Skip to main content
sharethis

ดูหลายปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้ญี่ปุ่น ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 16,600 ราย เสียชีวิตอย่างน้อย 851 ราย กลายเป็นมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่หลักสิบจนยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วบางจังหวัด แม้รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการเข้มงวดเท่าที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของสาธารณสุขท้องถิ่น วัฒนธรรม ไปจนถึงสมมติฐานเรื่องเชื้อไวรัสกลายพันธุ์

27 พ.ค. 2563 ญี่ปุ่นเพิ่งจะมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 พ.ค.) ในพื้นที่โตเกียวและจังหวัดอื่นๆ อีก 4 จังหวัด หลังจากประกาศใช้มาเป็นเวลา 7 สัปดาห์ เรื่องนี้ทำให้มีข้อสงสัยว่าอะไรทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีตัวเลขการติดเชื้อลดลงเหลือเพียงหลักสิบเท่านั้น

แม้ประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีการห้ามการเดินทางเคลื่อนย้ายคนในประเทศ กิจการจำพวกร้านอาหารและร้านทำผมยังคงเปิดให้บริการ ไม่มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการตรวจจับการเคลื่อนย้ายของผู้คนแบบในไต้หวัน ไม่มีการไล่ตรวจประชาชนอย่างจริงจังแบบในเกาหลีใต้และไม่มีศูนย์ควบคุมโรคด้วยซ้ำ แต่ก็มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศ

มีการตั้งสมมุติฐานความเป็นไปได้ 43 สาเหตุจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องวัฒนธรรมที่คนนิยมสวมหน้ากากอนามัยอยู่แล้ว การตัดสินใจปิดโรงเรียนอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงสมมติฐานว่าการออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นมีน้ำลายฟุ้งกระจายออกมาน้อย ถึงแม้ว่าเรื่องข้างต้นเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ยังเป็นข้อสมมุติฐาน แต่ก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่มาจากปฏิบัติการของประชาชนเองและน่าศึกษาเผื่อเอาไว้รับมือในระยะยาวเกี่ยวกับการระบาด

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการรับมือในระดับรากหญ้าของญี่ปุ่นตั้งแต่ในช่วงต้นๆ ของการระบาด น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันโรค โดยศูนย์การสาธารณสุขระดับท้องถิ่นได้ติดตามสอบสวนการระบาดมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว และตั้งแต่ปี 2561 ก็มีการจ้างงานกลุ่มพยาบาลจำนวนมากที่มีประสบการณ์ด้านการติดตามสอบสวนไข้หวัดใหญ่และวัณโรคมาทำงานด้านดังกล่าว ถึงแม้ระบบเหล่านี้จะไม่ได้มีความเป็นดิจิทัล แต่ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะก็บอกว่าเป็นประโยชน์มาก

โยโกะ ทสึคาโมโตะ ศาสตราจารย์ด้านการควบคุมโรคระบาดติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโดกล่าวว่าถึงแม้ญี่ปุ่นจะไม่มีศูนย์ควบคุมโรคติดต่อในระดับส่วนกลาง แต่ศูนย์สาธารณสุขที่แต่ละท้องที่ก็เปรียบเสมือนศูนย์ควบคุมโรคติดต่อในระดับท้องถิ่นของญี่ปุ่น

นั่นทำให้ประเทศโลกที่หนึ่งที่มีการระบาดหนักอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษเริ่มหันมาจ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านการติดตามผลโรคระบาดเพื่อเตรียมรับกับการเปิดเศรษฐกิจบ้างแล้ว โดยที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นเหล่านี้จะสามารถระบุและแก้ไขปัญหาการระบาดในแบบเฉพาะพื้นที่ที่เรียกว่า "คลัสเตอร์" ได้

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือเรื่องฐานคิดของคนญี่ปุ่นเอง ในช่วงที่มีการระบาดใหม่ๆ มีกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับการจัดการการระบาดของผู้คนในเรือไดมอนด์ปรินเซสที่เข้ามาเทียบท่า ที่แม้จะทำให้ผู้เชี่ยวชาญในประเทศได้รับข้อมูลเรื่องโควิด-19 ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ก็ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความผิดพลาดดังกล่าวสะเทือนจิตสำนึกสาธารณะของชาวญี่ปุ่นเสมือนเห็นไฟไหม้รถอยู่ที่หน้าบ้าน ในขณะที่หลายประเทศยังมองโรคระบาดเป็นเรื่องของคนอื่นอยู่

ผู้เชี่ยวชาญในญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งในเรื่องการระบาดและการสร้างช่องทางสื่อสารให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในช่วงการระบาดของโควิด-19 อย่างง่ายดายและไม่ถึงขั้นทำให้ผู้คนแปลกแยกจากกันมากเกินไป เช่นการเสนอแนะให้ผู้คนหลีกเลี่ยง 3 อย่าง คือพื้นที่ปิดอับ พื้นที่คนเยอะ และเลี่ยงการสัมผัสที่ใกล้ชิด

กระนั้น มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่าญี่ปุ่นยังรับมือได้ไม่ดีพอ เมื่อเดือนเมษายนโรงพยาบาลโตเกียวมีการตรวจเชื้อในผู้ป่วยที่ไม่ได้มีอาการป่วยของโควิด-19 แต่ก็พบว่ามีเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่ร้อยละ 7 ของกลุ่มสำรวจ สะท้อนว่าการตรวจวินิจฉัยโรคอาจตกหล่น หรืออาจมีกลุ่มผู้มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หนึ่งในผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้คือโนริโอะ ซุงายะ ศาสตราจารย์รับเชิญจากวิทยาลัยการแพทย์มหาวิทยาลัยเคย์โอ หนึ่งในกรรมการองค์การอนามัยโลกที่ให้คำปรึกษาด้านโรคระบาดเกี่ยวกับหวัด ซุงายะชี้ว่าญี่ปุ่นมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศเอเชียประเทศอื่นๆ

โควิดในญี่ปุ่น: หลายฝ่ายกังวล เลขผู้ป่วยอาจไม่สะท้อนความจริง

โรคระบาดส่งผลต่อญี่ปุ่นทั้งเรื่องสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ในปีนี้ญี่ปุ่นประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ก่อนแล้วจากแผนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดลงถึงร้อยละ 99.9 ในเดือน เม.ย. ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศชะงักงัน

ถึงแม้ว่าจะมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วแต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็เตือนว่านั่นยังไม่ได้หมายความว่าจะถึงขั้นกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ ทั้งนี้ยังมีความกังวลว่าถ้าหากเกิดการระบาดหนักระลอกที่ 2 เกิดขึ้นจนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งญี่ปุ่นจะเสี่ยงมากเนื่องจากเป็นสังคมที่มีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก นั่นทำให้ทางการเตือนว่าให้ประชาชนยังคงดำเนินชีวิตในลักษณะที่คำนึงถึงว่ายังมีไวรัสอยู่

เรียบเรียงจาก

Did Japan Just Beat the Virus Without Lockdowns or Mass Testing?, Bloomberg, May 23, 2020

Ending coronavirus emergency raises hope, sparks some concern, Kyodo News, May 25, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net