Skip to main content
sharethis

ประมวลสถานการณ์ โควิด-19 วันที่ 13 เม.ย. 63 

  • ไทย ป่วยใหม่ 28 เสียชีวิต 2 อันดับ 1 สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 2 เดินทางกลับจากต่างประเทศ 3 อาชีพเสี่ยงทำงานในสถานที่แออัด 4 บุคลากรทางแพทย์
  • ปชช.ออกนอกเคหสถาน 820 ราย
  • โลกผู้ติดเชื้อสะสม 1.8 ล้าน ตาย 1.14 แสน
  • รบ.หนุน BOI เร่งลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์
  • สกสว.เผยผลวิจัยจากจีน หลังพบผู้ป่วยเป็นซ้ำ หวั่นเชื้อแพร่กระจาย แนะโรงบาลเฝ้าระวัง ตรวจซ้ำวิธีต่าง คนไข้กักตัวเพิ่ม 14 วัน
  • เปิด Timeline คนขับรถเมล์สายหนึ่งป่วย ผอ.ขสมก. รับ คนขับรถเมล์ติดโควิด เสียชีวิตแล้ว
  • สภาเภสัชกรรมและภาคีเครือข่าย เสนอ 5 ข้อต่อการเข้าถึงยาในโรคเรื้อรัง ในสถานการณ์ระบาด
  • 'อนุทิน' ลงนามประกาศ “กองทุนสุขภาพตำบล” เปิดทาง อปท.เร่งป้องกัน
  • เปิดใจผู้จัดทำเพลงแปลงเฉพาะกิจ 'รำวงสงกรานต์ ต้านโควิด'

 

13 เม.ย. 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วันนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค. โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงผลการประชุมและสถานการณ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ไทยป่วยใหม่ 28 เสียชีวิต 2 

สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศ พบผู้ป่วยใหม่ 28 ราย จาก 68 จังหวัด มีผู้ที่หายป่วยแล้วสะสมเพิ่มขึ้น 70 ราย ทำให้สามารถส่งกลับบ้านแล้ว 1,288 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,579 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 40 ราย ซึ่ง 2 รายที่เสียชีวิต

รายที่ 39 เป็นชายไทยอายุ 56 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 มาก่อน เริ่มป่วย 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยอาการไข้ 38 องศา ไอ หอบเหนื่อย แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นเป็นไข้หวัด สงสัยโรคไข้หวัดใหญ่ ส่งตรวจไข้หวัดสายพันธุ์ A และ B รวมทั้งส่งตรวจโควิด-19 ผลตรวจไข้หวัดใหญ่เป็นลบแต่ผลตรวจยืนยันว่าเป็นเคสโควิด-19 ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลงวันที่ 12 เม.ย.63 

ผู้เสียชีวิตรายที่ 40 ผู้ป่วยชายไทยอายุ 43 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีประวัติโรคประจำตัวคือเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง เริ่มป่วย 23 มี.ค.3 ด้วยอาการไข้สูง 39.4 องศา มีไอ น้ำมูก เหนื่อย ถ่ายเหลว ต่อมา 5 เม.ย.63 อาการไม่ดีขึ้น ผลตรวจยืนยันเป็นเคสผู้ป่วยโควิด-19 วันที่ 9 เม.ย. 63 ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง หอบเหนื่อยมากขึ้น ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดลดลง หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิต 11 เม.ย. 63 ด้วยภาวะการหายใจล้มเหลว 

โฆษก ศบค. กล่าวถึงประวัติเสี่ยงของผู้ป่วยรายใหม่ 28 รายว่า 25 รายอยู่ในกลุ่มแรก คือสัมผัสยืนยันกับผู้ป่วยรายยืนยันก่อนหน้านี้ 18 ราย โยงมาที่กลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ คือกลุ่มคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 คน ไปสถานที่ชุมชน ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว อาชีพเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 3 คน กลุ่มที่สอง เกี่ยวข้องกับการเดินทางมาจากต่างประเทศ คือ State Quarantine ที่สตูล 2 ราย ยะลา 1 ราย เมื่อดูแผนภูมิจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) การกระจายตัวของผู้ป่วยยืนยันสะสมทั่วประเทศ พบว่า กรุงเทพฯ ยังเป็นอันดับ 1 จำนวน 1,306 ราย ภูเก็ต 182 ราย นนทบุรี 150 ราย สมุทรปราการ 105 ราย ยะลา 84 ราย  โดยเหตุที่ต้องพูดถึงตัวเลข ก็เพื่อประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับจังหวัดและโรงพยาบาลที่ยังมีความต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก  ด้านภาพรวมของอัตราผู้ป่วยต่อประชากรแสนคน พบว่า ภูเก็ตเป็นอันดับที่ 1 คือ 44.03
 
โฆษก ศบค. เปรียบเทียบผู้ป่วยระหว่างกรุงเทพฯ นนทบุรี และต่างจังหวัด ว่า แนวโน้มของต่างจังหวัดลดลง ขณะที่กรุงเทพฯ ยังมีขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ แต่มีแนวโน้มลดลงจากสัปดาห์ก่อนมาก ทั้งนี้ กลุ่มพี่น้องมุสลิมที่เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซียจำนวนหลายสิบคน ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมรวม 61 ราย จะเห็นว่าอัตราการป่วยด้วยโรคโควิด-19 จากอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก  ซึ่งสอดคล้องกับกราฟของอินโดนีเซียที่จะชันขึ้นมาก จึงขอให้ผู้ที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเป็นผู้ที่ไปร่วมพิธีทางศาสนาได้ดูแลสุขภาพตัวเองด้วย
 
เมื่อดูจำนวนผู้ป่วยยืนยัน 2 สัปดาห์ล่าสุด จำแนกตามปัจจัยเสี่ยง พบว่า อันดับที่ 1 ยังเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายยืนยันก่อนหน้านี้ อันดับที่ 2 คือคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ อาชีพเสี่ยงทำงานในสถานที่แออัด รวมถึงบุคลากรทางแพทย์ เป็นอันดับ 3 และ 4 สถานบันเทิง อันดับ 5 ซึ่งสาเหตุที่ต้องปิดสถานบันเทิงเพราะอยู่ใน 5 อันดับแรกที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 

โลกผู้ติดเชื้อสะสม 1.8 ล้าน ตาย 1.14 แสน

ผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,800,000 กว่าคน เสียชีวิต 114,000 กว่าคน โดยสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับที่หนึ่ง จำนวน 20,000 กว่าคน ตามมาด้วยอิตาลี เสียชีวิต 19,000 กว่าราย สเปน เสียชีวิต 17,000 กว่าราย อังกฤษ เสียชีวิต 10,600 กว่าราย  ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้จากต่างประเทศต้องนำมาเรียนรู้เพื่อที่จะไม่ให้ประเทศไทยเกิดขึ้นเช่นนั้นได้อย่างไร  โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 48 ของโลก

ปชช.ออกนอกเคหสถาน 820 ราย

ผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิวประจำวันที่ 13 เม.ย. 63 พบว่า มีประชาชนที่กระทำความผิดออกนอกเคหสถาน 820 ราย ลดลง 108 ราย ชุมนุมมั่วสุม 135 ราย โดยขอวิงวอนประชาชนอย่ารวมกลุ่มมั่วสุมกัน เพราะจะทำให้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ได้ง่าย การจัดสรรหน้ากากอนามัย ข้อมูล ณ วันนี้ จำนวนรับเข้า 16,036,500 ชิ้น อยู่ระหว่างการจัดส่ง 1,869,500 ชิ้น จัดส่งหน้ากากอนามัยไปแล้วกว่า 14,167,000 ชิ้น โดยจะมีการรายงานการกระจายหน้ากากอนามัยในส่วนที่ดำเนินการโดยกระทรวงในแต่ละวันด้วย

(ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

รบ.หนุน BOI เร่งลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอส รายงาน กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ตามปกติ เพื่อติดตามงานและสถานการณ์ COVID-19 แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ยังจะต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

โดยในช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ผ่านระบบ Video Conference ที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยจะพิจารณามาตรการเร่งรัดการลงทุน ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการลงทุนผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ในการนำมาต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

ซึ่งมาตรการส่งเสริมนี้ จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในระดับสูง เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน หรือขยายกำลังการผลิตอย่างรวดเร็ว แต่จะกำหนดกรอบเวลาในการผลิตสินค้าเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาด หากผลิตได้ตามเวลาที่กำหนดก็จะได้สิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ ขณะที่สินค้าที่จะอยู่ในมาตรการส่งเสริมพิเศษนี้ เช่น การผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ การผลิตชุดป้องกันไวรัสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การผลิตชุดตรวจไวรัส COVID-19 การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะที่ใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินในห้องไอซียู การผลิตยา การผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

สกสว.เผยผลวิจัยจากจีน หลังพบผู้ป่วยเป็นซ้ำ หวั่นเชื้อแพร่กระจาย แนะโรงบาลเฝ้าระวัง ตรวจซ้ำวิธีต่าง คนไข้กักตัวเพิ่ม 14 วัน

ฝ่ายสื่อสารของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รายงานด้วยว่า หลังจากที่มีรายงานข่าวเรื่องตรวจพบเชื้อโควิด – 19 ซ้ำในผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วทั้งในจีน เกาหลี และไทย ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่าการติดเชื้อใหม่เป็นครั้งที่ 2 เกิดจากสาเหตุใด ดร. เยาวลักษณ์ มะปราง รสหอม  จากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  นักวิจัยโครงการ “สนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)” สกสว.  ศึกษาผลวิจัยจากจีน 3 เคส ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวพบว่า 

การศึกษาชิ้นที่ 1 ทำการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโควิด - 19  จำนวน 172 คนที่ถูกปล่อยตัวกลับบ้านหลังจากรักษาจนอาการดีขึ้น ในช่วงวันที่ 23 มกราคม 2563 – 21 กุมภาพันธ์ 2563  ก่อนปล่อยตัวกลับบ้าน คนไข้กลุ่มนี้มีผลซีทีสแกนปอดดีขึ้น และทำการตรวจด้วยวิธี RT – PCR หรือ การตรวจแม่นยำระดับสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ไม่พบไวรัส 2 ครั้งในระยะเวลาตรวจห่างกัน 24 ชั่วโมง ต่อมาในช่วงกักตัวต่อที่บ้านมีการเก็บตัวอย่างจากทั้งช่องทวารหนัก และคอหอยหลังโพรงจมูกไปตรวจด้วยวิธี RT – PCR ทุกๆ 3 วัน พบไวรัสจากตัวอย่างที่เก็บจากช่องทวาร 14 คน และจากคอหอยหลังโพรงจมูก 11 คน รวม 25 คน จาก 172 คน หรือพบผู้ป่วย 14.5 % เป็นโรคโควิด – 19 ซ้ำ โดยคนไข้กลุ่มนี้มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 28 ปี เป็นผู้หญิง 17 คน เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี 6 คน จากประวัติการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีระยะเวลาอยู่ใน โรงพยาบาลเฉลี่ย 12 – 18 วัน ได้รับยาต้านไวรัส 10 – 16 วัน (ไม่แตกต่างกับผู้ป่วยอื่นๆ) และออกจากโรงพยาบาลเฉลี่ย 1 – 4 วัน หลังมีผลตรวจเชื้อเป็นลบ ส่วนระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อนับจากวันออกจากโรงพยาบาลเฉลี่ย 1 – 10 วัน อาการของผู้ป่วยกลุ่มนี้ตอนติดเชื้อเริ่มแรก คือ มีไข้ (68%) และไอ (60%) โดยมี 24 คนที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการที่ไม่รุนแรง 

ระหว่างการรักษารอบที่ 2 คนไข้กลุ่มนี้ได้รับยาสมุนไพรจีนสูตรทำความสะอาดปอด (ภายใต้การยินยอมของผู้ป่วย) ผลการตรวจเชื้อพบว่า เฉลี่ยภายใน 2.73 วัน หลังเข้าโรงพยาบาลรอบที่ 2  ผลตรวจไวรัสกลับไปเป็นลบอีกครั้ง จากการศึกษา ทีมวิจัยนี้จึงได้เสนอแนะว่า ก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้านควรทำการตรวจเชื้อ 2 ครั้ง ภายในระยะห่าง 48 ชั่วโมง แทนระยะห่าง 24 ชั่วโมง และควรทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยหายดีแล้วจริงๆ 

การศึกษาที่ 2  ได้เก็บข้อมูลของผู้ป่วย 1 คน  เป็นผู้ชายอายุ 54 ปี ที่รักษาโดยการให้ออกซิเจน ฮอร์โมน และยา หลังจากผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสจากตัวอย่างที่เก็บจากบริเวณคอ 2 ครั้งติดต่อกัน (ห่างกัน 24 ชั่วโมง) ผู้ป่วยถูกย้ายไปยังหน่วยกักกันเพื่อสังเกตอาการต่อ แต่หลังจากนั้นอีก 5 วันก็ตรวจพบไวรัสอีกครั้งในทวารหนักและตัวอย่างเสมหะ และมีผลตรวจเป็นบวกไปเรื่อยๆ อีก 16 วัน ส่วนการศึกษาที่ 3 ได้วิเคราะห์ผู้ป่วยหญิงอายุ 46 ปี  ที่มีไข้ ปอดอักเสบ และได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ ผลตรวจเชื้อจากตัวอย่างที่เก็บจากบริเวณคอหอยเป็นลบ 2 ครั้งติดต่อกัน (การตรวจแต่ละครั้งห่างกัน 48 ชั่วโมง)  แต่ 3 วันต่อมาผลตรวจกลับเป็นบวกอีกครั้ง  และหลังจากนั้นผลตรวจก็กลับไปเป็นลบต่อเนื่อง 

นักวิจัยจากทั้ง 2 การศึกษาให้ความเห็นตรงกันว่า ผลตรวจที่เป็นลบก่อนหน้าที่จะกลับมาเป็นบวก น่าจะเป็น ผลลบปลอม “False – Negative” หมายถึงตรวจพบไม่เจอเชื้อแต่จริงๆแล้วมีเชื้อ ซึ่งเกิดจากสาเหตุดังนี้    1.ตำแหน่งและประเภทตัวอย่างที่เก็บ  2.วิธีการในการเก็บตัวอย่าง  3. ผลจากยาต้านไวรัสหรือฮอร์โมน กรณีผู้ป่วยทานยารักษาโรคอื่นๆ พร้อมกับรักษาอาการโควิด – 19 4. ความไวของชุดตรวจ  ผลการศึกษาทั้ง 2 เคส นำไปสู่คำแนะนำเพิ่มเติมว่า  ควรมีการตรวจในตัวอย่างอื่นด้วย เช่น เสมหะ อุจจาระ เลือด เพราะไวรัสชนิดนี้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด แต่การเก็บตัวอย่างที่บริเวณคอหรือหลังโพรงจมูกอาจจะได้ไวรัสน้อยและเกิด ผลลัพธ์เทียมได้ รวมทั้งควรตรวจด้วยวิธีการอื่น เช่นตรวจวัดแอนติบอดี ก่อนที่จะปล่อยตัวผู้ป่วยกลับบ้าน และแนะนำว่าผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลควรกักตัวเองที่บ้านต่ออีก 14 วัน

ดร. เยาวลักษณ์ กล่าวสรุปข้อมูลงานวิจัยว่า การศึกษาทั้ง 3 เคสนี้ ค่อนข้างชี้ชัดไปในทางเดียวกันว่าการตรวจพบเชื้อซ้ำในผู้ป่วยที่รักษาหายดีแล้ว น่าจะเกิดจากผลลบเทียม (False – Negative) ของการตรวจก่อนหน้านี้จากปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจริงๆแล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังมีไวรัสอยู่ในร่างกาย ซึ่งถ้าปล่อยกลับบ้านโดยไม่ตรวจสอบให้ดีอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ ซึ่งประเทศไทยเองก็อาจต้องพิจารณาปรับวิธีการและเกณฑ์การประเมินผู้ป่วยตามข้อมูลใหม่ๆ ที่ออกมา ก่อนที่จะปล่อยผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการป่วยซ้ำและการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น

เปิด Timeline คนขับรถเมล์สายหนึ่งป่วย

Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ ออกมาเปิดเผยว่า คนขับรถเมล์สายหนึ่งป่วยโรคโรคโควิด แต่ไม่พบว่า มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานต้นสังกัดไปยังผู้โดยสารที่ขึ้นรถโดยสารดังกล่าวแต่อย่างใด

โดยระบุว่า ตั้งแต่ช่วงวันที่ 4-5 เม.ย.ที่ผ่านมา ในแวดวงพนักงาน ได้มีการเผยแพร่เอกสารภายใน ระบุว่ามีพนักงานขับรถคนหนึ่งถูกตรวจพบว่าติด COVID-19 และได้มีการระบุ Timeline เพื่อหาว่าพนักงานท่านนี้ทำงานบนรถเมล์คันใดบ้าง ตลอดจนมีการระบุชื่อพนักงานที่ทำงานใกล้ชิด

โดยพนักงานที่ตรวจพบว่าติด COVID-19 นั้น เป็น "พนักงานขับรถหญิงท่านหนึ่ง" สังกัดอู่แสมดำ กลุ่มงานปฏิบัติการเดินรถที่ 3 เขตการเดินรถที่ 5 (กปด.35) ของ ขสมก. ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถเมล์สาย 140 (อู่แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) กะเช้า และมีการระบุ Timeline การทำงานของพนักงานคนดังกล่าว ซึ่งส่วนมากจะขับรถเมล์ปรับอากาศสีขาว KINGLONG เลขข้างรถดังต่อไปนี้

  • 24 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90033 กะเช้า
  • 25 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90022 กะเช้า
  • 26 มี.ค. 63 - เวรหยุด
  • 27 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90023 กะเช้า
  • 28 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90011 กะเช้า
  • 29 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90037 กะเช้า
  • 30 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90039 กะเช้า
  • 31 มี.ค. 63 - เลขข้างรถ 5-90035 กะเช้า
  • 1 เม.ย. 63 - เลขข้างรถ 5-90019 กะเช้า (ขับรถวันสุดท้ายก่อนป่วย)
  • 2 เม.ย. 63 - เวรหยุด
  • 3 เม.ย. 63 - ถูกวัดไข้ก่อนทำงาน พบมีไข้สูง 38 องศา จึงให้พนักงานกลับบ้าน และไปพบแพทย์ จากนั้นได้ใบรับรองแพทย์ว่ามีไข้ ไอ มีเสมหะ และให้รอผลตรวจ COVID-19
  • 4 เม.ย. 63 - ตรวจพบติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมีการยืนยันผลตรวจเมื่อเวลา 22.30 น. และรักษาที่ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า (รพ.ทหารเรือ)
  • 12 เม.ย. 63 - รับแจ้งว่า พขร.คนดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว

ชุมชนคนรักรถเมล์ ยังระบุด้วยว่า เบื้องต้นทางอู่ได้มีการกักตัวพนักงานที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และตัดจอดรถแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องผ่านมาเกือบ 1 สัปดาห์ ปรากฎว่า "ผู้เดินรถ" ยังไม่มีการประกาศแจ้งสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องนี้พนักงานหลายอู่หลายเขตก็พอทราบกันแล้ว แต่ก็ไม่มีความชัดเจนออกมา จนกระทั่งพนักงานคนดังกล่าว เพิ่งเสียชีวิตในวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา และ ขสมก. ก็เพิ่งออกมายอมรับทีหลังในวันนี้ (13 เมษายน 2563) ท่ามกลางข้อกังขาต่อสาธารณชนต่อการทำงาน ว่าทำไมเพิ่งออกมาประกาศ

ผอ.ขสมก. รับ คนขับรถเมล์ติดโควิด เสียชีวิตแล้ว

ข่าวสดออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)เปิดเผยว่า เมื่อคืนวานนี้ (12 เม.ย.) ได้รับแจ้งว่า พนักงานขับรถของ ขสมก. เสียชีวิตคาดว่าจะเสียชีวิตจากการป่วยด้วยโรคโควิด19 โดยพนักงานคนขับรถตนดังกล่าวนั้นเป็นพนักงานขับขรถเก่าของ ขสมก. ที่เพิ่งพ้นโทษออกจากเรือนจำ เนื่องจากศาลยกฟ้อง และได้กลับเข้ามาเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขับรถสาย 140 เส้นทาง แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อีกครั้งเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมต่อการบริหารจัดการโรคเรื้อรังในภาวะวิกฤติโควิด-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมและภาคีเครือข่าย ต่อการเข้าถึงยาในโรคเรื้อรัง ในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยาที่ใช้ในสำหรับโรคโควิด กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดระบบการบริหารจัดการทั้งการจัดหาและการกระจายยา เพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงการเข้าถึงยาเหล่านี้ของผู้ป่วย  ในขณะที่ยาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการยาช่วยชีวิต และยาที่ใช้ในโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น ที่จำเป็นต้องใช้ยา และบางรายการต้องใช้อย่างต่อเนื่อง จำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดระบบการบริหารจัดการต่างไปจากภาวะปกติ เนื่องจากการระบาดของโรคกระจายไปทั่วโลก และขณะนี้ระบาดหนักในประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบยาและผลิตภัณฑ์ยารายใหญ่ ไม่ว่า จีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้ใช้มาตรการในการปิดประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการจัดส่งทั้งวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา และบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับเริ่มมีนโยบายให้สถานพยาบาลจ่ายยาโรคเรื้อรัง 6 เดือน ทำให้มีการสำรองยาในสถานพยาบาลบางแห่งมากผิดปกติ ขณะที่การผลิตและการนำเข้ายามีปัญหาจากการระบาดของโรคมากมาย จึงเริ่มเห็นปัญหาการขาดแคลนยาบางรายการแล้ว และล่าสุดได้มีการแจ้งจากองค์การเภสัชกรรมไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ถึงรายการยาที่องค์การเภสัชกรรมขาดจำหน่าย 1 เดือน และมากกว่า 1 เดือน ดังในภาพ และข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตยาแห่งประเทศไทยได้สรุปปัญหาการจัดหาวัตถุดิบยา ดังเอกสารแนบ

สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ได้จัดประชุมโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคราชการและเอกชน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการ สรุปได้ดังนี้

1. รัฐบาลต้องจัดให้มีกลไกกลางในการจัดหาและกระจายยาในรายการที่จำเป็น โดยเชื่อมโยงการบริหารระดับนโยบาย ระดับบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น องค์การเภสัชกรรม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรม และนักวิชาการด้านยา

2. กระทรวงสาธารณสุขต้องมีนโยบายให้สถานบริการสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน แต่ทยอยการจัดส่งทุก 1 - 2 เดือน เพื่อให้โรงงานเตรียมจัดหาวัตถุดิบในการผลิตล่วงหน้า

3. ให้สถานบริการเร่งรัดการจ่ายเงินให้รวดเร็วภายในไม่เกิน 1 เดือนหลังจากได้รับใบแจ้งหนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสามารถสำรองวัตถุดิบยาได้ 6 เดือนที่นานกว่าการสำรองปกติที่ 3 เดือน

4. ในกรณีจำเป็นตามคำเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ให้รัฐบาลประสานกับประเทศจีน อินเดีย และประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อซื้อวัตถุดิบยาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจัดเครื่องบินไปรับวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์

5. ให้อุตสาหกรรมยาสำรองวัตถุดิบในการผลิตยา 6 เดือนรวมทั้งองค์การเภสัชกรรม

ปัญหาการเข้าถึงยาโรคเรื้อรังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขโดยด่วนเช่นเดียวกับการบริหารจัดการรายการยาสำหรับโรคโควิด-19 ไม่เช่นนั้น อีกไม่ถึงเดือนจะเกิดปัญหาโกลาหลของห้องยา และผู้ป่วยอย่างแน่นอน จึงนำเสนอเพื่อโปรดพิจารณาจัดการโดยด่วน

สภาเภสัชกรรม 10 เมษายน 2563

'อนุทิน' ลงนามประกาศ “กองทุนสุขภาพตำบล” เปิดทาง อปท.เร่งป้องกัน

ทีมสื่อ สปสช. รายงานด้วยว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 โดยเพิ่มเติมข้อความที่ให้อำนาจ “ประธานกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” ในการอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขกรณีเกิดการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อได้ตามความจำเป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อโครงการ โดยให้ถือว่าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่คณะกรรมการกองทุนอนุมัติ

การออกประกาศฉบับนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีเกิดการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โดยเฉพาะสถานการณ์แพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ห่วงใยและมอบนโยบายเร่งด่วน แก้ไขปัญหากรณีที่คณะกรรมการกองทุนฯ ไม่สามารถอนุมัติค่าใช้จ่ายได้ทันต่อสถานการณ์

