Skip to main content
sharethis

สว.โหวตผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองสิทธิในการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน โดย กม.จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน

 

 

18 มิ.ย. 2567 วันนี้ (18 มิ.ย.) หลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่า ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง

การลงมติในครั้งนี้ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองสิทธิในการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน

องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุว่า หลังจากนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยจะมีการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในลำดับถัดไป หลังมีการเผยแพร่ร่างพระราชบัญญัตินี้ในราชกิจจานุุเบกษา กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการหลังผ่านไป 120 วัน

มุกดาภา ยั่งยืนภราดร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าวว่า

“กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับใหม่ของไทย ถือเป็นชัยชนะในแง่ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของประเทศ”

“สมรสเท่าเทียมเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีของมนุษย์ และประเทศไทยจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิเหล่านี้โดยเร็วและไม่เลือกปฏิบัติ”

ขณะที่ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า

“ครั้งประวัติศาสตร์ ไทยกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองสิทธิในการสมรสของคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชัยชนะในครั้งนี้คือรางวัลจากการทำงานอย่างหนักของนักกิจกรรม ภาคประชาสังคม และ สส. ที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน”

“แน่นอนว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับประเทศไทย แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องขับเคลื่อนกันต่อ เพื่อเป็นหลักประกันถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศเรา”

“ผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังคงเผชิญความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติในหลายรูปแบบ รวมถึงความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี ที่มักพุ่งเป้าโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net