ชำนาญ จันทร์เรือง: ร่าง พรบ.จังหวัดจัดการตนเองฯ ช้าหรือเร็วต้องเกิดขึ้น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากการที่จังหวัดบุรีรัมย์และอุทัยธานีตามด้วยกทม. เริ่มมีนโยบายปิดเมืองเพื่อสู้โควิด 19 ซึ่งได้จุดกระแสของการจัดการตนเองของจังหวัดต่างๆกลับมาดังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอันที่จริงแล้วกระแสการขับเคลื่อนของการจัดการตนเองหรือการกระจายอำนาจของไทยนั้นมีมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน การขับเคลื่อนเพื่อการกระจายอำนาจที่เห็นเป็นรูปธรรมมีมานับตั้งแต่30-40 กว่าปีก่อนที่ไกรสร ตันติพงศ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอแนวความคิดที่จะให้เชียงใหม่มีกฎหมายเป็นของตนเอง แต่ไม่ได้มีการยกร่างหรือเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ตามมาด้วยถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ธเนศวร์ เจริญเมือง ก็ออกมารณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง ที่เกือบจะเป็นมรรคผลก็ตอนที่พรรคพลังธรรมของพลตรีจำลอง ศรีเมือง เสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์โดยมีคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีให้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แต่ก็ถูกต่อรองจนต้องเติมในประโยคท้ายว่า “ในจังหวัดที่มีความพร้อม” ซึ่งก็ยังไม่บังเกิดผลอันใดเลยจวบจนปัจจุบัน เพราะฝ่ายที่ยังหวงอำนาจต่างก็อ้างว่า “ยังไม่พร้อมๆๆๆ” เว้นแต่กรุงเทพมหานครซึ่งดำเนินการไปก่อนแล้วโดยไม่เกี่ยวกับข้อเสนอที่ว่านี้

ในส่วนของภาคประชาสังคมก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวในรูปแบบของ “ชุมชนพึ่งตนเอง”ตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการจัดเวทีเล็กๆพร้อมกับการลงมือปฏิบัติจริงนำโดยสวิง ตันอุด ,ชัชวาล ทองดีเลิศและคณะ ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานหนึ่งของพัฒนาการแนวความคิดจากชุมชนสู่ “ตำบลจัดการตนเอง” “อำเภอจัดการตนเอง”จนมาเป็น “จังหวัดจัดการตนอง” ในปัจจุบัน

จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2552 ได้เกิดวิกฤตทางการเมืองว่าด้วยเหลืองแดงจนเกิดการรวมตัวของเหลืองและแดงบางส่วนขึ้นมาเพื่อแก้ไขวิกฤตของเชียงใหม่ที่เกิดการปะทะกันจนทำให้เศรษฐกิจของเชียงใหม่แทบจะพังพินาศ โดยร่วมกันวิเคราะห์เหตุของปัญหาว่าเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองและการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจในการตัดสินในแก้ไขปัญหาของตนเอง จึงได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามเวทีต่างๆอยู่เสมอ จวบจนเดือนมกราคม 2554 จึงได้มีมอบหมายให้ผมเป็นแกนนำในการยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ บนพื้นฐานของสิทธิในการจัดการตนเอง(Self Determination Rights) และประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) ขึ้นมาและได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 1 หมื่นคนเสนอต่อประธานรัฐสภา แต่น่าเสียดายที่มีการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จึงทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ตกไป ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฯ นี้มีหลักการที่สำคัญ คือ

1) ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลาง และราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ โดยราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณ การคลัง การจัดการบริหารบุคลากร ได้ครอบคลุมทุกเรื่องยกเว้น 4 เรื่องหลัก คือ การทหาร ระบบเงินตรา การศาลและการต่างประเทศ โดยแบ่งการปกครองเป็น 2 ระดับ(two tiers) แบบญี่ปุ่น คือระดับบน (เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลครอบคลุมเต็มพื้นที่โดยทั้ง 2 ระดับมีการบริหารที่อิสระต่อกันเป็นลักษณะการแบ่งหน้าที่การทำงานให้ชัดเจน

2) ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม ทำให้ระบบการตรวจสอบ มีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างดุลยภาพ 3 ส่วน คือผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานคร และสภาพลเมือง (civil juries หรือ citizen juries)  รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจโดยตรงในการกำหนดทิศทางการพัฒนา ตรวจสอบการทำงานหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณ ผ่านกระบวนการกลไกต่าง ๆ เช่น สภาพลเมือง การไต่สวนสาธารณะฯลฯ
 
3) การปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่ จะส่งคืนรัฐบาลส่วนกลาง ร้อยละ 30 และคงไว้ที่จังหวัดร้อยละ 70 

ประจวบเหมาะกับการที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(คปร.) ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานได้สรุปมติเมื่อ 18 เมษายน 2554 ว่าหากจะปฏิรูปประเทศไทยให้สำเร็จต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคและปฏิรูปการจัดการเกี่ยวกับที่ดิน กระแสการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคจึงได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง แต่น่าเสียดายที่กระแสการปฏิรูปที่ดินกลับไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร
 
หลังจากนั้นจังหวัดต่างๆซึ่งนับได้ 58 จังหวัดได้มีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาทิ ปัตตานีมหานคร ระยองมหานคร ภูเก็ตมหานครฯลฯ และในที่สุดคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ได้มีการแนวความคิดที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.บริหารจังหวัดปกครองตนเองฯ เพื่อที่จะใช้เป็นกฎหมายกลางสำหรับทุกๆจังหวัดที่จะได้ไม่ต้องไประดมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายแบบที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการมา โดยกะว่าจะมีการรณรงค์กันทั่วประเทศในวันที่ 24 มิถุนายน 2557 แต่ก็เป็นทราบกันแล้วว่าไม่สามารถทำได้เพราะเกิดการยึดอำนาจไปก่อนหน้านั้นนั่นเอง

แต่ถึงแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ฯ ทั้ง 2 ฉบับจะไม่มีโอกาสพิจารณาในรัฐสภาหรือรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 จะไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการเสนอกฎหมายในลักษณะนี้ได้อีกเพราะไม่เข้ากับหมวดสิทธิเสรีภาพหรือหมวดหน้าที่ของรัฐ จะเสนอได้แต่เพียงช่องทางผ่านครม.หรือ ส.ส.20 คนขึ้นไปก็ตาม การขับเคลื่อนก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดประชุมสภาพลเมืองเชียงใหม่หรือเชียงราย, การจัดเวทีแลกเปลี่ยนหรือสรุปบทเรียนต่างๆฯลฯ

นวัตกรรมที่ใช้ในการขับเคลื่อน

การขับเคลื่อนของจังหวัดจัดการตนเองที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จสูงและได้รับการยอมรับในวงกว้างอย่างแพร่หลายอย่างรวดเร็วนั้นสามารถพิจารณาได้ ดังนี้

1) การขับเคลื่อนใช้รูปแบบการนำหมู่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ไม่มีแกนนำเดี่ยวหรือพระเอกที่จะขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้ มีลักษณะที่สามารถทดแทนและสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน

2) การขับเคลื่อนใช้วิธีการรวมประเด็นย่อยทั้งหมดมาอยู่ในประเด็นใหญ่ คือการจัดการตนเอง เพราะในองคาพยพของเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเองต่างมีเครือข่ายเชิงประเด็นเป็นแขนขา หากแต่ละเครือข่ายมุ่งเพียงประเด็นของตนเองย่อมยากที่จะผลักดันทั้งประเด็นรวมและประเด็นย่อยของตนเองได้ 

3) เป็นการรวมของผู้ที่มีความคิดทางการเมืองต่างขั้วแต่มีประเด็นร่วมกันคือการกระจายอำนาจ ฉะนั้น ในการขับเคลื่อนจึงมีการหลีกเลี่ยงหรือมีการถนอมน้ำใจกันและกันในเรื่องของความเห็นทางการเมือง เพราะในเรื่องของโครงสร้างอำนาจในระดับบนมีข้อถกเถียงไม่เป็นข้อยุติ ยากที่จะเห็นพ้องร่วมกันได้ง่าย แต่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจนั้นทุกสีทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานในการจัดการเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง(Self Determination Right) ที่ทั่วโลกและสหประชาชาติให้การรับรอง และการกระจายอำนาจจะเป็นคำตอบของการปรองดองและสมานฉันท์ เพราะทุกฝ่ายทุกสีมีผลประโยชน์ร่วมกัน การริเริ่มของกระบวนขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานครหรือเชียงใหม่จัดการตนเองนั้นได้เป็นตัวอย่างที่สถาบันการศึกษา สถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งฯลฯ ได้นำไปศึกษากันอย่างกว้างขวาง และมีผู้ศึกษาวิจัยได้ลงพื้นที่มาสัมภาษณ์สอบถามกันอยู่อย่างต่อเนื่อง

4) มีการยกร่าง พ.ร.บ.ฯ ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมอีกทั้งยังมีการกำหนดกรอบระยะเวลา(time frame) อย่างชัดเจน ทำให้การขับเคลื่อนมีพลังอย่างยิ่ง

5) มีการใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ อินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ฯลฯ ควบคู่ไปกับการใช้รูปแบบดั้งเดิม คือการจัดเวทีเสวนา บรรยาย อภิปราย ระดมความเห็นฯลฯ

6) ได้รับการสนับสนุนจากสื่อเป็นอย่างดีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีอิทธิพลและแพร่หลายมากก็คือสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการตนเองมาก รวมถึงสถานีโทรทัศน์วอยส์ทีวีที่เชิญแกนนำไปออกรายการในเรื่องนี้อยู่เสมอ

แนวร่วมมุมกลับ

อาจจะเนื่องเพราะความหวาดกลัวจนเกินกว่าเหตุของกลุ่มอนุรักษ์นิยมดั้งเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่เกรงว่าจะกระทบกับสถานภาพของตนเองได้พยายามออกมาต่อต้าน ซึ่งกลับกลายเป็นโอกาสที่เครือข่ายของการขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองได้มีโอกาสอธิบายและชี้แจงได้แพร่หลายในข้อสงสัยต่างๆ เช่น เป็นการแบ่งแยกรัฐ/กระทบต่อความมั่นคง/รายได้ท้องถิ่นยังไม่เพียงพอ/อบจ.,อบต.,เทศบาลจะมีอยู่หรือไม่/จะเอาข้าราชส่วนภูมิภาคไปไว้ไหน,นายอำเภอยังมีอยู่หรือไม่/เขตพื้นที่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จะหายไป/กำนันผู้ใหญ่บ้านยังคงมีอยู่หรือไม่ หากยังคงมีอยู่จะมีบทบาทอะไร/ประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่มีการศึกษาที่ดีพอ/นักเลงครองเมือง/ซื้อสิทธิ์ขายเสียง/ทุจริตคอรัปชัน,เปลี่ยนโอนอำนาจจากอำมาตย์ใหญ่ไปสู่อำมาตย์เล็ก/ผิดกฎหมายฯลฯ นั้น โดยเพียงแต่พิมพ์คำว่า เชียงใหม่มหานคร หรือจังหวัดจัดการตนเอง หรือยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคฯลฯ เข้าไปในกูเกิล(Google) ก็จะพบคำอธิบายต่างๆเหล่านี้ จึงยิ่งทำให้เพิ่มแนวร่วมมากขึ้นไปอีก (ดูคำอธิบายเรื่องมายาคติและข้อสงสัยต่างๆได้ที่ https://prachatai.com/journal/2012/07/41425)

สถานะของการขับเคลื่อนล่าสุด

ผมได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านแม้ว่าจะเป็นระยะเวลาในช่วงสั้นๆเพราะต้องหมดสมาชิกภาพจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ผมสังกัดเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ในระหว่างนั้นผมได้มีโอกาสยกร่าง “พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการจังหวัดจัดการตนเอง พ.ศ.....”แล้วนำเสนอให้คณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นและการกระจายซึ่งมีผมเป็นประธานฯ พิจารณาเป็นรายมาตรา ซึ่งได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆมาให้ความเห็น เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ,กอ.รมน.,สมาคมนักปกครองฯ ,สมาคม อบจ.ฯลฯ โดยคาดว่าจะนำเข้าเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านทางคณะกรรมาธิการฯ ในสมัยประชุมหน้า แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ต้องพ้นจากหน้าที่เสียก่อน แต่อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดใหม่ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะอยู่อีกต่อไปเพราะมีการสับเปลี่ยนตัวอนุกรรมาธิการหลายตำแหน่ง

สรุป

แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 จะไม่ได้ลงรายละเอียดในเรื่องนี้มากนัก แต่ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องของการปกครองตนเองไว้ในมาตรา 249 ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการขับเคลื่อนต่อได้ และการที่ร่าง พ.ร.บ.ฯ ได้มีโอกาสเข้าไปพิจารณาในชั้นอนุกรรมาธิการฯ ก็ถือได้ว่าประเด็นนี้ได้ถูกจุดติดเป็นรูปธรรมแล้ว ช้าหรือเร็ว มากหรือน้อย “ร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเองฯ ”ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท