ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายอภิปรายชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน [คลิป] 17 พ.ย. 63

17 พ.ย. 63 ตัวแทนผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ริเริ่มการล่ารายชื่อโดย iLaw เข้าชี้แจงในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) "พิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ...." โดยผู้ชี้แจงประกอบด้วย จอน อึ๊งภากรณ์  ยิ่งชีพ อัฌชานนท์ และจีรนุช เปรมชัยพร

จอน อึ๊งภากรณ์ แถลงว่าเป็นตัวแทนของผู้ริเริ่มที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขของภาคประชาชน อันนี้ไม่ใช่ร่างของไอลอว์ตามที่ชอบเรียกกัน แต่เป็นร่างของประชาชนกว่าหนึ่งแสนคนที่มาร่วมกันลงชื่อ ภายในระยะเวลาเพียงเดือนเดียวเท่านั้นได้รับการรับรองทั้งหมด 98,824 ชื่อ 

ร่างนี้มาจากการปรึกษาหารือในหมู่ประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเห็นปัญหารัฐธรรมนูญปัจจุบัน ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การออกแบบเพื่อให้ คสช. ยังคงอำนาจอยู่ หลังจากการเลือกตั้ง ส.ส. และรัฐธรรมนูญนี้ เขียนไว้ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย อันนี้เป็นการโกหก น่าจะต้องถือว่าเป็นโมฆะ เพราะประชาชนมีสิทธิเลือกแค่ ส.ส. แต่ประชาชนไม่มีโอกาสกำหนดว่าใครจะตั้งรัฐบาล ใครจะมาเป็นนายกฯ เพราะมีองค์ประกอบส่วนอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชนเป็นคนกำหนด

เราเริ่มการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญประมาณเดือนพฤษภาคม คุยกันไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนจำนวนมาก ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนมากเป็นเป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่ทนไม่ได้แล้ว อยากเป็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว เราจึงเอาร่างของเรามาตั้งโต๊ะให้ประชาชนลงชื่อ ปรากฎว่าประชาชนมีความกะตือรือร้นมากทีเดียว มีการรอคิวกว่าจะได้ลงชื่อ กว่าจะได้ถ่ายบัตรประชาชน คนที่ส่งมาทางไปรษณีย์ก็คอยติดตามถามว่าที่ส่งมาได้รับหรือยัง ผมจึงหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะให้ความสำคัญกับร่างฉบับของประชาชน ไม่ใช่ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรก แต่ควรจะให้ข้อดีหลายอย่างของร่างนี้ ได้เข้าไปพิจารณาร่วมกับร่างของพรรคการเมืองต่างๆ และที่สำคัญ ถ้าประเทศไทยจะพ้นวิกฤติหรือมีพัฒนาการใกล้เคียงกับอารยประเทศได้ เราจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเร็วที่สุด  และเชื่อว่าทุกท่านทราบดีว่าประเทศไทยมีปัญหากับรัฐธรรมนูญนี้ ถึงได้มีร่างแก้ไขมากมายเกิดขึ้นในสภานี้

ด้านจีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะตัวแทนประชาชนผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กระบวนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนนี้ เกิดขึ้นมาจากความเห็นชอบและร่วมมือกันของประชาชนหลากหลายกลุ่ม สิ่งที่นำเสนอในร่างแก้ไขนี้มาจากกระบวนแลกเปลี่ยนถกเถียงของประชาชนมาระดับหนึ่งแล้ว และด้วยความหลากหลายของผู้คนที่มาเข้าร่วม เมื่อท่านได้อ่านท่านเห็นเองว่าข้อเสนอของประชนเป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมไม่ได้  radical หรือสุดขั้วแต่อย่างใด และหากจะเอนเอียงไปทางใด ก็ล้วนเป็นทางที่เคารพหลักการประชาธิปไตย

ที่ตั้งมั่นอยู่บนมนุษยภาพ เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาและดำรงอยู่ด้วยความดีงาม และด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง ประชาชนในประเทศนี้จึงยังกล้าฝันและหวังถึงการที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม เป็นประเทศที่มีอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดโบกอยู่ในเวลานี้ ไม่มีอำนาจใดที่จะหยุดยั้ง หากท่านใดคิดว่าจะตัดต้นลมด้วยการปิดโอกาส ปิดเสียงประชาชน เกรงว่าการกระทำดังกล่าวกำลังแปรเปลี่ยนให้สายลมแห่งความหวังดีกลายเป็นพายุใหญ่ในอนาคต

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนผู้ริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชนต่อรัฐสภา พูดถึงความฝัน 5 ข้อว่า หนึ่ง เราฝันว่าได้อยู่ในประเทศที่ประชาชนมีสิทธิในการเลือกผู้ที่จะมาใช้อำนาจปกครอง หรือเลือกนายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นการเลือกตั้งผ่านสมาชิกรัฐสภา แต่สมาชิกที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นก็ต้องเข้าไปนั่งในสภาได้เพราะประชาชนเลือกมาทุกคน

สอง ได้อยู่ในประเทศที่ผู้ใช้อำนาจรัฐ มีความโปร่งใส สามารถถูกตรวจสอบได้ โดยมีองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบหากมีข้อสงสัยเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นหรือมีการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้อง ที่มาขององค์กรต้องเป็นอิสระจากผู้ใช้อำนาจ

สาม เราฝันว่า เราได้อยู่ในประเทศที่ประชาชนมีอำนาจกำหนดอนาคตของตนเอง อย่างน้อยที่สุดก็ผ่านการเลือกตั้ง ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องแถลงนโยบาย และประชาชนจะช่วยกันเลือกทิศทางของประเทศผ่านการเลือกนโยบายเหล่านั้น ซึ่งจะเลือกใหม่ไได้ทุกๆ อย่างน้อย 4 ปี

สี่ อยู่ในประเทศที่ระบบยุติธรรมบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่มีการยกเว้นให้ใคร ไม่ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน เป็นใครมาจากไหนก็ตาม

ห้า ได้อยู่ในประเทศที่กติกาสูงสุดของประเทศ ที่ออกแบบการเมืองการปกครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถูกร่างขึ้นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ อย่างน้อยที่สุดต้องร่างโดยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100% ในบรรยากาศที่ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้ มีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่

เขากล่าวว่าหลักการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เรานำมาเสนอต่อสภาในวันนี้จึงเป็นเพียงข้อเสนอธรรมดา เพื่อถามหาสิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ เป็นข้อเรียกร้องที่อยากจะขอแก้ไขระบอบการเมืองการปกครองที่ “ผิดปกติ” อยู่ในปัจจุบัน ให้กลับเป็นปกติเท่านั้น และ เป็นข้อเสนอที่โดยเนื้อหาแล้วไม่สามารถหาข้ออ้างใดมาปฏิเสธได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล หากรัฐสภาได้ลงมติเพื่อ “รับ” ในหลักการ และนำไปพิจารณาต่อในขั้นตอนต่อไป ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยและต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเป็นโอกาสที่จะลดความขัดแย้งที่อยู่บนท้องถนน และเปิดพื้นที่ให้เอาเหตุผลมาคุยกันบนกฎกติกา 

แต่หากท่านไม่แม้แต่จะรับไว้พิจารณา ท่านก็มีภาระหน้าที่ต้องอธิบายต่อประชาชนอย่างน้อยหนึ่งแสนคนที่เข้าชื่อกันเสนอมา และเจ้าของอำนาจอีกหลายล้านคนที่กำลังติดตาม ซึ่งต่างก็กำลังรอฟังเหตุผลอยู่เช่นเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท