Skip to main content
sharethis

 สถาบันพระปกเกล้าจัดเสวนา“ทิศทาง คู่ชีวิต&สมรสเพศเดียวกัน ฟุบหรือไปต่อ(ทางไหนดี?)” หวังต่อยอด พ.ร.บ. คู่ชีวิตในประเทศไทยเป็นฉบับสมบูรณ์ ลดการเหลื่อมล้ำในสิทธิต่างๆ

14 ม.ค. 2563 ที่หอศิลปวัฒธรรมกรุงเทพฯ นักศึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 6 สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการหัวข้อ  “ทิศทาง คู่ชีวิต &สมรสเพศเดียวกัน ฟุบหรือไปต่อ(ทางไหนดี?)” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (RSAT) อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และณิชนัจทน์ สุดลาภา นางแบบและคณะทำงานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน(Thai TGA) 

กิตตินันท์ ธรมธัช เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติแล้วว่า เป็นดินแดนที่ยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการสมรสของเพศเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มี พระราชบัญญัติ หรือกฎหมายที่ดูแลและให้สิทธิเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เกิดการจำกัดสิทธิต่างๆ และความไม่เท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวในประเทศไทย ดังนั้นการจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อต้องการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของ พ.ร.บ. คู่ชีวิตในประเทศไทย และให้ประชาชนทั่วไปตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต รวมถึงกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน

“ปัจจุบันมีประมาณ 26 ประเทศในโลก ที่มีกฎหมายรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันแล้ว ซึ่งกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันฉบับแรกในเอเชีย มีขึ้นในประเทศไต้หวัน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ไต้หวันมีวิวัฒนาการทางกฎหมายและบริบททางสังคมใกล้เคียงกับประเทศไทยมาก ดังนั้นจึงมองว่าการศึกษาวิวัฒนาการของไต้หวัน น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมาก เพราะเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการ“ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต” หรือที่เรียกกันว่า “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” แล้ว เพื่อเตรียมส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา แต่ที่ผ่านมายังมีข้อถกเถียงกันตลอดว่า บทบัญญัติหลายประการของ พ.ร.บ.นี้ อาจให้สิทธิบางอย่างของคู่ชีวิต ไม่เท่าเทียมกับคู่สมรส” กิตตินันท์  กล่าว

กิตตินันท์ กล่าวว่า คำว่า “สมรส” ที่ถูกบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ตามหลักกฎหมายครอบครัวของไทยในมาตรา 1448-1460 ได้กำหนดเงื่อนไขอนุญาตให้บุคคลเพศชายและเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น ที่สามารถจดทะเบียนสมรส และมีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรสหรือสามีภริยาได้ ส่วนคำว่า “คู่ชีวิต”เป็นคำที่ใช้ในพระราชบัญญัติคู่ชีวิตเท่านั้น นี่เป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติคำนี้ในทางกฎหมายของประเทศไทย โดยสิทธิที่พึงได้รับจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับที่อยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา มีด้วยกันหลายประการ อาทิ สิทธิในการให้และรับมรดก สิทธิในการทำนิติกรรมและจัดการหนี้สินร่วมกัน สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการร้องขอต่อศาลเป็นผู้อนุบาลคู่ชีวิตอีกฝ่ายที่วิกลจริตหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถ สิทธิในการจัดการทรัพย์สินคู่ชีวิตร่วมกัน ส่วนสิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน และสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่รักร่วมกันใช้วิธีการดึงบทบัญญัติตาม ปพพ.มาบังคับใช้โดยอนุโลม

เขากล่าวด้วยว่า  ส่วนสำคัญที่ยังขาดหายไปใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีทั้งการเปลี่ยนคำหน้าชื่อ-สกุล การรับและปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน และการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ส่วนสวัสดิการต่างๆ ของรัฐที่คู่สมรสพึงได้รับ การลดหย่อนภาษีจากการมีคู่สมรส การเป็นคู่ความประมวลกฎหมายอาญาแทนคู่สมรส สิทธิในกองทุนประกันสังคมของคู่สมรสตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ผ่านมากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมองว่า การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการฉายภาพความแตกต่างแปลกแยกจากสังคมของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยมองว่าสิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ เร่งแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพื่อให้มีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ด้วยการแก้ไขที่ ปพพ.โดยตรง ไม่ใช่การแยกตัวบทกฎหมายสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมา

นอกจากนี้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตในประเทศไทย จดทะเบียนได้เฉพาะคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น คู่รักต่างเพศ (หญิงและชาย) ไม่สามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ เมื่อเปรียบเทียบกับฝั่งของประเทศอังกฤษ ที่มีการให้สิทธิคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสได้ และมีแผนที่จะให้สิทธิคู่รักต่างเพศ จดทะเบียนคู่ชีวิตได้อย่างคู่รักเพศเดียวกัน เป็นทางเลือกให้แก่คู่รักที่ไม่อยากแต่งงานหรือมีสถานะคู่สมรสสามารถใช้สถานะคู่ชีวิตได้ นับเป็นการเปิดกว้างให้แก่ทุกเพศ เพื่อเลือกทางเดินชีวิตตามสิทธิทางกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น

 “ในอนาคตอยากเห็นกฎหมาย เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ เป็นไปในเรื่องของ ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย โดยเอาเรื่องเพศออกนอกกรอบของกฎหมาย และให้เป็นเรื่องของสถานภาพของความเป็นบุคคลซึ่งยึดหลัก ในความเท่าเทียมและเท่ากันของบุคคล โดยเอาเรื่องเพศออกนอกกรอบในฐานความคิดกฏหมายในทุกๆเรื่อง เพื่อทำให้กฏหมายแสดงพลังถึงความเท่าเทียมกันของบุคคล โดยไม่คำนึงในกรอบเรื่องเพศอีกต่อไป เพื่อจะทำให้ได้รับสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” กิตตินันท์ กล่าว 

อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต รายแรกที่ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจาก สำนักงานพัฒนาโครงการแห่งสหประชาชาติ (UNDP) กล่าวว่า อยากให้กฎหมายมีความรอบด้าน สามารถคุ้มครองสิทธิได้ครบถ้วน ตั้งแต่สถานะทางเพศ สถานะทางครอบครัว และเรื่องอื่นๆที่สืบเนื่องต่อมาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม การที่เราจะมีระบบกฎหมายที่สมบูรณ์แบบได้นั้นย่อม ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กฎหมายจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับกลไกที่จะช่วยขับเคลื่อนไปร่วมกัน

“ตอนนี้ร่างพระราชบัญญัติยังอยู่ในชั้นของกฤษฎีกา ผมคิดว่าเราน่าจะมีกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้มากกว่านี้ เพื่อให้คนที่ตัดสินใจและคนที่ทำงาน สามารถเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อสรรสร้างกฎหมายที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศไทยได้ นอกจากนี้ผมคิดว่า ถ้าเราได้รับความร่วมมือ และความช่วยเหลือจากสื่อ และภาคประชาสังคมสารัตถะของกฎหมายที่ค่อนข้างซับซ้อน ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายและประชาชนทุกคนสามารถเข้าใจได้” อัครวัฒน์ กล่าว

เคท ครั้งพิบูลย์  กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าการเสวนาครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนหันมาสนใจเรื่อง LGBT เพราะการจัดเสวนาครั้งนี้ ทำให้เรื่องความหลากหลายทางเพศมีความเป็นสาธารณะมากขึ้น

“กฎหมาย น่าจะเป็นไปตามสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะใช่กฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิตหรือการแก้กฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ไหม คิดว่าคนที่มีหน้าที่ก็ควรจะเข้าใจ เพื่อให้กระบวนการแก้กฎหมายง่ายขึ้น อยากให้การแก้กฎหมายนี้เหมือนกัญชา ให้เป็นกระแสที่ทุกพรรคการเมืองกระโดดเข้ามาร่วมหมด” เคท กล่าว

ขณะที่ ณิชนัจทน์ สุดลาภา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิตยังมีบางเรื่อง ที่ไม่ได้รับสิทธิเท่าคนไทยปกติ เช่น เรื่องบุตรบุญธรรม เพราะปัจจุบันมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ รับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายก็ไม่ออกมารองรับ ซึ่งโดยส่วนตัว ที่ทำงานและพยายามออกมาพูดในเรื่องนี้บ่อยๆ แค่อยากได้สิทธิที่เท่าเทียมกันกับประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ได้มีอะไรที่เหนือกว่า หรือด้อยกว่า

“อยากให้มีการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด กฎหมายบางอย่างไม่จำเป็นต้องเขียนหญิงและชายแล้ว บทบาทในสังคมปัจจุบันมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศไทยมาไกลมาก ผู้หญิงได้รับสิทธิ์เท่าเทียมผู้ชายแล้ว แต่กลุ่มคนข้ามเพศ ยังไม่เป็นแบบนั้น อยากให้ทุกคนตื่นตัว ช่วยกันล็อบบี้และเข้าไปคุยกับคนที่มีอำนาจพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง กระทรวงที่ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันเรื่องกฎหมายนี้” ณิชนัจทน์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net