Skip to main content
sharethis

หลังจากเมื่อวานนี้กลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบันร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศของ ผบ.ทหารสูงสุดเรื่องห้ามการชุมนุมฉบับที่เพิ่งออกมาใหม่เมื่อวันที่ 1 ส.ค.65 พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยการระงับใช้ข้อกำหนดเรื่องห้ามชุมนุมนี้ วันนี้ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการใช้ข้อกำนหดเนื่องจาก ผบ.ทหารสูงสุดยังไม่ได้ออกมาตรการเพิ่มขึ้นมาที่จะทำให้ผู้ฟ้องได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ยังต้องรอศาลนัดชี้ 2 สถานต่อไป

23 ส.ค.2565 ที่ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก มีนัดฟังคำสั่งในคดีที่คณะผู้นำองค์การนักศึกษาจาก 7 มหาวิทยาลัยร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) จำเลยที่ 2 ให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 47 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 15 และเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 ก.ค. 2565 ข้อ 3

ตัวแทน นศ. ฟ้อง 'ประยุทธ์-ผบ.ทสส.' ปมนำโทษ พรก.ฉุกเฉิน ผสมใช้กับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

จากการรายงานของทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระบุว่าศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวโดยไม่ได้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนด และประกาศดังกล่าว เนื่องจากที่ผู้ฟ้องทั้ง 7 คนซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ฟ้องมาว่าข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 27 ก.ค. 2565 ข้อ 3 ที่ระบุว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธสามารถทำได้โดยให้นำหลักเกณฑ์เรื่องการจัดและแจ้งการชุมนุมที่อยู่ในพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลมเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบ ระงับยับยั้งหรือยุติการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคระบาดได้โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ออกข้อกำหนดมาตรการอื่นๆ ได้

ในเวลาต่อมาผู้บัญชาการทหารสูงที่เป็นจำเลยที่สองในคดีนี้ได้ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 15 ที่นำบทลงโทษที่อยู่ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ในกรณีไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุมและจัดการชุมนุมที่ไม่ได้เป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งประกาศฉบับนี้ยังเปิดช่องให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้า ศปม.สั่งระงับยับยั้งหรือยุติการชุมนุมโดยไม่ได้ต้องผ่านการพิจารณาของศาลทั้งที่เป็นขั้นตอนที่ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดยังไม่ได้ออกมาตรการใดๆ ตามข้อกำหนดที่เป็นเพียงการวางเงื่อนไขในการออกมาตรการเท่านั้น ผู้ฟ้องทั้ง 7 จึงยังไม่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง อีกทั้งผู้ฟ้องก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามข้อกำหนดที่ออกมาด้วย ศาลจึงไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการใช้ข้อกำหนดตามประกาศ

หลังจากนี้คดีนี้ศาลจะมีการนัดพิจารณา 2 สถานที่ศาลจะพิจารณาคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของฝ่ายจำเลยซึ่งถ้าหากฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับที่ฝ่ายโจทก์อ้าง ศาลจะมีการนัดสืบพยานต่อไป

จากที่มีการรายงานข่าวเมื่อวานนี้ โจทก์ที่ร่วมกันฟ้องร้องมีจำนวน 7 คน ได้แก่ เจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พศิน ยินดี เป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น สิรภพ อัตโตหิ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ เป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชษฐา กลิ่นดี สมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และณพกิตติ์ มะโนชัย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net