บอร์ดประกันสังคม ค้านจ่าย 75% ผู้ว่างงาน หวั่นกระทบต่อกองทุน

บอร์ดประกันสังคม ค้านจ่าย 75% ผู้ว่างงาน หวั่นกระทบต่อกองทุนประกันการว่างงาน แต่จัดให้ 2 แบงค์ ร่วมโครงการปล่อยสินเชื่อหนุนจ้างงานให้สถานประกอบการ

แฟ้มภาพ

8 พ.ค.2563 วานนี้ (7 พ.ค.63) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน และ 1 ใน บอร์ด สปส.กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดสปส. ว่า ที่ประชุมได้ยืนยันมติบอร์ดเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ในการพิจารณาสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเรื่องจากโควิด-19 ที่จะให้สิทธิประโยชน์ทดแทน 50 % ระยะเวลา 60 วัน สำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ แต่ในเรื่องนี้กลับมีมติคณะรัฐมนตรี ให้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 62% จึงเป็นเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงการที่จะเพิ่มเป็น 75% ที่ย่อมจะเกิดผลกระทบต่อกองทุนประกันการว่างงาน นอกจากนี้มติในครั้งนั้นยังเสนอให้มีการลดการเก็บเงินสมทบทั้งนายจ้างลูกจ้าง เพียง 1 % โดยจะต้องจ่ายเงินสมทบ 4% และเรื่องนี้ก็มีการดำเนินการที่แตกต่างจากมติของบอร์ด

“แม้บอร์ดมีอำนาจหน้าที่เพียงการเสนอแนะนโยบายแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัยก็ไม่เคยมีรัฐบาลใด ดำเนินการไม่เป็นไปตามมติของบอร์ด ดังนั้นเรื่องนี้เรายังไม่รู้ว่าฝ่ายการเมืองจะรับผิดชอบอย่างไร ทั้งนี้เงินของสปส. ต่างจากการจ่ายเงินของกระทรวงการคลัง เนื่องจากเงินปส. ต้องใช้จ่ายสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีให้แก่ผู้ประกันตน” ทวี กล่าว

อรุณี ศรีโต 1 ในบอร์ดฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ที่ไม่เอาด้วย ทั้งเรื่องปรับเพิ่มวงเงินให้ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจาก 62% ของเงินเดือน และ 75% เพราะเงินกองทุนประกันการว่างงานกว่า 1 แสนล้านบาทเป็นเงินที่มีเจ้าของ หากใช้จนเงินหมดแล้ว ผู้ประกันตนที่ตกงานรุ่นต่อๆไปจะทำอย่างไร รัฐบาลจะจ่ายให้หรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมผู้แทนส่วนราชการ เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ต่างเห็นด้วย

“ถ้าจะใช้อำนาจของรัฐมนตรี ท่านก็ต้องรับผิดชอบของท่านเอง ถ้าจะปรับเพิ่มเป็น 75% รัฐจะต้องเป็นผู้จ่ายเองเพราะเราต้องการกันเงินไว้สำหรับเจ้าของเงินในอนาคตด้วย ไม่ใช่เทใช้จนหมดเข่ง ถ้ารัฐมนตรียังดึงดันใช้อำนาจ เชื่อว่าเหล่าผู้นำแรงงานเขาไม่ยอมแน่และต้องมีการออกมาเคลื่อนไหว” อรุณี กล่าว

อรุณี กล่าวว่า การพยายามผลักดันให้ผู้ประกันตนได้รับความช่วยเหลือ 75% จากมาตรการของรัฐบาลนั้น แท้จริงแล้วกลับยิ่งทำให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่าที่ควร เพราะเพดานของเงินเดือนที่จ่ายให้กับประกันสังคมอยู่แค่ 15,000 บาท ไม่ว่าลูกคนนั้นจะมีเงินเดือนกี่หมื่นหรือกี่แสนบาทก็ตาม แต่หากใช้มาตรการของกฎหมายคุ้มครองแรงงานในมาตรา 75 ที่ระบุให้นายจ้างจ่ายเงินให้ 75% ของเงินเดือนในช่วงที่ปิดงานชั่วคราว ก็คิดจากอัตราเงินเดือนที่แท้จริง

อรุณีกล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดยังได้หารือถึงกรณีทีระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศของ สปส.ไม่สามารถรองรับการทำงานและช่วยเหลือผู้ประกันตนว่างงานและขอรับการช่วยเหลือเนื่องจากผลกระทบจากโควิดได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเกิดปัญหาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)มีมติชี้มูลให้อดีตผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมชดใช้กว่า 500 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าให้เร่งดำเนินการระบบใหม่ที่พิจารรณาให้เร็วขึ้น และให้เร่งการจ่ายเงินให้ผู้ประกันตนกว่า 8 แสนคนที่มาลงทะเบียนไว้

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบว่าบอร์ดประกันสังคมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของตน ขณะนี้รอเพียงให้ปลัดกระทรวงแรงงานทำเอกสารสรุปผลจากการประชุมบอร์ดเสนอเข้าให้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากหนังสือดังกล่าวสรุปว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว จะยังมีการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่คิดอะไรทั้งนั้น และอย่าเพิ่งจินตนาการ ขอให้ดูรายละเอียดในเอกสารก่อน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้น วันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้แถลงข่าวว่า เตรียมเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)ปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจาก 62% เป็น 75% พร้อมทั้งลดการเก็บเงินสมทบจากนายจ้างจาก 4% เหลือ 1%

(ที่มา : โพสต์ทูเดย์, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์และ voicelabour.org)

จัดให้ 2 แบงค์ ร่วมโครงการปล่อยสินเชื่อหนุนจ้างงานให้สถานประกอบการ

วันนี้ (8 พ.ค.63) ข่าวสำนักงานประกันสังคม รายงานว่า พิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาล และกระทรวงแรงงาน ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษาการจ้างงานให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมได้มีโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท เพื่อให้สถานประกอบการกู้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสภาพคล่อง ให้มีศักยภาพ มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการกู้เพื่อ Refinance ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินปล่อยกู้ของแต่ละธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่ง ณ ขณะนี้มีธนาคารเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแล้ว จำนวน 2 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) วงเงินสินเชื่อ เพื่อกู้ในโครงการฯ จำนวน 2,000 ล้านบาท และล่าสุดมีธนาคารเข้าร่วมโครงการสินเชื่อฯ เพิ่มเติมได้แก่ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมอีก 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีระยะเวลาการยื่นคำขอกู้ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึง 31 ธ.ค.2563 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด โดยวงเงินสินเชื่อได้มีการจัดสรร ดังนี้

1. วงเงิน 18,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ต่อราย

2. วงเงิน 9,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 51 - 200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อราย

3. วงเงิน 3,000 ล้านบาท สำหรับสถานประกอบที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน วงเงินกู้ไม่เกิน 15 ล้านบาท ต่อราย

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น สถานประกอบการที่สนใจกู้และมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอัตราดอกเบี้ย จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี และคงที่ 3 ปี และในกรณีสถานประกอบการที่สนใจกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปี และคงที่ 3 ปี สำหรับข้อกำหนดของสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และหลังจากที่ได้รับสินเชื่อไปแล้ว ต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้มีการ เลิกจ้างลูกจ้างในสถานประกอบการ โดยสำนักงานประกันสังคมจะมีการตรวจสอบข้อมูลทุก 1 ปี

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอหนังสือรับรองสถานะสถานประกอบการ ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่ง เพื่อนำไปติดต่อขอยื่นกู้กับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานเป็นโครงการฯ ที่ดำเนินงานตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 ที่สามารถนำเม็ดเงิน ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินกองทุนประกันสังคมมาลงทุนทางสังคม เพื่อประโยชน์ทางอ้อมแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนได้ นอกจากจะช่วยเป็นทุนหมุนเวียนและเสริมสร้างสภาพคล่องในสถานประกอบการรักษาสภาพการจ้างงานแล้ว ยังทำให้เกิดทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท