ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องรัฐบาลหยุดใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

20 พ.ย. 2563 ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง หลังนายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์เพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ชุมนุม ด้านรอง ผบช.น. ระบุ ยังไม่แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากอยู่ระหว่างพิจารณาขอบเขตก่อนบังคับใช้

เดอะสแตนดาร์ด รายงานว่า พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) แถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรที่หน้ารัฐสภา ถ.เกียกกาย และที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ.พระราม 1 ซึ่งเกิดความเสียหายและความรุนแรงขึ้นทั้ง 2 จุด ว่า ขณะนี้ทั้ง 2 คดีอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน เพื่อพิสูจน์ทราบระบุตัวบุคคลที่กระทำความผิดทั้ง 2 จุด

รอง ผบช.น. กล่าว่า เบื้องต้นสามารถระบุตัวบุคคลได้แล้วรวมมากกว่า 30 คน แบ่งเป็นในพื้นที่สน.บางโพ จากการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา สามารถพิสูจน์ทราบบุคคลได้แล้ว 14 คน ในพื้นที่ สน.ปทุมวัน จากการชุมนุมกันที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถระบุตัวและพิสูจน์ทราบบุคคลได้แล้ว 17 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่กระทำความผิดจากการก่อความรุนแรง ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต เข้าข่ายความผิดในหลายข้อหา อาทิ ความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, กฎหมายอาญา ข้อหาสมคบกัน 10 คนเพื่อก่อความวุ่นวาย, ทำให้เสียทรัพย์, ทำร้ายร่างกายสาหัส, พยายามฆ่า, ความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, และ พ.ร.บ.จราจรทางบก คาดว่าในสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวนจะเริ่มดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอนได้

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการปะทะกันที่บริเวณหน้ารัฐสภา รอง ผบช.น. กล่าวว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนเรียกตัวผู้ได้รับบาดเจ็บมาให้ปากคำรวม 3 คน โดยเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนที่แยกบางโพ 1 คน และแยกเกียกกาย 2 คน ซึ่งมีทั้งผู้ชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร และผู้ชุมนุมกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ส่วนลักษณะการก่อเหตุจะเป็นการจงใจก่อเหตุเพื่อหวังเอาชีวิต หรือเป็นการปกป้องคุ้มกันกลุ่มหรือไม่ ยังไม่สามารถเจาะจงประเด็นแรงจูงใจต่างๆ ได้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบแนววิถีกระสุน และพยานหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติม

ส่วนการจับกุมผู้ต้องหาจากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ที่พกพาอาวุธปืนเข้ามาร่วมชุมนุมด้วยนั้น พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวว่า ขณะนี้ได้นำอาวุธปืนดังกล่าวไปตรวจสอบที่กองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อหาเอกลักษณ์เฉพาะของเกลียวกระบอกปืนและเข็มแทงชนวนแล้ว เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับหัวกระสุน และบาดแผลของผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

รอง ผบช.น. กล่าวอีกว่า สำหรับการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลวในวันที่ 21 พ.ย. 2563 จากการตรวจสอบยังไม่พบว่ากลุ่มดังกล่าวแจ้งขอชุมนุมมาที่ตำรวจ ซึ่งหากวันนี้ก่อนเวลา 14.00 น. ยังไม่แจ้งขอชุมนุม ก็จะถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ส่วนการเตรียมกำลังดูแลการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ จะมีการประชุมเพื่อจัดเตรียมกำลัง และวางแนวทางการป้องกันอีกครั้งในคืนนี้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เบื้องต้นในการควบคุมดูแลการชุมนุมครั้งนี้ จะเพิ่มกำลังของกองร้อยควบคุมฝูงชนที่เป็นตำรวจหญิงมากขึ้น เนื่องจากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่มาร่วมชุมนุมเป็นเด็กนักเรียนและเยาวชน เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงกับผู้ชุมนุม นอกจากนี้ จะมีผู้พิพากษาสมทบของศาลเยาวชน เจ้าหน้าที่สงเคราะห์เด็ก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรและกลุ่มนักเรียนเลว จะถูกแจ้งข้อหาเพิ่มตามในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น

รอง ผบช.น. กล่าวว่า ตำรวจยืนยันว่าขณะนี้จะยังไม่มีการแจ้งข้อหาความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากต้องรอการพิจารณากำหนดขอบเขตการแจ้งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีอย่างชัดเจนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 23 พ.ย. 2563 พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะมีการเรียกประชุมหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการบังคับใช้       

สำหรับกรณีที่สมาชิกกลุ่มนักเรียนเลวมีการโพสต์ภาพหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 30 พ.ย. 2563 ที่ สน.ลุมพินี นั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเรียกไปเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แต่เป็นการเรียกไปเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 แต่อย่างใด

แถลงการณ์ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชนโดยการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง

สืบเนื่องจากแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ถึงกรณีการชุมนุมของประชาชนว่าเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีและมีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง นำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและรัฐบาลมีความจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติการโดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ต่อผู้ชุมนุม แถลงการณ์นายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลมองประชาชนผู้ชุมนุมเป็นคู่ขัดแย้งหรือศัตรูของรัฐบาล ไม่ใช่ในฐานะประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้  

ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะว่ารัฐบาลไม่เพียงแต่จะไม่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างเสมอภาค รัฐบาลยังมีพฤติการณ์ใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมและการตั้งข้อหาที่ร้ายแรงเกินกว่าพฤติกรรมการกระทำความผิดของผู้ต้องหาด้วยรัฐบาลมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อปรามและกลั่นแกล้งผู้ชุมนุมที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในทางลบ ในทางตรงกันข้าม ผู้ชุมนุมที่ออกมาสนับสนุนรัฐบาลแม้ว่าจะมีพฤติกรรมคล้ายกันแต่ก็กลับไม่ถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐยิ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีที่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากประชาชนให้หวาดกลัวที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การกระทำเช่นนี้  แทนที่จะเป็นการคลี่คลายสถานการณ์กลับเป็นการโหมกระแสแห่งความขัดแย้งให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น  

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยืนยันว่ากฎหมายต้องมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญไม่ใช่เครื่องมือของรัฐที่จะใช้ในการคุกคามหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและเพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขความขัดแย้ง รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายกับผู้ชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายต้องกระทำอย่างเสมอภาคและสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี อีกทั้งรัฐบาลต้องไม่ดำเนินคดีไปในทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาหรือลดทอนพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อประชาชน 

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค รับฟังปัญหาและแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจ โดยรัฐบาลต้องไม่กระทำการอันเป็นการมองประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเป็นศัตรูและต้องหยุดคุกคามประชาชนโดยการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง   

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท