ตัวแทนนักศึกษา 45 สถาบันเสนอยกเลิกบทเฉพาะกาล ล้มนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร ย้ำคนผิดต้องรับโทษ

แฟ้มภาพการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

13 มี.ค. 2563 ที่รัฐสภา ตัวแทนนักศึกษาหลายสถาบันซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมแฟลชม็อบรวม 45 มหาวิทยาลัย ได้เข้าแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฏร โดยมีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานกมธ. เป็นประธาน

ไทยโพสต์ออนไลน์ รายงานว่า พีระพันธุ์ กล่าวเปิดเวทีว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่คำนึงถึงแต่ตัวเอง การที่คิดว่ามีสิทธิเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้นั้น ถือว่าไม่ใช่ เพราะความจริงต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เนื่องจากคนอื่นก็มีสิทธิเหมือนเรา ถ้าเราไม่คำนึงสังคมก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น หัวใจรัฐธรรมนูญ คือหมวดที่ด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และหมวดว่าด้วยการบริหารประเทศ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ส.ส ส.ว. และองค์กรอิสระ

พีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า สมัยยังเป็นักศึกษาปริญญาโทที่สหรัฐ ชาวอเมริกากันมักอ้างรัฐธรรมนูญเสมอ บางคนเถียงกับพนักงานในร้านสะดวกซื้อว่าทำไมไม่ติดป้ายว่าระวังลื่น โดยอ้างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีหน้าที่ดูแลสังคม  ที่ชาวอเมริกันรักรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง คนอเมริกันถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายของเขา ไม่ได้เป็นของนักการเมือง ดังนั้น หากเราทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือคุ้มครองไม่ใช่เฉพาะการเมือง แต่คุ้มครองชีวิต  จะทำให้ประชาชนรู้สึกหวงแหนและผูกพันธ์กับรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญมีสองส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน คือ เรื่องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และเรื่องสิทธิในการบริหารประเทศ ดังนั้น ทางกมธ.จึงได้หารือว่าต้องทำรัฐธรรมนูญไม่ให้เป็นของฝ่ายการเมืองหรือคู่มือของฝ่ายการเมือง การที่เราจะทำแบบนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงได้ตั้งคณะอนุกมธ.รับฟังขึ้นมา มอบหมายให้วัฒนา เมืองสุข ไปรับฟังทุกกลุ่มตามระยะเวลาที่กมธ.มีอยู่ หนึ่งในกลุ่มที่สำคัญ คือ กลุ่มนักศึกษา ซึ่งท่านจะบอกว่าเป็นเด็กไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นวัยที่กำลังเติบโต” พีระพันธุ์ กล่าว

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น โดยบุญเกื้อหนุน เป้าทอง ภาคีนักศึกษาศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเราไม่ได้เลือกมา เราไม่มีปากเสียงอะไรเลย ต่อมาเมื่อมีการทำประชามติก็ไม่ให้เราออกมาส่งเสียงว่าทำไมจึงไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งยังใช้อำนาจรัฐทุกช่องทางในการปิดเสียงคนเห็นต่าง ซึ่งนักศึกษาที่มาวันนี้ไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นตัวแทนนักศึกษาทั้งหมด ดังนั้น ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากที่สุด ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้กมธ.เปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม เราให้คำมั่นสัญญาว่าหากทุกคนเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากพวกเราอย่างแท้จริง ขอให้ยื่นมือออกมา พวกเราพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

วิริยะ ก้องศิริ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นที่อยากเรียกร้อง คือ 1.เรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ห้อยท้ายว่า “เว้นแต่มีกฏหมายความมั่นคงของรัฐ” ตนจึงขอเสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่ากฏหมายเหล่านี้ควรตีความอย่างไร ดังนั้น กฏหมายใดที่สามารถเข้ามาใช้กำกับสิทธิเหล่านี้ของประชาชนได้ ไม่ใช่อ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐและความเป็นคุณกับรัฐบาล 2.ขอเสนอให้แก้มาตรา 91 ว่าด้วยวิธีการคำนวนส.ส. เรื่องนี้ข้อดีคือจะทำให้พรรคใหญ่ไม่มีเสียงที่มากจนเกินไป และให้พรรคเล็กได้มีพื้นที่ แต่หากพรรคการเมืองที่มีเสียงน้อยเกินไป ไม่มีระบบการจัดการจะไม่สามารถสะท้อนเจตนารมของพี่น้องได้อย่างแท้จริง 3.ควรแก้ไขมาตรา 159 ว่าด้วยที่มานายกรัฐมนตรี โดยนายกฯควรมาจากส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา

วิริยะ กล่าวอีกว่า 4.ควรแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และเลือกกันมาเอง มีที่มาไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญกลับกำหนดให้ต้องใช้เสียงส.ว. จึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ตรงนี้เป็นเสมือนกุญแจล็อคประเทศให้นิ่งอยู่กับที่ 5.องค์กรเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยองค์กรตุลาการถือเป็นศาลสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม แต่วันนี้ไม่มีใครสามารถตรวจสอบองค์กรยุติธรรมได้เลย เพราะผู้บริหารศาลไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จึงขอเสนอให้คนที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารศาลต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏร โดยใช้เสียงรับรอง 3 ใน4 เพื่อความชอบธรรมและประชาธิปไตย และ 6.องค์กรอิสระ ตามมาตรา 230 และมาตรา 247 วันนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก แต่ไม่มีอำนาจใดในการตัดสิน ทุกเรื่องจะถูกเขียนส่งไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีอำนาจในการฟ้องศาล กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนำเรื่องนี้ออกไป และทำให้เรื่องเหล่านี้กองอยู่ที่กสม.โดยไม่ได้รับการแก้ไข

“ทางออกที่ดีที่สุด สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ใช้รูปแบบรัฐธรรมนูญ ปี 40 โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่าง เพราะรัฐธรรมนูญที่ไม่ดีย่อมทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ดี การมีรัฐธรรมนูญที่ดีจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้” วิริยะ กล่าว

พร้อมสิน บุญจันทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคีนักศึกามหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า วันนี้ขอถามว่าเรียกพวกเราไม่กี่คนมาทำอะไร เพราะเวลาในการจัดเวทีครั้งนี้เพียงครึ่งวันในการรับฟังปัญหาและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าเวลาไม่เพียงพอและวิธีการนี้ไม่ได้ผล ที่ผ่านมาเรามีการจัดแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัย เพื่อให้กมธ.ได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นตามที่นักศึกษาเสนอ เพราะตัวแทนนักศึกษาไม่กี่คนที่มานั่งอยู่ในห้องนี้ช่วยอะไรพวกท่านไม่ได้ เราเสนอความเห็นอะไรไม่ได้ เพราะไม่สามารถพูดได้ว่าพวกเราเป็นตัวแทนนักศึกษานับแสนคนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตา มาตรา 44 ได้ให้สิทธิสามารถชุมนุมไว้ แต่ก็มีการเข้ามาห้ามโดยอ้างเรื่องความมั่นคง จึงอยากถามว่าความมั่นคงนี้เป็นของใคร ประเทศชาติ ประชาชน หรือความมั่นคงของอดีตคสช. วันนี้เราจึงขอเชิญพวกท่านลงไปรับฟังความคิดเห็นที่มหาวิทยาลัย ไม่ต้องกลัวโควิด-19 พวกเราเตรียมความป้องกันไวรัสไว้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษายังได้เรียกร้องให้ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตราสุดท้ายที่นิรโทษกรรมให้กับการรัฐประหารของคสช. เพราะเห็นว่าคนที่ทำการรัฐประหารควรได้รับการลงโทษ อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองหน้ากระดาษในการเขียนรับรองเรื่องนี้ไว้

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากนั้นทางกลุ่มนักศึกษ 45 สถาบัน ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ระบุว่า การเชิญตัวแทนนักศึกษามาแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้ ไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษาได้อย่างแท้จริง เพราะกลุ่มนักศึกษาที่มาในวันนี้ไม่สามารถพูดได้ว่า ตัวเองเป็นกระบอกเสียงของนักศึกษาทั่วประเทศไทย แต่เป็นเพียงกลุ่มคนที่มารวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็นในลักษณะหนึ่งเท่านั้น เพื่อเป็นพาหนะให้กับคนที่มีความเห็นเหมือนกันคือ ต้องการเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตย โดยการจะไปถึงจุดหมายนั้นได้ จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าต้องมีการเปิดพื้นที่สาธารณะให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากที่สุด โดย กมธ. จะต้งลงพื้นที่รับฟังความเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา อย่างทั่วถึง เชื่อว่า กมธ. จะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท