Skip to main content
sharethis

ในช่วง COVID-19 เริ่มแรก นโยบาย ‘การทำงานที่บ้าน’ (Work from Home หรือ WFH) ถูกมองว่าเป็นพระเอก แต่พบข้อเสียเหมือนกันโดยเฉพาะ ‘ความเครียดจากเส้นแบ่งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวในบ้าน’ เมื่อคนทำงานต้องอยู่ในภาวะตื่นตัวตลอดเวลา - ผลสำรวจพบคนทำงานต้องการ 'ทำงานที่ออฟฟิศควบคู่กับการทำงานจากที่บ้าน' ผู้บริหารก็เห็นด้วย


ที่มาภาพประกอบ: ishane (CC BY 2.0)

ในช่วง COVID-19 เริ่มแรกนโยบาย ‘การทำงานที่’ (Work from Home หรือ WFH) หนึ่งในมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ถูกมองว่าเป็นพระเอก ทีช่วยคนทำงานทั่วโลกให้ยังสามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องออกไปเสี่ยงกับการติดเชื้อ มีการยกข้อดีต่าง ๆ มาสนับสนุนแนวคิดนี้มากมาย แต่กระนั้นพบว่าก็ยังพบข้อเสียของการทำงานจากที่บ้านด้วยเหมือนกัน

อีกด้านของการ 'ทำงานที่บ้าน' พบสร้างความเครียดสูง
COVID-19 กระตุ้นคนจีน 'ทำงานทางไกล' เพิ่มมากขึ้น
คนหนุ่มสาวญี่ปุ่นมองหาที่ทำงานห่างไกลจากเมืองใหญ่

แคลร์ อึ้ง ผู้บริหารด้านการสื่อสารวัย 29 ปี ชาวสิงคโปร์ รู้สึกว่าเธอจะต้องตอบกลับอีเมลงานที่ส่งถึงเธอเวลา 21.00 น. ในทันที ทั้งนี้รัฐบาลสิงคโปร์ก็มีมาตรการเช่นเดียวกับหลายที่ในโลก ที่เรียกร้องให้คนทำงานทำงานที่บ้านในช่วงการระบาดของ COVID-19

ในสถานการณ์ปกติเธอเคยตอกบัตรออกจากออฟฟิศเวลา 18.00 น. ซึ่งถือว่าเย็นมากที่สุดสำหรับเธอแล้ว แต่ในขณะนี้เธอรู้สึกเหมือนว่าผู้บังคับบัญชาคาดหวังว่าพนักงานพร้อมที่จะทำงานตลอดเวลา

“เจ้านายคิดว่าฉันสามารถทำงานได้ทุกเมื่อเพราะฉันติดอยู่ที่บ้าน” อึ้ง กล่าว “ในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ฉันก็คาดหวังว่าจะไม่ต้องทำงาน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหัวหน้าต้องการให้งานเสร็จทันที”

ประสบการณ์ของอึ้งก็เช่นเดียวกับพนักงานออฟฟิศในทั่วเอเชียช่วงการระบาดของ COVID-19 แม้ว่าสิงคโปร์และประเทศอื่น ๆ เริ่มเปิดให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศบ้างแล้ว แต่ก็เป็นไปด้วยความระมัดระวัง แม้โอกาสในการทำงานจากที่บ้านจะดูเป็นเหมือนของขวัญสำหรับบางคน แต่บางคนก็บอกว่าเส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพวกเขาพร่าเลือนไป ส่งผลให้เกิดความเครียดสูงขึ้นและทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของการทำงานในยุคหลังการระบาดนี้

ช่วงเดือน มิ.ย. 2563 สื่อ Nikkei Asian Review ได้นำเสนอข้อมูลจากรายงานวิจัยของ Cigna บริษัทด้านสุขภาพสัญชาติสหรัฐฯ ที่ทำการสอบถามคนทำงาน 10,200 คน ในไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน สเปน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พบว่าส่วนใหญ่แล้วมีความเครียดเพิ่มสูงขึ้นกว่าในสถานการณ์ปกติ

Cigna พบว่าคนทำงานในสิงคโปร์ที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่ามีความเครียดจากงานมากขึ้นเป็นร้อยละ 63 ในช่วงเดือน เม.ย. 2563 จากเดิมที่ร้อยละ 58 ในเดือน ม.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ COVID-19 ยังระบาดไม่รุนแรง และยังไม่มีมาตรการจากรัฐบาลให้ประชาชนทำงานที่บ้าน (Work from Home) ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามในไทยมีความเครียดจากงานอยู่ที่ร้อยละ 52 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 48 ฮ่องกงที่เพิ่มจากร้อยละ 46 เป็นร้อยละ 47

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง มีความเครียดเมื่อต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น น่าจะมาจากวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวจะพลาดการติดต่องานที่อาจเข้ามาได้ตลอดเวลาผ่านทางโทรศัพท์ อีเมล หรือข้อความ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ระบุว่าพวกเขาต้องอยู่ในภาวะตื่นตัวตลอดเวลามากกว่าร้อยละ 70

ส่วนที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่คนทำงานไม่มีความเครียดเพิ่มขึ้น ผลสำรวจเมื่อเดือน มี.ค. 2563 และ เม.ย. 2563 เท่ากันที่ร้อยละ 58 Cigna ระบุว่าอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเวลา เพราะจีนเป็นประเทศแรกที่เข้าสู่กระบวนการปิดกั้นเพื่อควบคุมการติดเชื้อ COVID-19 นอกจากนี้คนทำงานออฟฟิศในจีนยังคุ้นเคยกับการสื่อสารนอกสำนักงานอยู่แล้ว

"ชั่วโมงการทำงานในจีนมีแนวโน้มน้อยลงและยืดหยุ่นมากขึ้น แอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่เช่น WeChat เป็นที่ยอมรับและมักใช้เพื่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานก่อนที่จะเกิดโรค COVID-19 ระบาดอยู่ก่อนแล้ว" Cigna ระบุ

ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ของการทำงานจากที่บ้าน


ที่มาภาพประกอบ: Richard Patterson (CC BY 2.0)

ข้อมูลจาก ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ระบุว่าจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้องค์กรต่าง ๆ เริ่มส่งเสริมให้พนักงานทำงานจากที่บ้านมากขึ้น เป็นผลให้พนักงานต้องปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและทำงานจากระยะไกล อย่างไรก็ตาม การจะใช้งานเทคโนโลยีอย่างมั่นคงปลอดภัยได้นั้นองค์กรต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านนโยบาย เทคโนโลยี และบุคลากร เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทาง IBM Security และ Morning Consult ได้จัดทำผลสำรวจเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการทำงานจากที่บ้าน โดยพบว่าหลายองค์กรยังขาดแนวทางการรับมือที่เหมาะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งการถูกเจาะระบบและความเสี่ยงข้อมูลรั่วไหลได้

ตัวอย่างความเสี่ยง เช่น พนักงานร้อยละ 52 ต้องใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวในการทำงาน โดยในจำนวนดังกล่าวมี ร้อยละ 61 ที่ระบุว่าไม่ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือด้านความมั่นคงปลอดภัยจากทางองค์กร นอกจากนี้ร้อยละ 45 ยังระบุว่าไม่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องการปกป้องข้อมูลหรือการปกป้องอุปกรณ์เพื่อให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้อย่างมั่นคงปลอดภัยแต่อย่างใด

นอกจากการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีแล้ว นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยง ซึ่งจากผลสำรวจพบพนักงานกว่าร้อยละ 41 มีความจำเป็นต้องทำงานกับข้อมูลส่วนบุคคล แต่พนักงานกว่าครึ่งกลับไม่ทราบหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับนโยบายในการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องทำงานกับข้อมูลดังกล่าวจากที่บ้านหรือต้องส่งต่อข้อมูลนั้นให้กับบุคคลอื่น ซึ่งความไม่ชัดเจนเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงข้อมูลรั่วไหลและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้

เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น องค์กรต่าง ๆ จึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านอย่างปลอดภัย ทั้งดานเครื่องมือ การอบรมเพื่อสร้างความตระหนัก รวมถึงกำหนดและประกาศนโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้ชัดเจน

คนทำงานต้องการ 'ทำงานที่ออฟฟิศควบคู่กับการทำงานจากที่บ้าน'


ที่มาภาพประกอบ: sxates (CC BY-NC-ND 2.0)

ในช่วงเดือน มิ.ย. 2563 Adecco บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก ได้เปิดเผยผลการวิจัย 'Resetting Normal: Defining the New Era of Work' ที่ได้สำรวจผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวของ COVID-19 ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานในสถานที่ทำงาน โดยได้สำรวจพนักงานออฟฟิศ (อายุ 18-60 ปี) ในออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา รวม 8,000 คน เมื่อเดือน พ.ค. 2563

ผลวิจัยของ Adecco เผยให้เห็นว่าคนทำงานประจำอาจต้องการลักษณะการทำงานแบบ 'ลูกผสม' โดยพนักงานร้อยละ 74 ที่ตอบแบบสำรวจระบุว่าการทำงานที่ออฟฟิศควบคู่กับการทำงานจากที่บ้านหรือการทำงานระยะไกลคือวิธีที่ดีที่สุด  ซึ่งผู้บริหารบริษัทก็เห็นด้วย โดยผู้บริหารร้อยละ 77 เชื่อว่าธุรกิจจะได้รับประโยชน์จากการทำงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

พนักงานร้อยละ 69 มองว่าสัญญาจ้างควรให้ค่าตอบแทนตามผลงานมากกว่าชั่วโมงทำงาน ขณะที่ผู้บริหารร้อยละ 74 ก็เห็นด้วยว่าควรมีการทบทวนชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์

Adecco ยังระบุว่าผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยังต้องการเพิ่มทักษะของตนเอง โดยร้อยละ 61 ระบุว่าตนเองมีทักษะดิจิทัลมากขึ้นช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่ร้อยละ 69 ต้องการเพิ่มทักษะดิจิทัลอีกหลังสถานการณ์คลี่คลาย และมีหลายทักษะที่พนักงานมองว่ามีความสำคัญ เช่น การบริหารพนักงานจากระยะไกล ทักษะทางอารมณ์และสังคม และการคิดเชิงสร้างสรรค์

ผลวิจัยยังตอกย้ำถึงความสำคัญของการรักษาความเชื่อใจในโลกของการทำงานรูปแบบใหม่ การที่หลายบริษัทลุกขึ้นมารับมือกับความท้าทายเพื่อช่วยเหลือพนักงานในช่วงวิกฤต ส่งผลให้พนักงานมีความเชื่อใจในบริษัทมากขึ้น โดยพนักงานร้อยละ 88 ระบุว่านายจ้างสามารถทำได้ตามที่คาดหวังหรือเหนือกว่าที่คาดหวังในส่วนของการรับมือกับความท้าทายจากโควิด

อย่างไรก็ตามความเชื่อใจที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ความคาดหวังเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยพนักงานร้อยละ 80 เชื่อว่านายจ้างต้องรับผิดชอบในการสร้างโลกของการทำงานที่ดีกว่าเดิมหลังวิกฤต COVID-19 ขณะที่ร้อยละ 73 มองว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ส่วนร้อยละ 72 เห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของตัวบุคคล และร้อยละ 63 เชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบของสหภาพแรงงาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net