วรเจตน์ ภาคีรัตน์: 112 กับ สถาบันกษัตริย์: 1 ทศวรรษเพื่อการทบทวน [คลิป]

13 พ.ย. 65 ผ่านมา 10 ปี หลังการเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112 หรือ ครก.112   วรเจตน์ ภาคีรีตน์ รวมอภิปรายในหัวข้อ "112 กับ สถาบันกษัตริย์ : 1 ทศวรรษเพื่อการทบทวน" ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิสิทธิอิสรา ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยในการเสวนายังมีการจัดแสดงข้อความบางส่วนที่ ศ.ดร. วรเจตน์ได้รับทั้งเป็นข้อความเห็นด้วย หรือคัดค้าน รวมทั้งให้กำลังใจในการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไข ม.112

วรเจตน์ตอบคำถามจากผู้ฟังในห้องบรรยายที่ถามว่า "รู้สึกเสียใจหรือไม่ที่เป็นผู้ริเริ่มการรณรงค์การแก้ไขกฎหมายนี้"

"ในแง่ของการเป็น ครก.112 แม้ว่ามีผลกระทบหลายอย่างเกิดขึ้นกับตัวผมและชีวิตผม แต่ว่าไม่เคยเสียใจ และผมก็รู้สึกว่า ผมได้ทำให้สิ่งที่ควรจะทำ และก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง อยากจะบอกสั้น ๆ แค่นี้ว่า ไม่เคยมีความเสียใจแม้แต่วินาทีเดียวที่ทำเรื่องนี้ แม้ว่าจะมีคนประณามว่าเป็นคนเนรคุณก็ตาม"

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่เปิดหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้เขาได้รับจดหมายหรือข้อความ ทั้งสนับสนุนแนวความคิด คัดค้านต่อต้านและคำถามมากมายทั้งทางไปรษณีย์ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการงานและชีวิตส่วนตัวด้วย และในกิจกรรมวันนี้เขาไปได้แบ่งบันข้อความบางส่วนแก่ผู้จัดงานให้จัดแสดงภายนอกห้องบรรยายด้วย

วรเจตน์เล่าถึงบรรยากาศและเหตุผลที่ตัดสินใจเข้ามารณรงค์การแก้ไข ม.112 เมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า นี่เป็นสิ่งที่เขาจะต้องทำ "หลายคนก็บอกว่า มาตรา 112 ก็มีมานานแล้ว มันก็อยู่ของมันดี ๆ ไปยุ่ง ไปแก้ไขมันทำไม หลายคนบอกว่าผมไม่ควรไปยุ่งกับเรื่องนี้เลย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผมหลายด้านทั้งด้านส่วนตัวและด้านการงานต่อไป"

ทั้งนี้หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คดี ม.112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาทำให้มองผ่านเรื่องนี้ไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะมีคนตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น และความเกี่ยวข้องกับการเกิดรัฐประหารในครั้งนั้น ซึ่งความจริงเป็นอย่างไร ไม่มีใครทราบ แต่มีความสงสัยในหมู่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง สิ่งนี้ได้นำไปสู่การตั้งคำถามและการแสดงออกทางความคิดของประชาชนจนถึงถูกดำเนินคดี ทั้ง ๆ เป็นสิ่งที่เขาควรแสดงความคิดเห็นได้ แต่กลับมีบทลงโทษรุนแรงคือ จำคุก 3-15 ปี

ประเทศที่กฎหมายเป็นใหญ่ กฎหมายมาก่อนผู้บังคับบัญชา | วรเจตน์ ภาคีรัตน์

วรเจตน์พินิจ "คำวินิจฉัยศาล รธน. 8 ปีประยุทธ์"

"ทำไมเราไม่ทำเรื่องนี้ให้ตรงไปตรงมา โดยทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะอย่างเปิดเผยและจริงใจ และก็มีการให้เข้าชื่อกันเพื่อแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ โดยนิติราษฏร์เป็นผู้ช่วยยกร่างกฎหมายให้ เพื่อให้ออกสู่สาธารณะเพื่อให้มีการถกเถียงกันเพื่อให้สามารถแก้กฎหมายที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนั้น"

ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ 7 ประการ ในขณะนั้นประกอบด้วย 

ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

กำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุด

เพิ่มเหตุยกเว้นความผิดกรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

เพิ่มเหตุยกเว้นโทษกรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

กำหนดให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษ เท่านั้น

ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นยังไม่คืบหน้า แม้ว่าจะผ่านมาแล้ว 10 ปีแล้ว วรเจตน์กล่าวด้วยว่าโดยภาพรวม ข้อเสนอดังกล่าวสามารถใช้ได้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้มีปฏิกิริยาต่อต้านต่อข้อเสนอดังกล่าวไม่น้อย หลายภาคส่วนเห็นว่าโจมตีข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นจำนวนมากโดยอาจจะขาดการไต่ตรองและทำความเข้าใจข้อเสนอดังกล่าว หลายกลุ่มมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวว่าเป็นขบวนการล้มเจ้า ความเข้าใจผิดบางส่วนยังเกิดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน เช่น บางส่วนมีการแก้กฎหมาย ม. 112 ไม่เคยมีการแก้ไขเลย แต่ในความเป็นจริง กฎหมายดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงหลังการรัฐประหาร

นอกจากนี้เขายังได้ถูกตราหน้าว่าเป็น "คนเนรคุณ" เพราะเขาเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลที่ไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี

"ถ้าผมเรียนกฎหมายโดยทุนนี้ ผมกลับมาแล้วเห็นว่าตัวบทกฎเกณฑ์บางอย่างไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมที่ควรจะเป็น แล้วผมเสนอแก้ไขกลับไปในสิ่งที่ควรจะเป็น เป็นประโยชน์ทั้งในแง่ความเป็นอารยะในระบบกฎหมายในบ้านเราที่มีต่อสากลโลก เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ" เขาตอบคำถามต่อข้อสงสัยที่ว่าเขาเป็นคนเนรคุณ

นอกจากนี้ เขายังชี้แจงว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่การรับเงินทุนจากที่ใดมา ซึ่งที่ผ่านมาสามารถตรวจสอบได้

จากประสบการณ์การขับเคลื่อนผ่านการบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อทำงานด้านความคิดของ วรเจตน์ ทำให้เขามีข้อเสนอแนะและบทเรียนบางอย่างต่อนักเคลื่อนไหวในปัจจุบันในเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ผ่านการเรียกร้องการแก้ไข หรือ ยกเลิก ม. 112

"ต้องไม่ลืมนะครับว่า กฏเกณฑ์ มาตรา 112 ยังไม่ถูกแก้ ยังมีกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่จริง ๆ ในบ้านเมืองเวลานี้ ต้องมีการใช้ความระมัดระวังอย่างสูง ผมเข้าใจในแง่เยาวชนรุ่นใหม่ที่มีการเคลื่อนไหว ถูกกดทับจากผู้ที่มีอำนาจรัฐ แต่ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นการต่อสู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นระยะยาวอย่างยิ่ง"

"มันเป็นเรื่องที่เราต้องทำใจว่ามันอาจจะไม่จบในคนรุ่นเดียว ต้องส่งผ่านสิ่งนี้ไป ต่อไปในหลายเจเนเรชัน เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งจุดไฟขึ้นมาแล้ว ก็พยายามต่อไปไม่ให้ไฟดับ ไม่ต้องคาดหวังให้มันต้องเสร็จหรือยึดติดในรุ่นของเรา สภาพของสังคมต้องการความพร้อมของคนจำนวนมาก มากกว่านี้เยอะ 10 ปีมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงแต่ยังมีปริมาณไม่มากพอ"

นอกจากนี้ นักวิชาการรายนี้ แนะนำว่า อยากให้คนรุ่นให้มีความสุขุมรอบคอบมากขึ้น และทำใจว่าต้องมีการบาดเจ็บและถูกกล่าวหาต่าง ๆ แต่ความบริสุทธิ์เท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในการต่อสู้ได้

อดีตแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ที่ต่อสู้เรื่องนี้มาเป็นระยะเวลานานมองว่าองคาพยพที่สำคัญในการขับเคลื่อนนี้คือ แรงผลักดันจากฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะพรรคการเมืองและนักการเมืองต้องเป็นด่านหน้าและการนำเพื่อการปรับเปลี่ยนกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรเป็นพื้นที่ที่สามารถพูดคุยได้ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวโยงถึงกันกับผลประโยชน์สาธารณะ

ส่วนระหว่างทาง การขับเคลื่อนภาคประชาชนย่อมมีผู้บาดเจ็บและผู้ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อน อย่างเช่น การที่ผู้ต้องหาคดีนี้จะต้องมีสิทธิในต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะผู้ต้องหาคดี ม. 112 นั้นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง มูลนิธิสิทธิอิสรา เพื่อการช่วยเหลือผู้ต้องหาคดี ม. 112

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท