Skip to main content
sharethis

ทบทวน 8 ปรากฏการณ์ 1 ปีหลังเลือกตั้งปี62 ประการที่ 1.ฝ่ายต่อต้าน คสช.ชนะ แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล 2.เพราะ ส.ว.ตั้งเองเป็นเองและเลือกกันเอง 250 เสียงไม่แตกแถว 3.สองพรรคใหม่แจ้งเกิด 4.ปชป.เสียงใน กทม.หาย ภาคใต้หด 5.ดับอนาคตใหม่ 6. งูเห่า 7. อภินิหาร 3.5 หมื่นได้ ส.ส.-เลือกตั้งซ่อมพลังประชารัฐ-ปชป.ไม่ชนะ แต่ได้ ส.ส.ปัดเศษเพิ่ม 8.'ไพบูลย์'เลิกพรรคตัวเอง หอบคะแนนไปเป็น ส.ส.สังกัดพลังประชารัฐก็ได้

บรรยากาศในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2562 (แฟ้มภาพประชาไท)

ครบรอบ 1 ปี เลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และภายใต้บรรยากาศที่มีการควบคุมติดตามนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนได้ผลลัพธ์เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช.ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมปริ่มน้ำโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้มีชื่อและนามสกุลเดียวกับหัวหน้า คสช.และนายกฯจากการรัฐประหารก่อนหน้านั้น ในโอกาสนี้ขอชวนผู้อ่านมาทบทวนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง 

1. ฝ่ายต่อต้าน คสช. ชนะ แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล 

ฝ่ายประกาศตัวไม่เอาการสืบทอดอำนาจของทหารหรือ คสช. มีหลายพรรค เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทยและพรรคประชาชาติ กรณีที่ถ้ารวมพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ก็นับว่าชนะได้เสียงกว่า 23 ล้านเสียง แต่หากไม่รวม 2 พรรคหลังที่ภายหลังไปเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลโหวตให้ประยุทธ์ ก็จะเท่ากับ่าได้ 15 ล้านเสียงกว่า 

ขณะที่พรรคที่ประกาศชัดๆ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าชูประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อนั้น ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ได้เพียง 8.9 ล้านเสียง

2. เพราะ ส.ว. ตั้งเอง เป็นเอง และเลือกกันเอง 250 เสียง ไม่แตกแถว

ที่มาของ ส.ว. 250 มาจาก 1. มาโดยตำแหน่ง 6 คนจาก ผบ.เหล่าทัพต่างๆ 2. เลือกกันเองแล้วคสช. เลือกอีกครั้งในขั้นตอนสุดท้าย จำนวน 50 คน 3.กลุ่มที่ คสช.เลือกทั้งกระบวนการ โดยคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 10 คน มาจากรองนายกฯ รองหัวหน้า คสช. และประธาน สนช. ทั้งยังมีกรรมการสรรหาที่กลับมาเป็น ส.ว. เสียเองประกอบด้วย พล.อ.ฉัตรชัย, พล.อ.อ.ประจิน, พล.อ.ธนะศักดิ์, พล.ร.อ.ณรงค์, พล.ต.อ.อดุลย์ และพรเพชร เท่านั้นไม่พอ ในวันเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. 249 เสียงโหวตเลือกประยุทธ์ ซึ่งเป็นคนที่ตั้ง ส.ว.มาเองกับมือให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย มีเพียงพรเพชรที่งดออกเสียง เพราะดันไปนั่งเป็นรองประธานรัฐสภา

อำนาจของ ส.ว. ไม่ได้มีเพียงการเลือกนายกฯ หากแต่ยังสามารถแทรกแซงอีกช่องทางผ่านการร่วมโหวตกฎหมาย ‘ปฏิรูปประเทศ’ ซึ่งกินความกว้างขวางมาก เนื่องจากในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศกำหนดประเด็นไว้อย่างครอบจักรวาล 7 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ 

ขณะที่บทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญมาตรา 270 บัญญัติโดยสรุปว่า ส.ว.มีอำนาจและหน้าที่ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 และการจัดทําและดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ หาก ส.ส.หรือ ส.ว.เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ใดเข้าหมวด 16 นี้ ส.ส.หรือ ส.ว.จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของแต่ละสภาสามารถเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้วินิจฉัย โดยการยื่นคําร้องดังกล่าวต้องยื่นก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณี จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นั้นแล้วเสร็จ

หากประธานสภารับคำร้องดังกล่าว ก็ให้ประธานสภานำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการร่วมซึ่งประกอบด้วย ประธานวุฒิสภา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนคณะรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมาธิการสามัญคนหนึ่งซึ่งเลือกกันเองระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสามัญในวุฒิสภาทุกคณะ คนเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นกรรมการเพื่อวินิจฉัย การวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมดังกล่าวให้ถือเสียงข้างมากเป็นหลัก และคําวินิจฉัยของคณะกรรมการร่วมดังกล่าวให้เป็นที่สุด จากนั้นให้ประธานรัฐสภาดําเนินการไปตามคําวินิจฉัยนั้น

นี่จึงเป็นการเปิดช่องให้ ส.ว.เข้ามาแทรกแซงการผ่านกฎหมาย โดยใช้เสียงเพียง 1 ใน 5 ของ ส.ว. หรือจำนวน 50 คนเท่านั้นในการเสนอเรื่อง ส่วนกรรมการวินิจฉัย เราจะเห็นว่ามี “ฝ่ายค้าน” หลักๆ แค่ 1 คน คือ ผู้นำฝ่ายค้าน  

3. สองพรรคใหม่แจ้งเกิด 

ปรากฏการณ์พรรคเกิดใหม่รอบนี้น่าสนใจ พรรคอนาคตใหม่สามารถขึ้นมาเป็นพรรคอันดับ 3 ได้ ขณะที่พรรค (ที่ดูเหมือน) เกิดใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐก็เข้ามาที่ 2 ด้วยพลังพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องพลังดูด จนสามารถตั้งรัฐบาลได้

4. ปชป. เสียงใน กทม.หาย ภาคใต้หด

เมื่อมีดาวรุ่งก็มีดาวร่วง พรรคประชาธิปัตย์ร่วงไปอันดับ 4 เป็นพรรคขนาดกลางไป เสียพื้นที่ในกรุงเทพฯ จากที่เมื่อการเลือกตั้งปี 2554 ได้ถึง 23 ที่นั่ง ปี 2562 หายหมดเลย แม้แต่ภาคใต้ก็เสียไปหลายที่นั่ง จากเดิมปี 2554 ได้ถึง 50 ที่นั่ง ลดเหลือ 22 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยเองที่ดูเหมือนยังยืนอันดับ 1 ได้ที่นั่ง ส.ส.สูงสุด แต่ก็เสียไปเยอะเช่นกัน ตัวอย่างในภาคอีสาน ปี 2554 ได้ถึง 104 ที่นั่ง ครั้งนี้ลดเหลือ 84 ที่นั่ง

5. ดับอนาคตใหม่

พรรคที่สร้างปรากฏการณ์น้องใหม่ไฟแรงอย่างพรรคอนาคตใหม่มีอายุได้แค่ 708 วัน อาจเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.61 หรือ 5 เดือนก่อนเลือกตั้งทั่วไป พรรคอนาคตใหม่ออกมาเปิดเผยว่าเพิ่งได้รับโทรศัพท์จาก กกต. ว่าห้ามรับบริจาคเงินและทำกิจกรรมระดมทุนต่างๆ เนื่องจากถือเป็นกิจกรรมทางการเมือง ขัดคำสั่ง คสช. ขณะที่ 2 เดือนหลังจากนั้น พรรคพลังประชารัฐจัดโต๊ะจีนระดมทุน ภายใต้แนวคิด “ประเทศไทยหนึ่งเดียว” ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี โต๊ะละ 3 ล้านบาท รวม 200 โต๊ะ

อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่ก็สามารถได้ทั้ง ส.ส.แบบเขตและบัญชีรายชื่อ จนมาเป็นพรรคอันดับ 3 ด้วยจำนวน ส.ส.80 ที่นั่ง และหัวหน้าพรรคอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกเสนอชื่อเพื่อโหวตเป็นนายกฯ แข่งกับประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ตัวธนาธรเองกลับถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยคดีที่ถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นสื่อ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งจากคดีถือครองหุ้นสื่อดังกล่าว

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรค ด้วยเหตุที่พรรคอนาคตใหม่ทำสัญญากู้เงินจากธนาธร 2 ฉบับรวมมูลค่า 191.2 ล้านบาท จนเกิดแฟลชม็อบคัดค้านคำวินิจฉัยที่นำโดยนักศึกษาในหลายสถาบันกินเวลากว่าเกือบ 1 เดือน

ส่วน ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ต้องการสานต่อจุดยืนของพรรคเดิมก็มารวมกันในนาม 'พรรคก้าวไกล' กลุ่มกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิฯ ก็รวมกันในนาม 'คณะอนาคตใหม่' ขณะที่บางส่วนย้ายค่ายไปพรรคฝั่งรัฐบาล

6. งูเห่า

ข่าวการซื้อตัว ส.ส.มีทั้งการนำคลิปเสียงการเจรจามาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ควบคู่ไปกับการย้ายพรรคหลังยุบพรรคไปอยู่พรรคการเมืองในฝั่งรัฐบาลของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ก่อนหน้านั้นก็มีส.ส.อนาคตใหม่ 4 คนที่โหวตสวนมติพรรคอนาคตใหม่เป็นระยะ จนพรรคมีมติขับออกไปก่อนหน้านั้นแล้ว คือ กวินนาถ ตาคีย์ และ จารึก ศรีอ่อน ที่ต่อมาย้ายไปพรรคพลังท้องถิ่นไทซึ่งจากเดิมได้รับเลือกตั้งมาจำนวน 3 ที่นั่ง พอบวกอีก 2 จึงกลายเป็นพรรคที่มีส.ส.ในสภา 5 ที่นั่ง ส่วนส.ส.อนาคตใหม่อีก 2 คน คือ ฐนภัทร กิตติวงศา ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ศรีนวล บุญลือ ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย 

ปรากฎการณ์การโหวตในสภาสวนมติพรรคไม่ได้มีเพียง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่เท่านั้น ฝ่ายค้านพรรคอื่นๆ ก็มีมาเป็นระยะ รวมทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางคนก็มีการโหวตสวนมติพรรคเช่นกัน

7. อภินิหารสูตรคำนวน 3.5 หมื่นก็ได้ ส.ส. - เลือกตั้งซ่อม พลังประชารัฐ-ปชป. ไม่ชนะ แต่ได้ ส.ส.ปัดเศษเพิ่ม

สูตรคำนวน ส.ส.ที่ดูเอาใจยากตามรัฐธรรมนูญนี้ พรรคที่ได้เสียงเพียง 35,099 เสียงก็ยังได้ที่นั่ง 1 ที่นั่ง อีกปรากฏารณ์ก่อนหน้าเลือกตั้งซ่อมเขต 8 เชียงใหม่ วันที่ 2 มิ.ย.62 พรรคไทรักธรรมยังมีที่นั่งในสภา 1 ที่นั่ง จากคะแนนเสียงที่พรรคได้ 33,754 คะแนน แต่พรรคกลับเสียที่นั่งนั้นไปหลังผลเลือกตั้งซ่อมดังกล่าวออกมา ไม่ใช่เพราะพรรคแพ้เลือกตั้งซ่อมดังกล่าว แต่สูตรคำนวนเปลี่ยนเหลือพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งมากกว่า ส.ส. พึงมี 10 พรรค ทำให้ พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคไทรักธรรม ซึ่งทำหน้าที่ได้เพียง 3 วันต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ทันที ขณะที่พรรคที่ได้รับการปัดเศษขึ้นมาได้ ส.ส.เพิ่มคือ พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคพลังประชารัฐ  

8. 'ไพบูลย์' เลิกพรรคตัวเอง หอบคะแนนไปเป็น ส.ส.สังกัดพลังประชารัฐ แบบนี้ก็ได้

เลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคประชาชนปฏิรูปได้คะแนนรวม 4.5 หมื่นคะแนน ทำให้ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ต่อมา ไพบูลย์ ยื่น กกต. "ขอเลิกพรรค" ตัวเอง และ กกต.มีมติให้ยกเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป จากนั้นไพบูลย์ย้ายเข้าไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับหอบคะแนนและได้เป็น ส.ส.ในสังกัดพรรคใหม่ แถมยังเป็นรองหัวหน้าพรรค และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คนที่ 1

ปรากฎการณ์นี้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า ตอนเลือกตั้งได้ 4.5 หมื่นคะแนนนั้น ประชาชนเลือกพรรคประชาชนปฏิรูป จนเป็นผลให้ไพบูลย์ที่อยู่บัญชีเป็นอันดับ 1 เป็น ส.ส.เสียงของประชาชนดังกล่าวไม่ได้เลือกพรรคพลังประชารัฐ การเอาคะแนนติดตัวไปอยู่กับพรรคใหม่ขัดกับเจตจำนงของประชาชนผู้เลือกตั้ง โดยมี 30 พรรคการเมืองขนาดเล็กในนามกลุ่มพรรคสหมิตร 30 พรรคการเมืองยื่นหนังสือต่อ กกต.คัดค้านการประกาศรับรอง ไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net