Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“History isn’t a single narrative, but thousands of alternative narratives.” 

-Yuval Noah Harari, Homo Deus: A History of Tomorrow

สุภาษิตไทยเรามีคำพูดติดปากว่าความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะถูกเล่าอย่างไรในยุคสมัยใดความจริงก็จะยังคงอยู่ชั่วนิจนิรันด์ ตามคำสุภาษิตนี้ความจริงเปรียบเสมือนพระอาทิตย์ที่มีเพียงหนึ่งเดียว เป็นดั่งดาวเคราะห์ลอยตุ๊บป่องอยู่ในจักรวาลรอให้มนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าพอที่จะเดินทางมาถึง รออยู่อย่างนั้นไม่ไปไหน ไม่เปลี่ยนรูป แต่เพราะความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวและจับต้องได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ภารกิจของการตามหาความจริงจึงไม่ใช่การเดินทางไปอวกาศ แต่เป็นการเดินทางในความทรงจำและการเล่าเรื่องของมนุษย์ในโลกใบนี้ ความจริงถูกสร้างขึ้นจากอุดมการณ์ (ideology) ที่ได้รับการเล่าขานและสถาปนาจากระบอบใดระบอบหนึ่งจนได้รับอภิสิทธิ์ครอบงำอุดมการณ์อื่นและประกาศสถานะเป็นความถูกต้องชอบธรรม การให้คำอธิบายความจริงเช่นนี้มาจากกรอบแนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสผู้เชิญชวนให้โลกแห่งปัญญาชนตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างความจริงและอำนาจ พูดง่ายๆ ก็คือผู้ถืออำนาจคือผู้ถือความจริง ผู้ถือความจริงคือผู้ถืออำนาจ  

ในโลกนี้มีความจริงมากมาย อุดมการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนคือความจริงของระบอบเสรีนิยมที่ได้รับการกรุยทางมาจากการประกาศสิทธิอันเป็น“ธรรมชาติ”ของปัจเจกในรัฐชาติสมัยใหม่อันว่าด้วยสิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการมีอิสรภาพ และสิทธิในทรัพย์สิน อุดมการณ์เรื่องเอกเทวนิยมคือความจริงของระบอบศาสนาที่เชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น การไม่เชื่อในพระเจ้าเป็นเรื่องของผู้หลงทางและหลงผิด ลัทธิผีสางจึงเป็นแค่เรื่องเหลวไหลงมงาย อุดมการณ์เรื่องมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเหนือสัตว์เดรัจฉานคือความจริงของระบอบมนุษยนิยมที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในยุคประเทืองปัญญาที่ให้เหตุผลว่าเพราะมนุษย์มีเหตุและผลจึงมีความสามารถในการพัฒนาจริยธรรมต่างจากสัตว์อื่นๆ ชีวิตของมนุษย์จึงมีค่ามากกว่าสัตว์อื่นๆ ไปโดยปริยาย  

ประสบการณ์ของความเป็นไทยถูกจองจำอยู่ในความเป็นจริงไม่ต่างจากประสบการณ์ของมนุษย์ในโลกสากล ความจริงในสังคม (การเมือง) ไทยบ้างก็ถูกฝังกลบบ้างก็ถูกขุดคุ้ย ความจริงที่เต็มไปด้วยวาทกรรม โวหาร ข่าวลือ อคติ บาดแผล คราบน้ำตา และคาวเลือด ความจริงในสังคมไทย (หรือสังคมอื่น) ไม่ต่างอะไรกับการเล่าเรื่องวรรณกรรม ในวรรณกรรมมีวิธีการเล่าเรื่องจากมุมมองบุคคลที่หนึ่ง สองและสามเหมืือนในชีวิตจริง เมื่อมีการเล่าเรื่องจากต่างมุมมอง ความจริงจึงถูกตีความขึ้นต่างกัน ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เกิดการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือกระสุนทองแดงจากปากกระบอกปืนนัดแล้วนัดเล่าที่พุ่งปะทะกับร่างกายเลือดเนื้อของมนุษย์สามัญชน สิ่งที่ตามมาคือการตีความถึงเรื่องที่เกิดขึ้นจากขั้วอุดมการณ์สองฝั่งหลักในสังคมซึ่งก็คืออุดมการณ์ประชาธิปไตยและอุดมการณ์อำนาจ (เผด็จการ) นิยม

การตีความจากมุมมองประชาธิไตยก็คือ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นวันที่ผู้อ้างอำนาจรัฐอันไม่ชอบธรรมสังหารประชาชนผู้ออกมาเรียกร้องหาความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนผู้ออกมาแสวงหาความเท่าเทียมของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการยอมรับจากสนธิสัญญาของระเบียบโลกสากลสมัยใหม่ ประชาชนที่ศาลพิสูจน์แล้วว่าไม่มีอาวุธสงคราม ร่างไร้วิญญาณที่ร่วงโรยในวันนั้นกลายเป็นผีความทรงจำอันเจ็บปวดต่อผู้ที่สูญเสียและผู้ร่วมอุดมการณ์ “ทั้งชีวิตที่เหลือของแม่ จะอยู่เพื่อรอคนฆ่าและคนสั่งฆ่าลูกถูกดำเนินคดี” พะเยาว์ อัคฮาดพูดถึงกมนเกด อัคฮาด ลูกสาวของตนผู้เป็นพยาบาลอาสาที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กมนเกดเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต 6 คนที่วัดปทุม ร่างที่ถูกยิงทั้งหมด 11 นัดรวมถึงที่ศีรษะคืือร่างกายของลูกสาวแม่ค้าขายดอกไม้ พี่สาวของน้องชายสองคน และหลานสาวของครอบครัวอัคฮาด แม้จิตวิญญาณจะถูกพรากไปแต่ความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในเรื่องเล่าของฝ่ายประชาธิปไตยผู้เห็นอกเห็นใจและรับรู้ถึงความสูญเสียที่เกิดจากความอํามหิตภายใต้เงื้อมมืออันเปื้อนเลือดที่มีส่วนในการฆาตกรรมกลุ่มคนเสื้อแดงในวันนั้น ความยุติธรรมและการปลดปล่อยความจริงจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาตามหาและเฝ้ารอ

การตีความจากมุมมองอำนาจนิยมนั้นแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ความอํามหิตที่ฝ่ายประชาธิปไตยเข้าใจคือการกำจัดศัตรูที่ถูกเขียนขึ้นภายใต้โครงเรื่องเล่าความเป็นไทยของฝ่ายอำนาจนิยม ร่างกายที่อยู่ต่อหน้าของผู้ลั่นไกถูกกระชากความเป็นมนุษย์ออกเสียจนหมด ร่างกายนั้นที่เคยเป็นเพื่อนร่วมชาติผู้อาจจะอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง พูดภาษาเดียวกัน หรือกินข้าวจิ้มน้ำพริกเหมือนกันกับผู้ถือไกปีนนั้น ได้กลายเป็นเพียงวัตถุที่ต้องถูกฆ่าและสังเวย ผู้จงรักภักดีต่ออุดมการณ์อำนาจนิยมจึงชายตามองหยดเลือดที่ไหลนองพื้นถนนด้วยสายตาแห่งความเกลียดชังและสองมือที่ต้องการทำความสะอาดความอัปยศแปดเปื้อนนี้ให้หมดไป ความจริงของพวกเขาจึงเป็นการลบล้างและการลงโทษเพราะ “เขาไม่สนใจว่าลูกเราเป็นผู้หญิงหรือเป็นพยาบาล เขาไม่ได้มองลูกเราเป็นคน” 

ความจริงจึงมิใช่ความเป็นนิรันดร์ ตรงกันข้ามเสียอีก ความจริงคือความอนิจจัง ความจริงคือการตีความ ไม่ต่างอะไรกับนิยาย จึงไม่แปลกที่มีคนพูดอยู่เนืองๆ ว่าประวัติศาสตร์ไทยเข้มข้นยิ่งกว่า Game of Thrones เสียอีก ทั้งนี้ความจริงทั้งหลายของโลกมนุษย์ในปัจจุบันต่างเห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีอำนาจใดมีสิทธิและความชอบธรรมในการตัดสินความเป็นความตายของมนุษย์ด้วยกัน ความจริงในปรัชญาว่าด้วยเรื่องจริยธรรมยังไม่สามารถหาเหตุผลโดยไม่อ้างให้สีข้างถลอกได้ว่าการฆ่าเพื่อความถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างไร ภารกิจการตามหาความจริงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่จึงต้องเป็นไปด้วยจิตสำนึกที่ชัดแจ้งว่ารัฐ (ทหาร) ไทยมีความชอบธรรมอย่างไรในการฆาตกรรมสามัญชนคนธรรมดาที่ไม่มีอาวุธสงคราม สามัญชนผู้ออกมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในระบอบ “ประชาธิปไตย” ที่ยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันอยู่ 

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์พะเยาว์ อัคฮาดจากบทความ “In The Name Of The Mother เปลวเพลิงในดวงตาพะเยาว์ อัคฮาด” www.the101.world/in-the-name-of-the-mother/?fbclid=IwAR0QiDGK9N-BqpkIfKBeMKO6OeXrBl0aC-lv6k3xje-hiCaiNccY8T63ke0
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net