ้านเหล่านี้คือการทำไร่หมุนเวียน หาของป่า และการเผาก็เป็นเรื่องที่ทำมานาน แต่เป็นการเผาแบบมีการจัดการ คือเผาช่วงที่ใบไม้แห้งที่สุด ทำให้เผาได้สมบูรณ์ เกิดควันน้อยที่สุด ถ้าบริหารจัดการการเผาได้ เผาให้ถูกที่ถูกเวลา ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการห้ามเผา

แต่ทั้งนี้สุรีรัตน์มองว่า การเผาในพื้นที่เกษตรมีหลายแบบ เช่น เผาในไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เผาในไร่นา เผาในไร่อ้อย เผาในไร่ลำไย (ตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ออกผล และต้องเผาส่วนที่ตัด)  ต้องมองว่าแต่ละแบบจะจัดการอย่างไร ทั้งหมดต้องมองภาพรวม และแก้ปัญหาด้วยกันจากหลายฝ่าย ใช้นวัตกรรมจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรอย่างไร ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

นอกจากนี้วิธีแก้ปัญหาในระยะยาวเช่นการเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดไปทำเกษตรอินทรีย์หรือวนเกษตร คือปลูกพืชหลากหลายก็ต้องใช้เวลา 5-10 ปี และเฉพาะส่วนภาคเหนือก็มีปัญหาว่า แม้เกษตรกรอยากทำเกษตรครบวงจรแต่อยู่ในเขตป่าสงวน ไม่มีสิทธิทำกิน จึงไม่สามารถจัดการอะไรด้วยตัวเองได้ ดังนั้นก็ต้องบูรณาการเรื่องกฎหมายด้วย

สุรีรัตน์อธิบายว่า ในภาคเหนือนั้นมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ และปัจจุบันยังมีปัจจัยเรื่องความกดอากาศต่ำข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ควันพิษไม่สามารถระบายไปได้ เพราะถูกความกดอากาศดันไว้ในแอ่งกระทะ หรือในกรุงเทพฯ แม้อยู่ในพื้นที่ราบ แต่ก็มีความกดอากาศต่ำ ทิศทางลมที่พัดนั้นพัดเอาฝุ่นควันจากการเผาในพื้นที่เกษตร จากการจราจร จากโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาในกรุงเทพฯ 

“ถ้ารัฐบาลจะมีมาตรการจัดการควันพิษ ต้องเอาสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิศาสตร์ สภาพการเกิดไฟป่า มาบูรณาการกัน ต้องมีหน่วยงานประเมินว่าช่วงนี้น่าจะวิกฤตเพราะมีสภาพความกดอากาศแบบนี้ ความเร็วลมเป็นแบบนี้ ช่วงนี้ประชาชนจะดูแลตัวเองอย่างไร หรือออกมาตรการว่าช่วงนี้ทุกคนต้องหยุดเผา และหยุดใช้รถ ต้องใช้รถสาธารณะแทน จะทำให้ภาวะวิกฤตคลี่คลายขึ้น” สุรีรัตน์กล่าว

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก มีความซับซ้อน เราเองก็ไม่ได้เข้าใจสภาพทั้งหมด อยู่ในระหว่างเรียนรู้ และอยู่กับสภาพอากาศที่เลวร้ายแบบนี้ไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักคิดคือทุกคนต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ชาวบ้านที่อยู่ในป่าก็มีวิถีชีวิตแบบหนึ่ง จะให้เขาเลิกเผาเลยก็เป็นไปไม่ได้ เช่นกันคนเมืองเองจะให้เลิกใช้รถส่วนตัวเลยก็คงไม่ได้ ต้องไม่ชี้หน้าว่ากัน แต่ทุกคนต้องเริ่มจากตัวเอง ช่วยกันลดมลพิษที่มาจากตัวเอง” สุรีรัตน์กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net