ประมวลโควิด-19 รอบวัน ครม. ออกมติแก้ปัญหา-รอรับแรงงานจากต่างชาติ

ประมวลสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รอบวัน สาธารณสุขออกคำแนะนำ เลี่ยงเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากแล้วไปหาหมอถ้ามีไข้ เจ็บคอ ทางเดินหายใจมีปัญหา ครม. งัดงบกลาง ออกมาตรการแก้ปัญหาหลายด้าน กระทรวงต่างประเทศ-แรงงาน เตรียมรับมือแรงงานกลับจากเกาหลีใต้

3 มี.ค. 2563 ประมวลสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รอบวัน ในภาพกว้าง ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันนี้ เวลา 17.16 น. ในระดับโลกมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 91,313 คน มีผู้เสียชีวิต 3,118 คน รักษาหายแล้ว 48,115 คน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ 43 ราย เสียชีวิต 1 ราย และรักษาหายแล้ว 31 ราย 

ศูนย์ข่าวกระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำให้ประชาชนดังนี้

  1. ประชาชนที่มีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ๆ มีการรายงานว่าพบผู้ป่วย หลังเดินทางกลับไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีไข้ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก ไอ เสมหะ หายใจเร็ว หอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
  2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ให้เลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด หากจำเป็นต้องเดินทางไป ขอให้เลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย เลี่ยงไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัส หรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วยหรือตาย
  3. ให้ประชาชนทั่วไปดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงอากาศแปรปรวน ให้กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากป้องกันโรคเวลาไอ จาม เลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ

ทำเนียบรัฐบาล: ครม. ออกมาตรการด่วนแก้ปัญหาโควิด-19

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แถลงสั้นๆ พร้อมแจกเอกสารมาตรการเร่งด่วนและบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้อง โดยเอกสารย้ำให้ส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ให้ระงับหรือเลื่อนการดูงาน หรืออบรมในประเทศ

ให้ผู้เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง สังเกตอาการที่บ้าน และทำงานที่บ้านพัก 14 วันโดยไม่ถือเป็นวันลา ให้ ก.พ. ทำหลักเกณฑ์ในการทำงานที่บ้าน ส่วนประชาชนที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคัดกรองอย่างเคร่งครัด ให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อพูรณาการข้อมูลจากส่วนราชการและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน

ให้กระทรวงพาณิชย์ สาธารณสุข และอุตสาหกรรม พิจารณาความต้องการของสินค้าที่จำเป็นทั้งหน้ากากอนามัย น้ำยา เจลฆ่าเชื้อ ให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมการป้องกันการกักตุน ให้ครอบคลุมถึงการขายสินค้าออนไลน์

ให้กระทรวงคมนาคมและมหาดไทย เพิ่มมาตรการคัดกรองผู้โดยสารตามสถานีขนส่งทุกชนิดทั้งทางบก น้ำ อากาศอย่างเคร่งครัด ให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานติดตามดูแลคนไทยที่พำนักในประเทศที่มีการแพร่ระบาดและประเทศเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด (ที่มา: สำนักข่าวไทย)

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. เห็นชอบ "โครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา" โดยใช้งบกลาง วงเงิน 225 ล้านบาท เพื่อผลิตหน้ากากผ้าแจกประชาชน ให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแทนหน้ากากอนามัย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ประชาชนผู้ผ่านการอบรมจากเจ้านหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผลิตตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายผลิตจำนวน 50 ล้านชิ้น ต้นทุนชิ้นละ 4.50 บาท โดยหน้ากากผ้าได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขว่าสำหรับคนปกติ เพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สำคัญต้องทำควบคู่กับการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

ในส่วนการจัดสรรหน้ากากอนามัย รัชดากล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้สำรวจกำลังการผลิต 11 โรงงานทั่วประเทศ หากทำเต็มกำลังการผลิต 7 วัน จะผลิตได้ประมาณ 38 ล้านชิ้นต่อเดือน  โดยจะจัดให้มีศูนย์กระจายหน้ากาก ประกอบด้วยคณะทำงานจากกรมการค้าภายใน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม ผู้แทนโรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ประสานข้อมูลเพื่อจัดสรรโควตาไปให้สถานพยาบาล ร้านขายยา ร้านค้าปลีกทั่วประเทศ (ที่มา: มติชน)

กระทรวงสาธารณสุข: คำแนะนำการแยกสังเกตอาการที่บ้าน

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว. กระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย กรณีไวรัสโควิด-19 พ.ศ. 2563 กำหนดให้ 9 ประเทศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า) ไต้หวัน ฝรั่งเศส สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน โดยระบุว่าทุกคนที่เดินทางมาจาก 9 ประเทศนี้ ต้องกักตัว 14 วันโดยไม่มีข้อยกเว้น (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ)

ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันเดียวกันนี้ มติชนรายงานว่า มีการเผยแพร่เอกสารคำแนะนำสหรับการแยกเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัย กรณีการเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีรายละเอียด ดังนี้

1. การปฏิบัติตัวระหว่างสังเกตอาการที่บ้าน ที่พัก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยให้หยุดไปเรียน ไปทำงาน เข้าร่วมกิจกรรมของสถานที่ที่มีการรวมคนจำนวนมาก ผู้เดินทางกลับควรนอนแยกห้อง ไม่ออกไปนอกบ้าน ไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันเดินทางกลับจากพื้นที่ระบาด การรับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น อาจรับประทานอาหารร่วมกันได้แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ไม่ใช้ของส่วนตัว ร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อยร้อยละ 60

สวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากคนอื่นในบ้านประมาณ 1-2 เมตร หรืออย่างน้อยประมาณ 1 ช่วงแขน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ การทิ้งหน้ากากอนามัยใช้วิธีใส่ถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ทันที ปิดปากจมูกด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอ จาม ทิ้งทิชชู่ลงในถุงพลาสติกและปิดปากถุงให้สนิทก่อนทิ้ง หรือใช้แขนเสื้อปิดปากจมูกเมื่อไอหรือจาม และทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือน้ำและสบู่ทันที ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางกลับพัก เช่น เตียง โต๊ะ บริเวณของใช้รอบๆ ตัว รวมถึงห้องน้ำด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรท์ ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียงผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 70-90 องศาเซลเซียส

2. วิธีการสังเกตอาการ ณ ที่พักอาศัยและแนวทางปฏิบัติเมื่อมีอาการป่วย กรณีที่มีหอพักและเจ้าหน้าที่ควรจัดให้มีจุดคัดกรองอุณหภูมิด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิแบบมือถือที่หน้าหอพัก ในผู้ที่เดินทางเข้าออกหอพักทุกคน ให้ผู้เดินทางสังเกตอาการไข้และอาการระบบทางเดินหายใจ แนะนำให้วัดอุณหภูมิร่างกายทุกวันเช้าและเย็น อาการระบบทางเดินหายใจได้แก่ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก หากพบอาการป่วยข้อใดข้อหนึ่งให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง โดยขณะเดินทางมาโรงพยาบาลโดยรถยนต์ส่วนตัวให้เปิดหน้าต่างรถยนต์ไว้เสมอ

3. การปฏิบัติตัวของผู้อยู่อาศัยร่วมบ้านและการทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อมในบ้าน ทุกคนในบ้านควรล้างมือบ่อยครั้งที่สุดเพื่อลดการรับและแพร่เชื้อ โดยใช้น้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที กรณีไม่มีน้ำและสบู่ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ เฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยของผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือสมาชิกในบ้าน ภายในระยะเวลา 14 วันหลังสัมผัสผู้ป่วย ควรนอนแยกห้องกับผู้เดินทางกลับ อาจรับประทานอาหารรวมกันได้ แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้เดินทางกลับ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดในระยะ 1 เมตร ทำความสะอาดบริเวณที่ผู้เดินทางกลับพัก ด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% โซเดียมไฮโปคลอไรด์ ทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ด้วยสบู่หรือผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิ 70-90 องศาเซลเซียส หากมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดห้องพัก ของผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาด เช่น แม่บ้านควรใส่ชุดป้องกันร่างกาย ได้แก่ หน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม แว่นตากันลม ถุงมือยาว รองเท้าบูท และผ้ากันเปื้อนพลาสติก

    แรงงาน: ภาครัฐเตรียมมาตรการรองรับแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้

    หนึ่งในข้อกังวลในวันนี้คือกระแสการเดินทางกลับของแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศจีน (5,186 ราย เสียชีวิต 30 คน ข้อมูลเมื่อ 3 มี.ค. 63 เวลา 17.16 น.) โดยมีศูนย์กลางการแพร่ระบาดอยู่ที่เมืองแดกู โดยในสังคมออนไลน์มีการติดแฮชแท็ก #ผีน้อย ที่หมายถึงแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีเป็นจำนวนมากที่อาจมีการเดินทางเข้าประเทศไทยแบบที่รัฐไม่มีข้อมูล

    โดยมาตรการของเกาหลีใต้นั้น ทางการมีมาตรการให้ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่เกินวีซ่า แสดงความสมัครใจให้ออกนอกประเทศได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ และไม่มีโทษห้ามกลับเข้าเกาหลีใต้ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล สอบถามสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 62 - 1 มี.ค. 63 มีคนไทยไปรายงานตัวแสดงความประสงค์กลับประเทศไทยกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีแล้วกว่า 5 พันคน มีคนไทยรายงานที่นครแดกูรายงานตัว 136 คน

    ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า คนไทยที่อยู่ในเกาหลีใต้นั้น ส่วนที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายมีประมาณ 3 หมื่นคน ทำให้มีข้อมูลรู้ได้ว่าใครเป็นใคร แต่ส่วนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นไม่มีการรายงานตัวใดๆ ทำให้ไม่มีข้อมูล ผุ้ลงทะเบียนดังกล่าวตอนนี้มีลักษณะต่างคนต่างกลับเอง ดังนั้น คนเหล่านี้ต้องแสดงตัวว่าเพิ่งกลับจากเกาหลีใต้ มิฉะนั้นอาจไม่เป็นผลดีต่อครอบครัว ญาติ หรือคนอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน

    เชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าสำหรับคนไทยที่เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว จะต้องผ่านมาตรการคัดกรองของทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกักตัวเพื่อดูอาการเป็นระยะเวลา 14 วันตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

    หากคนไทยในเกาหลีใต้มีเหตุเร่งด่วน สามารถติดต่อฮอตไลน์สถานเอกอัครราชทูตฯ ที่หมายเลข +82-106747 0095 และติดตามข่าวและประกาศของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทางเพจเฟสบุ๊ค สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล Royal Thai Embassy, Seoul

    ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว. กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้มีการเตรียมมาตรการรองรับที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะมีด่านคัดกรองตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และให้เฝ้าระวังตนเองอย่างน้อย 14 วัน หากมีอาการไข้ ไอจาม น้ำมูก เจ็บคอ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

    กรมการจัดหางานได้จัดเตรียมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 81,562 อัตราเพื่อให้แรงงานที่ประสงค์หางานทำ ได้สมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพอิสระเมื่อกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

    สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า ได้แจ้งให้ชะลอการนำแรงงานไทยไปทำงานในงานอุตสาหกรรมออกไประยะหนึ่งก่อน แต่หากต้องเดินทางไปทำงาน ให้ห้ามรับประทานยาลดไข้ ยาแก้หวัดหรือยาชนิดอื่นก่อนเดินทาง

    ที่มา: ไทยรัฐ สำนักข่าวไทย มติชน

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
    Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
    Twitter : https://twitter.com/prachatai
    YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
    Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
    ข่าวรอบวัน
    สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

    ประชาไท