Skip to main content
sharethis

สถานการณ์โควิด 19 วันที่ 24 เม.ย.63

  • ไทยวันนี้ ไม่พบผู้เสียชีวิต
  • โลกติดสะสม 2.7 ล้าน ตาย 1.9 แสน
  • มีผู้รวมกลุ่ม ชุมนุม มั่วสุม เดือนเม.ย. 1.9 พัน 
  • รามฯ ประกาศลดค่าหน่วยกิต 40%
  • สปสช.เผยช่วงโควิด-19 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรับยาต้านไวรัสได้ที่ รพ.ในระบบบัตรทองทุกแห่ง
  • ทันตแพทยสมาคมฯ ออก 'คู่มือทำฟันป้องกันโควิด-19' สร้างความเข้าใจประชาชน
  • ม.มหิดล ชี้รังสี UV ฆ่าเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ หากใช้ถูกวิธี

24 เม.ย.2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

ไทยวันนี้ ไม่พบผู้เสียชีวิต

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นกลับบ้านได้ 60 ราย รวมผู้ที่หายป่วยแล้ว 2,490 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,854 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ตัวเลขผู้เสียชีวิตคงเดิมที่ 50 ราย กลุ่มอายุของผู้ป่วยที่มากที่สุดคือ 20-29 ปี ด้านผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ลดลงเหลือ 314 ราย ต้องขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ดูแลผู้ป่วยด้วย สำหรับผู้ป่วยใหม่ 15 รายนี้ จำแนกเป็น 11 รายเป็นผู้ป่วยจากระบบการเฝ้าระวังและระบบบริการ โดย 9 รายเกี่ยวข้องกับการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันก่อนหน้านี้ ซึ่ง 9 รายนี้พบที่กรุงเทพฯ 4 ราย ภูเก็ต 4 ราย สงขลา 1 ราย  ส่วนที่ไปสถานที่ชุมนุมชน ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว พบที่ปทุมธานี ไปตลาดบางปะอิน ปทุมธานีคลองหนึ่ง จำนวน 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ด้านการค้นหาเชิงรุกที่จังหวัดยะลา พบผู้ป่วย  4 คน รวมเป็น 15 คน
 
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการกระจายตัวของผู้ป่วยใน 10 จังหวัดแรกที่มีจำนวนมากที่สุด ยังเป็นกรุงเทพฯ 1,457 ราย ภูเก็ต 200 ราย นนทบุรี 152 ราย สมุทรปราการ 111 ราย ยะลา 99 รายซึ่งยะลามี State Quarantine 8 ราย สำหรับกรณีการเรียกเคสผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค หรือ PUI เข้ามารับการตรวจนั้น ขณะนี้กรุงเทพฯ ค้นหาผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ PUI จำนวน 11,665 ราย รองลงมาคือยะลา 4,448 ราย นนทบุรี 3,600 กว่าราย ภูเก็ต 2,000 กว่าราย ชลบุรี 1,800 กว่าราย สมุทรปราการประมาณ 1,300 ราย ทั้งนี้ การพยายามเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดก็เพื่อต้องการให้รับรู้ว่าต้องมีการค้นหาเชิงรุกให้มาก ๆ โดยจังหวัดที่เป็นสีแดงทั้งหลายล้วนแต่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสแกนหาคนที่มีอาการให้เข้ามารับการรักษา ฉะนั้น ถ้าประชาชนอยู่ในจังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงดังกล่าว แล้วมีอาการไข้ ไอ มีประวัติการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอให้เข้ามายังสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับบริการตรวจได้

โลกติดสะสม 2.7 ล้าน ตาย 1.9 แสน

โฆษก ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์ของโลกว่า  ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยูที่ 2,700,000 กว่าคน อาการหนัก 58,000 กว่าคน คิดเป็นประมาณ 2.2% หายป่วยแล้ว 74,000 กว่าคน เสียชีวิต 190,000 กว่าคน คิดเป็นประมาณ 7% โดยขณะนี้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมประมาณ 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา คาดการณ์จะมีการเสียชีวิตประมาณ 4% แต่ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 7%  ดังนั้นการที่จะบอกเป็นตามฤดูกาลและพยายามจะลดความสำคัญลงจึงไม่ใช่ เพราะอัตราการเสียชีวิตสูงมากถึง 7% แล้ว ทั้งนี้ประเทศสหรัฐอเมริกายังเป็นอันดับที่ 1 ที่มีอัตราการเสียชีวิสูงที่สุดของโลก จำนวน 49,000 กว่าคน เพิ่มขึ้นภายในวันเดียวถึง 2,169 คน และคาดว่าพรุ่งนี้ (25 เมษายน 63) จำนวนผู้เสียชีวิตจะไปอยู่ที่ 50,000 คน ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 800,000 กว่าคน และคาดว่าจะไปถึงหลักล้านในเร็วนี้ และประเทศที่เสียชีวิตรองลงมาคืออังกฤษ ฝรั่งเศส รวมทั้งสเปน อิตาลี เยอรมนี ก็ยังอยู่ในอันดับต้น ๆ เช่นกัน ส่วนประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ อันดับที่ 1 คือ สหรัฐอเมริกา ตามด้วยรัสเซีย (เพิ่มขึ้นวันเดียว 4,700 กว่าคน) และสเปน 
 
ส่วนเรื่องที่มีหลายคนห่วงใยกรณีที่ยังมีคนไทยที่เรียนหนังสืออยู่ในกลุ่มประเทศทางอเมริกาใต้จะได้เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อไร โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศเปรู มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 20,914 คน ผู้ป่วยรายใหม่วันเดียว 1,600 กว่าคน ทำให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองมีความเป็นห่วงลูกหลานตนเองนั้น โฆษก ศบค. กล่าวชี้แจงว่าขณะนี้สถานทูตแต่ละแห่ง เอกอัครราชทูต และสถานกงสุล ต่าง ๆ ที่อยู่ในทุกประเทศ ทำงานอย่างหนัก และมีการประสานกับคนไทยทุกคน ขณะเดียวกันคนไทยและนักเรียนไทยที่อยู่ในต่างประเทศก็สามารถโทรศัพท์ประสานติดต่อมายังสถานทูตต่าง ๆ ตามเบอร์ที่ได้เคยแจ้งไว้แล้วในเว็บไซต์ ซึ่งมีเบอร์ฮอตไลน์ของเอกอัครราชทูตสามารถที่จะแจ้งมาได้  เพราะบางประเทศปิดสนามบิน ไม่สามารถที่จะมีการบินพาณิชย์ได้ ฉะนั้นจึงต้องรอให้เปิดสนามบินถึงจะเดินทางกลับประเทศไทยได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าคนไทยโดยเฉพาะเด็ก ๆ และคนที่มีภาวะที่ต้องพึ่งพิงสูงต้องได้รับการดูแลก่อน ซึ่งที่ประชุม ศบค. โดยรองผู้บัญชาการทหารบก ได้ย้ำถึงเรื่องนี้ว่าจะต้องพยายามดูแลทุกคนและนำกลับบ้านให้ได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับหลายสถานการณ์ รวมทั้งเรื่องของเครื่องบิน น่านฟ้าของประเทศนั้น ๆ ว่าเปิดหรือไม่ และการจัดการเรื่องของ State Quarantine  ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยได้มีการเตรียมการทุกอย่างรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ประชาชนทุกคน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้อุ่นใจและสบายใจได้ต่อการดำเนินการดังกล่าว
 
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของเอเชียนั้น ญี่ปุ่นเมื่อวานนี้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 418 คน สิงคโปร์รายใหม่เพิ่มขึ้น 1,037 คน ทำให้ตัวเลขรวมของผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 11,100 กว่าคน เกาหลีใต้ รายใหม่เพิ่ม 6 คน ป่วยยืนยันสะสม 10,700 กว่าคน อินโดนีเซีย รายใหม่เพิ่ม 357 คน รวมป่วยยืนยันสะสมประมาณ 7,700 คน ฟิลิปปินส์ รายใหม่เพิ่ม 200 กว่าคน รวมป่วยยืนยันสะสม 6,900 คน มาเลเซีย รายใหม่เพิ่ม 71 คน ป่วยยืนยันสะสม 5,600 คน ข้อมูลเหล่านี้ ทุกคนต้องช่วยกันติดตามสถานการณ์การติดเชื้อของประเทศต่าง ๆ รอบประเทศไทย เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาพิจารณาในการดูแลคนในประเทศไม่ให้การเข้า-ออกเป็นตัวการนำเชื้อเข้ามาในประเทศได้ ทั้งนี้ในส่วนของตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ขณะนี้ประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นนำต่อเนื่อง รวมถึงสิงคโปร์ที่มีอัตราการติดเชื้อพุ่งขึ้นเช่นกัน ตามด้วยปากีสถาน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์

โฆษก ศบค. กล่าวว่า วันนี้จะมีคนไทยเดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น 31 คน เวลา 15.30 น. คนไทยเดินทางกลับมาจากอินเดีย ซึ่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ 104 รูป แม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรม รวม 171 คน เวลา 15.10 น. ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (25 เมษายน 63) จะมีนักศึกษาไทย คนไทยที่ตกค้าง เดินทางกลับมาจากอิหร่าน 21 คน เวลา 07.25 น. และยังมีคนไทยที่จะเดินทางกลับมาจากอินเดีย เป็นพระภิกษุสงฆ์ 122 รูป แม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรม รวม 171 คน เวลา 15.10 น. โฆษก ศบค. ย้ำว่าหากคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและต้องการเดินทางกลับให้ติดต่อสถานทูตในประเทศนั้น ๆ เพื่อที่ทาง ศบค. จะได้ทราบจำนวนตัวเลขผู้มีความประสงค์จะเดินทางกลับอย่างแน่ชัด และจัดเตรียมพื้นที่ในการทำ State Quarantine ให้เพียงพอ

มีผู้รวมกลุ่ม ชุมนุม มั่วสุม เดือนเม.ย. 1.9 พัน 

รายงานผลจากการปฏิบัติการจากการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวประจำวันที่ 24 เม.ย. 63 โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงพบว่า หลังการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ ลดจำนวนด่านตรวจ และจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเพื่อลาดตระเวนตามพื้นที่ในชุมชน ทำให้จำนวนตัวเลขของผู้กระทำผิดกรณีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ลดลง โดยประชาชนที่กระทำความผิด กรณีออกนอกเคหสถานลดลงไป 135 ราย เหลือ 485 ราย ประชาชนที่กระทำความผิดกรณีมั่วสุมลดลง 67 ราย เหลือ 39 ราย ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานลาดตระเวน และขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19
 
รายงานการพบผู้ละเมิดกระทำความผิดในแต่ละภาค จังหวัดเชียงใหม่พบผู้กระทำความผิด 9 ราย ภูเก็ตพบผู้กระทำความผิด 28 ราย สุรินทร์พบผู้กระทำความผิด 13 ราย ปทุมธานีพบผู้กระทำความผิด 38 ราย ส่วนกรุงเทพฯ พบผู้กระทำผิดกรณีออกนอกเคหสถาน 35 ราย และผู้กระทำผิดกรณีรวมกลุ่มมั่วสุม 6 คน โดยปทุมธานีมีจำนวนผู้ฝ่าฝืนมากที่สุดจำนวน 38 ราย กรุงเทพฯ 35 ราย ภูเก็ต 28 ราย สงขลา 27 ราย ปัตตานี 24 ราย นนทบุรี กระบี่ ลพบุรี สระบุรี และสุรินทร์ ตามลำดับ สำหรับจังหวัดที่ไม่พบผู้กระทำผิดฝ่าฝืนเลย ได้แก่ สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ยโสธร นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม สกลนคร น่าน เพชรบุรี และพังงา
 
โฆษก ศบค. ยังได้รับรายงานเพิ่มเติมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงจำนวนผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดรวมกลุ่ม ชุมนุม มั่วสุม ตั้งแต่วันที่ 3 – 22 เม.ย.63 รวม 1,972 ราย กลุ่มที่กระทำผิดมากที่สุดจำแนกตามอายุ คือกลุ่มอายุไม่เกิน 18 ปี และกลุ่มอายุ 19 – 30 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 1,352 ราย เพศหญิง 620 ราย ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการเล่นพนัน จึงขอความร่วมมือให้ช่วยกันตักเตือนบุตรหลานไม่ให้กระทำผิดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส-19

 

ที่มา : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

รามฯ ประกาศลดค่าหน่วยกิต 40%

เว็บไซต์มหาวิทยาลัยรามคำแหง เผยแพร่ประกาศมาตรการช่วยเหลือนักศึกษา “ลดค่าหน่วยกิต 40%”โดยระบุว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยทั่วไป เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองและนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจในช่วงนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงลดค่าหน่วยกิตลงจำนวน 40% ของภาคการศึกษา 1/2563 นี้ ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีภาคปกติทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งนักศึกษาสมัครใหม่ นักศึกษาพรีดีกรี และนักศึกษาเก่า ทุกคณะ ยกเว้น นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะธุรกิจบริการ สถาบันการศึกษานานาชาติ สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติต่างประเทศ และนักศึกษาโครงการพิเศษทุกประเภท ให้ติดตามประกาศของคณะต่อไป

สำหรับผู้สมัครเป็นนักศึกษาใหม่ที่ได้สมัครแล้วระหว่างวันที่ 20-22 เม.ย. 2563 และได้ชำระเงินตามปกติ มหาวิทยาลัยจะดำเนินการคืนเงินให้ต่อไป

สปสช.เผยช่วงโควิด-19 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรับยาต้านไวรัสได้ที่ รพ.ในระบบบัตรทองทุกแห่ง

ทีมสื่อ สปสช. รายงานด้วยว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ยังอยู่ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับยาต้านไวรัสเอชไอวีและบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถเดินทางเข้ารับบริการโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการประจำตามสิทธิรักษาพยาบาลได้

ดังนั้น เพื่อการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง สปสช.ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระบบบัตรทองสามารถเข้ารับยาต้านไวรัสและบริการทางการแพทย์จำเป็นที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลอื่นในระบบบัตรทองได้ โดยเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง สปสช.จะชดเชยยาและค่าบริการเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้ารับบริการต่อไป

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ในการนี้ สปสช.ขอความร่วมมือโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการในระบบบัตรทอง จ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวีและให้บริการทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้ารับบริการ และขอให้โรงพยาบาลจ่ายยาต้านไวรัสให้กับผู้ติดเชื้อที่มีอาการคงที่ เป็นจำนวน 3-6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการร่วมดูแลผู้ติดเชื้อในระบบบัตรทอง

“ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นกลุ่มที่ต้องกินยาต้านไวรัสต่อเนื่องเพื่อกดปริมาณเชื้อไวรัส โดยการกินยาเป็นเรื่องที่เคร่งครัดและต้องตรงเวลา การเข้าถึงยาต้านไวรัสจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 สปสช.ขอความร่วมมือโรงพยาบาลในระบบบัตรทองทั่วประเทศร่วมให้บริการและดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพื่อให้เข้าถึงบริการ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทันตแพทยสมาคมฯ ออก 'คู่มือทำฟันป้องกันโควิด-19' สร้างความเข้าใจประชาชน

ทันตแพทยสมาคมฯ ออกประกาศคู่มือทำฟัน สื่อสารสร้างความเชื่อมั่นผู้ป่วย ระบุหากอาการฉุกเฉินอย่าทนทรมาน ย้ำกระบวนรักษาฟันได้มาตรฐาน ไม่เสี่ยงติดโควิด-19 พร้อมยกระดับคำแนะนำ แนวปฏิบัติที่ปลอดภัยแก่ “หมอฟัน” และทีมงาน ลดความเสี่ยงผู้รับการรักษา ทันตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์

ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกสำรองทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงประกาศ “แนวทางการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อทางทันตกรรม ในสถานการณ์ COVID-19” ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 ระบุว่า วัตถุประสงค์การออกประกาศในครั้งนี้ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ต้องการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน รวมทั้งทันตแพทย์ทั่วประเทศ จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำ "แนวทางการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อทางทันตกรรมในสถานการณ์ COVID-19" ซึ่งประกอบด้วยทันตแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และทันตกรรม เป็นที่ปรึกษา โดยจะมีการปรับปรุงแนวทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นระยะ

ทั้งนี้ในส่วนของการสื่อสารสร้างความเข้าใจไปยังประชาชนนั้น เพื่อยืนยันว่ากระบวนการทำฟันมีความปลอดภัยสูง ทั้งต่อตัวผู้ป่วยที่มารับบริการ และต่อทีมทันตแพทย์และบุคลากรเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยหลายคน ไม่กล้าเข้ารับการรักษาเพราะกลัวติดโรค ทั้งที่มีอาการปวดบวมและทรมาน ดังนั้น ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย จึงจัดทำประกาศดังกล่าวขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมทั้งยกระดับคำแนะนำและข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง สำหรับทีมทันตแพทย์ในระหว่างให้การรักษา

ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทันตแพทย์ ยังไม่มีหลักฐานปรากฎว่ามีผู้ติดเชื้อจากการทำฟัน ทั้งในฝั่งของคนไข้และทันตแพทย์ แต่เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่มีการระบาดหนัก การทำฟันจึงเน้นเฉพาะเคสผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉินต้องทำการรักษาทันที ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ หลังจากตรวจสอบอาการในเบื้องต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการรักษาฟัน อาจก่อให้เกิดการการละอองฝอยฟุ้งกระจาย หลายคนจึงกลัวว่าจะเพิ่มความเสี่ยง ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า การใช้เครื่องดูดแรงดันสูงใกล้จุดกำเนิดละอองฝอย ช่วยลดการฟุ้งกระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเครื่องมือและอุปกรณ์ทุกชิ้น ก็ผ่านการทำความสะอาดฆ่าเชื้อในเครื่องอัดแรงดันสูงอย่างดี ปราศจากเชื้อเช่นเดียวกับที่ใช้ในห้องผ่าตัด

“ปกติคนกลัวการทำฟันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ด้วยแล้ว หลายคนที่มีอาการฉุกเฉินไม่กล้ามารักษา จึงต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันยังได้ยกระดับคำแนะนำ แนวปฏิบัติการทำหัตถการรักษาทางทันตกรรม แก่หมอฟันและทีมงานด้วย โดยเฉพาะการสวมเครื่องป้องกัน การลดจำนวนเชื้อและปริมาณละอองฝอย รวมไปถึงแนวทางการตรวจคัดกรองผู้ป่วย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือพาหะในการแพร่กระจายเชื้อ และการกระจายเวลานัดหมายผู้ป่วย เพื่อหลีกเลี่ยงการนั่งรอและความใกล้ชิดระหว่างบุคคล พร้อมทั้งแนะนำการรักษาแต่ละครั้ง ควรใช้เวลาไม่เกิน 50 นาที” นายกทันตแพทยสมาคมฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศดังกล่าวได้อธิบายถึงมาตรการเสริมอื่นๆ ในการลดจำนวนเชื้อและปริมาณละอองฝอย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่หลายคนกังวล ว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ระบุว่า มีหลักฐานยันว่า การบ้วนปากและแปรงฟันก่อนการทำหัตถการ ช่วยลดปริมาณเชื้อได้ 70-95% ดังนั้นการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อบ้วนปากจึงเป็นมาตรการเสริมเพื่อให้เกิดการลดเชื้อในช่องปากเพิ่มขึ้นอีกก่อนเริ่มทำหัตถการ

ขณะเดียวกัน ในการกรอฟันหรือการรักษาที่ทำให้เกิดละอองฝอย (Aerosol) พบว่าจะมีเชื้อจุลินทรีย์ปนออกมาด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะเชื้อ SAR-CoV-2 ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ พบได้มากในสารคัดหลั่งจากลาคอและหลังโพรงจมูก ดังนั้น การใช้เครื่องดูดแรงดันสูงใกล้กับจุด กำเนิดละอองฝอย จะช่วยลดการฟุ้งกระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการใช้เครื่องดูดแรงดันสูง สามารถลดปริมาณละอองฝอยลงได้ถึง 90 % และการใช้แผ่นยางกันน้ำลายในขณะกรอฟัน ก็สามารถลดปริมาณเชื้อที่ฟุ้งกระจายออกมากับละอองฝอย ได้มากถึงร้อยละ 70-98%

นอกจากนี้ ยังระบุถึงระบบอากาศในคลินิกทันตกรรมด้วยว่า ควรจัดโดยคำนึงถึงอัตราระบายอากาศ (Ventilation Rate) และทิศทางการไหลของอากาศ (Airflow Direction) โดนแนะนำให้อากาศเคลื่อนตัวผ่าน จากทันตแพทย์ ไปยังผู้ป่วยและเคลื่อนตัวออกไปยังพัดลมดูดอากาศโดยไม่ผ่านตำแหน่งที่มีผู้ปฏิบัติงานอื่นอยู่ ในกรณีที่ไม่สามารถปรับปรุงตามลักษณะดังกล่าว แนะนำให้เพิ่ม Ventilation Rate โดยการเปิดหน้าต่างและใช้พัดลมเป่า ระบายอากาศทุกๆ ชั่วโมง โดยเปิดทิ้งไว้นานพอควร

ทั้งนี้ สำหรับสถานพยาบาลที่มีความพร้อม ส่งเสริมให้จัดระบบระบายอากาศให้ห้องทำฟันทั่วไป ให้มีการระบายอากาศออกสู่ภายนอก อยู่ในช่วง 6-12 ACH และหากจำเป็นต้องให้การรักษาผู้ป่วย ที่สงสัยหรือยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรให้การรักษาในห้องที่มีอัตราการ ระบายอากาศได้อย่างน้อย 12 ACH

ม.มหิดล ชี้รังสี UV ฆ่าเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ หากใช้ถูกวิธี

งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานด้วยว่า ผช.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลีย สมาคมรังสีเทคนิคนานาชาติ กล่าวว่า UV-C เป็นรังสียูวีที่มีความยาวคลื่นสั้น หากใช้ด้วยความเข้ม หรือระดับปริมาณที่เหมาะสม จะมีคุณสมบัติในการทำลายจุลชีพ ซึ่งรวมถึงเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ โดยความยาวคลื่นที่เหมาะสมในการทำลายเชื้อจุลชีพอยู่ที่ประมาณ 200 - 313 นาโนเมตร โดยค่าที่ดีที่สุดอยู่ที่ 260 นาโนเมตร

หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค ม.มหิดล กล่าวต่อไปว่า ไวรัสแต่ละชนิดมีความทนต่อยูวีต่างกัน ซึ่งการทำลายเชื้อจะเกิดขึ้นเวลาที่ตัวรังสี UV เข้าไปตกกระทบกับตัวไวรัส แล้วไปทำลายโครงสร้างของตัวไวรัส ทำให้ไม่สามารถที่จะจำลองตัวเอง เพื่อที่จะขยายจำนวนได้ต่อไป เป็นการทำให้เชื้อตาย โดยที่ต้องใช้พลังงานจากรังสี UV ที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนของรังสี UV-C ไม่ใช้ฆ่าเชื้อกับคน แต่จะใช้ฆ่าเชื้อที่อยู่บนพื้นผิววัสดุต่างๆ เช่น มือถือ พวงกุญแจ หรือวัสดุที่ไม่สามารถซักล้างทำความสะอาดได้

“จริงๆ แล้ว UV คลื่นอื่นๆ ก็ใช้ฆ่าเชื้อได้เหมือนกัน แต่ต้องใช้เวลานานกว่า เพราะว่ามีพลังงานที่ต่างกันมาก เช่น เวลาเราออกไปตากแดดโดนรังสี UV-A และ UV-B กว่าผิวจะไหม้ใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ถ้าเป็น UV-C จะใช้เวลาเพียงไม่ถึงนาทีเท่านั้น หากอยู่ในระยะใกล้ และมีความเข้มสูง เพราะฉะนั้น หากเราจะใช้เครื่องที่ใช้ฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV-C ต้องมั่นใจว่าเป็นเครื่องที่ได้มาตรฐาน และมีความถี่ที่เหมาะสม ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ เราควรป้องกันตัวเองด้วย ซึ่งหากเป็นเครื่องที่ปล่อยแสง UV-C ในกล่อง หรือภาชนะปิดจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าถ้าเป็นแสงไฟที่ซื้อมาเป็นหลอดที่ปล่อย UV-C ออกมา เวลาใช้ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง หากจะใช้ฆ่าเชื้อในห้อง เวลาเปิดหลอดไฟไม่ควรจะเข้าไปอยู่ในห้อง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผิว และดวงตา ซึ่งหากแสงส่องโดนผิวหนังโดยตรง อาจทำให้เซลล์ผิวหนังถูกทำลาย และมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนัง และหากแสงสาดเข้ามาในดวงตา อาจทำให้ตาอาจเป็นต้อ หรือเกิดความผิดปกติได้ จากการโดนรังสีทำลายกระจกกับเลนส์ตาดังนั้น จึงควรที่จะต้องจัดเตรียมทุกอย่างไว้ก่อน แล้วให้ตัวเราอยู่นอกห้อง ก่อนเปิดสวิตช์ ให้แสงออกมา แล้วทิ้งไว้ในระยะเวลาที่พอสมควรจึงปิดหลอดไฟ”

“บุคลากรทางรังสีเทคนิค เป็นบุคลากรสำคัญในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย Covid-19 โดยจะต้องมีการสัมผัสกับตัวผู้ป่วย จากการเอกซเรย์ปอดและทำ CT Scan ฯลฯ ซึ่งต่อไปทางภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเปิดโอกาสให้อาจารย์ ตลอดจนนักศึกษาในภาควิชาฯ ได้มีการเรียนรู้ และทำงานวิจัยในเรื่องของรังสี UV กันให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งเราปฏิบัติงานโดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยปลอดภัย และตัวเราเองปลอดภัยด้วย” ผช.ดร.นภาพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net