Skip to main content
sharethis

ตัวแทนนักศึกษาและสโมสรนักศึกษาจาก 7 มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ฟ้องแพ่งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด กรณีออกข้อกำหนดให้นำหลักเกณฑ์การจัดการการชุมนุม ตาม พ.ร.บ. การชุมนุมมาใช้โดยอนุโลม แต่เอาโทษที่หนักกว่าตาม พรก.ฉุกเฉินมาผสมโรงใช้ ขอให้ศาลเพิกถอนเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชน

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ เดินนำคณะโจทก์เข้าศาลแพ่ง

22 ส.ค. 2565 ทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับคณะผู้นำองค์การนักศึกษา เดินทางมายังศาลแพ่ง รัชดาภิเษก เพื่อเป็นโจทก์ร่วมกันฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 15 และเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 ก.ค. 2565 ข้อ 3

โดยรายนามโจทก์ที่ร่วมกันฟ้องร้องมีจำนวน 7 คน ได้แก่ เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พศิน ยินดี เป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น สิรภพ อัตโตหิ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ เป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชษฐา กลิ่นดี สมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และณพกิตติ์ มะโนชัย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ตัวแทนทีมทนายกล่าวว่า คำสั่งทั้งสองฉบับระบุว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้นำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ มาบังคับใช้โดยอนุโลม แต่ก็เหมือนเป็นการลักไก่เพราะข้อกำหนดที่ออกโดย ผบ.ทสส. เพิ่มโทษให้การชุมนุมมีโทษหนักขึ้น โดยให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนั้นยังให้อำนาจกับ ผบ.ทสส. ออกแบบแผนงานต่างๆ เพื่อให้เลิกการชุมนุม ซึ่งโดยแนวทางปฏิบัติของ พ.ร.บ. ชุมนุม การสั่งให้เลิกชุมนุมจะต้องร้องขอผ่านศาลแพ่งหรือศาลจังหวัด

นรเศรษฐ์สรุปด้วยว่า คำสั่งข้างต้น ซึ่งเป็นกฎหมายระดับรองกลับไปเพิ่มโทษให้กับกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ในวันนี้ จึงขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้บังคับใช้คำสั่งข้างต้น เพราะในวันที่ 23-24 ส.ค. ก็อาจมีการชุมนุมสาธารณะอีกเนื่องจากเป็นช่วงที่อาจจะมีการพิจารณาเรื่องการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหากมีการใช้ข้อกำหนดข้างต้นก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพอย่างร้ายแรง โดยวันนี้ตนมีข้อมูลมายื่นต่อศาลด้วยว่าทางตำรวจได้เตรียมกำลังไว้สำหรับการชุมนุมแล้ว

เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในตัวแทนคณะนักศึกษาที่เป็นโจทก์ร่วมฟ้อง กล่าวว่า ประกาศสองฉบับนั้นไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เพราะมีการลักไก่เพิ่มโทษให้กับการกระทำผิด และเดิมที พรก.ฉุกเฉินนั้นประกาศมาเพื่อใช้ควบคุมโรค แต่ก็มีคำถามว่าถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนหรือไม่

การฟ้องร้องนี้มีเหตุสืบเนื่องจากข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 47 ลงนามประกาศโดย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี กำหนดให้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทําได้ โดยให้นําหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กำหนดมาตรการขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกและดูแลการชุมนุม

ต่อมาวันที่ 1 ส.ค. 2565 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกประกาศฉบับที่ 15 ในข้อ 5 ระบุให้นำหลักเกณฑ์การแจ้งการจัดและการแจ้ง รวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะหรือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ)มาใช้ หากฝ่าฝืนให้รับโทษตามมาตรา 18 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่โทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีอัตราโทษที่ต่ำกว่าอยู่หลายมาตรา

ทางภาคีนักกฎหมายสิทธิมองว่าการออกประกาศข้างต้นเป็นการเพิ่มข้อห้ามและหน้าที่โดยที่ผู้ออกคำสั่งไม่มีอำนาจกระทำการเช่นนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net