Skip to main content
sharethis

สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า และเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมกันยื่นแถลงการณ์คัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะพิษเข้ามารีไซเคิลในประเทศไทย เหตุกระทบสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะในประเทศจนกระทบอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าจนต้องเลิกกิจการ

10 ก.ย.2563 ทวิตเตอร์ของกรีนพีซ ประเทศไทย ทวีตรายงานว่า สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า และเครือข่ายภาคประชาสังคมยื่นหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องให้ควบคุมการนำเข้าขยะพลาสติกและแก้ไขปัญหาลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะปนเปื้อนหลังจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะเข้าประเทศจนไหลทะลักไปประเทศอื่นซึ่งมีไทยเป็นหนึ่งในประเทศปลายทางของขยะเหล่านี้ การยื่นหนังสือครั้งนี้มี นิศากร งิ้วจิตร หัวหน้าสำนักงานนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรับเรื่อง

ในหนังสือที่ยื่นระบุเหตุผลว่าขยะเหล่านี้เข้ามาในไทยมากถึง 552,912 ตัน ในปี 2561 มากขึ้นถึง 8 เท่าจากเมื่อปี 2559 ที่มีเข้ามาเพียง 69,500 ตัน ทำให้คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ มีมติให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี โดยมีช่วงผ่อนผันได้กำหนดโควตาให้ยังนำเข้าได้และจะให้ยุติการนำเข้าในปีที่สาม ซึ่งจะครบกำหนดภายใน 30 ก.ย.ที่จะถึงนี้ 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้พยายามขอนำเข้าเศษพลาสติกต่อไปโดยให้เหตุผลว่า วัตถุดิบที่มีภายในประเทศไม่เพียงพอและคุณภาพต่ำจึงต้องการนำเข้าอีก 6.5 แสนตันในปี 2564 คณะกรรมการจึงให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้ กรอ. ไปสำรวจความต้องการของโรงงานและนำเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 กันยายนนี้

เครือข่ายภาคประชาสังคมมีความห่วงใยต่อประเด็นดังกล่าวจึงเรียกร้องให้คณะกรรมการยืนยันมติเดิม ของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อปี 2561 ที่ “กำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซากอิเล็กทรอนิกส์ 100% ภายในปี 2563” ด้วยเหตุผลและข้อเสนอต่อไปนี้

1. ผู้นำเข้าควรมีการปรับตัวหรือปรับแผนธุรกิจเพื่อลดการนำเข้าและเพิ่มสัดส่วนการใช้เศษพลาสติกในประเทศให้มากขึ้น หากรัฐบาลเปลี่ยนเป้าหมายจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและจะกระทบกับเป้าหมายตาม Roadmap

2. คณะอนุกรรมการฯ ควรให้มีการสำรวจโดยอ้างอิงจากสถิติในอดีต เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการแจ้งความต้องการในปริมาณสูงไว้ก่อนเพื่อจะนำเข้าได้มากและเพื่อลดต้นทุนของตัวเอง

3. ยังมีการนำเข้ามากถึง 323,167 ตัน ในปี  2562 ซึ่งเกินโควตาที่กำหนดในช่วงผ่อนผันซึ่งร่วมกันสองปีแค่ 1.1 แสน แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกของภาครัฐ

4. หากมีการอนุญาตนำเข้า ให้อนุญาตเฉพาะการนำเข้า “เม็ดพลาสติกใหม่หรือเม็ดพลาสติกรีไซเคิล” เท่านั้น ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เลย โดยห้ามนำเข้าเศษพลาสติกชนิดอัดก้อนเด็ดขาด

5. ข้ออ้างของ กรอ.และผู้นำเข้าที่ว่าพลาสติกรีไซเคิลในประเทศมีราคาแพงกว่า จึงเป็นข้ออ้างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศผู้ส่งและผู้นำเข้าไม่กี่ราย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

6. เนื่องจากขยะพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกมากจนทำให้ราคาพลาสติกรีไซเคิลในประเทศ ตกต่ำจึงมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและกำลังใจในการทำงานของกลุ่ม “ซาเล้ง” ประมาณ 1.5 ล้านคน และร้านรับซื้อของเก่าอีก 30,000 ร้านค้า ต้องเลิกประกอบอาชีพนี้

7. ปริมาณพลาสติกเพื่อรีไซเคิลในประเทศมี 1.6 ล้านตันต่อปี ปริมาณนี้จึงเพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ในส่วนข้ออ้างเรื่องการปนเปื้อนหรือความไม่สะอาดนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมกันเร่งหามาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

8. รัฐบาลไทยควรเร่งเตรียมความพร้อมในการเพิ่มเติมรายการที่ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของอนุสัญญาบาเซลฯ และควรเร่งการให้สัตยาบันข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ (Ban Amendment) เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันการนำเข้าส่งออกของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงขยะพลาสติกอย่างเข้มงวดมากขึ้น

9. รัฐบาลควรมีมาตรการตรวจสอบ กำกับ ติดตาม และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  ตัวอย่างเช่น มีหน่วยงานตรวจสอบทุกครั้งโดยทันทีที่วัตถุดิบมาถึง กรณีมีการสำแดงเท็จ เพิกถอนใบอนุญาตชิพปิ้งและผู้นำเข้าทันทีถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมถอนใบอนุญาตเป็นเวลา 10 ปี หากมีประชาชนเกิดผลกระทบและเข้าร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งระงับการดำเนินการหรือระงับการต่อใบอนุญาตโรงงานได้

