เปิดตัวกลุ่ม "Re-solution" แสวงหาฉันทามติใหม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ

เสวนาเปิดตัวกลุ่ม "Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่" 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' ย้ำอำนาจสูงสุดสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่กับประชาชนตลอดกาล 'พริษฐ์ วัชรสินธุ์' เสนอรูปแบบสภาเดี่ยว ชวนจับตาแก้ไขรัฐธรรมนูญลักไก่ ล็อกสเปก ส.ส.ร.-ไม่แตะอำนาจ ส.ว. 'รังสิมัน โรม' เสนอรื้อที่มาศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ต้องกลับมายึดโยงประชาชน ขณะที่ 'ยิ่งชีพ อัชฌานนท์' เสนอ ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยใช้เขตประเทศ พร้อมตั้งความหวังทำงานกับคนที่เคยลงมติรับรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วปัจจุบันกลับมาคิดได้

เสวนาเปิดตัว "Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ BACC ที่มา: Facebook/Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่

เวลา 13.00 น. วันนี้ (11 ต.ค.) ที่ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) มีการแถลงข่าว 4 เครือข่ายเปิดตัวกลุ่ม "Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” นำโดยปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, รังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล, พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) 

สำหรับ "กลุ่ม Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” เป็นความร่วมมือของ 4 กลุ่มที่ทำงานผ่านการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายหลักของกลุ่ม คือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ โดยถือเอาวันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 23 ปีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นวันแถลงข่าวของเครือข่าย โดยวันดังกล่าวนี้นับเป็นครั้งสุดท้ายที่สังคมไทยสามารถหาฉันทมติร่วมกันได้ อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐธรรมนูญ 40 ประกาศใช้ไปไม่นานก็ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่ององค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ฯลฯ และสุดท้ายก็จบด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และแม้จะมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่วิกฤตรัฐธรรมนูญและการเมืองไทยก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไปและยิ่งเด่นชัดขึ้น จนไม่สามารถคลี่คลายได้ แต่ประเทศไทยกลับเลือกการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และรัฐธรรมนูญ 60 ก็ทำให้ประเทศไทยมาถึงทางตัน จนบัดนี้สังคมไทยก็ยังไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้อีกเลย

"ทางออกเดียวของสังคมไทย คือ ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ต้องเดินหน้าแสวงหาฉันทามติใหม่ร่วมกัน ถึงเวลาฉันทามติใหม่สังคมไทย" ตอนหนึ่งของใบแถลงข่าวระบุ 

ปิยบุตรเสนออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ที่ประชาชน

ในช่วงอภิปราย ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวในหัวข้อ "ถึงเวลาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่" ว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir Constituant) เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการกำหนดชะตากรรมของรัฐ แต่สิ่งที่ยังค้างคาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2575 คือ ใครเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 หรือเมื่อ 23 ปีมาแล้ว ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญแห่งการปฏิรูปการเมืองและเป็นผลพวงการต่อสู้ทางประชาธิปไตยที่เป็นฉันทามติร่วมกันครั้งสุดท้ายว่าเราจะปกครองแบบใด แต่ฉันทามติที่ว่านี้กลับถูกทำลายในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และก่อวิกฤตการณ์ความขัดแย้งการเมืองไทยรอบใหม่ 

จนถึงปัจจุบันมีพลังจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ออกแบบให้การแก้ยากมากหรือไม่มีทางแก้ได้ ทั้งการมี ส.ว. และเมื่อผ่าน ส.ว. มาแล้วก็ยังมีศาลรัฐธรรมนูญเหมือนยักษ์ถือกระบอง ทั้งหมดเป็นวิกฤตการณ์ของการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญปี 60 จึงเป็นระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิดออกมา

ส่วนกระแสรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ปิยบุตรกล่าวตำหนิ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ที่ตั้งโดย คสช. ว่าไม่กระตือรือร้นจริงใจแก้รัฐธรรมนูญและไม่แยแสต่อเสียงประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อวิกฤตเกิดขึ้นจะจบด้วยการรัฐประหาร แต่เราต้องไม่ยอมให้ทหารเข้ามาทำลายรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เหมือนเป็นกรงขังนี้ทิ้งแล้วเขียนกรงขังใหม่ที่อาจแน่นหนากว่าเดิม ด้วยเหตุนี้ประชาชนต้องยืนยันว่าอำนาจสูงสุดสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่กับประชาชนตลอดกาล ประชาชนต้องร่วมเปล่งเสียงว่าเราคือผู้มีอำนาจสูงสุด ผ่านการกำหนดชะตากรรมโดยเขียนรัฐธรรมนูญของเราเอง เพื่อยืนยันว่าปัญหาที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 ที่มาถึงวันนี้และยังคลี่คลายไม่จบว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใคร และใครเป็นเจ้าของประเทศ จึงถึงเวลาที่ประชาชนเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญเอง

พริษฐ์ วัชรสินธุ์เสนอรูปแบบสภาเดี่ยว

ขณะที่พริษฐ์  วัชรสินธุ์ เสนอรูปแบบสภาเดี่ยว ที่ไม่มี ส.ว. ว่า ปัจจุบันเรามีฉันทามติร่วมกันว่าควรแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถ้าไม่แตะเรื่องอำนาจและที่มา ส.ว. ถือว่าไม่บรรลุผล เพราะ ส.ว. เป็นสัญลักษณ์ของความวิปริตทางการเมืองหลายประการ โดยเฉพาะอำนาจ ส.ว. ที่มีมากแต่ไม่ยึดโยงประชาชน ดังนั้นหนึ่งในทางเลือกคือการยกเลิกวุฒิสภาและให้เหลือสภาเดี่ยวเหมือนในหลายๆ ประเทศ สภาเดี่ยวมีข้อดีหลายอย่าง เช่น ช่วยประหยัดงบประมาณ เพราะถ้าเอาเงินเดือน ส.ว. และคณะทำงานมารวมกันจะได้คำตอบว่าประเทศเสียงบประมาณต่อปีไปกว่าพันล้านบาท 1 พันล้านบาท ที่สำคัญสิ่งที่เป็นอันตรายกว่าการไม่มี ส.ว.มาถ่วงดุลฝ่ายบริหาร นั่นคือการมี ส.ว.มาให้ท้ายฝ่ายบริหารแบบในปัจจุบัน

ชวนประชาชนจับตาการลงมติของรัฐสภาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนของรายละเอียดว่าจะมีรูปแบบแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร โดยเขาแสดงความห่วงใยการลักไก่ 2 ประการ ประการที่หนึ่งจะมีการล็อกสเปก ส.ส.ร. เช่น รัฐสภาโหวตผ่านให้ตั้ง ส.ส.ร. จริง แต่เป็น ส.ส.ร. 150 คนมาจากการเลือกตั้ง ส่วนอีก 50 คน ส.ว. ควบคุมได้ เราจะเข้าสู่เขาวงกตการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วกลับมาที่จุดเดิม

ประการที่สอง คือเกรงว่าจะไม่แตะอำนาจและที่มาของวุฒิสภา โดยอาจจะอ้างว่าให้ไปคุยกันในชั้น ส.ส.ร. สิ่งนี้ก็อันตรายเพราะในช่วงที่เรามีการร่างรัฐธรรมนูญนั้น หากมีการเลือกตั้งและเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ส.ว. ก็ยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีอำนาจตั้งองค์กรอิสระด้วย ดังนั้นระยะสั้นจึงต้องจับตามองรายละเอียดตรงนี้ และระยะยาวหวังว่าเราจะเข้าสู่หนทางที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงๆ อยากชวนประชาชนร่วมกันเสนอไอเดียใหม่ๆ เพื่อรัฐธรรมนูญ ว่ามีข้อเสนอหรือเนื้อหาแบบใหม่อย่างไรบ้าง โดยสามารถใช้แพลทฟอร์มเพื่อถกเถียงกัน

เขากล่าวด้วยว่า การได้มาและรักษาประชาธิปไตยมี 2 มิติ มิติหนึ่งคือระบอบที่ถูกเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน อีกมิติหนึ่งที่สำคัญคือวัฒนธรรมประชาธิปไตย เราจะเห็นว่าการทำรัฐประหาร นอกจากคนกระทำแล้ว ยังมีคนบางกลุ่มสนับสนุนรัฐประหาร สำคัญมากถ้าเราจะป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหาร นอกจากวางกลไกเพื่อให้ผู้กระทำรัฐประหารไม่สามารถกระทำได้ เราต้องต่อสู้และทำงานเชิงความคิด ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยมีปัญหาสามารถหาทางออกด้วยวิถีประชาธิปไตยได้ ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเมื่อผิดหวังกับนักการเมือง เราพร้อมเรียนรู้เลือกนักการเมืองใหม่ พรรคการเมืองใหม่เข้าไป ผมให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงความคิดตรงนี้ และรณรงค์ให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันว่าการมีระบอบประชาธิปไตย จะเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดต่อคุณภาพชีวิตและสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อที่ว่า ไม่ว่าประเทศเราจะเจอปัญหาแค่ไหน จะได้ไม่มีใครไปหาทางออกจากกลไกที่ไม่เป็นประชาธปไตย

รังสิมันต์ โรมเสนอรื้อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

ด้านรังสิมันต์ โรม เสนอให้รื้อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพราะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้าม เช่น คดียุบพรรคไทยรักษาชาติและพรรคอนาคตใหม่ เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระพาตัวเองเข้ามาอยู่ในวงจรอุบาทว์นี้ เพราะกระบวนการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชนแต่ไหนแต่ไรแล้ว จึงขอเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้มีองค์ประกอบ 9 คนเหมือนเดิม แต่ 3 คนเลือกมาจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อีก 3 คนเลือกมาจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน และอีก 3 คนให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อมา และให้ศาลปกครองเสนอชื่อมาอีก 3 คน

จากนั้นใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกให้เหลือ 3 คน ขณะที่เสนอให้องค์กรอิสระทุกองค์กร ประกอบไปด้วยผู้ดำรงตำแหน่ง 5 คน ซึ่ง 2 คนมาจากการเลือกของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คนถัดมา มาจากการคัดเลือกของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ 1 คนให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อมารวมถึงให้ที่ประขุมใหญ่ศาลปกครองเสนอชื่อมาอีก 1 คน และใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกเช่นกัน

ยิ่งชีพ iLaw เสนอที่มา ส.ส.ร. เลือกตั้ง 100% ใช้เขตประเทศ

ด้านยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวในหัวข้อ "ส.ส.ร.ใหม่ยังไงดี" ตอนหนึ่งกล่าวถึงกระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า แม้ว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ รัฐสภาจะลงมติรับข้อเสนอตั้ง ส.ส.ร. แต่จากนั้นยังต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ใช้เวลาอีกนานกว่าจะผ่านวาระ 2 และวาระ 3 จากนั้นยังต้องผ่านการทำประชามติ

นอกจากนั้นการประกาศใช้อาจมีขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญอีกขั้น รวมทั้งกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เมื่อ ส.ส.ร.ร่างเสร็จแล้วก็ยังต้องผ่านประชามติ ถือเป็นขั้นตอนอีกยาวนาน ซึ่งในอนาคตรัฐบาลประยุทธ์ ก็อาจจะยังอยู่ในสถานะต่อไปตามกลไกรัฐธรรมนูญปี 2560 อาจครบเทอมหรือเลยเทอมด้วยซ้ำ ดังนั้นเราจึงต้องค่อยๆ เปิดทางสู่ประชาธิปไตย โดยการ "รื้อ-สร้าง-ร่าง" คือ รื้ออำนาจระบอบ คสช. สร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของทุกคน

เขาย้ำว่า ส.ส.ร. ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 % และใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียวโดยไม่มีโควต้าพิเศษผู้ทรงคุณวุฒิใดๆ ทั้งสิ้น และหากมีการเลือกตั้งส.ส.ร. ต้องไม่มีการแบ่งเขตจังหวัด เพราะอาจมีคนที่เป็นพื้นที่อิทธิพลของตัวเองอยู่

ยิ่งชีพกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า มักมีคนกล่าวอ้างเหตุผลแปลกๆ ตรรกะผิดๆ ว่าไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ 2560 เพราะมี 16 ล้านเสียงลงประชามติเห็นชอบ แต่ผมเชื่อว่าในจำนวน 16 ล้านเสียงนี้ จำนวนมากก็ลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญร่วมกับ iLaw และจำนวนมากก็เดินบนท้องถนนและชู 3 นิ้วด้วยกัน จึงอยากทำงานกับคน 16 ล้านคน คนที่วันนั้นอาจลงประชามติเห็นชอบด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เรื่องเสียหายทั้งนั้น เมื่อคิดใหม่ได้แล้วมาทำงานด้วยกัน อยากเดินมาหาผมหน่อย คนที่เคยลงมติโหวตเยสแล้วคิดใหม่ได้ในปี 2563

รายละเอียดแถลงการณ์กลุ่มมีดังนี้ :

แถลงการณ์ถึงเวลารัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นับตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ในปี 2475 ประเทศไทยยังคงต้องแสวงหา “ข้อตกลง” ในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ ส่วนสำคัญเพราะชนชั้นปกครองยังคงหวงแหนอำนาจ และฉวยโอกาสจากสภาพแวดล้อมที่ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อมั่นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ

สภาพเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนของการรัฐประหารโดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุน พร้อมกับการฉีกและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่พอเรียกได้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” และเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของระบอบประชาธิปไตยไทย แต่ก็มีอายุเพียงประมาณ 9 ปี ก่อนถูกฉีกทิ้งด้วยคณะรัฐประหารอีกครั้ง

ผ่านมาถึงวันนี้ที่ประเทศไทยต้องอยู่กับผลพวงของการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่มา-กระบวนการ-เนื้อหา ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องร่วมหา “ข้อตกลงใหม่” เพื่อทำให้ประชาธิปไตยได้ตั้งมั่น และไม่ให้ประเทศไทยต้องวนกลับเข้าสู่วงจรการร่างรัฐธรรมนูญในแบบเดิมที่นำมาสู่ความขัดแย้งและการรัฐประหารไม่รู้จบ 

พวกเราจึงก่อตั้งกลุ่ม  “Re-solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” ขึ้น ด้วยเล็งเห็นว่าทางออกของประเทศคือการร่วมออกแบบและกำหนด “ข้อตกลงใหม่” ที่ทุกฝ่ายยอมรับ โดย “Re-solution” เป็นความร่วมมือของ 4 กลุ่ม ที่ทำงานผ่านการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อต้นปี พ.ศ.2562 ประกอบด้วย คณะก้าวหน้า / iLaw / กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) / พรรคก้าวไกล

เหตุที่เลือกใช้ชื่อ “Re-solution” เพราะมีความหมายที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของกลุ่ม

1. “Re-solution” หมายถึงการหา “ทางออกใหม่” ให้กับประเทศ ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2. “Resolution” หมายถึง “ข้อยุติ” ที่จะนำเราหลุดพ้นออกจากวิกฤตทางการเมือง ณ ปัจจุบันได้
3. “Resolution” หมายถึง “ปณิธาน” หรือ ความเด็ดเดี่ยว ที่เราต้องมี เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

เป้าหมายหลักของกลุ่ม คือการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นพื้นที่ที่โอบรับทุกความใฝ่ฝัน คำนึงถึงทุกคุณค่าของสังคมไทย และเป็นที่บรรจบพบกันของทุกความคิดเห็น โดยให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้กำหนดอนาคตของสังคมที่เขาอยากจะอยู่และส่งต่อให้คนรุ่นหลัง

กลุ่ม “Re-solution” จะช่วยผลักดันให้เกิดเป้าหมายผ่าน 3 บทบาทหลัก

1. “พื้นที่” หรือ “Platform” ที่รณรงค์ทางความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ รวบรวมความเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม และเป็นตัวกลางในการจัดกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบข้อตกลงใหม่ของประเทศ

1. “คลังความคิด” หรือ “Think tank” ที่นำเสนอข้อเสนอก้าวหน้าใหม่ๆ เพื่อเขย่าอุตสาหกรรมยกร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ที่มักวนเวียนอยู่กับกรอบความคิด วิธีการ และ บุคลากรเดิมๆ

1. เป็น “ยานพาหนะ” หรือ “Vehicle” ที่พร้อมจะเป็นองค์กรรณรงค์เข้าชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ในกรณีที่รัฐสภาไม่ยินยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน

สามารถติดตามความคิด การทำงาน และ กิจกรรมของทางกลุ่มได้ ผ่านช่องทาง Social Media (Facebook / Twitter) “Re-solution : ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท