Skip to main content
sharethis

จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจพบว่า วิดีโอคลิปชื่อ "อานนท์ นำภา #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน | 10 ส.ค. 63" ที่เผยแพร่ทางยูทูบช่อง prchatai ผ่าน URL https://www.youtube.com/watch?v=MQwS8BFYj3M ถูกจำกัดการเข้าถึงภายในประเทศไทย โดยมีข้อความแจ้งว่า "เนื้อหานี้ไม่สามารถรับชมได้บนโดเมนของประเทศนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนทางกฎหมายจากรัฐบาล" 

ภาพหน้าจอของวิดีโอการปราศรัยของอานนท์ นำภาที่ถูกปิดกั้น

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังบริษัท YouTube ได้รับคำตอบจาก โฆษก YouTube ว่า “เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายของทุกประเทศที่เราเข้าไปดำเนินกิจการ ในกรณีนี้ เราได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและดำเนินการจำกัดการเข้าถึงของวิดีโอ เรากำลังพิจารณาทางเลือกทางกฎหมายของเราเพื่อมองหาวิธีที่เป็นไปได้ทั้งหมดในการสนับสนุนการแสดงออกของผู้ใช้"

สำหรับวิดีโอดังกล่าวเป็นบันทึกการปราศรัยของ อานนท์ ทนายความสิทธิมนุษยชน บนเวทีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา นอกจากพูดถึงข้อเสนอ 3 ข้อของนักศึกษา ที่ประกอบด้วย เรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เรียกร้องให้รัฐหยุดคุกคามประชาชนและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเอา ส.ว.และเอาอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ออกไปแล้ว  ยังพูดถึงการปฏิรูปสถาบัน กษัตริย์ด้วย โดยที่เขาเน้นย้ำที่การแก้ไขเรื่องการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านการออกกฎหมายสมัยรัฐบาล คสช. พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ใช่ม็อบล้มเจ้า ไม่ใช่ม็อบจาบจ้วง แต่เป็นม็อบที่พูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง

จากรายงานความโปร่งใสของบริษัทกูเกิลที่มีรอบรายงานทุก 6 เดือนที่จะเปิดข้อมูลสถิติคำขอจากรัฐบาลต่างๆ ให้ทางบริษัทลบเนื้อหาออก ได้ระบุว่ามีคำขอให้ลบเนื้อหาจากทางการไทยตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2562 ทั้งหมด 964 คำขอ โดยคำขอที่เป็นคำสั่งศาลมีเพียง 62 คำขอเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นคำขอจากหน่วยงานรัฐทั้งหมด โดยมีรายการ(ทั้งหมดที่กำหนดให้มีการลบออก 27,233 รายการ (ทั้งจากยูทูป, กูเกิลพลัส, บล็อกเกอร์, เว็บเซิร์ช และกูเกิลด็อก) โดยเนื้อหาที่ถูกขอให้ลบมากที่สุดคือการวิจารณ์รัฐบาลที่มีมากถึง 26,891 รายการ หรือ 99% ของเนื้อหาทั้งหมดที่รัฐไทยมีคำขอให้เอาออก

โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง 2562 ภายใต้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วก็ยังมีคำขอให้เอาเนื้อหาออกมากถึง 1,238 รายการ โดยทั้งหมดเป็นเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาล และจะเห็นจากกราฟแท่งด้านล่างที่เป็นสีน้ำเงินซึ่งแทนจำนวนของเนื้อหาที่เป็นการวิจารณ์รัฐบาลมีสัดส่วนที่เป็นเกือบทั้งหมดของทุกรอบรายงาน

ข้อมูลสถิติ 5 รอบล่าสุดตามรายงานของกูเกิล

สถิติย้อนหลังได้จนถึงมิถุนายน 2553 กราฟแต่ละแท่งแทนสถิติทุก 6 เดือน

ในเว็บรายงานยังระบุอีกว่าในช่วง 3 ปีล่าสุดกูเกิลเองยังดำเนินการปิดกั้นเนื้อหาตามคำขอของรัฐบาลที่สูงถึง 70%-96% ของคำขอทั้งหมดจากรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2558  (ทั้งนี้การรายงานข้อมูลบนเว็บไซต์ของกูเกิลมีปัญหาในการนับสถิติส่วนนี้ กล่าวคือในข้อมูลของปี 2562 กูเกิลใช้จำนวนของ “รายการ” ที่กูเกิลดำเนินการไปแล้ว แต่ปีย้อนหลังลงไปตั้งแต่ 2561 เป็นจำนวน “คำขอ”ที่กูเกิลดำเนินการตามคำขอ)

ทั้งนี้ต้องใส่หมายเหตุของคำว่า “วิจารณ์รัฐบาล” ที่กูเกิลใช้ไว้ด้วยว่า กูเกิลเลิกใส่ข้อมูลส่วนเหตุผลที่ชัดเจนในรายงานว่าการ “วิจารณ์รัฐบาล” นี้หมายถึงวิจารณ์รัฐบาลหรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์กันแน่ตั้งแต่ปี 2556 โดยข้อมูลที่กูเกิลระบุในไฟล์ตารางสถิติที่มีให้ดาวน์โหลดนั้นระบุว่าในช่วงเดือน กรกฎาคม-ธันวาคม 2556 มีคำขอให้เอาเนื้อหาในยูทูปที่เป็นการวิจารณ์รัฐบาลออก 2 คำขอเป็นจำนวนรายการทั้งหมด 298 รายการ ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกันกับที่กูเกิลชี้แจงไว้ในช่วงเดือนเดียวกันบนหน้าเว็บไซต์ว่า

“เราได้รับคำขอ 2 รายการจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย (MICT) ให้ลบวิดีโอ YouTube 298 รายการ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระราชวงศ์ของไทย” แต่ก็ระบุไว้ด้วยว่ากูเกิลไม่ได้ทำตามคำขอนั้นเนื่องจากทางรัฐบาลไทยขอให้ลบเนื้อหาดังกล่าวออกทั้งโลก

สัดส่วนเหตุผลที่รัฐบาลไทยขอให้กูเกิลทำการปิดกั้นในเนื้อในช่องทางต่างๆ ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2553-2562

แม้ว่าในส่วนข้อมูลสถิติของปี 2563 จะยังไม่มีการเผยแพร่ในเว็บรายงานของกูเกิลแต่พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ทวิตภาพสถิติที่กระทรวงฯ ไว้เมื่อ 4 ส.ค.2563 ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งถึงผู้ให้บริการต่างๆ ซึ่งรวมถึงกูเกิลด้วย โดยศาลมีคำสั่งให้ปิดกั้นเนื้อหาบนยูทูบไปแล้วกว่า 1,616 URL  โดยยูทูบได้ดำเนินการปิดกั้นตามคำสั่งศาล 1,507 URL  

ภาพจากทวิตเตอร์ของพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net