แฟนพันธุ์แท้ 'กองทัพไทย' 100 กว่าปี ตอบคำถาม 'ทำไมปฏิรูปไม่เคยสำเร็จ'

  • กองทัพไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นกองทัพชั่วคราว เกณฑ์ไพร่พลมาเป็นทหารเมื่อเกิดสงคราม จนสมัยรัชกาลที่ 4 บริบทโลกเปลี่ยนเมื่อฝรั่งเศสเกิดการปฏิวัติและเปลี่ยนระบบทหารให้มีกองทัพประจำการ หรือกองทัพสมัยใหม่เพื่อสงครามใหญ่และยาว
  • รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปราชการทั้งระบบ หนึ่งในนั้นคือ ปรับโครงสร้างกองทัพทำให้เกิดกองทัพประจำการ ตั้งกรมยุทธนาธิการที่ต่อมากลายเป็นกระทรวงกลาโหม
  • การมีโรงเรียนนายร้อย สมัย ร.5 ก็ได้เปิดโอกาสให้ลูกหลานสามัญชนเข้าสู่กองทัพและเติบโตตามสายงานแทนที่จะเป็นแต่พระบรมวงศานุวงศ์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สามัญชนอยากเปลี่ยนแปลงกองทัพให้ทันสมัยอย่างที่เกิดในจีนหรือญี่ปุ่น กระทั่งกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในอีก 21 ปีต่อมา
  • ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในกองทัพอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนเรียกได้ว่าเป็น "การปฏิรูป" และเช่นกัน ไม่มีครั้งไหนที่ทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง 
  • ความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เช่น หลัง 2475 พยายามลดจำนวนนายพล ลดขนาดกองทัพ, สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย สมัยสงครามเย็นก็ปรับโครงสร้างกองทัพและเครื่องแบบให้คล้ายสหรัฐอเมริกา ฯลฯ 

กระแสการปฏิรูปกองทัพถูกพูดถึงอีกครั้งหลังสังคมไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารเกือบ 5 ปีและหลายพรรคการเมืองต่างหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นแนวนโยบายในการหาเสียง ก่อนจะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562

การปฏิรูปกองทัพเกี่ยวข้องโดยตรงกับการลงหลักปักฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมุ่งหมายทำให้กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน แต่สำหรับประเทศไทยความหมายของคำว่าปฏิรูปกองทัพดูจะมีความหมายมากกว่า 1 อย่าง เพราะในขณะที่ภาคประชาชนกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกองทัพ กองทัพเองก็ยืนยันมาตลอดว่า กองทัพมีการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แล้วการปฏิรูปกองทัพคืออะไรกันแน่ ในประวัติศาสตร์เราเคยปฏิรูปกองทัพกันอย่างจริงจังหรือไม่ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้างในกองทัพไทย บริบทปัจจัยแวดล้อมและความคิดแบบไหนที่ทำให้กองทัพไทยยังคงเป็นกองทัพอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาบอกเล่าเรื่องนี้

อันที่จริงน่าจะกล่าวได้ว่าเขาเป็นพลเรือนคนแรกที่พูดถึงปัญหาของกองทัพ บทความชิ้นแรกที่ตีพิมพ์ในปี 2530 มีการนำเสนอให้ปรับโครงสร้างกองทัพ ชี้ปัญหาในการซื้ออาวุธ ฯลฯ เป็นที่น่าเสียดายว่าข้อเสนอของเขาและคนอื่นที่เสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพไทยไม่ได้ถูกนำไปขบคิดหรือปฏิบัติจริงจัง แม้หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่สถาบันทหารโดนสังคมแอนตี้หนักจนต้องกลับเข้ากรมกอง (ไปก่อน)

ปฏิรูปกองทัพทั้งระบบ มีครั้งเดียวสมัย ร.5

กองทัพประจำการ (Standing Amy) หรือกองทัพสมัยใหม่ (Modern Amy) เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก เดิมทีสยามไม่เคยมีคอนเซ็ปต์เรื่องกองทัพประจำการ หากย้อนไปในสมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจะพบว่า กองทัพสยามเป็นเพียงกองทัพเฉพาะกิจ เมื่อเกิดศึกสงครามก็จะมีการเรียกเกณฑ์ไพร่พลเข้ามาเป็นทหารในระยะเวลาสั้นๆ ปัญหาหนึ่งที่รัชกาลที่ 4 มองเห็นคือ การไม่มีกองทัพประจำการเป็นปัญหาที่ทำให้สยามไม่สามารถรบใหญ่และรบยาวได้ ขณะที่หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ฝรั่งเศสได้มีการออกรัฐบัญญัติเกณฑ์ทหาร ผลที่ตามมาคือ การเปลี่ยนหน้าของสงครามรูปแบบเดิม

“การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่เพียงแต่เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐในทางการเมือง แต่ได้สร้างเรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือ สร้างพันธะของพลเมืองกับกองทัพ หมายความว่า ภายใต้สถานะของความสัมพันธ์ใหม่ รัฐมีอำนาจในการเกณฑ์คนเข้ามารับราชการทหาร ผลที่ตามมาซึ่งเราเห็นในยุคนโปเลียนคือ กองทัพของฝรั่งเศสกลายเป็นกองทัพขนาดใหญ่ทำสงครามในระยะเวลายาวนาน”  

เมื่อกองทัพของฝรั่งเศสเริ่มขยายตัวกลายเป็นกองทัพประจำการ กองทัพของรัฐอื่นในยุโรปก็เริ่มปรับเปลี่ยนตามแนวทางฝรั่งเศส การปรับเปลี่ยนกองทัพขนานใหญ่นี้เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปกองทัพ ไม่เพียงแค่ยุโรปเท่านั้น ปรากฏการณ์นี้ส่งผลไปยังรัฐท้องถิ่นอาณานิคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐในเอเชียหรือแอฟริกา สยามตระหนักเรื่องนี้ในสมัยของรัชกาลที่ 4 และเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การปฏิรูประบบราชการทหารทั้งระบบ

หนึ่งในการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ในรัฐสมัยรัชกาลที่ 5 คือ การปฏิรูปกองทัพ ในปี 2435 มีการตั้งกรมยุทธนาธิการซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกระทรวงกลาโหม และเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามก่อร่างสร้างรัฐสมัยใหม่ผ่านการสร้างกองทัพสมัยใหม่หรือกองทัพประจำการ สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้สำหรับการสร้างกองทัพในรูปนี้คือ จัดให้มีการศึกษาใหม่ สร้างระบบการเกณฑ์ทหารใหม่ จัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ และจัดการบริหารราชการใหม่ สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆ เกิดขึ้น

เมื่อสามัญชนเข้าสู่กองทัพ เขย่าการเมือง

“ประเด็นคำถามใหญ่ที่สุดก็คือ ตกลงเมื่อจัดระบบการศึกษาใหม่และเปิดโรงเรียนนายร้อยขึ้น จะรับลูกสามัญชนเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยหรือไม่ เพราะการรับลูกสามัญชนเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยจะเป็นนัยยะต่อมาก็คือ ส่งผลให้ลูกสามัญชนจบออกมารับราชการเป็นนายทหาร ซึ่งแต่เดิมนายทหารเวลาเราพูดในคอนเซ็ปต์ของกองทัพแบบโบราณ มักจะเป็นลูกขุนนาง หรือสำคัญที่สุดก็จะเป็นเชื้อพระวงศ์”

การเปิดให้ลูกหลานของสามัญชนสามารถเข้าไปเรียนในโรงเรียนนายร้อยได้ ก็แปลว่าสามารถขยับสถานะขึ้นมาเป็นทหารในระดับบังคับการได้ นั่นหมายความต่อไปอีกว่าเรื่องราวความเป็นไปของบ้านเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของชนชั้นนำเดิมแต่เพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป

“เมื่อกองทัพกลายเป็นสถาบันในโครงสร้างของรัฐสยามที่เป็นรัฐสมัยใหม่ ก็ได้เผชิญกับเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเวทีโลกและในสยามเอง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งได้ทำให้ทหารซึ่งเป็นลูกหลานสามัญชนที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนนายร้อยเริ่มหันมาสนใจการเมือง โดยเฉพาะในยุครัชกาลที่ 6 ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ทหารรุ่นนั้นอ่านหนังสือเยอะและอ่านหนังสือพิมพ์จีนที่เป็นภาษาไทยซึ่งเขียนถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน เราจึงได้ยินคำว่า “เก๊กเหม็ง” ซึ่งก็คือพวกนักปฏิวัติจีน นายทหารเหล่านี้อ่านไปอ่านมาก็กลายเป็นต้นกำเนิดของเหตุการณ์ ร.ศ. 130”  

ยุครัชกาลที่ 6 ในปี 2452 ทหารเริ่มสนใจการเมือง 2 เรื่องหลักที่พวกเขาสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีนและความเติบโตของญี่ปุ่น หลังญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยปฏิรูปยุคเมจิ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการพัฒนากองทัพ สิ่งที่ทหารสยามมองเห็นในเวลานั้นมี 2 มุม คือ การปฏิรูปแบบญี่ปุ่น และการปฏิวัติแบบจีน ประกอบกับเงื่อนไขความขัดแย้งในประเทศระหว่างกองเสือป่าและทหารได้นำไปสู่ความคิดที่จะปรับเปลี่ยนการเมืองไทย กลายเป็นชนวนที่ปลุกเร้าทหารบางส่วนว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่อายุของคณะเปลี่ยนแปลงชุดแรก (ร.ศ.130) ก็แสนสั้น ในปี 2454 พวกเขาถูกกวาดจับจนหมดเพราะข่าวรั่ว

คณะผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ภาพจากวิกิพีเดีย

“ทหารกับการเมืองไทย ชุดแรกคือ ร.ศ.130 ประมาณปี พ.ศ.2452-2454 แม้ถูกกวาดจับหมด แต่เหตุการณ์นั้นได้ทิ้งประเด็นสำคัญไว้ว่า ความสนใจของทหารที่ต้องการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ซ่อนเรื่องหนึ่งไว้คือ ความอยากพัฒนากองทัพ เมื่อเห็นกองทัพญี่ปุ่นพัฒนาก็ต้องการเห็นกองทัพสยามพัฒนาบ้าง และเมื่อผ่านจากเหตุการณ์นี้ไปอีก 21 ปี เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2475 สิ่งที่น่าสนใจหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ กองทัพมีการปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ไปถึงจุดที่จะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปกองทัพอย่างแท้จริง เพียงแต่มีความคิดในการจัดโครงสร้างภายในกองทัพมากกว่า”   

กองทัพในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของทหารในทางการเมืองครั้งแรก เพราะสามารถล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงได้ เมื่อกองทัพสยามเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคที่มีรัฐบาลตามระบอบรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลานั้นกองทัพเน้นเรื่องการจัดการโครงสร้างภายในกองทัพมากกว่าที่จะทำในสิ่งที่เป็นความหมายของการปฏิรูปกองทัพ ด้วยสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ เรื่องใหญ่ที่กองทัพต้องเร่งปรับเปลี่ยนคือ ปรับคนและปรับองค์กร

แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวทหารสามารถขยายกองกำลังให้มากขึ้นและใหญ่ขึ้นได้ แต่พระยาทรงสุรเดชกลับตัดสินใจที่จะทำในทิศทางตรงกันข้ามคือ พยายามลดจำนวนของนายพลลง

“เจ้าคุณทรงฯ หรือพระยาทรงสุรเดช ตัดสินใจไม่ขยายจำนวนทหาร พยายามที่จะคุมจำนวนนายพลในกองทัพ แต่ในยุคหลังๆ มา เมื่อทหารขึ้นมามีอำนาจเมื่อไรเราก็จะเห็นการขยายอัตรากำลังพล ในขณะที่นายทหารยุค 2475 ถ้าพวกเขาจะขยายอัตรากำลังพลก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย ตั้งตัวเองเป็นนายพลกันได้สบายๆ แต่เขาก็ไม่ทำ พูดให้ง่ายคือพวกเขาไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาผลประโยชน์ของกองทัพเป็นที่ตั้ง แต่พยายามคุมกองทัพให้มีความเหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศ”

เงื่อนไขสงคราม กองทัพเน้นแต่จัดหาอาวุธ

หลังยุค 2475 เราจะเห็นความพยายามในการปรับปรุงกองทัพจริงๆ ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะเกิดขึ้นซึ่งแตกต่างจากยุครัชกาลที่ 6 ที่มีการส่งทหารไปร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นการส่งทหารที่เป็นพลยานยนต์ไปขับรถเพื่อรับส่งทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ถึงกระนั้นมันก็ส่งผลให้ทหารสยามได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น แต่การปรับปรุงกองทัพจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้เข้ามาโดยมีการส่งทหารเข้าไปฝึกแบบยุโรป

เวลานั้นรัฐบาลของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. ในเวลาต่อมา กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ 2 ส่วนด้วยกันคือ สถานการณ์สงครามในยุโรปและสถานการณ์ที่รัฐบาลสยามเรียกร้องปรับเขตแดนกับรัฐบาลฝรั่งเศสกรณีร่องน้ำลึกในแม่น้ำโขง กรณีนี้ได้ก่อกระแสในกลุ่มปีกขวาและกลุ่มชาตินิยมซึ่งมองว่าสยามควรได้ดินแดนที่ตนต้องเสียสละอำนาจอธิปไตยในการปกครองให้กับเจ้าอาณานิคมในยุครัชกาลที่ 5 กลับคืนมา

ในช่วงปี 2483 สถานการณ์เริ่มตึงเครียด เวลานั้นกองทัพไทยเริ่มซื้ออาวุธมากขึ้น การซื้ออาวุธสอดรับกับโจทย์สงครามโลกที่เกิดในยุโรป สอดรับกับสงครามที่ญี่ปุนกำลังทำในเอเชีย สอดรับกับความขัดแย้งของรัฐบาลสยามกับรัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศส แม้จะมีความพยายามเจรจาตกลงเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศส แต่โชคร้ายก็เกิดขึ้นเมื่อการตกลงกำลังจะจบลงแล้วแต่ปารีสถูกตีแตกเสียก่อน ทำให้รัฐบาลอินโดจีนของฝรั่งเศสไม่ตอบรับข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น ผลที่ตามมาคือ ฝรั่งเศสเปิดการโจมตีที่นครพนม กลายเป็นสงครามอินโดจีน นั่นหมายความว่า การปรับปรุงกองทัพในช่วงนี้มีเงื่อนไขของสงครามโลกและสงครามของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงเป็นการปรับในเรื่องการจัดซื้อจัดหาอาวุธเท่านั้น

“ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2484 สยามเปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็นไทย และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นขอผ่านแดนในวันที่ 8 ธ.ค. 2484 หลังจากนั้นกองทัพไทยเริ่มรับยุทโธปกรณ์จากญี่ปุ่นหลายอย่าง ครั้งนั้นไทยได้เรือดำน้ำ 4 ลำจากญี่ปุ่น จึงกลายเป็นความฝันของกองทัพเรือที่เชื่อว่า เราต้องมีเรือดำน้ำ”

อย่างไรก็ตาม การรับอาวุธยุทโธปกรณ์จากญี่ปุ่นก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ยั่งยืน หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง อาวุธของญี่ปุ่นก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะอาวุธเหมือนกับอุปกรณ์อีกหลายอย่างที่ต้องการการซ่อมแซม และต้องการอะไหล่ เมื่อสงครามจบ ญี่ปุ่นแพ้สงคราม อาวุธของญี่ปุ่นก็หมดสภาพไปกับเงื่อนไขสงคราม

แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง แต่ก็ตามมาด้วยสงครามเย็นซึ่งได้นำสิ่งที่ใหญ่ที่สุดมาให้โลก นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก

ในบริบทของสงครามเย็นจะเห็นโจทย์ใหญ่ที่สุดคือ ในวันที่ 25 มิ.ย.2493 มีสงครามเกาหลีเกิดขึ้น ถอยกลับไป 1 ต.ค.2492 จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ ฉะนั้น สงครามเย็นที่เกิดในยุโรปได้พัดเข้าสู่เอเชียอย่างเต็มที่ ภายใต้คลื่นลมสงครามเย็น เงื่อนไขทางการเมืองของไทยก็ได้เปลี่ยนไปเช่นกัน หลังการรัฐประหารในปี 2490 ซึ่งเป็นการพาทหารกลับสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสงครามเกาหลีเกิดขึ้น รัฐบาลไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ตอบรับข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ ผลักดันในเวที UN ขอชาติสมาชิกเข้าไปร่วมรบในสงครามเกาหลี

การเข้าร่วมสงครามเกาหลีของไทยได้นำไปสู่การปรับปรุงกองทัพครั้งใหญ่อีกครั้ง เพราะทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามตัดสินใจลงนามความตกลงทางการทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯ นำไปสู่การปรับปรุงกองทัพครั้งใหญ่ แต่ก็ยังเรียกไม่ได้ว่าเป็นการปฏิรูปกองทัพ เพราะสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปของกองทัพไทยมีเพียงเรื่องของเครื่องแบบตั้งแต่หัวจรดเท้า การรับอาวุธแบบได้เปล่าจากสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการปรับโครงสร้างกองทัพให้เป็นเหมือนกับกองทัพสหรัฐฯ แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสร้างกองทัพไทยให้เป็นแบบอเมริกัน และกลายเป็นกองทัพสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องอาวุธ

ทำไมถึงยังไม่เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการปฏิรูป

คำตอบคือ เวลาพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ ตัวแบบที่ต้องเปรียบเทียบคือการปฏิรูปในยุครัชกาลที่ 5 ซึ่งเราเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งขบวน แต่ครั้งนี้เป็นเพียงการเปลี่ยนอาวุธ เปลี่ยนหลักนิยม เปลี่ยนโครงสร้างในแง่การจัดหน่วยต่างๆ ให้เหมือนกองทัพอเมริกัน

“พูดให้ง่ายคือ เราเป็นกองทัพที่ถ่ายสำเนาขนาดเล็กของกองทัพอเมริกัน”

หลังจากสงครามเกาหลีจบลง ไทยก็เข้ารบในสงครามเวียดนามต่อ ขณะที่ภายในประเทศเองก็เกิดสงครามคอมมิวนิสต์ขึ้น ด้วยสภาวะที่เผชิญหน้ากับสงครามอย่างต่อเนื่องและยาวนานนี้เป็นเหตุให้การพูดถึงการปฏิรูปกองทัพเป็นไปไม่ได้ เพราะภายใต้ภาวะสงครามสิ่งที่ถูกคิดถึงมากที่สุดคือ การพัฒนาอาวุธและการรบ โดยหลังจากสงครามเวียดนามจบลง จากเดิมที่กองทัพไทยเคยได้รับอาวุธแบบได้เปล่าจากสหรัฐฯ บนเงื่อนไขที่ให้สหรัฐฯ ใช้ประโยชน์ในดินแดนไทยเป็นฐานทัพก็ไม่มีอาวุธได้เปล่าอีกต่อไป ทำให้กองทัพไทยก็เริ่มคิดซื้ออาวุธด้วยเงินงบประมาณของชาติอย่างจริงจังตั้งแต่นั้น

จากสงครามเวียดนามสู่สงครามกลางเมืองในกัมพูชา ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เริ่มซื้ออาวุธเข้ากองทัพ ด้านหนึ่งเกิดจากการแก้ไขกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่ห้ามสนับสนุนอาวุธให้ประเทศอื่นๆ โดยไม่คิดเงิน ประกอบกับสงครามที่ไทยกำลังเผชิญคือ กองทัพเวียดนามที่เป็นกองกำลังขนาดใหญ่อยู่ในกัมพูชา จึงทำให้ห้วงเวลานั้นมีแต่การพูดถึงการพัฒนาอาวุธให้ทันสมัยและพัฒนากองกำลังทหาร แล้วในที่สุดก็ทำให้การพัฒนาในลักษณะนี้เท่ากับการปฏิรูปกองทัพไปเสียอย่างนั้น

กระทั่งสงครามเย็นจบลง ความคิดเรื่องการปฏิรูปกองทัพของไทยก็ยังเดินไปไม่ไกลเกินกว่าคำว่า การทำให้กองทัพมีอาวุธที่ทันสมัย ในปี 2526 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้าน และเมื่อถึงปี 2532 สงครามคอมมิวนิสต์ก็จบในเวทีโลก กองทัพทั่วโลกมีทิศทางลดงบประมาณทหาร ลดกำลังพล และนำไปสู่เรื่องใหญ่มาก คือ การปรับโครงสร้างกองทัพ การสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์เท่ากับว่าอนาคตของสงครามขนาดใหญ่อย่างที่เคยเกิดจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว

กระแสปฏิรูปกองทัพ เป็นได้แค่ข้อเสนอในกระดาษ

กระแสการปฏิรูปกองทัพที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้นได้เข้ามาในประเทศไทยเช่นกัน แต่เข้ามาได้เพียงในแวดวงวิชาการ และวงวิชาการทหารบางส่วน ที่ผ่านมาคนในกองทัพมีการพูดคุยถกเถียงกันเรื่องปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจังในหลายเรื่อง แต่ทุกครั้งเรื่องที่พูดคุยกันก็จะจบภายในห้องสัมมนา และกลายเป็นข้อเสนอบนแผ่นกระดาษที่ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด

“เรื่องที่ถกเถียงกันมานาน มีทั้งกรณีที่ภัยสงครามคอมมิวนิสต์หมดแล้ว โครงสร้างกองทัพ ขนาดกองทัพ ควรปรับเปลี่ยนไหม หรือกรณีของ กอ.รมน. ซึ่งเป็นตัวอย่างขององค์กรที่สร้างในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ เมื่อสงครามจบ หมดภารกิจแล้ว แนวคิดแบบฝรั่งก็จะต้องยุบไป เพื่อสร้างองค์กรใหม่รองรับสถานการณ์ใหม่ ภัยคุกคามใหม่ แต่เมื่อคิดแบบไทยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องยุบ กอ.รมน. แต่ปรับภารกิจของ กอ.รมน.เพื่อให้ยังคงอยู่ต่อไปในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ เราไม่พร้อมที่จะรื้อโครงสร้างเก่าทิ้งไป”

โดยสรุป หลังสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศตั้งแต่ปี 2526 เมื่อพิจารณากองทัพไทย ทั้งเชิงโครงสร้าง กำลังพล และภาพรวมด้านอื่น เรียกได้ว่า แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย กองทัพไทยยังคงสภาวะของการเป็นกองทัพในยุคสงครามเย็นไว้ ขณะที่ปัจจุบันนี้กำลังเกิดกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงระบบเกณฑ์ทหาร นำขบวนโดยพรรคอนาคตใหม่ ทั้งที่จริงแล้วหลายคนอาจไม่รู้ว่า เรื่องนี้มีการพูดกันในกองทัพมาเป็นสิบๆ ปีหลังจากสงครามเย็นจบเป็นต้นมา คนในกองทัพหลายคนต้องการให้มีระบบทหารอาสาแบบสมัครใจ แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

อุปสรรคสำคัญ วัฒนธรรมกองทัพ-วัฒนธรรมสังคมไทย

แล้วอะไรเป็นปัญหาใหญ่หรืออุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปกองทัพ

คำตอบคือ วัฒนธรรมของกองทัพและวัฒนธรรมของสังคมไทย รวมถึงความรู้ความเข้าใจเรื่องทหารในสังคมยังมีน้อย ไม่มีคนที่สนใจเรื่องทหารจริงๆ จังๆ และก่อนหน้านี้เราก็ไม่เคยมีพรรคการเมืองไหนที่หาเสียงด้วยนโยบายทางการทหาร หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีพรรคการเมืองไหนพูดถึงนโยบายด้านนี้เลย ปัจจุบันมีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอเรื่องนี้แต่ก็ยังไม่เห็นภาพใหญ่จริงๆ เมื่อเทียบกับการเมืองในโลกตะวันตก หรือดูการดีเบตของผู้สมัครประธานาธิบดีในสหรัฐฯ หนึ่งในคำถามที่ผู้ลงสมัครจะต้องตอบคือ นโยบายการป้องกันประเทศ เราไม่เห็นผู้นำไทยคนไหนพูดเรื่องนี้ในเวทีสาธารณะ และยังไม่เคยเห็นว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นในรัฐสภาอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างง่ายๆ จนถึงปัจจุบันงบของทหารไม่เคยถูกตัดโดยรัฐสภาไทย อาจจะมีเพียงครั้งหนึ่งแต่ก็ไปเพิ่มให้ในภายหลัง  

“สุดท้ายมันกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองไทยที่เราหลุดออกจากตัวเราเองไม่ได้ คือ กับดักรัฐประหาร และกับดักทหารกับการเมือง ผมคิดว่าสังคมไทยต้องยอมรับว่าปีกอนุรักษ์นิยมไทยยังชื่นชมทหาร และชื่นชมบทบาทของทหารในการเมือง นี่คือปีศาจใหญ่ที่ยังหลอกหลอนฝ่ายประชาธิปไตยในสังคมไทย และเป็นปัญหาที่เราแก้ไม่ตก ตราบที่ปีกอนุรักษ์นิยมรวมทั้งชนชั้นกลางยังเป็นกองเชียร์ที่เข้มแข็งที่สุดของทหารในการเมือง”  

หากเราคิดว่ากองทัพเป็นสถาบันในความหมายทางรัฐศาสตร์ การปฏิรูปกองทัพก็เป็นเรื่องใหญ่และมากไปกว่าเรื่องการซื้ออาวุธ เพราะอาวุธที่ทันสมัยไม่ใช่สัญลักษณ์ของการปฏิรูปกองทัพ การมีงบประมาณกระทรวงกลาโหมจำนวนมากก็ไม่ใช่การปฏิรูปกองทัพ การมีโครงสร้างองค์กรที่ดีก็ไม่ใช่การปฏิรูปกองทัพ

“หลักการที่ว่าจะให้พลเรือนเข้ามาควบคุมกองทัพ ถ้าพูดเรื่องนี้ปีกอนุรักษ์นิยมมักจะหัวเราะ แล้วบอกว่านี่คือการคิดแบบฝรั่ง เพราะไม่มีครั้งไหนที่กองทัพอยู่ภายรัฐบาลพลเรือน แต่หากคิดว่าในอนาคตประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย เราต้องพูดเรื่องนี้ และกองทัพต้องเข้าใจว่าตัวเองเป็นกลไกรัฐ กองทัพไม่ใช่รัฐ เพราะถ้าเมื่อใดกองทัพทำตัวเป็นรัฐ เมื่อนั้นการจะพูดเรื่องประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”

ท้ายที่สุด เมื่อดูเส้นทางของโลก ประเทศที่มีการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนนั้นเกิดขึ้นทั้งในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา หรือประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนซึ่งเรียกได้ว่า ‘พรรคคุมปืน’ ส่วนไทยเป็นประเทศโลกที่ 3 มีลักษณะครึ่งๆ กลางๆ กลายเป็นปล่อยให้ ‘ปืนคุมการเมือง’

ฉะนั้น การจะเดินไปถึงจุดที่สร้างคอนเซ็ปต์ว่าด้วยการควบคุมกองทัพโดยพลเรือนนั้นจึงต้องทำคู่ขนานไปกับการปฏิรูปการเมืองเพราะเป็นสิ่งที่ผูกโยงถึงกัน การปฏิรูปการเมืองจะสำเร็จได้ต้องปฏิรูปกองทัพ และจะปฎิรูปกองทัพได้ก็ต้องปฎิรูปการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท