Skip to main content
sharethis

โฆษก ศบค. เผยกรณีเด็กหญิง 9 ขวบ ลูกสาวคณะทูตแอฟริกาและทหารอียิปต์ติดเชื้อโควิด-19 เป็นการเข้าไทยกรณีพิเศษ กล่าวโทษใครไม่ได้เพราะได้รับอนุญาต และไม่ใช่ข้อผิดพลาดอะไร พร้อมย้ำคุมเข้มกรณีลักลอบเข้าไทยสนธิกำลังทหารตำรวจตรวจตราไม่ปล่อยหลุด

13 ก.ค. 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้แถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย รวมมีผู้ป่วยยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 72 ราย สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้ง 3 รายมีดังนี้

1.ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศคูเวต 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 48 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงไทยเมื่อ 29 มิ.ย.เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อ 11 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ 

2.จากอียิปต์ 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี เดินทางถึงไทยเมื่อ 12 ก.ค. ผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์ PUI มีไข้ จึงได้ส่งตรวจหาเชื้อวันที่ 12 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ 

3.จากบาร์เรน 1 ราย เป็นชายไทย สัญชาติอียิปต์ อายุ 43 ปี อาชีพทหาร เดินทางถึงไทยเมื่อ 8 ก.ค. เข้าพัก State Quarantine ที่จังหวัดระยอง ตรวจหาเชื้อวันที่ 10 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ 12 ก.ค. แต่ไม่มีอาการ ส่วนอีก 30 รายเป็นลูกเรือที่เดินทางมาพร้อมกัน ยังไม่พบผลการติดเชื้อ

โฆษก ศบค. กล่าวถึง Timeline ของผู้ป่วยเพศชาย อายุ 43 ปี อาชีพทหาร (ลูกเรือเครื่องบินทหาร) จากประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ในวันที่ 6 ก.ค. เดินทางออกจากสนามบินไคโร ประเทศอียิปต์ ไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 7 ก.ค. เดินทางจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปปากีสถาน 8 ก.ค. เดินทางถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง 9 ก.ค. ออกจากโรงแรม จังหวัดระยองไปท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาเพื่อบินไปทำภารกิจทางทหารที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไป-กลับวันเดียวกัน กลับเข้าที่พักในโรงแรมจังหวัดระยอง 10 ก.ค. ได้มีทีมเจ้าหน้าที่ CDCU เข้าคัดกรองอาการของคณะเดินทางและลูกเรือ เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ จำนวน 31 ราย และในวันที่ 11 ก.ค. คณะเดินทางออกจากประเทศไทยกลับอียิปต์ ซึ่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ชัดเจน จึงตรวจซ้ำอีกครั้ง จนกระทั่งวันที่ 12 ก.ค. ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อ ซึ่งที่ประชุม ศบค. ชุดเล็กมีการหารือว่า ถึงแม้จะเป็นคนที่เป็นลูกเรือที่มาจากต่างชาติเข้ามายังประเทศไทย ในข้อกำหนดที่เป็นลักษณะเฉพาะขึ้นมา และขณะนี้มีการเปิดสายการบินหลายสาย เดิมใช้สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ในครั้งนี้ได้มาลงที่สนามบินอู่ตะเภา จึงทำให้มาตรการของการคุมเข้มในข้อดังกล่าวต้องมีการทบทวนและปฏิบัติกันใหม่ ซึ่งโรงแรมที่จังหวัดระยองแห่งนี้ถือเป็นสถานที่ที่สัมผัสกับผู้ที่พบเชื้อ ดังนั้น มาตรการการเข้าไปสอบสวนโรคจะต้องครอบคลุมโรงแรมนี้ทั้งหมด โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคได้รับข้อสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกมาตรการคุมเข้มเรื่องดังกล่าว เพื่อการตรวจสอบโดยละเอียด ถึงแม้ผู้ที่พบผลตรวจจะเดินทางกลับไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ทีมสอบสวนโรคจะเข้าไปสอบสวนโรคในพื้นที่สัมผัสที่ทางกลุ่มลูกเรือได้เดินทางไป อีกทั้งสำนักงานเขตสุขภาพจังหวัดระยองและทีมส่วนกลางจะเข้าไปร่วมสอบสวนโรคด้วย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่จังหวัดระยอง

นอกจากนี้ ยังมี Timeline ผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 9 ปี จากภูมิภาคแอฟริกา เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว (คณะทูต) โดยในวันที่ 7 ก.ค. มารดานำผู้ป่วยและครอบครัว รวม 5 คน ไปตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ผลตรวจทุกคนไม่พบเชื้อ เดินทางถึงไทยวันที่ 10 ก.ค. เวลา 05.40 น. คัดกรองไม่มีอาการ เก็บตัวอย่างส่งตรวจผลพบเชื้อ แต่บิดานำส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีการตรวจซ้ำ ผลพบเชื้อ สมาชิกที่เหลือกักกันในที่พำนักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และในวันที่ 11 ก.ค. ผลตรวจพบปอดอักเสบ จึงส่งต่อผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งรายดังกล่าวอยู่ในประเภทที่ 3 คือ คณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศที่มาปฏิบัติงานที่ประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ในมาตรการข้อ 4 ให้เข้ารับการกักกันในที่พำนักของบุคคลดังกล่าว ภายใต้การดูแลของหน่วยงานต้นสังกัดเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน ซึ่งรัฐต้องกำหนดมาตรการโดยละเอียดและครอบคลุมเพราะเป็นความเสี่ยง

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า กรณีทหารชาวอียิปต์และเด็กหญิงที่เป็นสมาชิกครอบครัวคณะทูตถือเป็นข้อยกเว้นของ ศบค. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่กล่าวโทษใครเพราะเขาได้รับอนุญาต ไม่ใช่ข้อผิดพลาดอะไร ชุดข้อมูลนี้เราจะนำไปปรับปรุงวิธีการทำงานปิดจุดอ่อนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

โฆษก ศบค. ชี้แจงถึงกรณีกลุ่มนักธุรกิจชาวปากีสถานจำนวน 27 ราย เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย โดยทั้งหมดมีเอกสารรับรองการเดินทางครบถ้วน และผ่านการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนเดินทางขึ้นเครื่องบิน แต่ยังมีนักธุรกิจอีก 8 ราย ที่ขาดเอกสารจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม โฆษก ศบค. ยืนยันว่าไม่ใช่การลักลอบหรือหลบหนีเข้าประเทศ แต่เป็นเพียงความล่าช้าของชุดข้อมูลและการประสานงาน

สำหรับกรณีชาวต่างชาติที่หลบหนีเข้าสู่ประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดน โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้เข้มงวดในการเฝ้าระวัง หากพบผู้ป่วยติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองจะมีการกักกันตัวและผลักดันออกไป พร้อมมีการสนธิกำลังระหว่างตำรวจและทหารในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อกีดกันไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศ

เรียบเรียงจาก: ศูนย์ข่าวโควิด-19 , โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net