Skip to main content
sharethis

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดวันที่ 17 เม.ย.63

  • ไทยพบป่วยใหม่ 28 ตายเพิ่ม 1
  • ระดับโลกติดเชื้อสะสม 2.1 ล้าน เสียชีวิต 1.45 แสน
  • 820 ปชช.ออกนอกเคหะสถาน ชุมนุมมั่วสุม 109 คดี 
  • ประยุทธ์ จ่อจม.เปิดผนึก ขอมหาเศรษฐี-เอกชน ร่วมสู้
  • รพ.มงกุฎวัฒนะจับมือ สปสช.ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รุกบริการคัดกรอง เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน
  • มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยไตรมาสแรกพบปัญหาการเลื่อน - ยกเลิกตั๋วสายการบิน และปัญหาหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น
  • คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ชี้แจงกรณีทดสอบเจลแอลกอฮอล์
  • สกสว. เผยผลวิจัยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของครัวเรือนไทยทั่วประเทศ มีผลโดยตรงต่อการยับยั้งและแพร่ระบาด

17 เม.ย.2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วันนี้ (17 เม.ย.63) เวลา 11.30 น. ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ดังนี้

ไทยพบป่วยใหม่ 28 ตายเพิ่ม 1

ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 28 ราย กลับบ้านได้ 1,689 ราย รักษาอยู่ 964 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,700 ราย ใน 68 จังหวัดทั่วประเทศ เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 47 เป็นหญิงไทย อายุ 85 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีประวัติเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า วันที่ 12 เมษายน 63 เข้ารับการรักษา ด้วยอาการ ไอ เหนื่อย หอบ พบปอดอักเสบรุนแรง ตรวจยืนยันพบเชื้อโควิด-19 วันที่ 15 เมษายน 63 และเสียชีวิตในวันที่ 16 เมษายน 63  
 
สำหรับรายงานผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 28 รายวันนี้ จำแนกออกเป็น มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 16 ราย จากปัจจัยอาชีพเสี่ยงหรือสัมผัสกับชาวต่างชาติ 4 ราย ผู้ที่ติดเชื้อจากการไปสถานที่ชุมชน/ห้าง/ร้าน 1 ราย และอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค 7 ราย

ระดับโลกติดเชื้อสะสม 2.1 ล้าน เสียชีวิต 1.45 แสน

ระดับโลกพบผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,182,197  คน เสียชีวิตไป 145,000 กว่าคน อาการหนัก 5,446 คน หายแล้ว 546,951 ราย โดยสหรัฐอเมริกายังคงมีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก 677,570 คน เสียชีวิตไปแล้วถึง 34,617 คน อิตาลี 22,000 กว่าคน สเปนเสียชีวิต 19,000 กว่าคน ฝรั่งเศส เสียชีวิต 17,000 กว่าคน และอังกฤษเสียชีวิต 13,000 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นหลักหมื่นนี้ก็ยังอยู่ในประเทศเดิม ขณะที่ไทยลดลงมาอยู่อันดับที่ 51 แล้ว

820 ปชช.ออกนอกเคหะสถาน ชุมนุมมั่วสุม 109 คดี 

ผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิวประจำวันที่ 17 เม.ย.63 พบมีประชาชนกระทำความผิดออกนอกเคหะสถาน 820 ราย ชุมนุมมั่วสุม 109 คดี  มีการเล่นการพนัน ดื่มสุรา เล่นยาเสพติด และเดินทางกลับบ้านช้า ดำเนินคดี 642 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าจังหวัดที่มีการฝ่าฝืนคำสั่งในระดับต้น ๆ ได้แก่ ชลบุรี 76 ราย นนทบุรี 61 ราย ปทุมธานี 45 ราย กรุงเทพมหานคร 37 ราย สมุทรสาคร 25 ราย ขณะที่ 7 จังหวัดที่ไม่มีการรายงานการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกจากบ้านหรือคำสั่งการห้ามรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุม ได้แก่ มหาสารคาม หนองคาย แม่ฮ่องสอน  พิจิตร พังงา  ระนอง เพชรบุรี

มาตรการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศและหน้ากากอนามัย

โฆษก ศบค. ระบุว่า นักเรียนทุน AFS จะเดินทางกลับมาในวันที่ 17 เม.ย. 63 จำนวน 132 ราย วันที่ 18 เม.ย. 63 จำนวน 131 ราย วันที่ 19 เม.ย. 63 จำนวน 161 ราย จะมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใน 2 วันแรกนี้ และวันสุดท้ายเครื่องบินจะไปลงที่สนามบินอู่ตะเภา เมื่อถึงประเทศไทย ฝ่ายความมั่นคงได้จัดพื้นที่ State Quarantine โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่จัดดูแลให้ โดยเป็นความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนเพื่อให้คนไทยได้กลับมาสู่ครอบครัวของตนเอง
 
สถานการณ์จัดส่งหน้ากากอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 17 เม.ย. 2563 ประกอบด้วยจำนวนรับเข้า 22,493,500 ชิ้น ระหว่างจัดส่ง 997,050 ชิ้น จัดส่งแล้วทั้งหมด 21,496,450 ชิ้น

ประยุทธ์ จ่อจม.เปิดผนึก ขอมหาเศรษฐี-เอกชน ร่วมสู้

วันนี้ เวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เพื่อขอความร่วมมือขอมหาเศรษฐีไทย และภาคเอกชน ร่วมสู้โควิด-19 กับรัฐบาล 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าจะเตรียมการออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ 20 ราย ว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร ร่วมมือกันอย่างไร ขอให้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประเทศ และร่วมกันเป็นทีมประเทศไทย ในช่วงเวลาที่ประเทศต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เพราะความเดือดร้อนของคนไทย ก็คือความเจ็บปวดของพวกท่าน และได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน รับฟังความคิดเห็น เพื่อที่รัฐบาลจะได้ดำเนินการแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

(ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

รพ.มงกุฎวัฒนะจับมือ สปสช.ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รุกบริการคัดกรอง เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน

ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.ปริญญา ชมวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. และคณะ  ได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีความพร้อมรับการตรวจรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยมี พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ต้อนรับและนำเยี่ยมชมพร้อมให้ข้อมูลการบริหารจัดการการรับมือสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติให้กรณีโรคโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมตั้งแต่การคัดกรองผู้ติดเชื้อ การตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงและด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยยืนยันและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องเร่งดำเนินการควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว นอกจากการดำเนินงานในส่วนของโรงพยาบาลภาครัฐแล้ว ความร่วมมือของโรงพยาบาลเอกชนนับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สนับสนุนโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการจัดบริการเพื่อดูแลประชาชนกรณีโรคโควิด-19

โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เป็นโรงพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความร่วมมืออันดี ที่ผ่านมานอกจากการตรวจวินิจฉัยและรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งโรงพยาบาลได้มีการจัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ และพื้นที่สำหรับดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังได้เพิ่มการจัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุก มีหน่วยเคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจคัดกรองโรคในชุมชนเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 นำเข้าสู่กระบวนการรักษาและติดตามเฝ้าระวัง ตามมาตรฐานการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดตามกรมควบคุมโรคกำหนด ทั้งนี้โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะได้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (Lab) ขึ้นใหม่ เพื่อตรวจค้นหาเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ ทำให้สามารถตรวจยืนยันผลการตรวจได้รวดเร็วขึ้น  

“ในการคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 คนไทยทุกคนสามารถเข้ารับบริการได้ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากเป็นสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ ครอบคลุมคนไทยทุกคน และในกรณีที่ตรวจพบเชื้อและเข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล จะเป็นไปตามสิทธิประโยชน์ของแต่ละกองทุน เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุน อปท. และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง)” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ด้าน พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โรงพยาบาลได้จัดเตรียมระบบบริการให้กับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างเร่งด่วน โดยเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่ การจัดเตรียมสถานที่อาคารซี (C) ซึ่งเป็นอาคารที่เคยใช้รักษาผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่ปัจจุบันย้ายไปใช้ที่ตึกสร้างใหม่ทั้งหมด จึงมีพื้นที่ตึกเดิมรองรับผู้ป่วยได้เต็มพื้นที่ ซึ่งสามารถรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้สูงสุดถึง 30 เตียง และที่ผ่านมาได้ให้บริการดูแลผู้ป่วยโควิดแล้ว 35 ราย ในจำนวนนี้ยังคงรักษาตัวอยู่ 5 ราย อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลได้เตรียมการเพื่อเป็น “ศูนย์สำรองเตียง” (RESERVE) ในการสนับสนุนภาครัฐหากสถานการณ์การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและติดต่อกันเป็นวงกว้าง และยังได้จัดเตรียมลานจอดรถที่เป็นพื้นที่โล่งกว้างใช้เป็นพื้นที่สนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้แก่รัฐบาลและกองทัพ หากเกิดสถานการณ์ระบาดรุนแรงสูงสุดตามคาดการณ์ไว้     

นอกจากนี้โรงพยาบาลยังได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 1,500 คน เพื่อให้บริการคัดกรองเชิงรุก โดยในวันนี้ทางโรงพยาบาลได้ลงพื้นที่คัดกรองประชาชนพบผู้ที่มีความเสี่ยงจำนวน 40 คน และได้เจาะเลือดเพื่อส่งห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลแล้ว โดยห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลมีศักยภาพสามารถตรวจหาเชื้อได้ถึง 180 รายต่อวัน และได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไตรมาสแรกพบปัญหาการเลื่อน - ยกเลิกตั๋วสายการบิน และปัญหาหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย สถานการณ์ผู้บริโภคไตรมาสแรกของปี 2563 พบปัญหาการเลื่อน - ยกเลิกตั๋วสายการบิน และปัญหาหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 

ข่าวมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) รายงานว่า มพบ. เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบหลายด้าน มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภคได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 1,055 เรื่อง

ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งและสองยังคงเหมือนกับสถิติปี 2562 คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 381 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 36.11 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด และ บริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 353 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 33.46 โดยปัญหาการเลื่อน - ยกเลิกเที่ยวบิน เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่องการเงินการธนาคาร มีเรื่องร้องเรียน 94 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 8.91 โดยปัญหามากกว่าครึ่งหนึ่งของหมวดการเงินการธนาคาร เป็นการปรึกษาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ซึ่งปัญหาการเลื่อน - ยกเลิกเที่ยวบิน และปัญหาหนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เมื่อดูรายละเอียดของเรื่องร้องเรียนจะพบว่า หมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (381 เรื่อง) ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหรือหลอกลวง ซึ่งมีมากถึง 137 เรื่อง มีทั้งการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง การแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ทั้งนี้ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลข อย. ผลิตภัณฑ์ที่ฉลากถูกสั่งเลิกใช้แล้ว และผลิตภัณฑ์ที่ฉลากไม่ครบถ้วน ไม่มีภาษาไทย

สำหรับหมวดบริการสาธารณะ (353 เรื่อง) เรื่องรถโดยสารสาธารณะยังคงเป็นปัญหาที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด มีจำนวน 216 เรื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องพนักงานประพฤติตัวไม่เหมาะสม และการชดเชยเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร ประเภทรถที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ รถตู้โดยสาร และรถโดยสารประจำทาง (รถทัวร์) นอกจากนี้ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมายังพบการร้องเรียนสายการบินจำนวน 128 เรื่อง โดยเป็นปัญหาเรื่องการเลื่อน - ยกเลิกเที่ยวบินถึง 124 เรื่อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาล เช่น การประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ เป็นต้น ซึ่งสายการบินควรจะมีนโยบายการเลื่อน ยกเลิก และคืนเงินให้ผู้บริโภค เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน จากการเลื่อน - ยกเลิกตั๋วสายการบินหรือทัวร์ สามารถอ่านรายละเอียดการร้องเรียน และดาวน์โหลดจดหมายได้ที่หน้าเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org

สุดท้าย หมวดการเงินการธนาคาร (94 เรื่อง) พบปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ขอคำปรึกษาเรื่องการผิดนัดชำระ จนเกรงว่าจะทำให้ตนเองติดเครดิตบูโรหรือถูกฟ้องคดี เนื่องจากเมื่อมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประชาชนบางกลุ่มถูกให้ออกจากงานเพื่อลดภาระของบริษัท หรือบางบริษัทต้องปิดตัวลง ทำให้ไม่สามารถหาเงินไปชำระหนี้บัตรเครดิตได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาธุรกิจเช่าซื้อยานพาหนะ ธุรกิจสินเชื่อ ที่ได้รับผลกระทบเรื่องการชำระหนี้  แม้รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือโดยให้สถาบันการเงินบางแห่งพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นเวลา 3 เดือน แต่ก็ยังช่วยเหลือลูกหนี้ได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากผู้บริโภคบางรายมีหนี้สินกับหลายสถาบัน แต่การหยุดพักชำระหนี้ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด รวมถึงระบบการเยียวยาไม่ได้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ทำให้ปัญหาเรื่องหนี้สินของผู้บริโภคยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น

จากปัญหาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภคได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 693 เรื่อง หรือร้อยละ 65.69 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมดในช่วงไตรมาสแรก โดยเรื่องเฝ้าระวังสินค้าอันตรายออนไลน์ ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA รวมถึงตลาดออนไลน์ต่างๆ (E-Market place) เช่น Lazada Shopee ในการจัดการปัญหา หากมีเรื่องร้องเรียนหรือพบว่ามีร้านค้าขายสินค้าที่ผิดกฎหมาย ตลาดออนไลน์ก็จะมีการตรวจสอบและดำเนินการนำสินค้านั้นออกจากหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านอื่น เช่น บริการสายการบิน มูลนิธิฯ และเครือข่าย ได้ประสานงานกับทางบริษัท เพื่อให้ยกเลิกและคืนเงินให้กับผู้บริโภค

คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ชี้แจงกรณีทดสอบเจลแอลกอฮอล์

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  รายงานว่า ตามที่ ปัจจุบันเกิดธุรกิจการผลิตและจำหน่ายเจลแอลกอฮอล์ขึ้นอย่างแพร่หลาย และพบว่าผู้ผลิตบางรายมีการใช้เมทานอลเป็นส่วนประกอบ จึงมีนักวิชาการห่วงใย และให้คำแนะนำเพื่อทดสอบเจลแอลกอฮอล์อย่างง่ายด้วยด่างทับทิม โดยใช้การสังเกตการเปลี่ยนสีภายใน 15 นาที โดยข่าวดังกล่าวได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนนำข่าวไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางแล้วนั้น

รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงปิยนุช โรจน์สง่า หัวหน้าฝ่ายเคมี ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจของประชาชน ว่าการทดสอบที่แนะนำเป็นการทดสอบสำหรับแอลกอฮล์ที่ไม่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม เจลแอลกอฮอล์มีความหลากหลายของสูตรตำรับ เนื่องจากในเจล หรือผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์มักมีการเติมสารต่างๆ ในตำรับ ดังนั้น วิธีการทดสอบต่างๆ จึงมีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

1. การทดสอบดังกล่าวจะให้ผลชัดเจน ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ปลอมนั้น คือ เมทานอล และไม่ได้เติมส่วนประกอบอื่นๆ

2. การทดสอบผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากเอทานอล หรือ ไอโซโพรพานอล ที่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นเบส เช่น triethanolamine อาจไม่ทำให้สีของสารละลายด่างทับทิมเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และใช้เวลานานกว่า 5 นาทีในการทำให้สีชมพูของสารละลายด่างทับทิมหายไป

3. ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ปลอมที่มีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี สารให้ความชุ่มชื้นเช่น glycerine สามารถเปลี่ยนสีของสารละลายด่างทับทิมในน้ำส้มสายชูได้ ถึงแม้จะไม่มีส่วนประกอบของเอทานอล หรือ ไอโซโพรพานอล หมายความว่าการที่ผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบเปลี่ยนสีสารละลายด่างทับทิมก็ยังอาจเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม หรือไม่ได้มาตรฐานได้

ดังนั้น การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ จากร้านขายยาคุณภาพ หรือผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประกาศว่าเป็นผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่ไม่ได้มาตรฐาน น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ได้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน และนำไปใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ

"คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีศูนย์วิเคราะห์คุณภาพเภสัชผลิตภัณฑ์ (MUPY-CAPQ) ที่ได้มาตรฐานคุณภาพ  ISO/IEC 17025 ซึ่งในส่วนของบริการทดสอบทางเคมี สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ E-mail: labiso.mahidol@hotmail.com หรือ FB: CAPQ-Chemical Devision โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งให้ประชาชนจะได้นำข้อมูลทางด้านวิชาการที่ถูกต้องไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป" รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงปิยนุช กล่าวทิ้งท้าย

สกสว. เผยผลวิจัยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของครัวเรือนไทยทั่วประเทศ มีผลโดยตรงต่อการยับยั้งและแพร่ระบาด

ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยรายงานการวิจัยต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) ว่า งานวิจัยพบว่าคนไทยตื่นตัวเฝ้าระวัง รับรู้ข่าวสาร และเข้าใจมาตรการต่าง ๆ ของรัฐชัดเจน ส่วนใหญ่พร้อมที่จะปฏิบัติตามข้อแนะนำของฝ่ายสาธารณสุข แต่มีข้อจำกัดหลายข้อซึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมครัวเรือนประจำวัน หรือเป็นพฤติกรรมทางสังคมทำให้มาตรการเหล่านั้นได้ผลน้อย หากรัฐต้องการความร่วมมือมากขึ้น ก็ต้องปรับช่องทางการใช้สื่อ ปรับเนื้อหาการสื่อสารให้เหมาะสม ตรงกับพฤติกรรมประจำวัน ให้มากขึ้น ความร่วมมือป้องกันการแพร่ระบาดก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

จากการติดตามและเฝ้าระวังเรื่องการรับรู้และผลการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐในสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ซึ่งมีข่าวว่าประชาชนวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการรัฐและปฏิบัติตามคำแนะนำแตกต่างกัน และบางกลุ่มก็คัดค้าน ผศ.ดร. ธานี จึงตั้งประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมคนไทยช่วงนี้ว่าจะมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาดที่ฝ่ายสาธารณสุขเผยแพร่หรือไม่ และจะมีการตอบสนองอย่างไร ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับความร่วมมือจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) เพื่อร่วมใช้ความรู้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ในงานวิจัยครั้งนี้ แบ่งการศึกษาคนไทยออกเป็น 4 กลุ่มคือ ผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง (คนในเขตเมือง) ผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองแต่รายได้น้อย (คนจนเมือง) ผู้อยู่อาศัยนอกเขตเมืองในต่างจังหวัด (คนชนบท) และผู้อยู่อาศัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คนชายแดนใต้) โดยศึกษาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองและการทำกิจกรรมร่วมกัน ศึกษาในช่วงเดือน มีนาคม 2563 ผ่านเครือข่ายวิจัยของกลุ่มสถาบันวิจัยระบบสุขภาพสาธารณสุข และเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั่วประเทศ  

จากงานวิจัยพบว่าคนไทยทั่วประเทศติดตาม รับรู้ ข้อมูลข่าวสารและมาตรการป้องกันฯ จากฝ่ายสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด มีทัศนคคิต่อข้อมูลเหล่านั้นดี และยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐ เช่น การไม่มีกิจกรรมร่วมกันหรือไม่สังสรรค์ร่วมกัน (สูงถึง 90%)  การไม่สัมผัสมือ (92%) และการล้างมือก่อนกินข้าวทุกครั้ง (80%) หรือการอยู่บ้าน (90%)  นั่นหมายถึงคนไทยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อมาตรการของรัฐดี ยินดีร่วมมือปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างพร้อมเพรียง  อย่างไรก็ตาม สภาพการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมประจำวันที่แตกต่างกันระหว่างคนเขตเมือง คนจนเขตเมือง  คนชนบทและคนเขตชายแดนภาคใต้ จึงทำให้มาตรการที่ฝ่ายสาธารณสุขแนะนำให้งดเว้นหลายข้อได้รับความร่วมมือไม่มากนัก เช่น การเข้าไปในพื้นที่แออัด การเข้าพื้นที่ตลาด หรือการใช้รถสาธารณะของคนจนเขตเมือง ยังสูงถึง 35% และ 22%  และคนเขตชายแดนใต้ยังใช้พื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมทางศาสนาสูงถึง 20% 

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ประชาชนดื้อรั้น หรือไม่เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐ งานวิจัยพบอีกว่า 89% ของกิจกรรมร่วมกัน หรือสังสรรค์กันของคนเหล่านี้ เกิดขึ้นภายในบ้านหรือครัวเรือน ข้อแนะนำบางข้อ เช่น การไม่ใช้มือจับหน้า ไม่สัมผัสหน้า การล้างมือก่อนกินข้าว  ล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำ จึงเป็นข้อนำที่ปฏิบัติได้ยาก เพราะครอบครัวจะเคยชินกับกินข้าวร่วมกันอันเป็นพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยเหล่านั้น  หรือมาตรการเรื่องการเว้นระยะห่าง ผลตอบรับจากคนกลุ่มนี้ก็จะไม่ดี เพราะสัดส่วนของจำนวนคนต่อการใช้พื้นที่ ค่อนข้างหนาแน่น เป็นครัวเรือนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในบ้านหรือในห้องเดียวกันหลายคน และด้วยสภาพทางเศรษฐกิจ ห้องก็อาจไม่กว้างมากพอที่จะเว้นระยะห่าง  มาตรการนี้จึงได้รับความร่วมมือน้อยกว่าคนในเมือง  ถ้ารัฐจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดให้สำเร็จ จะต้องเพิ่มระดับการควบคุมจากระดับบุคคลต่อบุคคล เสริมด้วยระดับบุคคลในครัวเรือนต่อบุคคลภายนอกด้วย 

ข้อเสนอหนึ่งของทีมวิจัยต่อการสื่อสารเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดนี้คือ ควรมีคำแนะนำหรือข้อปฏิบัติบอกว่าต้องทำอย่างไร ถ้าต้องอยู่ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น วิธีปฏิบัติตัวก่อน-หลังเข้าบ้าน วิธีใช้ห้องน้ำร่วมกัน วิธีอยู่ร่วมกันในบ้านกับเสนอให้รัฐ มองขอบเขตการควบคุมจากระดับบุคคล ให้เป็นระดับเป็นครัวเรือน ต้องมีมาตรการหลากหลายให้เหมาะสมกับพื้นที่และพฤติกรรมของครัวเรือน  เสนอแนะว่าควรยกจากระดับปัจเจกบุคคล ควบคู่ไปกับการดูแลเป็นครัวเรือน 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net