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เพื่อให้การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ ของ อปท. เป็นไปตามประกาศ สปสช.ได้ทำหนังสือถึงถึงประธานกรรมการรกองทุนฯ ทั่วประเทศ ขอให้ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยให้หน่วยบริการ สถานบริการ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานอื่น องค์กรหรือกลุ่มประชาชน มาขอรับสนับสนุนจากกองทุนฯ ขณะเดียวกันขอให้กองทุนฯ พิจารณาทบทวนหรือปรับเปลี่ยนโครงการที่อาจจะไม่สามารถดำเนินการในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ได้

นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการนำงบประมาณกองทุนฯ ไปร่วมแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส COVID 19 โดยเร็ว เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา สปสช. ได้ทำหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อขอให้แจ้งประกาศกองทุนฯ เพิ่มเติมฉบับที่ 3 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศได้รับทราบ และเว็บไซต์กองทุน https://obt.nhso.go.th/obt/home ที่ สปสช.ได้จัดทำขึ้น ที่เป็นช่องทางให้ อปท.ได้รับทราบข้อมูลวิธีการดำเนินงานและตัวอย่างโครงการ โดยปรับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่

“การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID 19 เป็นวาระสำคัญของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงกองทุนสุขภาพตำบลที่ สปสช.ได้กำหนดให้เป็นความเร่งด่วน ให้ อปท.นำงบประมาณนี้มาขับเคลื่อนการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ และเพื่อโครงการสามารถดำเนินการได้โดยเร็วและทันต่อสถานการณ์ยังให้อำนาจประธานกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้อนุมัติโครงการฯ ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ดำเนินงานกองทุน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ในคราวเดียวกันนี้เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง ในการแจ้งข้อมูลประกาศกองทุนฯ ไปยังประธานกรรมการกองทุนฯ จึงได้แจ้งคำแนะนำสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) และผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุ (Care Manager) ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ในการดำเนินงานตามโครงการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงตามแนวทางของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  

เปิดใจผู้จัดทำเพลงแปลงเฉพาะกิจ 'รำวงสงกรานต์ ต้านโควิด'

ขณะที่ตามปกติช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ด้วยภาวะพิเศษในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นนี้ มาตรการต่างๆที่ออกมาก็ทำให้บรรยากาศ "กร่อย" ลงไปเยอะมาก อย่างไรก็ดี เพื่อให้คงบรรยากาศของความสนุกสนานในช่วงเทศกาลเอาไว้ จึงได้มีกลุ่มจิตอาสากลุ่มหนึ่งทำโปรเจกต์แปลงเพลงรำวงวันสงกรานต์ เป็น "รำวงสงกรานต์ ต้านโควิด" โดยเปลี่ยนเนื้อเพลงให้เข้ากับสถานการณ์พิเศษเพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคไปในตัว

วรเศรษฐ์ นิพัทย์กุศล หนึ่งในผู้ทำโปรเจกต์นี้ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการทำเพลงนี้ว่า จากการพูดคุยสอบถามหลายๆ คนพบว่ามีจำนวนมากที่คำว่า Social Distancing ไม่เข้าหูเลยเพราะเป็นคำภาษาอังกฤษและเป็นภาษาวิชาการ จึงคิดว่าต้องมีวิธีการสื่อสารที่เรียบง่ายกว่านี้

ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงสถานการณ์ช่วงสงกรานต์ เพราะปกติช่วง 7 วันอันตรายจะมีอุบัติเหตุจำนวนมากอยู่แล้ว พอมีเรื่องโควิด-19 เข้ามาและแพทย์ต้องรับมืออย่างหนัก หากมีอุบัติเหตุจาก 7 วันอันตรายเข้ามาอีก สถานการณ์รอบนี้จะหนักหนาสาหัส

"เลยคิดว่าจะมีช่องทางใดบ้าง แล้วก็นึกถึงเพลงรำวงวันสงกรานต์ซึ่งถ้าเป็นช่วงปกติก็คงเปิดกันทั้งวัน เราก็ไม่อยากให้เพลงนี้หายไปเพราะเป็นบรรยากาศหนึ่งของเทศกาลนี้ แต่จะเป็นเนื้อหาเดิมเลยก็ไม่ได้แล้ว จึงคิดว่าเก็บทำนองไว้แต่เปลี่ยนเนื้อหาให้เข้ากับสถานการณ์ดีกว่า" วรเศรษฐ์ กล่าว

เมื่อคิดได้ดังนี้ จึงปรึกษาเพื่อนให้แนะนำคนมาช่วยโปรแกรมเพลงอย่างเร่งด่วน หานักร้อง ส่วนเรื่องเนื้อเพลง ด้วยความที่รู้สึกว่าเพลงของสุนทราภรณ์เป็นเพลงครู จะมาแปลงกันเล่นๆ ไม่ได้ พอดีมีรุ่นพี่ท่านหนึ่งคือคุณวาทิต ประสมทรัพย์ เป็นลูกของครูเลิศ ประสมทรัพย์ ซึ่งเป็นสมาชิกวงสุนทราภรณ์ จึงไหว้วานให้คุณวาทิตช่วยแปลงเนื้อร้องให้

"ก็เป็นอีกมุมที่น่ารักที่ลูกหลานสุนทราภรณ์มาช่วยเขียนเนื้อเพลงแปลงเฉพาะกิจให้" วรเศรษฐ์ กล่าว

ในส่วนของลิขสิทธิ์เพลงก็ได้ติดต่อขออนุญาติคุณพิสุทธิ์ บุญทรง หลานของครูเวส สุนทรจามร โดยอธิบายวัตถุประสงค์ว่าอยากอาศัยเพลงนี้มาทำหน้าที่พิเศษ มาสื่อสารเฉพาะกิจให้คนไทยมีพฤติกรรมที่ปลอดภัยขึ้น ซึ่งทางคุณพิสุทธิ์ก็ยินดีอนุญาตให้ใช้ และเมื่อทำเพลงเสร็จแล้วก็กระจายข่าวไปทางกลุ่มเพื่อนๆ และเพื่อนๆ ก็ช่วยกันกระจายเพลงไปทั้งฝั่งสาธารณสุขและเปิดเพลงในห้างโลตัส

วาทิต ประสมทรัพย์ ผู้แต่งเนื้อเพลงรำวงสงกรานต์ ต้านโควิด บุตรของ เลิศ ประสมทรัพย์ นักร้องวงสุทราภรณ์ กล่าวว่า เมื่อก่อนตนเคยเป็นนักแต่งเพลง ทำเพลงประกอบละคร เพลงประกอบโฆษณา และทำเพลงให้อีกหลายๆ องค์กรอยู่แล้ว เพียงแต่ระยะหลังห่างเหินจากการทำเพลง เนื่องจากมีภาระงานที่มากขึ้น จนเมื่อไม่กี่วันก่อนมีรุ่นน้องติดต่อมาว่าอยากแปลงเพลงรำวงวันสงกรานต์เพราะปีนี้เราไม่มีสงกรานต์แต่ก็ไม่อยากให้ผู้คนลืมบรรยากาศ ยังอยากให้มีกลิ่นอายของประเพณีที่ดีอยู่ แต่จะใช้เนื้อเพลงเดิมก็คงไม่เหมาะ จึงไหว้วานให้ช่วยแปลงเนื้อเพลงให้

วาทิต กล่าวว่า เมื่อได้รับโจทย์มาแล้วก็คิดว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ในภาวะโควิดต้องมีวิธีคิด วิธีการปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง เลยลองร่างเนื้อเพลงคร่าวๆ โดยนำแนวปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขมาใส่ในเพลง คือ หยุดเชื้อ อยู่บ้าน ขอเชิญทุกท่านอยู่บ้านกันก่อน ต่อมาก็เชิญให้คนล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย แล้วขมวดว่าถ้าทุกคนปฏิบัติตามเช่นนี้ เราก็จะรอดพ้นจากเรื่องนี้ไปได้ ใช้เวลาแต่งประมาณ 2 ชั่วโมง

"คุณพ่อผมก็เป็นนักร้องสุนทราภรณ์ที่ขับร้องหมู่ในเพลงนี้ด้วย ก็เลยเป็นอะไรที่วนเวียนอยู่ในวิถีชีวิตเรา ทั้งเพลง การแต่งเพลง ตัวเพลง คนร้อง และเราก็ยินดีทำเพลงนี้ออกมาเพื่อเผยแพร่ให้คนไทยทุกคนเพื่อที่จะไม่ลืมวันสงกรานต์" วาทิต กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net