Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยากจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งยากจนใน “โอกาส”

ลองคิดดูว่า หากคุณเป็นผู้หญิงที่จบการศึกษาขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีลูกติดมาแล้วโดยที่หลายครั้งภาระการเลี้ยงดูลูกตกอยู่ที่แม่ฝ่ายเดียว คุณจะสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพอะไรได้บ้าง ที่ภายในขอบเขต “โอกาส” ที่คุณควรจะมีในเมืองไทย จะสามารถนำพาให้คุณสามารถเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่เฒ่า พร้อมทั้งส่งลูกเรียนได้ไปจนถึงฝั่งฝัน

โอกาสน้อย คุณภาพชีวิตต่ำ ระบบสวัสดิการรัฐก็ไม่เพียงพอที่จะมีอุดหนุนช่วยเหลือทั้งบุพการีและลูก

ผู้เขียนตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผู้หญิงเยอรมันจะรู้สึกอย่างไร หากสภาพสังคมเยอรมัน ทำให้แม่ลูกติดเคยมีสามีมาแล้ว มีโอกาสน้อยที่จะได้แต่งงานใหม่กับชายชาวเยอรมัน

ผู้หญิงเยอรมันจะพยายามหาสามีที่มาจากชาติที่มีระบบสวัสดิการและคุณภาพที่ดีกว่าหรือไม่ หากทุกวันนี้เยอรมันไม่มีระบบที่รัฐจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงเด็ก หรือระบบช่วยเหลือแม่ที่ต้องเลี้ยงลูก หรือเงินตกงาน หรือมีระบบเงินเกษียณและเงินช่วยคนชราที่พอจะจุนเจือคนชราได้อย่างแท้จริง?

ผู้หญิงเยอรมันจะยอมออกไปเสี่ยงโชคชะตาในประเทศอื่นหรือไม่ หากตนเองไร้ความเชื่อมั่นในโอกาสที่จะได้รับ ไม่ว่าจะในสถานะทางสังคม หรือทางเศรษฐกิจ

กลับกันถ้าหากบนหนทางชีวิตที่ผู้หญิงในไทย หากพวกเธอมีโอกาสและทางเลือกมากกว่านี้ หรือถ้าการทำงานในตลาดแรงงานไทยมีหลักประกันค่าแรงที่ไม่ทำให้พวกเธอชักหน้าไม่ถึงหลัง มีหนทางที่จะเติบโตสร้างชีวิตได้อย่างมั่นคง ผู้หญิงไทยเหล่านี้จะออกไปแสวงหาชีวิตที่เมืองนอกหรือไม่?

การมาอยู่เมืองนอก แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และสวยหรูอย่างที่ใครๆ คิด 

จริงอยู่ ที่เมื่อเราเข้ามาเป็นคนในระบบสวัสดิการของรัฐอย่างยุโรปแล้ว จะมากจะน้อย ชีวิตของเราจะมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง พูดอย่างตรงไปตรงมาคือ ระบบรัฐสวัสดิการในยุโรปคือระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ไม่มีใครต้อง “ยากจนทางโอกาส”
หมายความว่าขอเพียงคุณเป็นคนทำงาน มีสองมือ สองเท้า และสามารถทำงานทั่วไปในตลาดแรงงานไร้ฝีมือได้ คุณจะอยู่รอด

คำว่า “อยู่รอด” ในที่นี้ คือคุณจะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเงินเพียงพอ และสามารถเลี้ยงดูคนที่คุณรักได้ด้วย 
ที่จริงแล้ว จากสถิติที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานเยอรมันเอง พบว่าในปี 2560 จำนวนคู่ชีวิตที่แต่งงานกันในเยอรมัน ที่เป็นการแต่งงานกันระหว่างชาวเยอรมันด้วยกันเอง มีจำนวนถึง 85% และจากจำนวนประชากรที่เป็นชาวต่างชาติ (นับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2561) มีชาวต่างชาติอยู่ในเยอรมันจำนวนสิบล้านเก้าแสนคนกว่าคน (10,915,455)คน ในจำนวนนี้ ราวๆ 8 % เท่านั้น (831,915 คน)แต่งงานกับคนเยอรมัน ตัวเลขนี้นับรวมคู่ชีวิตเพศเดียวกันด้วย (*ข้อมูลเหล่านี้หาได้จาก เช่น Ausländerzentralregister (Central Register of Foreigners) และ Federal Office for Migration and Refugees (BAMF)หรือจากเว็บที่นำเสนอสถิติที่นำมาย่อยแล้วอย่าง destatis)

ราว 4 % ของชายและหญิงชาวเยอรมันแต่งงานกับคนต่างชาติ (ข้อมูลล่าสุดปี 2560) โดยผู้ชายชาวเยอรมันมีตัวเลขการแต่งงานกับหญิงชาวโปแลนด์ ตุรกีและรัสเซียสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในขณะที่หญิงชาวเยอรมันมีการแต่งงานกับชาวตุรกี ออสเตรีย และอิตาลีสูง 

ทั้งหมดทั้งปวง ตัวเลขไม่สามารถบอกกับเราได้เลยว่า คนเยอรมันทั้งชายและหญิงเหล่านี้ที่ได้แต่งงานกับชาวต่างชาติ ทำไปด้วยเหตุผลอะไร แน่นอนมีคนตั้งข้อสังเกตไปต่างๆ นาๆ เช่นจำนวนประชากรที่เข้ามาแต่งงานที่มาจากประเทศที่ยากจนกว่า มีสูงกว่าประเทศที่มีคุณภาพชีวิตพอๆ กับเยอรมัน ฯลฯ แต่นั่นก็ไม่ใช่การตั้งข้อสังเกตที่มีหลักฐานยืนยันเชื่อถือได้

ส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่าการแต่งงานเพียงเพราะเหตุผลที่เหนือไปกว่าความรักเป็นเรื่องที่ “รับได้” สาเหตุที่ผู้เขียนคิดเช่นนั้น เนื่องจากเหตุผลสองประการหลักๆ 

ประการแรก คือ เราต้องยอมรับให้ได้ว่า ในโลกใบนี้(และในชีวิตของผู้เขียนเองตั้งแต่เกิดมา) ก็มีการแต่งงานมากมาย ที่แน่นอนว่าเป็นไปและเกิดขึ้น บนพื้นฐานเรื่องอื่นที่นอกเหนือไปจากความรักแท้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานโดยประเพณี คลุมถุงชน ศาสนา ความเชื่อ ฐานะ หน้าตา ทั้งหมดนี้ในความเห็นของผู้เขียนเห็นว่า ถ้าเป็นไปด้วยความสมัครใจซึ่งทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันดี มีเจตนาถูกต้องตรงกันไม่มีใครฉ้อโกงหลอกลวงข้อเท็จจริง แท้จริงแล้วก็ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ระหว่างคนสองคน เหมือน “ความรัก” ฉันนั้น

ประการที่สอง คือ เมื่อมันเป็นเรื่องของความ “สมัครใจ” ของทั้งสองฝ่าย เหนือยิ่งไปกว่าเป็นเรื่องความรักแล้ว มันก็ยิ่งจะเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม มากกว่ารูปธรรมหรือจริยธรรมอีกด้วย 

หมายความว่าเราไม่สามารถที่จะนำจริยธรรมของตัวเองมาเป็นตราชั่งมาตรวัดว่า ควรจะทำอย่างไร 

เหมือนคบกันแบบไหนคือดี แบบไหนคือเลว

สิ่งที่น่าสนใจที่จะต้องตั้งคำถามมากยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือ “เมื่อสังคมเปลี่ยน” ผู้หญิงเหล่านี้ยังจะตัดสินใจที่จะออกมาแต่งงานกับชายชาวต่างชาติหรือไม่

ถ้าเมื่อไหร่ที่ ประเทศไทย เป็นประเทศที่ให้การรับรองค่าเลี้ยงดูบุตรให้กับพ่อแม่ประชาชนในประเทศแบบรายเดือน

ถ้าเมื่อไหร่ที่ ประเทศไทย เป็นประเทศที่บุพการีของพวกเราได้รับเงินช่วยเหลือจากการเกษียณหรือเมื่อเป็นคนชรา ในระดับที่พวกเขาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองบ้างในระดับหนึ่ง

ถ้าเมื่อไหร่ที่ ประเทศไทย มีค่าแรงขั้นต่ำที่สมเหตุสมผล แรงงานไร้ฝีมือในตลาดทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในโรงงานหรือร้านฟาสต์ฟู๊ด มีหลักประกันค่าแรงที่ไม่ทำให้พวกเธอชักหน้าไม่ถึงหลัง มีหนทางที่จะเติบโตสร้างชีวิตได้อย่างมั่นคง ไม่ตกอยู่ภายใต้ชีวิตที่ชักหน้าไม่ถึงหลังหรือต้องจำกัดจำเขี่ย ต้องลดคุณภาพชีวิตเพื่อความอยู่รอด

ถ้าเมื่อไหร่ที่ ประเทศไทย มี“โอกาส” และ “ความมั่นคง” ให้พวกเธอมากกว่านี้

ผู้หญิงเหล่านี้ จะตัดสินใจเดินทางออกมาไปยังจุดหมายที่ไกลบ้านไกลครอบครัว เพื่อมาอยู่ในบ้านเมืองที่มีคุณภาพชีวิตเทียบเท่ากับประเทศบ้านเกิด โดยที่ภาษาและวัฒนธรรมก็แตกต่างและไม่ใกล้เคียงกับประเทศบ้านเกิด ด้วยเหตุผลใดบ้าง?

การแต่งงานเพื่อย้ายถิ่นฐาน หรือการแต่งงานที่นำไปสู่การย้านถิ่นฐานนั้น ผู้เขียนมองว่านอกจากกรณีที่เป็นเรื่องของ mobilityในโลกสมัยใหม่แล้ว ในหลายกรณีก็อยู่ในขอบเขตของ economic migration ซึ่งเป็นไปเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อโอกาสที่มากกว่า เพื่อความอยู่รอด สถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะแค่ในไทย ถ้าเราลองมองสังเกตดู ก็มีประเทศเช่นรัสเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาตินอเมริกา ฯลฯ อีกมากมาย ที่เราจะเห็นประชาชนเหล่านั้น ย้ายถิ่นฐานออกมาตั้งรกรากที่ประเทศอื่น ผ่านการ “แต่งงาน”

เรื่องราวเหล่านี้ มีปัจจัยและประเด็นหลากหลายที่ละเอียดซับซ้อน จนไม่สามารถที่จะสรุปได้ด้วยการเหมารวม เช่นว่า ความขี้เกียจของ
ประชาชนจำนวนหนึ่ง เป็นสาเหตุที่ผู้คนตัดสินใจที่จะไปแต่งงานเมืองนอก ภายใต้ความเชื่อที่ว่าชีวิตเมืองนอกนั้นสวยหรู เป็นการเลื่อนฐานะที่ง่ายและสะดวกสบาย

การจะหาคำตอบของประเด็นเหล่านั้น เราอาจจะหาไม่ได้จากการตั้งข้อสรุปที่เป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรมเพียงอย่างเดียว

สำหรับเรื่องวาทกรรมหญิงอีสาน เราอาจจะต้องตั้งคำถามเริ่มต้นก่อนว่า ผู้คน “แต่งงาน” เพราะอะไร และแต่ละคน “แต่งงาน” ด้วยเหตุผลและปัจจัยเดียวกันทุกคนเลยหรือไม่

คงต้องตั้งคำถามให้ถูกต้อง และพยายามมองมันผ่านหลายๆ มุมมอง 

และไม่ใช้ “คุณความดี” ส่วนตัวซึ่งเป็นนามธรรมมาตัดสินมันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เราถึงจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้และสร้างความเห็นของตัวเองได้อย่างถ่องแท้


 

เกี่ยวกับผู้เขียน: กุณฑิกา นุตจรัส เคยเป็นทนายความในประเทศไทย ปัจจุบันทำงานในองค์กรที่ช่วยเหลือเหยื่อที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวในเยอรมนี
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net