Skip to main content
sharethis

วัดกำหนดจะแจกข้าว 6 โมงเย็น
คนมาต่อแถวตั้งแต่ยังไม่ 4 โมงเย็น
 5 โมงเย็นแถวยาวเหยียดหลายร้อยเมตร ซ้อนกันสองสามแถว
ข้าว 500 กล่องแจกหมดตั้งแต่ 5 โมงครึ่ง
คนที่มาตอน 6 โมงจำนวนหนึ่งไม่ได้ข้าวติดมือกลับไป


แถวรอรับข้าว วัดลาดปลาเค้า (20 เม.ย.63) 

โชคดีที่วัดลาดปลาเค้ามีเก้าอี้ให้นั่งรอ ขณะที่หลายๆ วัดไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง ต้องหาร่มเงาเอาเองหรือยืนทนร้อน แต่สิ่งเดียวที่เหมือนกันทุกวัดคือ คิวยาวขึ้นเรื่อยๆ

วัดในกรุงเทพมีทั้งหมด 452 แห่ง ส่วนใหญ่มีชุมชนคนจนเมืองรายล้อมรอบวัด พระในวัดที่เราไปสุ่มสำรวจล้วนอธิบายว่าเหล่าญาติโยมรอบวัดมักเป็น “คนหาเช้ากินค่ำ”  ไม่ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ก็รับจ้าง

เมื่อไม่มีงานให้ทำในเมืองหลวง ไม่มีไร่นาสวนผสมให้กลับไปทำ และมาตรการเยียวยาของรัฐก็ไม่ถึงมือ ศูนย์รวมทรัพยากรอีกแหล่งหนึ่งอย่างวัดจึงกลายเป็นที่พึ่ง

ปลายเดือนมีนาคม พระสังฆราชจะมีพระดำริให้วัดที่มีศักยภาพช่วยประชาชนตามกำลัง วัดส่วนใหญ่ทำตามดำรินั้นในลักษณะที่ง่ายที่สุดคือ โรงทานแจกอาหาร ไม่ว่าสดหรือแห้ง แต่กระนั้น เราพบว่ามีหลายแห่งที่เริ่มต้นมาก่อนแล้ว ขณะที่วัดอีกจำนวนมาก (ที่ดูมีศักยภาพ) ยังไม่มีกิจกรรมนี้

อุไรวรรณ และ กานต์ สองสามีภรรยาหอบลูก 3 คนที่ยังเล็กมานั่งต่อคิวรับข้าวที่วัดลาดปลาเค้า อุไรวรรณเคยทำงานทำความสะอาดคอนโดมิเนียม ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท ทำงานทุกวัน แต่ปัจจุบันได้ทำสัปดาห์ละ 1 วันและถูกย้ายที่ทำงานให้ต้องเดินทางไกลขึ้น เมื่อไม่คุ้มค่ารถเธอจึงหยุดงาน ขณะที่กานต์เคยเช่าแท็กซี่ขับ เมื่อไม่มีลูกค้าจึงมาขับรถส่งอาหาร

“แย่เลย ตอนนี้ขับรถได้ก็เอาไว้จ่ายค่าเช่าห้อง ค่านม ค่าแพมเพิร์สลูกอย่างเดียว นี่ยังดีที่โรงเรียนยังไม่เปิด”กานต์ว่า

ครอบครัวของเขาต้องประหยัดสุดขีดด้วยการพยายามไม่ซื้ออาหาร ใครแจกตรงไหนก็ตระเวนรับ และแบ่งกินให้ได้หลายมื้อที่สุด เมื่อเงินค่าวิ่งรถออกนอกจากซื้อสิ่งของของลูกแล้วก็ต้องซื้อมาม่า ปลากระป๋องตุนไว้ด้วย

เราพูดคุยกับเขาด้วยความยากลำบาก เพราะเขาดูจะไม่สนใจตอบคำถามเราเท่ากับการถามกลับเรื่องการยื่นเรื่องขอเงิน 5,000 บาทในโครงการเราไม่ทิ้งกัน “ทำไมผมกับเมียไม่ได้ เรารับจ้างทั้งสองคน” “เขาจะพิจารณาอีกรอบนี่นานไหม รู้ผลเมื่อไหร่” “ทำไมเขาไม่มาตรวจสอบว่าพวกเราอยู่กันยังไง ห้องเช่าผมเล็กแค่ไหน” “ผมจำเป็นจริงๆ ค่าแพมเพิร์สค่านมลูก” “ทำไมซอยข้างๆ เขามีรถกระบะ กรอกเล่นๆ ทำไมเขาได้” “ระบบมันเป็นยังไงพี่” ฯลฯ

เขาใส่เสื้อสีชมพูโดดเด่น อุ้มลูกคนเล็กสุดวัยไม่ถึงขวบต่อแถวรับข้าว เหงื่อออกเต็มหน้ากร้านดำ เพราะแดดยังร้อนระอุ ตาแดงก่ำ คาดเดาว่าเพราะนอนน้อย

เมื่อถามถึงลู่ทางในต่างจังหวัด กานต์บอกว่า ถ้าไม่มีกินถึงที่สุดก็คงต้องกลับ แต่กลับไปก็ไม่มีช่องทางทำมาหากินอยู่ดี พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดก็เป็นหนี้สหกรณ์ที่ทำงานของพวกเขา ดังนั้นลำพังพวกเขาเองก็ลำบากมากอยู่แล้ว

“คงหากู้เขากินมั้งพี่ ผมก็ยังไม่รู้” กานต์กล่าว

ประสาร กุลสมบัติ อาชีพขับแท็กซี่ เป็นอีกคนที่มาต่ออยู่ท้ายแถวและมาตั้งแต่ 4 โมง เขาเล่าว่าวันนี้ทั้งวันขับรถส่งผู้โดยสารได้เงิน 200 บาท อาศัยกินข้าวเย็นที่วัดมาหลายวันแล้ว “ผมไม่อายนะ นาทีนี้ต้องเอาตัวให้รอดก่อน”

ประสารเป็นคนอุบลราชธานี ขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ มา 10 กว่าปีและเพิ่งออกรถเองได้ 2 ปีกว่า ผ่อนเดือนละ 21,000 บาท โชคดีที่เขาเจรจากับไฟแนนซ์ได้เพราะส่งไปหลายงวดแล้ว ไฟแนนซ์ยอมให้ส่งครึ่งหนึ่ง 10,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นค่อยเจรจาว่าไฟแนนซ์จะยอมผ่อนปรนอีกแค่ไหน รถจะหลุดจากมือเขาหรือไม่

“ผู้โดยสารน้อย 4-5 โมงเย็นคนหนีกลับบ้านกันหมดแล้ว เราอาศัยฟังข่าว มีข้าวแจกที่ไหนก็ไป ผ่านแล้วเห็นก็แวะ อย่างวันนี้ที่หัวเฉียวมีนะ แต่เราไม่ทัน อย่างน้อยมันก็ช่วยจุนเจือไปมื้อนึง ปกติเราซื้อกินก็ 40-50 แล้ว” ประสารว่า

ประสารก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้ 5,000 บาทของรัฐบาล “เขาบอกกำลังพิจารณา” คนขับแท็กซี่อีกคนหนึ่งที่นั่งต่อคิวรับข้าวข้างๆ ได้ยินเรื่องนี้จึงเล่าให้ฟังด้วยว่า “ผมก็ไม่ได้ เขาบอกว่าเป็นเกษตรกร เคยทำนาสิบกว่าปีมาแล้ว แล้วก็ไม่เคยลงทะเบียนอะไรที่ไหนด้วย”

เมื่อถามประสารว่าเขามีลู่ทางที่จะกลับไปวารินชำราบหรือไม่ เขาเล่าว่า ที่บ้านทำนาผืนเล็กๆ พอได้กิน แต่ทำในพื้นที่ของทหาร และไม่รู้ว่าจะโดนไล่วันไหน ดังนั้น บ้านนอกก็ดูไม่ใช่ทางออกที่ง่ายดายสวยหรูอย่างใครคิด

วัดลาดปลาเค้านับเป็นวัดที่ ‘ไฮเทค’ สุดในแง่ของการทำ ‘ตู้พ่นฆ่าเชื้อ’ แบบ DIY และมีการจัดระบบที่ดี จัดเก้าอี้ให้ญาติโยมได้นั่งรอ เว้นระยะห่าง มีระบบคัดกรอง วัดไข้ ให้เจลล้างมือ ใครไม่มีหน้ากากก็แจกหน้ากาก

พระมหาเขมานันท์ เจ้าอาวาสลงมาดูแลการแจกอาหารด้วยตัวเองทุกวัน แรกๆ วัดควักค่าใช้จ่ายเอง อาศัยจ้างแม่ครัววัดทำกับข้าว พระเณรช่วยแพ็คของ ตั้งโต๊ะ ช่วยจัดระเบียบญาติโยม ทำอาหารแจกวันละ 100 กล่อง ปัจจุบันขยับเป็น 600 กล่อง แต่วัดไม่ต้องควักทุนเองแล้วเนื่องจากมีญาติโยมที่มีฐานะรวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นร่วมถวายเป็นปัจจัยบ้าง เป็นอาหาร 200-300 กล่องบ้าง เรียกว่าวัดเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ เริ่มทำมาตั้งแต่ 26 มี.ค. และคิดว่าจะสามารถทำไปได้เรื่อยๆ ถึงสิ้นเดือนพ.ค.


เจ้าอาวาสวัดลาดปลาเค้า

“เราคิดขยาย ขนข้าวกล่องไปกระจายตามชุมชนด้วย ตอนนี้ทำได้วันละ 2 ชุมชนในเขตลาดพร้าว แจกชุมชนละ 200 กล่องให้ประธานชุมชนเป็นคนจัดการเพราะเขารู้ดีว่าใครลำบาก แล้วจะขยายไปเรื่อยๆ” เจ้าอาวาสกล่าว

000

ข้ามมาที่วัดลาดพร้าว ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างห้วยขวางกับลาดพร้าว มีชุมชนแออัดจำนวนมาก พระครูปลัดนิคม เจ้าอาวาสเล่าว่า เริ่มทำโรงทานมาตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.และน่าจะทำไปเรื่อยๆ เช่นกัน แรกๆ ก็เริ่มที่ 100-200 กล่อง ปัจจุบันอยู่ที่ราว 500-600 กล่อง

“แรกๆ คนที่มารับข้าวเป็นคนที่อยู่ในชุมชนรอบวัด คนหาเช้ากินค่ำทั้งนั้นแถวนี้ แต่หลังๆ ก็มีจากที่อื่นมาด้วย” เจ้าอาวาสเล่า เช่นเดียวกับที่อื่นๆ เมื่อวัดเริ่มต้นก็จะมีญาติโยมมาร่วมสมทบแจกทุกเย็นและบางทีก็มีรอบเช้าด้วย

กลุ่มเด็กหญิง 6-7 คน อายุราว 8-12 ปีนั่งรอรับข้าวหน้าศาลา ดูเหมือนจะเป็น ‘ขาใหญ่’ ของที่นี่ เด็กๆ เล่าว่า มากันตั้งแต่ก่อนบ่าย 3 เพราะคนมาจองคิวเยอะ

การรับแจกข้าวไม่ใช่เรื่องหมูๆ คนมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องรอนานท่ามกลางอากาศร้อน อาหารมีจำกัด วัดลาดพร้าวยังไม่ได้จัดเก้าอี้ให้นั่งคอย ดังนั้น ชาวบ้านจึงคิดหาวิธีจัดคิวกันเอง โดยพระจะพ่นสีเป็นจุดๆ ไปตามพื้นเพื่อกำหนดระยะห่างในการยืนเข้าแถว คนที่มาก่อนจะเอารองเท้าไปวางไว้ตามจุดนั้นเสมือน ‘บัตรคิว’ จากนั้นหาร่มไม้นั่งรอจนกว่าจะเริ่มแจก และอย่าเดินเยอะเพราะซีเมนต์มันร้อน

“วางแล้วต้องเฝ้าใกล้ๆ ไม่งั้นเค้าเตะรองเท้าเราออก แล้วบางคนก็ชอบแซง หนูต้องพูดเสียงดังให้พระได้ยินว่าตรงนี้มีคนจองแล้ว เขาจะได้มาจัดการ หนูไม่ได้ฟ้องนะ แค่พูดเสียงดัง” กลยุทธ์ของเด็กหญิงวัย 11 ขวบ

เด็กๆ เหล่านี้หน้าตาและเสื้อผ้าสะอาดสะอ้าน ครอบครัวอยู่ใกล้วัดและไม่ได้ยากจนข้นแค้นแสนสาหัสแบบวงเวียนชีวิต แต่พวกเขาก็อยู่ในสภาวะลำบาก บางคนพ่อแม่ยังมีงานทำแต่ลดลง จึงอนุญาตให้ลูกตระเวนรับข้าวแจก เพื่อแบ่งเบาภาระค่าอาหาร

“เรามารับแล้วก็กินของเราให้อิ่ม เขาจะได้ไม่ห่วง ไม่ต้องหาเผื่อ”  เด็กหญิงอีกคนหนึ่งกล่าว

000

ที่วัดตะพาน ตั้งอยู่ย่านราชปรารภ ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ย่านนี้ผู้คนอยู่แออัดหนาแน่น คนไร้บ้านมีมากกว่าเขตอื่น แรงงานต่างด้าวก็เช่นกัน พระมหาอภิชาต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสเล่าว่า ทางวัดเริ่มแจกจ่ายข้าวสารอาหารแห้งสัปดาห์ละ 2 วัน แต่ไม่สามารถประกาศให้มารับที่วัดได้เพราะคนจะมากันมหาศาลและวัดไม่สามารถจัดการได้ ครั้นจะประสานผู้นำชุมชนเอาไปแจกก็เป็นการยากอีก เพราะชุมชนรอบวัดตะพานไม่ได้จดทะเบียนเป็นกิจจะลักษณะ เป็นชุมชนแออัดโดยแท้ จึงอาศัยญาติโยมที่รู้จักชุมชนดีช่วยกระจายของ โดยแรกๆ วัดได้กันงบประมาณส่วนหนึ่งมาทำเรื่องนี้ แต่หลังจากเริ่มทำและประชาสัมพันธ์ในเพจก็มีญาติโยมช่วยสมทบทุนจนตอนนี้บัญชีดังกล่าวหลายหมื่นบาท

“บางส่วนเราก็ลงแจกเองเลย เพราะของมีจำกัดเราอยากให้คนที่เขาลำบากมากจริงๆ ก่อนเป็นอันดับแรก อาตมาเคยตามเด็กคนหนึ่งที่มารับของแจกไปดูบ้านเขา เป็นชุมชนแออัดใกล้วัดนี้เอง ขนาดอาตมาอยู่มานานก็ยังไม่รู้เลยว่าตรงซอกนั้นมีคนอยู่แบบนั้นด้วย” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสเล่า

“ตอนนี้เราขยายออกไปมากขึ้น เริ่มแบบใหม่ให้เป็นคูปอง อย่างเช่นจะแจกคนในซอยหมอเหร็ง คนอาศัยอยู่เป็นพัน เรามีของแห้งแค่ 200 ชุดก็อาศัยให้คนพื้นที่เอาคูปองไปแจกจ่ายคนในซอยที่ลำบาก เขาจะรู้ว่าใครลำบากที่สุด แล้วให้เขาทยอยมาเบิกของที่วัด แบบนี้คนจะไม่มากระจุกตัว”

“ชาวบ้านช่วยวัด วัดช่วยชาวบ้าน เราพึ่งพิงกัน ถ้าชาวบ้านเดือดร้อนก็อย่าหวังพระจะอยู่ได้” พระมหาอภิชาตกล่าว

000

ขณะที่วัดสีกัน ดอนเมือง พระครูโพธิสุตากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสเล่าว่า แรงบันดาลใจในการตั้งโรงทานมาจากญาติโยมนี่แหละที่เอาอาหารใส่ท้ายรถกระบะมาแจกคนยากจนที่หน้าวัด พระครูจึงคิดว่าพระก็ควรจะต้องลุกขึ้นมาทำบ้าง ประกอบกับมีพระดำริของพระสังฆราช จึงได้จัดตั้งโครงการโรงทานเป็นกิจจะลักษณะ ปัจจุบันเพิ่มจาก 200 กล่องเป็น 1000 กล่อง แจกทุกวันพุธและวันเสาร์ 9.00-11.00 น. โดยช่วงหลังก็มีญาติโยมบริจาคอาหารและปัจจัยแก่วัดเช่นเดียวกับที่อื่นๆ

“ยามสุขชาวบ้านเขาพึ่งพาวัดได้ในแง่ธรรมะ ยามทุกข์เราก็ให้กำลังใจ ให้สติ และหากทำได้มากกว่านั้นก็ควรทำ มีลักษณะของการ engage ไม่ใช่บวชแล้วหนีจากโลก มุ่งเป็นพระอรหันต์ แต่ควรเป็นส่วนหนึ่งของโลก ของสังคม” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสกล่าว

000

สถิติที่เยอะที่สุดตอนนี้เห็นจะเป็นเชียงใหม่ วัดเจดีย์หลวง พระครูกิตวิมล เจ้าอาวาสเล่าว่า แจกมาตั้งแต่ 26 มี.ค.แล้วและแจกอยู่ที่ 2000-2500 กล่องทุกวันตอนเย็น แจกทั้งญาติโยมที่มาต่อแถว แจกทีมดับไฟป่า 100 กว่าชีวิต แจกบุคลากรโรงพยาบาลที่มาแจ้งความประสงค์ขอรับ ฯลฯ ในช่วงแรกวัดเล็กๆ รอบข้างก็มีแจกบ้างตอนเช้า แต่ปัจจุบันยุติแล้วไม่แน่ใจว่าเพราะหมดปัจจัยหรือเพราะทางการประกาศห้ามแจกของและกำหนดให้ต้องทำหนังสือ อย่างไรก็ตาม วัดเจดีย์หลวงยังไม่ถูกสั่งห้าม และวัดได้จัดระบบอย่างดีตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าวัด พระเณรช่วยจัดระเบียบ ช่วยทำกับข้าว และญาติโยมก็ช่วยบริจาค กระนั้น ทางวัดก็ยังต้องควักงบประมาณไปกว่า 1 ล้านบาทแล้ว เจ้าอาวาสกล่าวว่า หากทำในสเกลนี้คงสามารถทำได้ถึงสิ้นเดือน พ.ค.เท่านั้น ที่เหลืออาจทำเท่าที่มีคนบริจาค


ภาพจากพรพิศ ผักไหม

พื้นที่เชียงใหม่นั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ พรพิศ ผักไหม นักกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งอยู่ที่นั่นมานานเล่าว่า ปัจจุบันเธอทำขนมเพื่อร่วมสมทบกับองค์กรบ้านเตื่อมฝันที่ดูแลแจกอาหารคนไร้บ้านในตัวเมืองเชียงใหม่

“น้องที่ทำงานบอกว่าเคยดูแลอยู่ 50-60 คน ตอนนี้มีเป็น 120-130 คนที่นอนในที่สาธารณะ” พรพิศกล่าว

พรพิศเล่าว่า ที่เชียงใหม่มีแรงงานอพยพที่มาจากที่อื่นจำนวนมากเพื่อทำงานรับจ้างทั่วไป เช่าห้องพักอยู่คนเดียวก็มี หลังจากมีมาตรการ lock down จึงเกิดปรากฏการณ์ “ทิ้งหอ” กันมาก คนจำนวนหนึ่งอาจมีที่ไป อีกบางส่วนอาศัยกินตามวัด นอนที่สาธารณะ เพื่อรอให้เดือนเมษายนผ่านไปและหวังว่าจะมีงานรับจ้างอีกครั้ง

“ขนาดบางหอพักเขาลดค่าเช่าให้ครึ่งหนึ่ง คนยังไม่มีปัญญาหามาจ่ายกัน ต้องออกจากหอไปเลย” พรพิศว่า

ในส่วนของคนไร้บ้านกลุ่มดั้งเดิมนั้น มีกลุ่มเอ็นจีโอดูแลนำอาหารและขนมไปแจกจ่าย ผลพลอยได้คือ ทำให้พวกเขาอยู่ได้ ไม่ต้องดิ้นรนออกจากพื้นที่เดิมด้วย ผู้คนจะได้ไม่กังวลว่าเรื่องสุขอนามัยของพวกเขา


ภาพจากเพจบ้านเตื่อมฝัน

“ที่อาบน้ำสำคัญมาก ผู้ชายยังไม่ค่อยมีปัญหา ผู้หญิงลำบาก คนไร้บ้านที่เป็นผู้หญิงก็มี คนพวกนี้เขาก็อาศัยปั๊มบ้าง แต่ไปบ่อยๆ ก็โดนไล่ ตอนนี้ก็เห็นใช้แม่น้ำปิงกัน โปรเจ็คหาห้องน้ำยังไม่สำเร็จ ในวัดเขาก็ปิดส่วนอาบน้ำไปแล้ว มีแต่ห้องส้วมให้เข้าได้ เพราะวัดก็รองรับจัดการไม่ไหว ถึงอย่างนั้นห้องน้ำก็ใช้ได้แค่ 6 โมงเย็นพอแจกข้าวเสร็จวัดก็ปิดประตู” พรพิศเล่า

วัดไม่ใช่เซเว่นจึงมีเวลาปิดและเปิด ส่วนเซเว่นก็ไม่มีห้องน้ำ ปั๊มก็ใช้ได้เป็นครั้งคราว ต้องเปลี่ยนเวียนที่ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ประกาศนโยบายช่วยเหลือ แต่คนที่ทำงานในพื้นที่ไม่เห็นเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แก้ปัญหาเหล่านี้ คนที่พยายามจะเอาอาหารมาแจกเริ่มถูกห้าม ถูกจับ เพราะทางการกลัวเชื้อโรคแพร่กระจาย แต่ไม่กังวลเรื่องการอดตาย สถานการณ์จึงยังมีลักษณะลูกผีลูกคนอยู่มาก ความช่วยเหลือจะไหลไปสู่วัดมากขึ้นหรือไม่ ยังเป็นคำถาม

ถึงอย่างนั้นก็ตาม แม้วัดต่างๆ จะเริ่มดำเนินการช่วยเหลือประชาชนแล้ว แต่ยังคงมีโจทย์ของความทั่วถึงและความยั่งยืน ยังไม่นับรวมเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“มารับข้าวกับวัดก็ยังสบายใจกว่า คิดอย่างนั้นนะ เพราะวัดเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นของคนทุกคน ตอนมีเราก็ทำบุญกับวัด ตอนไม่มีเราก็พึ่งวัด ไปรับที่อื่นมันเหมือนเป็นบุญเป็นคุณกัน” พรพิศแสดงความเห็น

000

รูปแบบหนึ่งที่อาจทลายพรมแดนข้อจำกัดต่างๆ ได้บ้างคือ โรงทานออนไลน์

พระมหาไพรวัลย์ เป็นพระชื่อดังในโซเชียลมีเดีย หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าท่านจำวัดอยู่ที่ไหน แต่ญาติโยมไม่ต้องเดินทางไปหา เพราะสามารถส่งเรื่องทุกข์ร้อนไปบอกท่านได้โดยตรง เรียลไทม์ ผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ท่านจึงได้รับข้อความจำนวนมหาศาล ขอความช่วยเหลือหลายรูปแบบ ขอให้อุดหนุนสินค้า หรือขอจำนำกบเลื่อยไม้ก็มี


ภาพจากเพจพระมหาไพรวัลย์

แรกๆ พระมหาไพรวัลย์ก็เปิดรับบริจาคมาซื้อของแห้งและตระเวนแจก แต่นั่นทำได้อย่างจำกัด และหลังจากรัฐมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ‘โรงทานออนไลน์’ จึงเกิดขึ้น

วิธีดำเนินการทั้งหมดอยู่บนออนไลน์ โดยพระประกาศรับบริจาคจากผู้มีกำลังและจิตศรัทธา ในอีกด้านหนึ่งก็จะคัดเลือกญาติโยมผู้มีความเดือดร้อนที่ส่งข้อความมาแจ้งไว้ ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ขายอาหารสารพัดอย่าง รายเล็กรายน้อย จากนั้นพระมหาไพรวัลย์จะจัดงบประมาณเหมาซื้ออาหาร ขนมของบุคคลต่างๆ และขอให้บุคคลนั้นๆ นำของไปแจกจ่ายให้ชุมชนใกล้เคียงที่เดือดร้อน

พูดง่ายๆ ว่า เหมาอาหารจากพ่อค้าแม่ค้าที่เดือดร้อนแต่มีเงื่อนไขว่าเขาต้องทำแล้วนำไปแจกต่อ จากนั้นพ่อค้าแม่ค้าก็จะถ่ายรูปกิจกรรมส่งมาให้พระ

โมเดลนี้กระจายตัวได้สูง รวดเร็ว ทำได้ทั้งพระและฆราวาส จึงเริ่มมีพระรวมถึงญาติโยมที่นำโมเดลนี้ไปใช้ในหลายพื้นที่แล้ว

“ความจนมันซับซ้อน ที่พระนักเทศน์หรือไลฟ์โคชมักพูดว่า คนจนอ่อนแอ ไม่สู้ ไม่มีไอเดีย การลงพื้นที่การได้สัมผัสจะทำให้รู้ว่า ความลำบาก ความเป็นจริงมันเป็นยังไง จริงๆ แล้วพวกเขาเข้มแข็งมาก อาตมาเจอผู้หญิงคนหนึ่ง ขับวิน เลี้ยงลูกและพ่อแม่รวม 7 คนด้วยตัวคนเดียว หาเงินได้ทั้งวัน 70 บาท อาตมาเอาข้าวสารไปแจก เขาบอกว่ายางรถดันรั่วอีก ต้องเจียดเงินนี้ไปปะยางด้วย แล้วเขาก็หัวเราะ เขายังหัวเราะกับมันได้” พระมหาไพรวัลย์กล่าว

ทั้งหมดนี้คือ ความยากลำบากระดับพื้นผิวของคนจนบางส่วนในประเทศไทย รวมถึงความพยายามของพระในที่ต่างๆ ที่พอจะช่วยกันได้วันต่อวัน มื้อต่อมื้อ ท่ามกลางโจทย์ใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้ามากมาย และมากเป็นพิเศษสำหรับคนจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net