Skip to main content
sharethis

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปชี้หลังคณะกรรมาธิการยุโรปยกเลิกสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กัมพูชา หวั่นกระทบส่งออกไทย เพราะทุนไทยส่งออกจากฐานการผลิตในกัมพูชามูลค่าประมาณปีละ 3,000-5,000 ล้านบาท


ที่มาภาพประกอบ: US Embassy in Cambodia

16 ก.พ. 2563 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประเมินผลกระทบคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ยกเลิกสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กัมพูชาหวั่นกระทบส่งออกไทยผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่มห่ม แฟชั่น รองเท้า กระเป๋าเดินทางและสินค้าเกี่ยวกับการเดินทาง กระทบการค้าชายแดนไทยกัมพูชาเล็กน้อย ขณะที่กลุ่มทุนไทยที่ลงทุนในเขมรกระทบในบางธุรกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น กลุ่มผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยที่เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในกัมพูชา มีอยู่ 6 บริษัทใหญ่ ได้แก่ กลุ่มไนท์ แอพพาเรล, ฮงเส็งการทอ, ลิเบอร์ตี้, เอสพีบราเดอร์, ทีเคการ์เมนต์ และกลุ่มไฮเทค ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป-เสื้อกีฬาและชุดชั้นใน โดยมีการส่งออกจากฐานการผลิตในกัมพูชา มูลค่าประมาณปีละ 3,000-5,000 ล้านบาท 

แต่บางบริษัทได้ลดกำลังการผลิตในกัมพูชาและกระจายฐานการผลิตในเวียดนามเพิ่มขึ้น บางส่วนอาจย้ายกลับมาอยู่ที่ EEC โดยเฉพาะสินค้าที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนรวม ส่วนกลุ่มทุนโรงสีและส่งออกข้าวหรือสินค้าเกษตรอื่นของไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาไม่กระทบมากนักจากจีนได้ขยายโควต้าการนำเข้าข้าวจากกัมพูชาจาก 300,000 ตันเป็น 400,000 ตันแล้ว การย้ายฐานการลงทุนเข้า EEC เพิ่มขึ้นหากไทยมีมาตรการเชิงรุกในการชักชวนกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการตัดจีเอสพีในกัมพูชาและไทยเร่งเปิดการเจรจาเอฟทีเอกับอียู คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ได้มีมติเมื่อ 12 ก.พ. 2563 ว่าจะยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าวของกัมพูชา รวมถึงสิทธิในการส่งออกสินค้ามายังอียูโดยไม่จำกัดโควตา โดยมีผลในวันที่ 12 ส.ค.นี้ หากไม่มีการคัดค้านจากรัฐสภายุโรป นับเป็นส่วนหนึ่งของการกดดันทางการค้าเพื่อให้รัฐบาลกัมพูชาปฏิบัติตามข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน สถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขมรยังไม่ดีขึ้นนักโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ถูกลิดรอนสิทธิ รวมถึงการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองจากทางการกัมพูชา ส่งผลให้อียูใช้ข้ออ้างนี้ในการยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าเพื่อกดดันให้รัฐบาลกัมพูชาปรับปรุงมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน การนำเอาประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนมาเกี่ยวกับกับการค้าอาจมีเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าและการปกป้องตลาดภายในของอียูเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย 

ส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาพบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นแหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกัมพูชา และสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมให้กับประเทศราว 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21,000 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2561-2562 สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าสิ่งทอโดยมีมูลค่าการส่งออกถึง 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบต่อสินค้าบางประเภทที่กัมพูชาส่งออกไปยังอียู ได้แก่ น้ำตาล สินค้าสำหรับการเดินทาง รองเท้า และเสื้อผ้าสิ่งทอ คิดเป็นมูลค่าถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี หรือราว 20% ของสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังอียูทั้งหมดมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี

นอกจากนี้ยังมีประเด็นความคืบหน้าสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีไทย ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่ามีแนวโน้มที่สหรัฐอเมริกาโดยสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จะตัดสิทธิจีเอสพีไทยในเดือน มี.ค. นี้แน่นอนตามที่ได้เคยประกาศเอาไว้ เนื่องจากทางฑูตพาณิชย์ไทยพยายามติดต่อเพื่อขอเจรจาหารือในเรื่องดังกล่าวหลายครั้งแต่ถ้าสหรัฐฯ ไม่ได้เปิดช่องให้มีการเจรจาแต่อย่างใด คาดว่าภาษีที่สินค้าส่งออกไทยจะต้องจ่ายเพิ่มอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 5% สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทยว่าจะกระทบกับกลุ่มธุรกิจส่งออกที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในสัดส่วนที่สูงและจำนวนไม่น้อยจะเป็นกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางหรือ SME ค่อนข้างมาก เกษตรกรและชาวประมงจะได้รับผลกระทบไปด้วย สินค้าครอบคลุมมากถึง 573 รายการตั้งแต่อาหารทะเลหลากชนิด ผักผลไม้ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักผลไม้ เมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์เครื่องครัว ไม้อัด ไม้แปรรูป เหล็กแผ่น สแตนเลส ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับ จามชาม เป็นต้น สินค้าเหล่านี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์หรือ ราว 39,650 ล้านบาท อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลกลุ่มเกษตรกรและ SME ส่งออกสินค้าเกษตรมาเป็นพิเศษ เพราะขณะนี้ยังได้รับผลกระทบจากล้งจีนได้เข้ามาทำสัญญาเหมาสวนทุเรียนราคา 150-160 บาท/กก. โดยขอลดราคาลง 20-30 บาท/กก. ลงมาเหลือ 120-130 บาท/กก. ให้ราคาเป็นไปตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลงของจีน นอกจากนี้ ผลไม้ส่งออกอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบ รวมทั้งกุ้งและรังนกส่งออกไปจีนด้วย 

การตัดสิทธิจีเอสพีครั้งนี้อ้างเรื่องสิทธิและสวัสดิการแรงงานของไทยยังไม่ได้มาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม มีบริษัทไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯจำนวนไม่น้อยไม่ได้ใช้สิทธิจีเอสพีและสามารถแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ ทางการควรนำบริษัทเหล่านี้มาเป็นต้นแบบเพื่อให้บริษัทต่างๆ ที่ยังคงใช้สิทธิจีเอสพีอยู่ได้ยกระดับตัวเองให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น ฉะนั้นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิตในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ส่วนรัฐบาลต้องเดินหน้าเจรจาการเปิดตลาดและทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกาและสหรัฐอเมริกา แนวทางในการรับมือความท้าทายต้องมุ่งไปที่ตลาดเม็กซิโกและแคนาดาเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ USMCA 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net