Skip to main content
sharethis

ชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รวมตัวกันในนาม 'กลุ่มถักทอสันติภาพ' เข้าพบหัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาล เพื่อนำเสนอข้อห่วงกังวัล ข้อเสนอต่อการพัฒนาและความคาดหวังของชาวพุทธต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2563 ที่ มจร. วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี ชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รวมตัวกันในนามกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ได้พบกับพลเอกวัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาล เพื่อนำเสนอข้อห่วงกังวัล ข้อเสนอต่อการพัฒนาและความคาดหวังของชาวพุทธต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข

ข้อเสนอของกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) ต่อคณะพูดคุยสันติสุข/สันติภาพ
    
ข้อเสนอของกลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) เป็นข้อมูลที่รวบรวมมาจาก (1) เอกสารข้อเสนอของกลุ่มถักทอสันติภาพต่อสถานการณ์ชาวพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (2561) ซึ่งเป็นกระบวนการวิจัย (2) เอกสารรายงานการสานเสวนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2563 (3) การประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2563 และ (4) แบบสอบถามความคิดเห็นเบื้องต้นของชาวพุทธในชายแดนใต้ต่อการดำรงอยู่ในสังคมชายแดนใต้ โดยแบ่งข้อเสนอออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. ความห่วงกังวลของชาวพุทธ

1.1 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน: การดำรงชีวิต การเดินทางและการทำงานในชีวิตประจำวันมีความตึงเครียด เช่น การเดินทางที่บางครั้งต้องใช้เส้นทางอ้อมหรือไม่ใช้เส้นทางซ้ำเดิม นอกจากนี้ยังพบว่ามีชาวพุทธจำนวนมากย้ายถิ่นฐานเนื่องมาแต่ปัญหาความไม่มั่นใจในความปลอดภัยหรือเพราะถูกข่มขู่ให้หวาดกลัว 

1.2 วิถีความเป็นพุทธ: ขณะที่ในหลายพื้นที่วิถีวัฒนธรรมพุทธ เช่น การเวียนเทียน การสวดอภิธรรมศพ การบิณฑบาต ค่อยๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติตามลำดับ แต่ชาวพุทธก็ยังมีความกังวลว่าอาจจะเกิดเหตุรุนแรงที่จะกระทบต่อการคืนสู่สภาวะปกติได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ชาวพุทธยังเผชิญอคติและการแสดงความเกลียดชังต่อวิถีชาวพุทธ เช่น ห้ามเอาหมูมากินในที่ทำงาน การตั้งข้อรังเกียจในการรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยถูกตั้งข้อรังเกียจมาก่อน

1.3 ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ: โอกาสในการประกอบอาชีพในชุมชนที่จำกัดลง รวมถึงการไม่มีงานทำในพื้นที่ที่สอดคล้องกับวุฒิการศึกษา สัดส่วนในการได้รับเข้าทำงานภาครัฐที่เป็นคนพุทธจากพื้นที่ เป็นต้น เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการถดถอยของชุมชนพุทธ นอกจากนี้ ปัญหาความหวาดระแวงที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์ต่อเพื่อนต่างศาสนาลดลง เกิดการแบ่งแยกทางสังคม ซึ่งส่งผลให้ลูกค้ามาอุดหนุนสินค้าและบริการของชาวพุทธลดลง

1.4 สิทธิการได้รับบริการจากภาครัฐในระดับต่างๆ: น้ำประปาสำหรับอุปโภค-บริโภคและระบบไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงชุมชนชาวพุทธอีกหลายพื้นที่ การเสนอวันหยุดสารทเดือนสิบ ทุนการศึกษาของเยาวชนพุทธ เป็นต้น แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของชาวพุทธในบางเรื่องกลับทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนเข้าใจว่าเป็นการต่อต้านรัฐ จึงควรลดช่องว่างความเข้าใจระหว่างฝ่ายรัฐและชาวพุทธให้เหลือน้อยลง ขณะเดียวกัน ควรมีกลไกที่ได้รับการยอมรับเพื่อติดตามประเมินผลการทำงานของภาครัฐ

1.5 การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ: ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ผ่านประสบการณ์ความรุนแรงจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการเยียวยาในทางจิตใจและสังคม ทำให้ไม่กล้ากลับไปอยู่ในชุมชนเดิมเพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ทำให้ต้องไปตั้งรกรากในที่ใหม่ทั้งที่ยังอยากจะกลับไปอยู่ที่บ้านเดิมของตน ที่ผ่านมายังขาดกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาเพื่อให้ชาวพุทธกลับมาอยู่ในชุมชนเดิมได้อย่างมั่นใจ และขาดกระบวนการที่จะช่วยลดความหวาดระแวงและการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (Hate speech) ที่นับวันจะแผ่ขยายออกไป

2. ข้อเสนอด้านการพัฒนา

2.1 บทบาททหาร: ควรเน้นบทบาทด้านการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การร่วมกันสร้างมาตรการด้านความปลอดภัยกับประชาชนในพื้นที่ เช่น การปราบปรามยาเสพติดให้มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง เป็นต้น ส่วนเรื่องการพัฒนานั้น ทหารควรส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาด้วยการจัดการตนเองในลักษณะที่ “ประชาชนเป็นคนทำ รัฐเป็นผู้ส่งเสริมให้กำลังใจ”

2.2 เศรษฐกิจ: ควรส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์โยงใยทางสังคมให้แก่ผู้คนในพื้นที่ เช่น การส่งเสริมกิจการสหกรณ์ที่ชาวพุทธและมุสลิมร่วมกันดำเนินการในระดับชุมชน จะนำมาซึ่งประโยชน์ทั้งในแง่ที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติพร้อมกันไปด้วย

2.3 การให้บริการของภาครัฐ: หน่วยงานรัฐระดับต่างๆ ควรทบทวนการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะการทำงานของการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เข้าใจวิถีของคนพุทธในพื้นที่ เช่น ประเพณีแห่เทียนพรรษา สารทเดือนสิบ เป็นต้น การให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการพัฒนา เช่น การดูแลรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน โดยยึดความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ การสนับสนุนจัดตั้งโครงการรับคนพุทธกลับถิ่นฐานเดิม ตามความสมัครใจและต้องการกลับบ้าน เพื่อเพิ่มประชากรพุทธ ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งการร่วมกันสร้างมาตรการด้านความปลอดภัยและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อที่จะทำให้การบริการของรัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น แสดงออกถึงความจริงใจ ตั้งใจแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมและเคารพสิทธิของทุกกลุ่มสังคม

2.4 การศึกษา: ควรส่งเสริมการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนาและวัฒนธรรม เช่น เรียนรู้วิถีชีวิต ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจ เปิดใจยอมรับความแตกต่าง ลดกระแสการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ลดความหวาดระแวง สร้างความไว้วางใจ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

3. ความคาดหวังและบทบาทของชาวพุทธในกระบวนการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพ

กทส. มีข้อสังเกตว่าการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพัฒนาการในเชิงบวก อาทิ ความรุนแรงลดลง มีโครงการพัฒนาที่พยายามจะแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ กลุ่มผู้เห็นต่างที่ประกาศว่าจะไม่ทำร้ายเด็กและสตรี และหยุดกิจกรรมความรุนแรงในช่วงที่มีวิกฤตโควิด-19 รวมทั้ง ความพยายามของคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลที่จะให้กลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่มเข้ามาร่วมในกระบวนพูดคุย อย่างไรก็ดี ชาวพุทธจำนวนหนึ่งมีข้อสงวน (reservation) เกี่ยวกับการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพ จึงหวังว่าถ้าชาวพุทธได้มีส่วนร่วมมากขึ้นก็จะหนุนช่วยกระบวนการสันติภาพให้ก้าวหน้า การมีส่วนร่วมอาจรวมถึงเรื่องต่อไปนี้

3.1 รับฟังปัญหาและเสียงชาวพุทธ และมีช่องทางในการสื่อสารระหว่างคนพุทธกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการพูดคุยรวมถึงฝ่ายผู้เห็นต่างด้วย ภาคีการพูดคุยทุกฝ่ายควรให้ความเชื่อมั่นว่าในทุกสารัตถะและการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในกระบวนการพูดคุยจะคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับทุกกลุ่มที่มีความต้องการและวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย 

3.2 ในกรณีที่ภาคีพูดคุยได้กำหนดหัวข้อที่เป็นสารัตถะแล้ว ชาวพุทธขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นจากมุมมองของชาวพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเมืองการปกครอง โอกาสการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน วิถีชีวิตชาวพุทธ รวมถึง มีการเสริมสร้างศักยภาพ (capacity building) ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหัวข้อดังกล่าวด้วย (ประเด็นที่ต้องการการเสริมสร้างศักยภาพ เช่น ประเด็นการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจสังคม การมีส่วนร่วมที่มีนัยสำคัญในกระบวนการสันติภาพ)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net