คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (10): Zero Tolerance vs. มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษทางอาญา

การปราบปรามยาเสพติดแบบ Zero Tolerance และใช้มาตรการทางอาญาเป็นหลัก พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล การคิดกำจัดให้หมดสิ้นไม่ต่างกับการเพ้อฝัน การเรียนรู้เพื่ออยู่กับยาเสพติดอาจยอมรับได้ยาก แต่เป็นจริงมากกว่าและทำร้ายผู้คนน้อยกว่า ‘ประชาไท’ พาสำรวจกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในคดียาเสพติด ผ่านซีรีส์ ‘คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง’

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (1): ที่ไหนๆ ก็มีแต่ ‘พวกค้ายา’?, 21 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (2): กฎหมายปิดปาก, 22 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (3): เมื่อกฎหมายปิดปาก ความยุติธรรมก็เงียบงัน, 23 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (4): ยอดต้องได้ เป้าต้องถึง, 24 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (5): การกำจัดปีศาจร้ายโดยไม่เกี่ยงวิธีการ, 26 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (6): ผู้หญิงในคดียาเสพติด ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน’, 27 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (7): บนเส้นทางสู่โลกหลังกำแพง, 29 พ.ค. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (8): ยา คน คุก และสาบสางที่ล้างไม่ออก, 1 มิ.ย. 63

คนกับยา ‘ปีศาจ’ บนตาชั่ง (9): ‘ทุจริต’ ปัญหาของกฎหมาย ตัวบุคคล หรือทั้งสองอย่าง?, 2 มิ.ย. 63

กำจัดยาเสพติดให้หมดไม่ได้ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

การมุ่งแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่ยุคธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2519 ทุกรัฐบาลหลังจากนั้นไม่มีรัฐบาลใดไม่บรรจุเรื่องนี้อยู่ในนโยบาย ช่วงที่เหี้ยมเกรียมและคร่าชีวิตมากที่สุดหนีไม่พ้นช่วงสงครามยาเสพติดในสมัยทักษิณ ชินวัตร

แต่ 40 กว่าปีผ่านมายาเสพติดยังคงเป็นปัญหาในสังคมไทย ยืนยันได้ว่าการใช้มาตรการปราบปรามและการลงโทษทางอาญาอย่างรุนแรงไม่ใช่วิธีการที่ได้ผล

ส่วนสิ่งที่ได้ผลคือการสร้างความหวาดกลัว ความเชื่อที่คลาดเคลื่อนหลายประการ อคติต่อผู้ใช้ยาและผู้พึ่งพิงยา การลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน การเพิ่มรายชื่ออาชญากรให้มากขึ้น คนล้นคุก และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐบางรายหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ใช่ สังคมไทยต้องทบทวนเรื่องนี้ แต่ก็อีกนั่นแหละ เราทบทวนกันมาหลายครั้ง สุดท้าย กลับไม่เกิดผลรูปธรรม ร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด อาจเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความพยายามแก้ปัญหายาเสพติดด้วยแนวคิดใหม่ๆ ทว่า มันก็แท้งไปเสียก่อน

Zero Tolerance ความอดทนเป็นศูนย์ อาชญากรเป็นแสน

ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วโลกมี 4 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่

Zero Tolerance คือไม่ยอมรับยาเสพติดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเสพ ผลิต หรือค้า

Legalization คือการทำให้ยาเสพติดบางชนิดถูกกฎหมายโดยมีกฎเกณฑ์กำกับ

Judicial Alternative Measures หรือการใช้ทางเลือกอื่นในกระบวนการยุติธรรม

Harm Reduction คือการลดอันตรายจากการใช้ยา

ประเทศไทยใช้ทั้ง 4 แนวทางร่วมกัน แต่เน้นแนวทาง Zero Tolerance มากที่สุด มีการนำแนวทาง Judicial Alternative Measures มาใช้ควบคู่ โดยมองว่าผู้เสพคือผู้ป่วย แต่เอาเข้าจริงหลายภาคส่วนก็ยังไม่มีความเข้าใจนัก ทำให้การบำบัดรักษาไม่ได้ผลดังที่ต้องการ ซ้ำยังเกิดปัญหาตามมา

Zero Tolerance เมื่อความอดทนต่อยาเสพติดเป็นศูนย์ รัฐไทยจึงมุ่งปราบปรามและกวาดล้างโดยใช้กฎหมายและมาตรการทางอาญาเป็นเครื่องมือ มุ่งไปที่การปราบปรามด้านอุปทานหรือผู้จำหน่าย ผู้ผลิต และการปราบปรามด้านอุปสงค์หรือผู้เสพ ผลที่ได้กลับเป็นตรงกันข้าม เช่น ทันทีที่รัฐบาลบรรหาร ศิลปะอาชา เปลี่ยนยาม้าจากยาเสพติดประเภท 5 ขึ้นมาเป็นประเภท 1 จากที่เคยซื้อกันในราคา 8-12 บาท ราคาถีบตัวขึ้นสูงถึงเม็ดละ 100-150 บาท แล้วมันก็ดำเนินไปตามมือที่มองไม่เห็นของกลไกตลาด ตลาดยาเสพติดทวีมูลค่าและผลกำไรเป็นเท่าทวี เมื่อแรงจูงใจสูงขึ้นกว่า 10 เท่า คนย่อมพร้อมเสี่ยงมากขึ้น

ทางฝั่งอุปทาน ผู้เสพต้องหาเงินมากขึ้นเพื่อเข้าถึงยา ก่อสายใยของปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การลักทรัพย์ การขายบริการทางเพศ เป็นต้น ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็กลายเป็นอาชญากรร้ายแรงไปโดยปริยาย ถูกตีตราเป็นคนคุก ถูกเสือกไสไปยังชายขอบของสังคม

การมุ่งปราบปรามยาเสพติดโดยใช้มาตรการทางอาญาจึงต้องถูกทบทวน

มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษทางอาญา

ถ้าแก้กฎหมายได้ คุณอยากแก้เรื่องใด? ผมถามคำถามนี้กับนายเอและนางสาวบี

“อยากแก้ให้มองผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากร ตอนนี้กฎหมายไปตีตราว่าใครยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ใช้ยาเสพติด คืออาชญากร อันดับแรกต้องแก้ตรงนี้ก่อนว่าผู้ใช้ยาไม่ใช่อาชญากร ผู้ใช้ยาอาจจะเป็นเหมือนคนป่วยที่ต้องได้รับการดูแลรักษา ต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนคนป่วย แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนป่วย แต่อยากให้เขาปฏิบัติกับผู้ใช้ยาเหมือนคนป่วย ไม่ใช่ปฏิบัติกับเราเหมือนอาชญากร ทั้งโดนเข้าคุก โดนด่า โดนซ้อม มันก็หนักแล้ว” นายเอตอบ

“ถ้าแก้กฎหมายได้ เราคิดว่าคนที่กินเมทาโดนรักษาบำบัดตัวเองเพื่ออยากเลิกเฮโรอีน ถ้าโดนจับเข้าไปข้างในอยากให้มีเมทาโดนรักษาแบบดีท็อกซ์คือกินแล้วก็ลดลงลดลง อยากให้มีในนั้น เพราะมันก็คือเราไปเลิก เราโดนจับมาเพราะเราเลิกอยู่ อยู่ดีๆ ก็มาจับให้เราไปหักดิบ” นางสาวบีตอบ

การใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษทางอาญาเป็นแนวทางที่ถูกกล่าวถึงมานาน แต่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเห็นผลไม่ชัดเจนนัก ต่างจากโปรตุเกสที่เป็นต้นแบบของการแก้ปัญหายาเสพติด