ข้อเสนอต่อการเพิ่มอัตราการเก็บรวบรวมพลาสติกรีไซเคิลในประเทศ

1. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และ อปท.ในเมืองใหญ่ที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นแหล่งกำเนิดขยะขนาดใหญ่ต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดระบบเก็บขยะแบบแยกประเภท โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีแหล่งกำเนิดเริ่มแยกขยะอยู่แล้ว จัดระบบทั้ง drop-off และ pick-up หรือ curbside collection รวมทั้งการจัดกิจกรรมตลาดนัดขยะรีไซเคิลอย่างสม่ำเสมอ

2. กำหนดให้ อปท. ร่วมกับภาคเอกชนสนับสนุนให้ร้านรับซื้อของเก่ามีการจัดการสภาพร้านหรือแหล่งรับซื้อที่ดี ส่งเสริมให้เข้าระบบ application ที่เชื่อมต่อระหว่างแหล่งกำเนิดกับร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่ (pick-up service)  อปท. มีมาตรการส่งเสริมให้ร้านรับซื้อของเก่าให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมจัดกิจกรรมตลาดนัดขยะรีไซเคิลและธนาคารขยะในพื้นที่ร่วมกับ อปท. โดยมีการจัดสรรรายได้ที่เหมาะสม

3. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกกฎหมายพื้นฐานเพื่อสร้างสังคมรีไซเคิลและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน กำหนดบทบาทหน้าที่ของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น และนำหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) มาใช้เพื่อกำหนดความรับผิดชอบของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย อปท. และผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์ กำหนดเป้าหมายการเก็บรวบรวมที่ชัดเจนในแต่ละปี เพื่อลดความจำเป็นที่ต้องนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ดังแนวทางที่แสดงอยู่ภาพประกอบต่อไปนี้

รายชื่อเครือข่ายภาคประชาสังคมที่สนับสนุนความเห็นและข้อเรียกร้องในแถลงการณ์

  1. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
  2. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  3. กรีนพีซ ประเทศไทย
  4. สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า
  5. แผนงานขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการจัดการขยะเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน สสส.
  6. สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. ดร.เพชร มโนปวิตร เจ้าของเพจ “Rereef”
  8. นายเปรม พฤกษ์ทยานนท์ เจ้าของเพจ “ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป”
  9. กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) 
  10. กลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำจังหวัดราชบุรี ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี
  11. กลุ่มคนคลองบางป่า ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี
  12. กลุ่มเรารักษ์ท่าถ่าน-บ้านซ่อง ต.ท่าถ่าน และ ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
  13. กลุ่มเรารักษ์พนม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา  
  14. กลุ่มเรารักพุม่วง ตำบลหนองชุมพล อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
  15. เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก
  16. เครือข่ายปกป้องผืนป่าตะวันออก
  17. เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 
  18. เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดฉะเชิงเทรา /ชลบุรี / ระยอง / ปราจีนบุรี / สระแก้ว / นครนายก / ราชบุรี / เพชรบุรี
  19. สมัชชาแปดริ้วเมืองยั่งยืน
  20. องค์กรชุมชนตําบลหนองชุมพลเหนือ ต.หนองชุมพลเหนือ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี
  21. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (Foundation for AIDS Right)
  22. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
  23. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน
  24. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
  25. มูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก
  26. มูลนิธิสถาบันปฏิปัน
  27. มูลนิธิสืบศักดิ์สิน แผ่นดินสี่แคว
  28. สมาคมพัฒนาชุมชนยั่งยืน นครสวรรค์
  29. ศ. (เกียรติคุณ) สุริชัย หวันแก้ว
  30. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
  31. มูลนิธิสุขภาพไทย
  32. คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบข้ามการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition)
  33. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
  34. มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
  35. มูลนิธิโลกสีเขียว
  36. มูลนิธิชีววิถี
  37. แนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี
  38. Less Plastic Thailand
  39. มูลนิธิเพื่อนหญิง
  40. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
  41. มูลนิธิสระแก้วสีเขียว
  42. สำนักข่าวธรรมรัฐจังหวัดสระแก้ว
  43. บงกช ภูษาธร ประชาชนกรุงเทพมหานคร
  44. วริศรา เมฆานนท์ชัย ประชาชนกรุงเทพมหานคร
  45. กลุ่มรวมพลังคนรักบ้านเกิดบางโทรัด
  46. Bye Bye Plastic Bags (Thailand)
  47. เถื่อน channel
  48. เครือข่ายวงษ์พาณิชย์
  49. บริษัท ธาอีส อีโคเลทเธอร์ จำกัด
  50. กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก
  51. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพัน์แห่งประเทศไทย
  52. เครือข่ายอากาศสะอาด
  53. วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ social activist artist จาก เพจ WISHULADA
  54. กลุ่มรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี
  55. กลุ่มคนรักบ้านเกิด ต.ท่าเสน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี
  56. กลุ่มสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
  57. กลุ่มคนสองแคว ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
  58. กลุ่มเพื่อนรักจักรยานบ้านพี่โสเพ็ชร์บุรี ต.บ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
  59. ภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร (องค์กรเพื่อผู้บริโภค)
  60. SOS Earth 
  61. Refill Station
  62. Little Big Green

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net