Skip to main content
sharethis

การตั้งสหภาพแรงงานกว่า 400 คนของกูเกิลนับเป็นหัวหอกสำคัญในการจัดตั้งสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมไอทีซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อต้านสหภาพแรงงานอย่างหนัก และยังเป็นสหภาพที่มีความใหม่ในแง่การกดดันเรียกร้องและเพิ่มประเด็นอื่นๆ เช่น การปฏิบัติต่อพนักงานชายขอบหรือจรรยาบรรณในงานของพวกเขา


ภาพจาก pxhere.com

พนักงานกูเกิลประกาศเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาได้จัดตั้ง 'สหภาพแรงงานอัลฟาเบต' ขึ้น ซึ่งตั้งชื่อตามบริษัทแม่ของกูเกิลที่ชื่ออัลฟาเบต โดยมีสมาชิกเป็นแผนกวิศวกรรมและแผนกอื่นๆ ของกูเกิลรวมแล้ว 400 คน

สื่อนิวยอร์กไทม์ระบุว่าการจัดตั้งสหภาพฯ ในวงการอุตสาหกรรมไอทีนั้นเกิดขึ้นยากเพราะมีแรงต่อต้านการจัดตั้งสหภาพมาเป็นเวลานาน แต่สำหรับพนักงานกูเกิลเหล่านี้พวกเขาต่อสู้เรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้าง, การข่มเหงรังแกในที่ทำงาน และเรื่องจริยธรรม ทำให้มีโอกาสยกระดับความตึงเครียดในความขัดแย้งกับกลุ่มผู้นำระดับสูงของบริษัทได้

สหภาพอัลฟาเบตนี้มีการจัดตั้งกันอย่างลับๆ และเพิ่งจะมีการเลือกตั้งผู้นำสหภาพไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 สหภาพแห่งนี้ยังเป็นกลุ่มที่ทำงานร่วมมือกับสหภาพแรงงานคนทำงานสื่อสารมวลชนแห่งอเมริกา (C.W.A.) ที่เป็นสหภาพแรงงานตัวแทนคนทำงานภาคโทรคมนาคมและสื่อในสหรัฐฯ และแคนาดา

ทั้งนี้สหภาพอัลฟาเบตยังมีลักษณะการดำเนินการต่างจากสหภาพแรงงานในลักษณะดั้งเดิมคือการให้นายจ้างมานั้งโต๊ะเจรจาข้อตกลงด้วย แต่สหภาพแห่งนี้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสหภาพเสียงข้างน้อยเพราะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของพนักงานสองแสนกว่าคนของกูเกิลบอกว่าพวกเขาจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดโครงสร้างการดำเนินกิจกรรมในกูเกิลให้ได้ยาวนาน แทนการเจรจาข้อตกลงเป็นชิ้นๆ ไป

ชิววี ชอว์ วิศวกรของกูเกิลในซานฟรานซิสโก เบย์แอเรีย กล่าวว่า สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือจำเป็นที่จะทำให้เกิดการกดดันต่อเนื่องต่อกลุ่มผู้บริหาร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานที่ทำงานในประเด็นต่างๆ ได้ ไม่เฉพาะเรื่องค่าจ้างเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่กว้างออกไป

คารา ซิลเวอร์สไตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารบุคคลของกูเกิลกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าทางบริษัท "ทำงานหนักเพื่อสร้างสถานี่ทำงานที่เกื้อกูลกันและมีการตอบแทนที่ดีต่อแรงงาน" เธอกล่าวอีกว่าทางบริษัทมีการ "คุ้มครองแรงงานของพวกเขาอยู่เสมอ" และจะยังคง "ปฏิสัมพันธ์กับลูกจ้างโดยตรงต่อไปเช่นที่เคยทำมาตลอด"

สหภาพแรงงานแห่งนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ามีการดำเนินกิจกรรมในเรื่องแบบนี้ใน ซิลิคอน วัลเลย์ แหล่งอุตสาหกรรมไอทีในสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ จากที่คนงานไอทีเหล่านี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องประเด็นทางสังคมและการเมืองมานาน ไม่เพียงแค่คนงานกูเกิลเท่านั้น คนงานแอมะซอน, เซลส์ฟอร์ซ, พีอินเทอร์เรส และบริษัทไอทีอื่นๆ ก็เริ่มออกปากพูดถึงประเด็นต่างๆ มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องความหลากหลาย, การกีดกันเลิอกปฏิบัติทางค่าแรง และการล่วงละเมิดทางเพศ

ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2561 ที่พนักงานกูเกิลมากกว่า 20,000 คน ประท้วงด้วยการวอล์กเอาท์จากที่ทำงานเพื่อประท้วงที่บริษัทแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศได้ไม่ดีพอ นอกจากนี้ยังมีการประท้วงเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งที่ขัดจรรยาบรรณอย่างการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และการให้เทคโนโลยีกับหน่วยงานศุลกากรและการป้องกันเขตแดน

ถึงแม้ว่าสหภาพแรงงานที่ทำงานในแนวทางนี้จะต้องเผชิญกับปัญหาความไม่เข้าใจจากแรงงานรายอื่นๆ ที่ต้องการเรียกร้องแค่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้นโดยไม่สนใจว่างานของพวกเขาจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร แต่กลุ่มสหภาพที่มีสมาชิกไม่มากเหล่านี้กลับสามารถทำการต่างๆ สำเร็จ เช่นกรณี คนงานเว็บไซต์คิกสตาร์ทเตอร์และเว็บไซต์โปรแกรมมิงพัฒนาแอพฯ กลิตช์ ที่รณรงค์ชนะในปี 2563 มีหน่วยอื่นของสำนักงานกูเกิลเคยฟอร์มสหภาพสำเร็จในปี 2562 ที่พิตต์เบิร์ก นอกจากนี้ยังมีกรณีที่คนทำงานโกดังแอมะซอนในอลาบามากำลังจะโหวตลงคะแนนจัดตั้งสหภาพแรงงานภายในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานระบุว่าถึงแม้สหภาพอัลฟาเบตจะไม่ใช้วิธีการเจรจาข้อตกลงกับนายจ้าง แต่พวกเขามีวิธีการอื่นๆ ในการกดดันให้กูเกิลเปลี่ยนนโยบายได้ เช่นการเน้นการรณรงค์ในระดับสาธารณะ การวิ่งเต้นกับ ส.ส. และฝ่ายกำกับดูแลต่างๆ ของรัฐบาลให้ช่วยส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนายจ้าง

ในขณะที่สหภาพแรงงานแห่งนี้จะทำให้เกิดความตีงเครียดกับนายจ้างเพิ่มมากขึ้น แต่ฝ่ายนายจ้างที่นำโดยประธานบริหาร ซุนดาร์ พิชัย และผู้บริหารรายอื่นๆ ก็ทำพลาดไปในเดือน ธ.ค. 2563 โดยการที่พวกเขาไล่คนงานออกโดยขาดความชอบธรรม หนึ่งในนั้นคือ ทิมนิต เกบรู หญิงคนดำนักวิจัยระบบปัญญษประดิษฐ์ผู้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องวิธีการจ้างงานคนชายขอบและวิจารณ์อคติที่ทางกูเกิลใส่ไว้ในระบบปัญญาประดิษฐ์ การไล่เกบรูออกทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการที่กูเกิลปฏิบัติกับคนงานที่เป็นคนชายขอบ

สหภาพแรงงานคนทำงานสื่อสารมวลชนแห่งอเมริกา (C.W.A.) ซึ่งเป็นองค์กรที่อัลฟาเบตร่วมมือด้วยนั้นเริ่มพยายามผลักดันการจัดตั้งสหภาพในคนงานภาคไอทีเหล่านี้โดนเริ่มจากเน้นคนงานที่ทำงานในบริษัทเกมมาก่อนจากการที่คนงานบริษัทเกมมักจะเผชิญกับปัญหาการถูกจ้างงานด้วยชั่วโมงทำงานที่มากจนโหดร้าย และเผชิญกับการถูกให้ออกจากงาน และในกรณีล่าสุดก็มีการช่วยจัดการประชุมกับพนักงานกูเกิลตั้งแต่ปลายปี 2562 จนสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

อย่างไรก็ตามนักจัดตั้งสหภาพในกูเกิลที่มีอยู่เดิมหลายคนก็ไม่ลงรอยกับ C.W.A. สักเท่าใดเนื่องจากมองว่าพวกเขาแค่ต้องการแผ่ขยายอาณาเขตของตัวเองโดยไม่ให้ความสำคัญกับนักกิจกรรมแรงงานที่มีประสบการณ์ในกูเกิลอยู่ก่อน รวมถึงไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน C.W.A. ก็มีแบบแผนที่ดีในการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกไม่มากซึ่งช่วยอุ้มสหภาพแรงงานในรัฐที่กฎหมายแรงงานไม่เป็นมิตรได้



เรียบเรียงจาก

Hundreds of Google Employees Unionize, Culminating Years of Activism, New York Times, 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net