ปี 2543 โปรตุเกสได้ปฏิรูปกฎหมายให้การซื้อ การมีไว้ในครอบครอง การเสพยาเสพติดของบุคคลที่มีไว้เพื่อใช้เสพเฉพาะตนไม่เป็นความผิดทางอาญา กล่าวคือ ไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายอาญาและระบบยุติธรรมทางอาญาโดยสิ้นเชิง แต่ให้ถือเป็นความผิดทางปกครองและใช้โทษปรับทางปกครองหรือการใช้มาตรการบังคับบําบัดแทน การที่โปรตุเกสเลือกแนวทางนี้เพราะพบว่าการใช้ยาเสพติดและการเกิดอาชญากรรมไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเสมอไป ทั้งการลงโทษผู้เสพยาเสพติดยังไม่ก่อประโยชน์ แต่กลับเพิ่มภาระงบประมาณและปัญหาอื่นๆ แล้วหันมาเน้นการป้องกันและบําบัดฟื้นฟูทางด้านจิตใจผู้ติดยาเสพติดแทน เช่น การยึดหลักว่าผู้ติดยาเสพติดคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบําบัดรักษา จะไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรมเพื่อลดการตีตราทางสังคม ซึ่งช่วยให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบําบัดรักษามากขึ้น ยอมให้มีการใช้ยา แต่ไม่สนับสนุนให้มีการเสพติด ดูแลสุขภาวะของผู้เสพยาเสพติด ลดอุปสงค์และอุปทานของยาเสพติด เป็นต้น

มาตรการเหล่านี้ ทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดเข้ารับการบําบัดเพิ่มขึ้น ลดผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดลง และลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีนัยสําคัญ

แล้วประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับการใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษทางอาญา?

รื้อถอนมายาคติ งานที่ยากที่สุด

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษทางอาญาเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งจากหลายองค์ประกอบเพื่อจัดการปัญหายาเสพติด การปรับปรุงกฎหมายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ด่านหินที่สุดน่าจะเป็นทัศนคติของสังคมที่มีต่อยาเสพติด ผู้ใช้ยา และผู้พึ่งพิงยา

ดังที่ผมพูดถึงมากกว่า 1 ครั้งว่า ยาเสพติดถูกทำให้เป็นปีศาจในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน การสื่อสารกับสังคมว่าต่อไปนี้จะไม่มีการลงโทษทางอาญากับผู้เสพหรือผู้ครอบครองเพื่อเสพ จะทำให้ยาเสพติดบางประเภทถูกกฎหมาย ผู้ใช้และผู้พึ่งพิงยาสามารถเข้าถึงได้ผ่านการดูแลของแพทย์ ลองนึกดูว่ากระแสสังคมจะเป็นอย่างไร

คงจำกันได้ ช่วงกลางปี 2559 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น กล่าวกับสื่อถึงการอยู่ร่วมกับยาเสพติดโดยที่สังคมปลอดภัยและมองผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาไม่ใช่การลงโทษ จนถูกกระแสสังคมโจมตีอย่างหนัก ตีความกันไปว่าจะเปิดให้มีการค้ายาบ้าอย่างเสรี สุดท้าย พล.อ.ไพบูลย์ ต้องออกมาแก้ข่าวว่า ไม่ได้จะถอดยาบ้าออกจากบัญชียาเสพติด

นักวิชาการบางคนถึงกับกล่าวกับผมเป็นการส่วนตัวว่า นี่ถือเป็นนโยบายที่ก้าวหน้าที่สุดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยเสนอมา

รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นโอดีซี (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ปี 2013 หรือปี 2556 ระบุว่ามีเพียงร้อยละ 10 ของผู้เสพยาเสพติดทั่วโลกเท่านั้นที่จัดเป็นผู้ติดยาเสพติดที่มีปัญหา ส่วนอีกร้อยละ 90 ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน ดูแลครอบครัวได้ตามปกติ

หากไม่แก้มายาคติและลบภาพปีศาจออกจากสังคมไทยเสียก่อน การแก้ปัญหายาเสพติดด้วยแนวทางใหม่ย่อมยากจะเกิดขึ้น

????

มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษทางอาญาที่สำคัญคือการลดทอนความผิดทางอาญาสําหรับผู้เสพที่ครอบครองเพื่อเสพเฉพาะตัวเพียงเล็กน้อยหรือ Decriminalization แทน Overcriminalization อย่างที่ทำกันในปัจจุบัน พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือการเสพและครอบครองเพื่อเสพจะไม่ใช่ความผิดทางอาญาอีกต่อไป ผู้ใช้ยาและผู้พึ่งพิงยาที่อยู่ในกลุ่มนี้จะไม่ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรมเหมือนที่แล้วๆ มา เป็นแนวทางเดียวกันกับที่โปรตุเกสใช้

อีกข้อเสนอหนึ่งคือการทำให้ยาเสพติดถูกควบคุมโดยข้อบังคับทางกฎหมายหรือ Legal Regulation หากเสนอเรื่องนี้ออกไปคงไม่แคล้วโดนกระหน่ำเช่น พล.อ.ไพบูลย์ ว่า ต่อไปยาเสพติดจะขายกันอย่างเสรี ...ผิด

โปรดฟังอีกครั้งและอย่าสับสน การทำให้ยาเสพติดถูกควบคุมโดยข้อบังคับทางกฎหมายหรือ Legal Regulation แม้จะมีความคล้ายคลึงกับการทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมายหรือ Legalization แต่ก็มีจุดต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งสองแบบทำให้การผลิต จำหน่าย และใช้ยาเสพติดไม่ผิดกฎหมายก็จริง แต่ Legal Regulation จะเข้าไปควบคุมการผลิต ตั้งแต่เรื่องปริมาณ ราคา บรรจุภัณฑ์ ควบคุมผู้จำหน่ายที่ต้องมีใบอนุญาต แหล่งกระจาย ผู้ที่สามารถเข้าถึง เวลา และสถานที่สำหรับใช้ยาเสพติด โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสุขภาพและสังคม

นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการอื่นแทนการจําคุกกับผู้เสพ การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดหรือ Harm Reduction ยังจำเป็นต้องมีและทำให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย ยกเลิกการบังคับบำบัดเป็นการสมัครใจบําบัดแทน สร้างช่องทางให้ผู้ใช้และผู้พึ่งพิงยาเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้านยาเสพติด การดูแลสุขภาพ บริการด้านการให้คำปรึกษา และการบำบัดรักที่มีประสิทธิภาพ เปิดให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมฟื้นฟู บำบัด ช่วยเหลือผู้ใช้และผู้พึ่งพิงยา ทั้งในด้านสุขภาพและโอกาสทางสังคม ให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้

และต้องทำการทบทวนรายชื่อประเภทยาเสพติด โดยเฉพาะแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน
จิตรนรา นวรัตน์ ผู้ตรวจการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด บอกกับผมว่า

“มีทฤษฎีทางยาเสพติดทฤษฎีหนึ่งบอกว่าไม่มีวันที่คุณจะปราบยาเสพติดให้หมดไปจากโลกนี้ได้คุณอาจจะปราบยาเสพติดชนิดหนึ่งหมด ก็จะมียาเสพติดตัวใหม่มาแทน สิ่งที่ถูกต้องคือต้องอยู่กับยาเสพติดตัวนี้ให้ได้ ควบคุมมันอย่าให้มันมีพิษมีภัยมากเกินไป ใช้ประโยชน์มันได้ตามควร การปราบยาเสพติดให้หมดเลยเป็นไปไม่ได้และมีผลข้างเคียงเยอะ”

คุณอาจจะรับไม่ได้กับแนวทางต่างๆ ที่กล่าวมา แต่ประเทศไทยมีความพยายามทำมาตรการข้างต้นเมื่อไม่นานมานี้ ผ่านการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดขึ้นใหม่ ชื่อว่า ‘ประมวลกฎหมายยาเสพติด’ ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559

แน่นอนว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดมิใช่คำตอบสำเร็จรูปต่อการจัดการปัญหายาเสพติดในไทย แต่ต้องถือเป็นก้าวที่น่าสนใจ หากมันผ่านกระบวนการตราออกมาเป็นกฎหมาย

ซีรีส์ชุด คนกับยา 'ปีศาจ' บนตาชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท