การเมืองไทยยุค New (ab)normal (2) ชัยพงษ์ สำเนียง

We Watch จัดเสวนาออนไลน์ “New (ab)normal ทางการเมือง?” ชัยพงษ์ สำเนียง อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนผ่านนโยบายสาธารณะในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา จากเดิมพรรคการเมืองต่อสู้ผ่านเวทีเลือกตั้ง แล้วนำนโยบายที่หาเสียงไปปฏิบัติ แต่หลังรัฐประหารจนถึงยุคพลังประชารัฐ นโยบายมีแนวโน้มกลายเป็นการสังคมสงเคราะห์มากขึ้น กระทั่งไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง

การเมืองไทยยุค New (ab)normal (1) กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, 9 มิ.ย. 63

ในเวทีเสวนาออนไลน์ “New (ab)normal ทางการเมือง?” โดยเครือข่าย We Watch  เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ชัยพงษ์ สำเนียง สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอ 3 หัวข้อ ได้แก่  1. เรื่องนโยบายแห่งรัฐ พูดถึงประชานิยม นโยบายของรัฐในแง่ของวิกฤติ แง่ของโอกาสและการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ 2. นโยบายของรัฐในช่วงเวลาต่างๆ ที่ผ่านมามีลักษณะ 2 อย่างที่สวนทางกันคือ เป็นสวัสดิการกับการสงเคราะห์ ซึ่งนี่คือหัวข้อที่อยากตั้งไว้และ3. เผด็จการซ่อนรูปและการตรวจสอบนโยบายรัฐ

ชัยพงษ์นำเสนอว่า นโยบายคือโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนในสังคมไทย แต่สิ่งที่เราเห็นในช่วงเวลาของ COVID-19 สิ่งนี้เผยร่างให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐหรือความไม่สามารถของรัฐในการจัดการในแง่มุมต่าง ๆ คือสิ่งที่อยากตั้งไว้ในเบื้องต้น

เรื่องแรก นโยบายแห่งรัฐ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์ ตั้งแต่ 2557-ปัจจุบัน ล่วงเลยมาเกือบ 6 ปี ที่เราเห็นว่านโยบายแห่งรัฐ แม้รัฐบาลประยุทธ์เกิดขึ้นมาจากการต่อต้านนโยบายประชานิยมก็ตาม  แต่สิ่งที่เราเห็นว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนทำผ่านนโยบาย แต่เดิมนโยบายที่เคยเป็นนโยบายถ้วนหน้า เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ถูกทำให้กลายเป็นนโยบายสังคมสงเคราะห์มากขึ้น คือเป็นนโยบายที่ให้ประชาชนเข้าไปขอเศษทานจากรัฐมากขึ้น เป็นสิ่งที่เราเห็นเป็นปรากฏการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านสิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดในช่วงการระบาด 3-4 เดือนนี้ มีคนตกงานจำนวนมหาศาล จะต้องไปรอการสงเคราะห์จากประชาสังคม รอ 5,000 บาทจากรัฐบาล นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่านโยบายที่ประชาชนเคยกำหนดได้เอง เคยสามารถตรวจสอบและเข้าถึง มันกลับทำให้เราเห็นว่ารัฐล้มเหลวในการจัดการนโยบาย

อีกอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐใช้การแจกเงินผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ผ่านโครงการมารดาประชารัฐ บัตรสวัสดิการถ้วนหน้า หรืออะไรต่างๆ นานา การแจกเงินเหล่านี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐ เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เดิมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของรัฐในอดีต จะเห็นว่านโยบายต่างๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ต้องการให้คนเข้าถึงทุนเพื่อที่จะนำไปต่อยอด ทำให้เกิดการผลิตที่เพิ่มขึ้นในระบบตลาดและเพิ่มศักยภาพของประชาชน แต่ในหลายปีที่ผ่านมา การแจกเงินเป็นจุดๆ เช่น เช็ค 2,000 บาท ต่างๆ นานา ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือการพัฒนาศักยภาพ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นความต้องการของรัฐบาลคุณประยุทธ์หรือไม่ หรือรัฐของชนชั้นนำนี้หรือไม่

แต่มันส่งผลสะท้อนให้เห็น จากคำของคนชั้นกลางต่างๆ นานา เช่น การรอขอการช่วยเหลือจากรัฐอย่างเดียวเหรอ นี่เป็นการตัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนที่จะเปลี่ยนโครงสร้างไป

อีกอย่างหนึ่งที่เห็นชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้คือ นโยบายของรัฐจากที่ในปี 2540 การต่อสู้ของพรรคการเมืองต่างๆ จะต่อสู่ในเชิงนโยบายต่างๆ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องนโยบายในเชิงโครงสร้าง ก็ทำการต่อสู้ในเชิงนโยบายจำนวนมหาศาล แต่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา การต่อสู้เชิงนโยบายกลับไม่มีความสำคัญ เป็นการต่อสู้ในระดับอื่นๆ เช่นตัวอย่างในรัฐบาลประยุทธ์ นโยบายยางโลละ 65-100 บาท หรือค่าแรง 400 บาท สุดท้ายก็ไม่ได้ทำตามสัญญา ถ้าเป็นรัฐบาลอื่นๆ นโยบายเหล่านี้จะต้องถูกปฏิบัติใช้ เช่น เมื่อคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายทันทีคือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทประกาศใช้ทันที หรือปริญญาตรี 15,000 บาท ประกาศใช้ทันที แต่ในรัฐบาลประยุทธ์ นโยบายต่างๆ ไม่ถูกกำหนดใช้ คือการต่อสู้ในเชิงนโยบายของรัฐถูกลดทอนลงอย่างมหาศาล นี่คือสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความเสื่อมถอยของการต่อสู้ในเชิงนโยบาย

เรื่องการกระจายอำนาจ เราจะเห็นว่านโยบายการกระจายอำนาจถูกลดความสำคัญลงตั้งแต่ปี 2551 ก่อนหน้านี้ การกระจายอำนาจเป็นนโยบายหลัก คือรัฐบาลอื่นอาจจะไม่ได้สนใจมาก แต่ว่าก็ถือว่าเป็นงานที่ทำเรื่อยๆ คือมีการเติบโตของการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมหาศาล ทำให้เห็นว่าการกระจายอำนาจนั้นมีความสำคัญ ท้องถิ่นสามารถสร้างนโยบายของตัวเองได้ในหลายระดับ ระดับเล็กๆ เช่น สวัสดิการ การจัดการเรื่องปลอดสารพิษ การจัดถนนหนทาง หรือสวัสดิการในท้องถิ่น แต่ในช่วงหลัง รัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านี้ ทำให้นโยบายเหล่านี้กลายเป็นนโยบายที่อยู่ในอากาศธาตุ ท้องถิ่นทำงาน routine ทำงานขอไปทีในแต่ละวัน ไม่มีนโยบายที่เป็นนวัตกรรม นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าในเชิงนโยบายในระดับต่างๆ นั้นเสื่อมถอย ประชาชนไม่สามารถสร้างนโยบายหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาได้

อีกประการหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปรากฏการณ์องค์กรภาคประชาชนในอดีตที่เคยเป็นโซ่ข้อกลางระหว่างรัฐกับสังคม ระหว่างรัฐกับประชาชน ถูดลดทอนพลังลง อย่างเอ็นจีโอหรือภาคประชาชนอื่นๆ ถูกดึงไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ ภาคประชาสังคมได้รับงบประมาณและการจัดสรรสิ่งที่เป็นทรัพยากรจากรัฐอย่างมหาศาล แต่หลายปีที่ผ่านมาถูกดึงไปเป็นองคาพยพของอำนาจรัฐ นี่เป็นสิ่งที่น่าวิตก เพราะองค์กรภาคประชาชน หรือเอ็นจีโอต่าง ๆ ที่คอยควบคุมความเคลื่อนไหวของรัฐ ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐในการสร้างฉันทามติของรัฐไปแล้ว ท้ายที่สุด เราจะอยู่ยังไงกับการที่เผด็จการซ่อนรูปในการตรวจสอบ เราเห็นว่าองคาพยพต่าง ๆ ที่มันเคยมีความสำคัญอย่างเช่นสภาผู้แทนราษฎร ถูกพรรคใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ หรือปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล ไม่มีพลังในการตรวจสอบอำนาจรัฐในระบบรัฐสภาอีกต่อไป เผด็จการซ่อนรูปดึงใช้ทุกวิถีทาง ดึง ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรครัฐบาล ยุบพรรค ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ สร้างคดีจำนวนมหาศาล

การตรวจสอบนโยบายจะต้องอาศัย 2 ภาคส่วน คือ 1. อาศัยการตรวจสอบในรัฐสภา โดยความเข้มแข็งของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และจากภาคประชาชน ช่วงโควิคทำให้เห็นหลายอย่าง เช่น การออก พ.ร.ก. ของรัฐ ไม่มีประเทศไหนที่ออก พ.ร.ก. เข้มข้นแบบห้ามชุมนุม ห้ามเคลื่อนไหว แต่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่รัฐประกาศใช้ 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้ภาคประชาชนหรือคนที่อยากตรวจสอบอำนาจรัฐไม่สามารถมีปากมีเสียงได้ แม้แต่ในสภาก็ไม่สามารถประชุมได้ เพราะอ้าง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ห้ามมีการชุมนุมเกิน 5 คน เหล่านี้เป็นการซ่อนรูปเผด็จการไว้ ระบบประชาธิปไตยที่พยายามบอกว่ามีการเลือกตั้ง พอถึงสถานการณ์วิกฤติ รัฐกลับสู่ระบบเผด็จการที่ใช้อำนาจแบบนี้อยู่แล้ว ตัวอย่าง พ.ร.ก. กู้เงินที่ผ่านมา 1.9 ล้านล้าน เราเห็นว่าจำนวนเงินมหาศาลแต่พอรัฐเอาเข้าในระบบรัฐสภา มีเอกสารหรือรายละเอียดจำนวนน้อยมาก หากเป็นรัฐระบบประชาธิปไตยจะทำนโยบายแบบนี้ได้มั้ยในการเอาเงินจำนวนมหาศาลไปใช้ ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ ต้องมีการอภิปรายถกเถียงกันมหาศาล สื่อมวลชนต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น แต่ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินหรือการอ้างสถานการณ์แบบนี้ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ทำให้นโยบายกลายเป็นหมัน คุณประยุทธ์บอกว่า องค์กรตรวจสอบต่าง ๆ นั้นมีอยู่แล้วแต่ภาคประชาชนถูกตัดออกไป เราจะรักษาสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร

นโยบายของรัฐปัจจุบันเป็นรัฐอำมาตยาธิปไตยเพื่อชนชั้นนำ เพื่อนายทุน ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนในภาคส่วนของสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมมากนัก อย่างสถานการณ์แบบนี้ที่เราเห็นว่า ชนชั้นกลางหรือคนที่ไม่เดือนร้อนกับสถานการณ์ที่จะต้องอยู่บ้าน เศรษฐกิจที่ไม่ขยับตัว มันไม่มีความหมายเลย ผมคิดว่าเราไม่ได้ถูกบล็อกด้วยรัฐในรูปแบบเผด็จการอย่างเดียว แต่ถูกบล็อกโดยประชาชนเอง คือมวลชนของรัฐแบบนี้มันนำมาสู่การบอกว่า

ประชาชนต้องไม่พูดอะไรนะ รัฐทำอะไรก็ได้ จัดการให้โควิดเป็นศูนย์ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะเผยให้เห็นความเน่าเฟะของระบบราชการที่ไม่สามารถจัดการได้

จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานกับกลุ่มแรงงานในช่วงเวลา 2-3 เดือนนี้ แรงงานข้ามชาติและชุมชนชายขอบได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสนี้อย่างมหาศาล คือ ตกงาน 2-3 เดือน ไม่มีการช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ เข้าไม่ถึงการเยียวยา 5,000 บาท เข้าไม่ถึงเงินสวัสดิการประกันสังคม แต่ถามว่าคนเหล่านี้สามารถปริปากหรือพูดได้ไหม นี่คือเรื่องที่เราถูกปิดปากด้วยมาตรการทางสาธารณสุข คือเราต้องไม่ให้โรคระบาดแพร่มากขึ้น หากถามว่ามันจะอยู่ในลักษณะแบบนี้อีกยาวนานไหม นี่คือคำถามที่ใหญ่มาก ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว ห้างร้านที่ทยอยปิดตัวในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินจะอยู่อย่างไร นโยบายเหล่านี้รัฐไม่เคยพูดถึง ที่สำคัญคือ เราไม่สามารถส่งเสียงของเราได้ว่ารัฐจะไปในทิศทางไหน เมื่อก่อนในหลายปีที่ผ่านมาประชาชนสามารถเข้าไปกำหนดทิศทางของรัฐได้พอสมควร สามารถผ่านสภาผู้แทนราษฎร ผ่านองค์กรภาคเอกชน ผ่านเอ็นจีโอต่างๆ เพื่อเข้าไปบอกว่า นโยบายรัฐ 1-5 นี้ อะไรที่เราต้องการ อะไรที่เราอยากเสนอ แต่ในสถานการณ์แบบนี้ มันเปลี่ยนความสัมพันธ์จากที่รัฐอาจมีความสัมพันธ์กึ่งๆ กลางๆ ระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นรัฐลงมาสู่ประชาชนแบบบนลงล่าง นี่คือสิ่งที่น่าวิตกมากในเชิงนโยบายที่สำคัญ

ถามว่า ภาคประชาชนจะอยู่อย่างไร หรือจะทำอะไรต่อไป ผมคิดว่าสถานการณ์ก่อน COVID-19 มีนิดหน่อย คือเราเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลง คือมีขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับนโยบายโดยตรง แต่เป็นการตรวจสอบรัฐในระดับหนึ่ง แต่หลัง COVID-19 2-3 เดือนนี้ การตรวจสอบของนักศึกษาได้ชะงักไป มีการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ผ่านออนไลน์ต่างๆ นานา แต่ไม่สามารถเป็นพลังที่สำคัญตรวจสอบอำนาจรัฐได้ รัฐชนชั้นนำเถลิงอำนาจมากๆ ใช้สถานการณ์ของโรคระบาด กลายเป็นนโยบาย เป็นการปิดการมีส่วนร่วม เป็นรัฐที่สั่งสอนประชาชนในแง่มุมต่างๆ คุณต้องทำอย่างนั้น 1-5 เพื่อที่จะไม่ให้โรคระบาด จนผมคิดว่าโรคระบาดกลายเป็นข้ออ้างไปแล้ว

ที่สำคัญคือหลังจากนี้ เราจะตรวจสอบรัฐอย่างไร จะตั้งคำถามกับรัฐอย่างไร สร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐและประชาชนจะเป็นคำถามใหญ่ของพวกเราที่จะร่วมกันคิดในภาคประชาชน ภาคประชาสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท