บอล ธนวัฒน์ วงศ์ไชย หนึ่งในแกนนำจัดวิ่งไล่ลุงที่สวนรถไฟ กทม. ถูกหมายเรียกไป สน.บางซื่อ เหตุ จัดชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้ง นัดหมาย เจอกัน 20 ม.ค. ที่ สน. เวลา 13.00 น. -ขณะที่ "กมธ.กฎหมายฯ" เชิญ "จักรทิพย์" แจงมาตรฐานบังคับใช้ กม. กิจกรรม - รวมถึง "สมบัติ" อธิการ ม.วลัยลักษณ์ด้วย เหตุเบรค นศ.ใช้พื้นที่จัด
ธนวัฒน์ วงศ์ไชย
16 ม.ค. 2563 เฟสบุ๊คเพจ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย หนึ่งในแกนนำจัดงาน 'วิ่งไล่ลุง' ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) กรุงเทพฯ เมื่อ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา โพสท์ว่า ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ สน.บางซื่อ โดยระบุว่า
"บอลได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัว กรณีจัดงาน #วิ่งไล่ลุง โดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อน ขอยืนยันว่างานวิ่งได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องแจ้งการชุมนุม นี่คือการใช้ #กฎหมายแบบตู่ๆ กลั่นแกล้งคนเห็นต่าง
"อย่ายอมให้เขาใช้อำนาจตามอำเภอใจอีกต่อไป พบกันที่ สน.บางซื่อ วันจันทร์นี้ เวลา 13.00 น. ครับ"
ธนวัฒน์กล่าวกับประชาไทว่า หมายเรียกดังกล่าวไม่ทำให้กังวลกับนัดหมายวิ่งครั้งต่อไปในวันที่ 2 ก.พ. 63 ที่ จ.เชียงใหม่ แต่สิ่งที่กังวลคือแรงกดดันจากผู้มีอำนาจ
"ไม่กังวลครับ กิจกรรมที่เชียงใหม่ต้องเดินหน้าต่อไป และที่ได้คุยกับทีมงานก็ไม่มีใครกลัว เพียงแต่เรากังวลถึงสัญญาณจากผู้มีอำนาจ ที่ไม่ต้องการให้เราจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงอีก อาจทำให้เราไม่สามารถขอสถานที่ที่อยู่ในการดูแลของรัฐ หรือแม้แต่สถานที่ของเอกชนในการจัดกิจกรรมได้" ธนวัฒน์กล่าว
กิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง' เป็นการแสดงออกทางการเมืองภายใต้กิจกรรมงานกีฬาวิ่งที่จัดขึ้นในวันเดียวกัน เป็นกิจกรรมที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด แต่ทั้งก่อนจัด ระหว่างจัด และหลังจัดงาน ก็มีกรณีที่ผู้มีส่วนร่วมในการจัดงานถูกคุกคามแล้วหลายกรณี
ถูกปรับแล้ว 2 รายในภาคอีสาน หลังรับว่าเป็นผู้จัด 'วิ่งไล่ลุง' อีก 2 ยืนยันสู้คดี
เพจ 'วิ่งไล่ลุง' ระบุหลังงานวิ่งประชาชนส่วนหนึ่งถูกคุกคาม ดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ
นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ซัด จนท. มหา’ลัย ละเมิดสิทธิ หลังถูกนำข้อมูลส่วนตัวให้คนนอกดู
อนึ่ง ‘วิ่งไล่ลุง’ มีความน่าสนใจในฐานะที่ตำแหน่งแห่งหนของกิจกรรมอยู่สักแห่งระหว่างคำว่า ‘การรวมกลุ่ม’ กับ ‘การชุมนุมทางการเมือง’ ถ้าเป็นการชุมนุมทางการเมือง ก็จะต้องดำเนินการจดแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ อย่างไรก็ดี ในมาตรา 3 (3) ระบุว่า พ.ร.บ. ไม่บังคับใช้กับการชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา
กมธ.กฎหมายฯ เชิญ 'ผบ.ตร.-สมบัติ อธิการ ม.วลัยลักษณ์' แจง
ขณะที่รัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะ โฆษกกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน แถลงข่าวการประชุม กมธ. โดยตอนหนึ่งระบุว่า ก่อนนี้ในสภาผู้แทนราษฎรมีการยื่นญัตติขอตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้คำสั่ง ตาม ม.44 และประกาศคำสั่้ง คสช. ซึ่งผลคือญัตตินี้ตกไป แต่อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ.กฎหมายฯ จึงได้มีการประชุมและพิจารณากันจนมีมติตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตาม ม. 44 ตลอดจนประกาศและคำสั่งของคณะปฏิวัติอื่นๆ โดยตั้งเป็นคณะทำงาน เนื่องจากโควต้าการตั้งอนุฯ กมธ. นั้นเต็มแล้ว และเมื่อผลการศึกษาเป็นอย่างไรจะนำมาพิจารณาดำเนินการต่อไป
รังสิมันต์ กล่าวว่า อีกกรณีหนึ่งคือ กิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งจากการติดตามและรับทราบจากสื่อมวลชน ปรากฏว่ามีการคุกคามประชาชน นักศึกษาทั่วประเทศ ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น จ.นครพนม จ.บุรีรัมย์ จ.พะเยา จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่ง กมธ. กฎหมายฯ เห็นว่า เมื่อมีเหตุแบบนี้ จะต้องมีการสอบสวน ซักถาม ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถตามดูครอบคลุมทุกจังหวัดได้ จึงมีมติว่าจะเชิญมาสอบถามเรื่องนี้ใน 2 จังหวัด คือ จ.พะเยา กับ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกรณีที่นักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัย
"สำหรับบุคคลที่เราจะเชิญมาชี้แจงมีอยู่ 3 ท่าน คือ 1.พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด เป็นผู้กำหนดนโยบาย เพราะสิ่งหนึ่งที่ กมธ. สงสัยคือว่า ทำไมการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดจึงแตกต่างกัน เลยอยากเชิญท่านมาซักถาม 2.อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ มีข้อสงสัยว่า ทำไมนักศึกษาจึงไม่สามารถใช้สิทธิของตน ซึ่งเป็นเรื่องไม่กระทบกระเทือนความมั่นคง ในพื้นที่่มหาวิทยาลัยนั้นได้ และ 3. ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองพะเยา ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายสูงสุดในท้องที่นั้น กมธ.จะเชิญมาชี้แจงในการพิจารณาต่อไป" โฆษก กมธ.กฎหมายฯ กล่าว
แสดงความคิดเห็น