ศาล รธน.ประกาศ คสช. 2 ฉบับเรื่องเรียกรายงานตัวขัด รธน.60 'วรเจตน์' ชี้มีผลคดีอื่นด้วย

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ประกาศ คสช. 2 ฉบับเรื่องเรียกรายงานตัวและลงโทษผู้ฝ่าฝืนขัดรัฐธรรมนูญ  ‘วรเจตน์’ ชี้หลังจากนี้คนที่ถูกตั้งข้อหาไม่เข้ารายงานตัวกับ คสช.จะไม่มีความผิดอีก และยังอาจทำให้สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าประกาศอื่นๆ ของ คสช.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

2 ธ.ค.2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีที่วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ยื่นคำโต้แย้งผ่านศาลแขวงดุสิตถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคําสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศทั้งสองฉบับขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 อย่างเป็นเอกฉันท์ และตุลาการฯ มีมติเสียงข้างมากว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่งด้วย

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กฎหมายรัฐธรรมนูญ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นจำเลยในคดีนี้ ให้สัมภาษณ์ความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทั้งประเด็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยและประเด็นเนื้อหาว่าขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร

วรเจตน์เล่าว่าคดีของตัวเองมีความซับซ้อนเนื่องจากตนไม่เข้ารายงานตัวคำสั่งเรียกของ คสช.ถึง 2 ครั้ง ซึ่งต่อมาอัยการศาลทหารก็ฟ้องว่าตนฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกรายงานตัวทั้งคำสั่งแรกและคำสั่งที่สอง ซึ่งประกาศฉบับที่ 29 /2557 และ 41/2557 มีการกำหนดโทษจำคุกและปรับเงินผู้ไม่เข้ารายงานตัว

สืบพยานคดี 'วรเจตน์' ไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. ในศาลพลเรือนนัดแรก

วรเจตน์เล่าต่อว่าคดีของตนก็สู้กันหลายปีจนกระทั่งมีคำสั่งโอนย้ายคดีจากศาลทหารมาพิจารณาต่อในศาลแขวงดุสิต ตนก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าประกาศ คสช.ฉบับที่ 29/2557 และ 41/2557 ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในหลายประเด็น ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่ายื่นได้หรือไม่เพราะเป็นประกาศที่ออกมาตอน คสช. คำตอบก็คือได้เพราะมันเป็นกฎหมายที่ต้องใช้ในคดีของตน โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 จนวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยออกมาว่าประกาศทั้งสองฉบับขัดรัฐธรรมนูญ

วรเจตน์ระบุว่าคำร้องที่ยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีทั้งประเด็น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับได้แม้จะมีมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ตาม และประเด็นเนื้อหาว่าประกาศทั้งสองฉบับเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไร ทั้งนี้เขาได้แก้ข้อเข้าใจผิดว่าตนไม่ได้ยื่นว่าคำสั่งเรียกรายงานตัวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ยื่นวินิจฉัยในส่วนของประกาศ คสช.ที่กำหนดโทษ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ศาลทหารเมื่อ 21 ก.ค.2558 ภาพโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วรเจตน์กล่าวถึงประเด็นเนื้อหาประกาศ คสช.ทั้งสองฉบับก่อนว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่าประกาศทั้งสองฉบับขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26 โดยมีมติเป็นเอกฉันท์และมีมติเสียงข้างมากว่าขัดมาตรา 29 ก็เป็นประเด็นที่ตนยื่นคำร้องไปให้ศาลพิจารณาว่าสมควรแก่เหตุหรือไม่ หรือเป็นเพราะประกาศทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายที่ใช้เฉพาะกรณี อีกทั้งในเฉพาะประเด็นที่สู้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ก็คือประกาศมีผลบังคับใช้ย้อนหลังด้วย

“เพราะว่า (คสช.) มีการออกคำสั่งเรียกตัวผมก่อนแล้วก็ออกประกาศกำหนดโทษมาทีหลัง อันนี้ศาลวินิจฉัยว่ามันขัดด้วยเสียงข้างมาก” วรเจตน์กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ตนเองถูกออกคำสั่งเรียกรายงานตัวครั้งแรกตั้งแต่ 10.30 น.ของวันที่ 24 พ.ค.2557 แต่ประกาศ คสช.ฉบับที่ 29/2557 และ 41/2557 ที่มีการกำหนดโทษถูกประกาศออกมาทีหลัง

วรเจตน์กล่าวต่อว่า ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาก็คือ ประกาศ คสช.ทั้งสองฉบับ จะบังคับใช้ไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ แล้วก็ศาลรัฐธรรมนูญก็จะส่งกลับมาที่ศาลแขวงดุสิต แล้วสุดท้ายเมื่อกฎหมายใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ศาลก็จะต้องพิพากษายกฟ้องเพราะกฎหมายที่จะใช้ลงโทษขัดรัฐธรรมนูญ

วรเจตน์ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนที่ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ต่อสู้ในประเด็นว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบประกาศ คสช.ทั้งสองฉบับได้ เพราะยังมีประเด็นมาตรา 279 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รองรับประกาศและคำสั่งที่ คสช.ออกมาด้วย คดีนี้จึงเป็นคดีแรกหรือจะเรียกว่าเป็นคดีตัวอย่างเลยก็ว่าได้ที่มีการต่อสู้ว่าประกาศ คสช. ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แต่ในจดหมายข่าวของศาลก็ไม่ได้พูดประเด็นนี้ ซึ่งศาลก็คงเห็นตามคำร้องว่าเข้ามาตรวจสอบได้ แต่ด้วยเหตุผลอะไรตนก็ไม่ทราบก็คงต้องรอคำวินิจฉัยฉบับเต็ม

“นอกจากผมได้ประโยชน์แล้ว คดีของผมก็จะเป็นประโยชน์อย่างน้อยกับคดีของคุณจาตุรนต์ (ฉายแสง) ที่คดียังค้างอยู่ที่ถูกฟ้องว่าไม่มารายงานตัวก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะว่าประกาศที่กำหนดโทษมันบังคับใช้ไม่ได้ แล้วก็คนอื่นที่ไม่ได้มารายงานตัวที่ยังมีคดีค้างอยู่หรือยังไม่กลับประเทศก็จะได้ประโยชน์จากคำวินิจฉัยนี้” วรเจตน์กล่าวถึงคดีของบุคคลที่ถูก คสช.เรียกรายงานตัวเช่นเดียวกับเขา

วรเจตน์ให้เหตุผลว่าประกาศ คสช.ที่กำหนดโทษทางอาญาบังคับใช้ไม่ได้แล้ว ทั้งนี้สำหรับคนที่คดีถึงที่สุดไปแล้วก็จะไม่ได้ประโยชน์อย่างเช่น บก.ลายจุด(สมบัติ บุญงามอนงค์) เพราะว่าศาลตัดสินไปหมดแล้ว

ผู้สื่อข่าวได้ถามว่าหลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยและมีมติว่าขัดรัฐธรรมนูญแบบนี้จะส่งผลให้หลังจากนี้คนอื่นๆ สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประกาศ คสช.ฉบับอื่นๆ ได้ด้วยหรือไม่ วรเจตน์ตอบว่าเป็นไปได้เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีตัวเปิดเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบประกาศ คสช.ที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปได้ว่าประกาศ คสช. ฉบับอื่นๆ ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในวันข้างหน้าจะมีคนไปยื่นอีก แต่ก็ขึ้นอยู่กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่าจะวินิจฉัยเป็นอย่างไรถ้าใช้คดีนี้เป็นแนวทางก็จะรับพิจารณาถ้ายื่นให้ถูกช่องทางคือเป็นคดีในศาลให้ยื่นขึ้นไป

“แต่อย่างน้อยเราเห็นว่าการที่ศาลเข้าไปตรวจสอบ ก็แปลว่ามาตรา 279 มันไม่เบรคศาลให้ตรวจแล้ว” วรเจตน์กล่าวว่าก็มีการยื่นเรื่องเทคนิคกฎหมายไปหลายเรื่อง ซึ่งศาลก็เห็นว่ามีอำนาจตรวจสอบแล้วก็เข้าไปเลยโดยไม่คำนึงถึงมาตรา 279

วรเจตน์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าส่วนคดีที่พิจารณาในศาลแขวงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญส่งคำวินิจฉัยให้ก่อนถึงจะมีการนัดฟังคำพิพากษาต่อไป

 

แก้ไขเนื้อหา 2 ธันวาคม 2563 เวลา 11.09

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท